ออสเตรเลียถูกวิจารณ์หลังสั่งแบนคนจากแอฟริกาตะวันตกเข้าประเทศ หวังป้องกัน 'อีโบลา'

หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ออสเตรเลียมีมาตรการสั่งห้ามคนเดินทางจากแอฟริกาตะวันตกเข้าประเทศด้วยข้ออ้างเรื่องเชื้อไวรัสอีโบลา ทำให้ชาวแอฟริกันตะวันตกรู้สึกถูกตีตรา ขณะที่กลุ่มแพทย์และหน่วยงานอื่นๆ วิจารณ์ว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

5 พ.ย. 2557 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่สั่งห้ามการเดินทางจากกลุ่มประเทศในแอฟริกาตะวันตกเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา และหลังจากนั้นประเทศแคนาดาก็มีมาตรการในแบบเดียวกันตามมา

แต่มาตรการเช่นนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มชาวเชื้อสายแอฟริกัน โดยโจเซฟ มาสิกา แพทย์ผู้เป็นประธานสหพันธ์สภาชุมชนชาวแอฟริกันในออสเตรเลียหรือเอฟเอซีซีเอกล่าวว่าทางการออสเตรเลียตื่นตระหนกในเรื่องนี้จนทำให้ออกมาตรการที่ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการสั่งห้ามการเดินทางจะทำให้เกิดความกังวลมากกว่าจะช่วยหยุดการระบาด

"คุณไม่สามารถควบคุมอีโบลาในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกได้โดยการแบนวีซ่า สิ่งที่พวกคุณควรจะทำคือการช่วยเหลือประเทศเหล่านั้นในการต่อสู้กับอีโบลา พวกเราต้องทำให้แน่ใจว่ามันได้รับการจำกัดวงการระบาดและกำจัดไวรัสได้ในวิธีที่ปลอดภัย ไม่ใช่ทำให้ผู้คนตื่นกลัว การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นหนทางที่ดีที่สุด" มาสิกากล่าว

นอกจากนี้มาสิกายังกล่าวอีกว่าการควบคุมการเดินทางข้ามประเทศยิ่งทำให้การตรวจสอบผู้มีโรคทำได้ยากขึ้น

การแบนของออสเตรเลียเป็นมาตรการที่สั่งห้ามทั้งผู้มีวีซ่าถาวรและวีซ่าชั่วคราวรวมถึงวีซ่าผู้ลี้ภัยที่อาศัยในพื้นที่การระบาดไม่ให้พวกเขาเข้าประเทศ อีกทั้งยังปฏิเสธไม่ให้ทำวีซ่าเข้าออกในอนาคต ส่วนผู้ที่มีวีซ่าถาวรและต้องการกลับเข้าประเทศจะต้องถูกกักกันตัวไว้ที่เขตผู้โดยสารขาเข้าของสนามบินเป็นเวลา 21 วัน โดยประเทศที่ถูกห้ามคือไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี

การสั่งห้ามในครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่องค์กรเอฟเอซีซีเอพยายามรณรงค์ให้สนับสนุนการแก้ไขวิกฤติอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก

เอ็ดเวิร์ด โซโล รองประธานเอฟเอซีซีเอเป็นชาวไลบีเรียผู้สูญเสียสมาชิกครอบครัวและเพื่อนหลายคนจากโรคร้าย เขาบอกว่าการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียถือว่าไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสอีโบลาและเป็นแค่การส่งเสริมภาพลักษณ์แบบเหมารวมชาวแอฟริกาตะวันตกที่เกิดขึ้นหลังการระบาดเท่านั้น

อดีตประธานของเอฟเอซีซีเอกล่าวว่าการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียทำให้ผู้คนผิดหวังและมองออสเตรเลียในแง่ไม่ดี เขาคิดว่าทางการออสเตรเลียควรช่วยแก้ปัญหาด้วยการส่งตัวบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ระบาดมากกว่า

ทางด้านสก๊อต มอร์ริสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและการป้องกันพรมแดนกล่าวปกป้องการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลียว่า ทำไปเพราะให้ความสำคัญกับการปกป้องประชาชนชาวออสเตรเลียและเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่ารัฐบาลออสเตรเลียเองก็สนับสนุนด้านทรัพยากรต่อกลุ่มให้ความช่วยเหลือวิกฤติอีโบลา

แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มาจากไลบีเรีย โดยอัลจาซีรานำเสนอเรื่องราวของคนทำงานเอ็นจีโอด้านเยาวชน 2 คนในไลบีเรียซึ่งต้องการลี้ภัยในออสเตรเลีย พวกเขาบอกว่าการสั่งแบนการเดินทางส่งผลต่อพวกเขาและผู้พลัดถิ่นซึ่งถูกกดดันให้ต้องช่วยเหลือครอบครัวที่ยังอยู่ในไลบีเรีย ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือการสั่งแบนยังเป็นการตีตราผู้ป่วยเป็นโรคอีโบลาและครอบครัวในไลบีเรียให้เกิดความเสื่อมเสียอีกด้วย

ไฮลี ทเว เวียร์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยจากไลบีเรียกล่าวว่าการตีตราเหยื่อโรคอีโบลาทำให้ผู้คนกลัวที่จะสัมผัสกัน กลัวที่จะพบปะกัน ทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่และครอบครัวแตกแยก จากประสบการณ์ของเวียร์เอง เขาเคยเข้าไปใช้คอมพิวเตอร์ในห้องสมุดสาธารณะแห่งหนึ่งแล้วถูกคนมาสั่งให้ออกไปเมื่อรู้ว่าเขาเป็นชาวไลบีเรีย

เชคริก เคนเนดี ยาร์กไพ ผู้ลี้ภัยอีกคนหนึ่งเปิดเผยว่าชาวไลบีเรียผู้พลัดถิ่นหลายคนโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า "พวกเราเป็นชาวไลบีเรีย พวกเราไม่ใช่ไวรัส" เนื่องจากพวกเขาถูกมองแบบเหมารวมเชื่อมโยงตัวพวกเขากับไวรัสอีโบลา

"การตีตรา ความกลัว ส่งผลกระทบต่อผู้คนจริง ผมคิดว่าการสั่งแบนการเดินทางจะยิ่งทำให้เกิดความกลัวมากขึ้นในตัวประชาชน ผมคิดว่าทางที่ดีกว่าคือการอธิบายว่าอีโบลาแพร่กระจายได้อย่างไร" ยาร์กไพกล่าว

การสั่งห้ามการเดินทางของออสเตรเลียมีขึ้นหลังกรณีที่กลัวว่าผู้หญิงอายุ 18 ปี ที่เดินทางจากกินีด้วยวีซ่าของผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นผู้ติดเชื้อ โดยมีการกักตัวเธอไว้ที่โรงพยาบาลบริสเบนเมื่อเธอมีอาการไข้ขึ้น แต่เมื่อตรวจร่างกายแล้วไม่พบว่าเธอมีเชื้ออีโบลา

ก่อนหน้านี้รัฐบาลอนุรักษนิยมของออสเตรเลียเคยกล่าวว่าพวกเขาปฏิเสธที่จะส่งตัวบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยเหลือโรคอีโบลาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไม่อยากให้บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศตนต้องไปเสี่ยงชีวิตในแอฟริกาตะวันตกและในพื้นที่ดังกล่าวขาดเครื่องมือที่จะรักษาบุคลากรในกรณีที่พวกเขาติดเชื้อ แต่ทางการออสเตรเลียก็ยังอนุญาตให้องค์กรเอกชนหรือกลุ่มอาสาสมัครเดินทางไปช่วยเหลือได้

การสั่งแบนของออสเตรเลียยังถูกวิจารณ์จากองค์การอนามัยโลก โดยมาร์กาเร็ต ชาน อธิบดีองค์การอนามัยโลกวิจารณ์ว่านโยบายการสั่งห้ามการเดินทางใช้ไม่ได้ผลจริงและยังเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการเดินทางรวมถึงทำให้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขาเอง

สมาคมการแพทย์ของออสเตรเลียก็วิจารณ์รัฐบาลออสเตรเลียเช่นกันในเรื่องที่รัฐบาลของตนเองไม่ส่งความช่วยเหลือ ขณะที่อังกฤษและสหรัฐฯ ได้จัดตั้งโรงพยาบาลภาคสนามไว้รับมือกับการติดเชื้อของผู้ทำงานช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว

ไบรอัน โอวเลอร์ ประธานสมาคมการแพทย์ออสเตรเลียกล่าวอีกว่าอีโบลาจะติดต่อได้เมื่อมีการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื่อที่แสดงอาการทำให้การติดต่อผ่านการขนส่งสาธารณะจะมีน้อยมาก

แม้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากผู้ติดเชื้ออีโบลาในช่วงการระบาดหนักล่าสุดจะมีจำนวนเกือบ 5,000 คน แล้วและมีการประเมินว่าอาจจะมีผู้เสียชีวิตที่ตกสำรวจอยู่อีกมาก อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการระบาดจะทุเลาลงแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่บอกว่าพวกเขายังต้องทำงานอีกมากเพื่อทำให้แน่ใจว่าอีโบลาจะถูกควบคุมการระบาดไว้ได้จริง

 

เรียบเรียงจาก

Ebola: Banning West Africans from Australia, Aljazeera, 03-11-2014
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2014/11/ebola-banning-west-africans-from-australia-201411211255816831.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท