นางนพมาศ ไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์กระทง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“นพมาศ” เป็นนางในจินตนาการ ไม่ได้มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ ดังนั้นความจริงแล้วกุลสตรีไทยนางนี้จึงไม่เคยลอยกระทงในตระพังที่สุโขทัยเลยสักหน

บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือเรื่องของนางนพมาศ นั้นเป็นงานที่เขียนขึ้นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 นี้เอง อันที่จริงแล้ว สมเด็จฯ ท่านเชื่อว่า งานชิ้นนี้อาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 ด้วยซ้ำไป

เรื่องที่อ้างอยู่ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่านางนพมาศเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์ กระทง ขึ้นในยุคสุโขทัย (ความจริงทุกวันนี้ก็คือข้อมูลทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน เราก็ไม่ควรนับ สุโขทัย เป็นยุคนักหรอก) ที่จริงก็เป็นเพียงโกหกทั้งเพนั่นแหละ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า กระทง เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเหมือนกัน

สยาม ลอยกระทง มาตั้งแต่ในสมัยปลายของอยุธยาแล้วเป็นอย่างน้อย หลักฐานมีอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชฑูตจากฝรั่งเศส ที่เข้ามาในอยุธยาเมื่อครั้งแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ประเพณีการลอยกระทงที่มงซิเออร์ ลา ลูแบร์ ได้พรรณนาเอาไว้นั้น ชาวอยุธยาเขาไม่ได้จัดเป็นงานอีเว้นต์ให้มีเฉพาะวันเพ็ญ เดือนสิบสองเท่านั้น เพราะมงซิเออร์ท่านเล่าเอาไว้ว่า ได้มองเห็นแม่น้ำที่เต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำอยู่หลายคืน แปลง่ายๆ ว่าลอยกันในช่วงๆ นี้น่ะแหละ ก่อนจะแล้วค่อยเลิกไปกันเอง (แต่ต้องอยู่ในช่วงน้ำขึ้นปลายปีเก่า ต้นปีใหม่อย่างนี้เท่านั้น ถ้าไปลอยช่วงอื่นแม่งก็ไม่ได้บรรยากาศ รวมไปถึงความขลังและศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด)

ตลกร้ายก็คือ อันที่จริงแล้วหลักฐานที่เก่าที่สุดของประเพณีการลอยกระทงในอุษาคเนย์กลับก็ไม่ได้เจอที่ไทย เพราะพบเป็นภาพสลักอยู่บนผนังปราสาทบายน ในเมืองนครธม (ปัจจุบันคือ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา) เมื่อกลางๆ ศตวรรษของ พ.ศ.1700  ต่างหาก แถมปัจจุบันนี้ชาวเขมรเขาก็ไม่ได้ลอยกระทงแค่วันเดียวเหมือนในไทยเสียด้วย เห็นแล้วก็ชวนให้เชื่อได้ว่า ประเพณีการเพิ่มมลพิษให้แม่น้ำของเขมรนี่ยังมีเค้าเก่าแก่เหมือนอย่างที่มงซิเออร์ลา ลูแบร์ บรรยายไว้มากกว่าของไทยเราเสียอีก

“ลอยกระทง” เขมรเรียก “ลอยประเทียบ” ปัจจุบันจะจัดให้มีติดต่อกันนานสามวัน และไม่ได้เป็นเพียงการนำกระทงลงไปลอยเพื่อขอขมาแม่น้ำลำคลองเหมือนอย่างที่ไทยเราอธิบายเท่านั้นด้วย แต่ยังมีการบูชาพระจันทร์ที่เรียกว่า “สมเปรี๊ยะพระแข” (sampeas pra khe, ขอให้สังเกตด้วยว่าพระจันทร์เกี่ยวข้องกับน้ำ) การตำ “ออก อำบก” (ork ambok) คือข้าวเม่า และที่สำคัญคือมี การแข่งเรือ อีกด้วย

(“การแข่งเรือ” ในพระราชพิธีสิบสองเดือนข้างไทยเราเรียก “ไล่เรือ” ทำกันในเดือนสิบเอ็ด ก่อนลอยกระทงหนึ่งเดือน แต่ยังไงก็ถือว่าเป็นพิธีที่ทำในช่วงน้ำมาก น้ำหลาก จะเดือนสิบเอ็ดอย่างไทย หรือเดือนสิบสองแบบเขมร ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะต่างก็คือการทำพิธีไล่น้ำให้ลดๆลงไปเพื่อการเพาะปลูกเช่นกันนั่นเอง ดังนั้นถ้าชาวเขมรเขาจะเอามาผนวกรวมกับการลอยกระทงในช่วงเดือนสิบสองก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเสียหน่อย?)

แน่นอนว่า ชาวเขมรไม่ได้เชื่อว่า “นางนพมาศ” เป็นผู้ประดิษฐ์กระทง และถ้าหากนางนพมาศตัวตนจริงๆอยู่ในยุคของพระร่วง ที่กรุงสุโขทัยแล้ว อายุของนางนพมาศ ก็คงนับอายุได้เป็นเพียงรุ่นโหลนทวดของบรรดานางในที่ถือกระทงอยู่ในภาพสลักที่ปราสาทบายนเลยทีเดียว

ตลกร้ายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตำนานที่ชาวเขมรผูกขึ้นเพื่ออธิบายที่มาที่ไปของเทศกาลลอยกระทงกลับไม่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับบรรดานางในที่ถือกระทงในปราสาทบายนแห่งนั้นเลย พวกเขาเชื่อว่าประเพณีต่างๆ ที่ปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลลอยกระทงนี้เกี่ยวข้องกับการศึกสงครามต่างหาก

ปมในใจที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของกัมพูชา (ที่ก่อร่างสร้างตัวโดยมีฝรั่งเศสเป็นผู้อุปถัมภ์หลัก และต่อยอดอีกมากมายมหาศาลโดยชาวเขมรเองหลังจากนั้น) สร้างไว้กับคนเขมรคือ การหวาดระแวงกับการศึกทางน้ำ การเสียกรุงครั้งแรกของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของเมืองพระนครตามหลักสูตรประวัติศาสตร์แห่งชาติของกัมพูชาอ้างว่า เกิดจากการที่พวกจามเข้ามาจู่โจมในช่วงฤดูน้ำหลากนี่เอง

ภาพสลักบนผนังปราสาทที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ซึ่งก็คือคนสร้างปราสาทบายนที่มีภาพอาเจ๊ทั้งหลายไปลอยกระทงนี่แหละ) ซึ่งทรงเป็นผู้กอบกู้เมืองพระนครที่ถูกทำลายไปจากการรุกรานของพวกจาม เต็มไปด้วยภาพการศึกสงครามทางน้ำระหว่างฝ่ายจามปา และฝ่ายเขมร

ชาวเขมรในปัจจุบันอธิบายว่า เทศกาลลอยกระทงเป็นการขอขมาแม่น้ำ บูชาพระพุทธเจ้า บูชาพระจันทร์ รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ คล้ายๆกับความเชื่อของไทยเรา แต่ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงนอกจากเรื่องของนางนพมาศแล้วก็คือ ความเชื่อที่ว่าเทศกาลลอยกระทงเป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีต่อพวกจาม เมื่อครั้งยึดเมืองพระนครกลับคืนมาได้นี่เอง (จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจด้วยเช่นกันที่ชาวเขมรจะมาแข่งเรือกันในช่วงลอยกระทง เพราะในภาพสลักแม่งก็มีเรือรบอยู่ให้เกลื่อนไปหมด)

ในเขมรประเพณี (ที่ถือเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ใช้ในการจินตกรรมความเป็นชาติ) ถูกโยงเข้ากับภาพสลักบนปราสาทหิน ถ้าประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยผูกโยงอยู่กับราชสำนักอย่างแยกไม่ออก เช่นเดียวกับที่กระทง ต้องเป็นนวัตกรรมจากนางสนมในวังอย่าง นางนพมาศ ประวัติศาสตร์แห่งชาติของเขมรก็ผูกโยงอยู่กับปราสาทโบราณในยุครุ่งเรืองของขอม (ซึ่งก็คือเขมรนั่นแหละ) อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้เหมือนกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท