Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ด้านนโยบายต่างประเทศวิจารณ์กิจกรรมส่งลูกโป่งข้ามแดนจากเกาหลีใต้สู่เกาหลีเหนือว่าสร้างอันตราย 4 ประการต่อประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง และนับเป็นวิธีการที่สร้างการยุยงส่งเสริมโดยไม่จำเป็นจนอาจจะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมา


7 พ.ย. 2557 นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของเกาหลีใต้พยายามใช้ลูกโป่งเพื่อส่งสิ่งของจากเกาหลีใต้ไปยังเกาหลีเหนือซึ่งมีทั้งใบปลิวต่อต้านรัฐบาลเกาหลีเหนือและวัตถุต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสังคมที่ต่างออกไปจากเกาหลีเหนือเช่น ธนบัตรดอลลาร์ หรือแม้กระทั่งขนมช็อกโกพาย แต่การใช้วิธีนี้ก็ถูกวิจารณ์ว่าอาจจะทำให้ประชาชนเกาหลีทั้งสองฝั่งได้รับอันตราย

เว็บไซต์ Foreign Policy In Focus (FPIF) ระบุว่านักกิจกรรมใช้ลูกโป่งเป่าลมซึ่งผูกติดด้วยสิ่งของเช่นภาพยนตร์ที่บรรจุในอุปกรณ์เก็บข้อมูลขนาดพกพาเพื่อส่งไปทางฝั่งเกาหลีเหนือที่มีการปกครองแบบเผด็จการ นอกจากนี้แล้วยังมีกลุ่มชาวคริสต์สายอีแวนเจลิคบางกลุ่มอวดอ้างว่าได้ส่งพระคัมภีร์ข้ามพรมแดนไป 50,000 เล่ม และใบปลิวเผยแพร่ศาสนาคริสต์ 500,000 ใบ ขณะที่กลุ่ม 'นักสู้เพื่อเสรีภาพแห่งเกาหลีเหนือ' หรือเอฟเอฟเอ็นเคอ้างว่าได้ส่งใบปลิว 52 ล้านใบไปยังฝั่งเกาหลีเหนือซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าประชากรชาวเกาหลีเหนือเอง

แต่การใช้ลูกโป่งเพื่อส่งของในการรณรงค์นี้ก็ต้องใช้จ่ายเปลืองเว็บไซต์ Foreign Policy In Focus ระบุว่ากลุ่มเอฟเอฟเอ็นเคใช้จ่ายอย่างน้อย 500 ดอลลาร์ (ราว 16,000 บาท) ต่อการส่งลูกโป่งหนึ่งลูก และไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าของที่ติดไปกับลูกโป่งจะมีชาวเกาหลีเหนือได้รับหรือไม่

อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือไม่ค่อยพอใจกับเรื่องนี้ พวกเขาตอบโต้ด้วยการส่งลูกโป่งของพวกเขาเองกลับไปเป็นข้อความต่อต้านรัฐบาลเกาหลีใต้และขู่ว่าจะใช้กำลังเพื่อหยุดการกระทำของเกาหลีใต้ โดยในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ทหารเกาหลีเหนือใช้อาวุธปืนพยายามยิงลูกโป่งจากเกาหลีใต้อยู่สองครั้ง

ทางด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ยังแสดงออกแบบครึ่งๆ กลางๆ ต่อกิจกรรมลูกโป่งนี้ โดยเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลเกาหลีใต้สั่งให้ตำรวจปราบปรามการรวมกลุ่มส่งลูกโป่งติดใบปลิว 200,000 ใบที่เมืองอิมจินกัก ชายแดนเกาหลีใต้ แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังไม่ออกมาตรการใดๆ เพื่อป้องกันการทำกิจกรรมนี้ รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีปาร์คกึนฮเยต้องการเปิดทางให้มีเจรจาทำข้อตกลงกับเกาหลีเหนือ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้คนอื่นเห็นว่าละเลยในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือทำตัวผิดจากจุดยืนการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเกาหลีเหนือมากจนเกินไป

กระนั้นเองผู้นำของเกาหลีทั้งสองฝั่งยังมีความคิดเห็นตรงกันในเรื่องหนึ่งคือพวกเขามองว่าการดำเนินกิจกรรมลูกโป่งเป็นการยั่วยุโดยไม่จำเป็น ขณะเดียวกันพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ก็กล่าวว่ารัฐบาลไม่มีหน้าที่ใดๆ ในการแทรกแซงยับยั้งกิจกรรมดังกล่าว

เว็บไซต์ FPIF ระบุในเชิงเห็นด้วยกับผู้นำทั้งสองประเทศว่ากิจกรรมการส่งลูกโป่งเป็นการยุยงส่งเสริมโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอันตราย 4 ประการ

ประการแรกคืออันตรายต่อชาวเกาหลีเหนือในแง่ที่ลูกโป่งอาจจะไปตกบนหลังคาที่อยู่อาศัยของชาวนาจนทำให้เจ้าหน้าที่ทางการสงสัยในตัวผู้อยู่อาศัยว่าจงใจเก็บลูกโป่งไว้หรือเด็กบางคนอาจจะไม่รู้เดียงสาเก็บลูกโป่งเข้าไปในบ้านจนสร้างปัญหาแก่คนในครอบครัวได้ เนื่องจากในเกาหลีเหนือผู้ที่รับเอาวัตถุต้องห้ามรวมถึงวรรณกรรมศาสนาคริสต์อย่างคัมภีร์ไบเบิลจะต้องโทษประหารชีวิตหรือถูกบังคับใช้แรงงานหนัก แต่กลุ่มชาวคริสต์ในเกาหลีใต้ก็ยังยืนยันจะส่งวัตถุต้องห้ามเหล่านี้เข้าไปโดยไม่สนใจว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตชาวเกาหลีเหนือหรือไม่

อันตรายประการที่สองคืออันตรายต่อชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่ชายแดน พวกเขาจะต้องรับเคราะห์หากมีการโจมตีด้วยอาวุธปืนใหญ่จากเกาหลีเหนือ จึงไม่แปลกใจที่ก่อนหน้านี้ประชาชนในเมืองพาจูของเกาหลีใต้จะพยายามใช้รถแทรกเตอร์ 19 คันขัดขวางการลอยลูกโป่งของนักกิจกรรม

อันตรายประการที่สามคืออันตรายต่อการเจรจาระหว่างสองประเทศ แม้ว่าการปล่อยลูกโป่งอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งโดยตรง แต่ก็มีโอกาสทำให้ความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่มีอยู่แต่เดิมหมดลงได้เช่น เขตนิคมอุตสาหกรรมแคซองซึ่งเป็นโครงการช่วงสมัยยุคของนโยบาย "แสงตะวัน" ของทั้งสองประเทศ เป็นโครงการที่สร้างผลประโยชน์ให้กับชาวเกาหลีเหนือที่ทำงานอยู่ที่นั่น 50,000 คน เนื่องจากค่าจ้างและคุณภาพในที่ทำงานดีกว่าโรงงานในเกาหลีเหนือเอง

FPIF ระบุว่าแม้แคซองอาจจะไม่ใช่โครงการสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ชาวเกาหลีเหนือ แคซองยังทำให้ชาวเกาหลีเหนือมีโอกาสเห็นชีวิตส่วนหนึ่งของชาวเกาหลีใต้โดยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงชีวิต 'นโยบายสร้างความเชื่อใจ' หรือ trustpolitik ของปาร์คกึนฮเยทำให้เกิดโครงการความร่วมมือกับเกาหลีเหนือ แต่โครงการลูกโป่งของนักกิจกรรมกำลังทำลายความร่วมมือตรงนี้

อันตรายประการที่สี่คืออันตรายต่อประชาธิปไตยของเกาหลีใต้เอง เป็นเรื่องน่าอายถ้าหากรัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องปราบปรามสิ่งที่ดูเป็นการแสดงออกอย่างเสรี และแม้ว่าเกาหลีใต้จะเคยเป็นประเทสที่สามารถปลดแอกตัวเองจากเผด็จการได้ในช่วงราว 30 ปีที่แล้วด้วยความช่วยเหลือจากภายนอก แต่สิ่งที่ต่างกันในกรณีของเกาหลีเหนือคือไม่มีใครภายในเกาหลีเหนือเรียกร้องความช่วยเหลือจากภายนอก แม้ว่าชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากจะไม่ชื่นชมผู้นำคนปัจจุบันเท่าใด และพวกเขาก็หารายการโทรทัศน์และขนมช็อกโกพายได้จากแหล่งอื่นโดยไม่ต้องพึ่งลูกโป่ง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการปฏิวัติใหญ่หรือมีการออกมาชุมนุมแบบที่สื่อจะเรียกว่า 'เปียงยางสปริง'

FPIF วิจารณ์ว่ากลุ่มนักกิจกรรมลูกโป่งมีความพยายามเข้าถึงเป้าหมายโดยไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมาซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิคคนอื่น นอกจากนี้ยังแนะนำให้พวกเขาเรียนรู้จาก "การปฏิวัติแบบจำกัดตัวเอง" ของนักกิจกรรมในโปแลนด์ช่วง 30 ปีที่แล้วซึ่งมีการเตือนตัวเองว่าถ้าหากกดดันรัฐบาลโปแลนด์ในยุคนั้นมากเกินไปจะทำให้เกิดการรุกรานจากสหภาพโซเวียตและผลที่ตามมาคือความพินาศทำให้พวกเขาดำเนินกิจกรรมอย่างระมัดระวัง


เรียบเรียงจาก

Korea’s Balloon War, John Feffer, Foreign Policy In Focus, 03-11-2014
http://fpif.org/koreas-balloon-war/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net