Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน ‘ทวงคืนความถูกต้อง’ 6 หมู่บ้านเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนรายงานไต่สวนคำขอประทานบัตร-รายงานเวทีฟังความเห็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากข้อมูลไม่ตรงความจริง-กำหนดให้แปลง 104 เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ห้ามประกอบกิจการใด

<--break- />

 

10 พ.ย.2557 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ตัวแทนชาวบ้านจำนวน 23 คนจาก 6 หมู่บ้าน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย รวมตัวกันยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองอุดรธานี กรณีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย

โดยร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.ขอให้เพิกถอนรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ผู้ถูกฟ้องคดี คืออุตสาหกรรมจังหวัดเลย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และอดีตกำนันตำบลเขาหลวงได้บันทึกให้แก่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

2.ขอให้เพิกถอนรายงานการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public scoping) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เนื่องจากข้อความในรายงานฉบับดังกล่าว มีข้อมูลในสาระสำคัญที่เป็นเท็จในส่วนที่เป็นแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม 

3.ขอให้ศาลปกครองกำหนดเขตพื้นที่พิพาทภูเหล็ก แปลงที่ 104/2539 ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซับซึม ห้ามการประกอบกิจการใด เว้นแต่สงวนรักษาไว้ให้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว

ชาวบ้านแจ้งด้วยว่า สถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสินแร่ที่เหลืออยู่ในโรงงานด้วย

ทั้งนี้ กรณีของบริษัททุ่งคำนั้น ได้รับสิทธิในการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และการประกอบโลหกรรม ตั้งแต่ประมาณปี 2533  ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก และที่ดินเขตป่าตามมาตรา 4(1) ในเขตพื้นที่จังหวัดเลย และหลังจากนั้นชาวบ้านในพื้นที่มีการร้องเรียนเรื่องการได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริเวณรอบเหมืองหลายครั้ง ช่วงระหว่างปี 2547 – 2549, 2553 ซึ่งพบว่ามีสารหนู แคดเมียม เหล็ก ตะกั่ว และแมงกานีส เกินเกณฑ์มาตรฐาน ต่อมา มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของทุ่งคำ แปลงที่ 104/2538 พื้นที่ประมาณ 291 ไร่ และแปลงอื่นๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุการเกิดสารปนเปื้อน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ได้ดำเนินการตาม มติครม. ดังกล่าว และบริษัททุ่งคำยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2555 สันเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ของทุ่งคำพังทลายเป็นเหตุให้สารไซยาไนด์รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่นาของชาวบ้าน  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยจึงมีคำสั่งด่วนอีกครั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ให้บริษัทหยุดการทำเหมืองทันทีและแก้ไขปัญหาจนกว่าจะยุติ  แต่นอกจากการทำเหมืองจะไม่หยุดลงแล้ว บริษัทยังขอประทานบัตรขยายพื้นที่ทำเหมืองมากขึ้น โดยขั้นตอนผ่านมาถึงขั้นการจัดเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 104/2538 (ภูเหล็ก) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 และเวทีพับลิก สโคปปิง เพื่อจัดทำรายงาน EHIA ประกอบการขอประทานบัตร แปลงที่ 76/2539 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556

ปี 2556 ทุ่งคำได้ส่งแผนการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับปรับปรุง ที่รายงานการใช้จ่ายเงินในการฟื้นฟูรวม 57,886,322 บาท ตามเงื่อนไขที่ผู้รับอนุญาตจะต้องจัดให้มีแผนบรรเทาผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอต่อใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันคัดค้านอีกครั้ง โดยระบุว่าการฟื้นฟูดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องการให้หน่วยงานรัฐต่อใบอนุญาตให้บริษัทเข้ามาใช้พื้นที่อีก โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ 1 เอ

6 พฤษภาคม 2557 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระบุว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ขอใบอนุญาตขนแร่ทองแดงมีทองคำและเงินเจือปนจำนวน 476 เมตริกตัน โดยใช้รถบรรทุก 15 คัน ไปยังสถานที่เก็บแร่ของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยใบอนุญาตมีอายุวันที่ 22-23 เมษายน 2557  และชาวบ้านยังคงต่อต้านการเข้าพื้นที่ของบริษัทอย่างแข็งขัน และมีเจ้าหน้าที่

ก่อนหน้านั้น ประชาคม 6 หมู่บ้านรอบเหมืองมีมติจัดทำระเบียบชุมชนห้ามไม่ให้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 15 ตัน ขนสารพิษผ่านชุมชนก่อนได้รับอนุญาตจากกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านได้ช่วยกันก่อกำแพงบนถนนสาธารณะ ในปลายปี 2556 เป็นจุดเริ่มต้นในการถูกบริษัททุ่งคำฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญากับชาวบ้านหลายรายในความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ รวมแล้ว 7 คดี สองคดีแรกเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท บวก 10 ล้านบาททุกวันจนกว่าคดีจะสิ้นสุดหรือกำแพงจะถูกทำลายลง และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์จากการทำกำแพงครั้งที่หนึ่งเพื่อกั้นถนนไม่ให้รถบรรทุกแร่และสารเคมีในการทำเหมืองและประกอบโลหกรรมวิ่งผ่านเพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่เกิดขึ้น, สองคดีที่สองเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกจากการทำซุ้มประตู (กำแพงครั้งที่สาม) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน, สองคดีที่สามเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 150 ล้านบาท และคดีอาญาโทษฐานบุกรุกพื้นที่สาธารณะด้วยการนำแท่งคอนกรีตทรงกลม (กำแพงครั้งที่สอง) ปิดกั้นถนนด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน และคดีสุดท้าย บริษัททุ่งคำร่วมกับ อบต.เขาหลวง ไปร้องทุกข์กล่าวโทษชาวบ้าน 22 คน ในข้อหาข่มขืนใจ บุกรุก และสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ

ที่มาข้อมูลบางส่วน :
http://loeiminingtown.org/2014/03/23/602

http://loeiminingtown.org/2014/02/26/522

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net