ป้าย “ห้ามท้อง” ผอ.รพ.ราชวิถี รับแล้ว แจงจนท.ทำโดยพลการ นักสหภาพฯ อัดละเมิดสิทธิ ผิด กม.

ผอ.รพ.ราชวิถี รับป้าย “ห้ามท้อง” จนท.ทำโดยพลการระบุไม่ใช่เรื่องใหญ่ รองนายกฯ ชี้ละเมิดสิทธิฯ ‘จิตรา’ อัดห้ามคนงานท้อง ละเมิดสิทธิ ผิด กม. แนะรวมตัวต่อรองเพิ่มสวัสดิการ ‘บุษยรัตน์’ ยกฎีกา “นายจ้างไม่สามารถมีข้อตกลงเรื่องการห้ามตั้งครรภ์กับพนักงานได้”

หลังจากที่โซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กมีการโพสต์และแชร์ต่อป้ายข้อความที่ระบุว่า “ประกาศ.... ตั้งแต่ 30 ต.ค.57- 31 ธ.ค.58 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย” นอกจากนี้อมีปรากฏลายเซ็นต์ชื่อรับทราบจำนวนหนึ่ง โดยมีการระบุด้วยว่าป้ายดังกล่าวเป็นของเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

ล่าสุด วานนี้(10 พ.ย.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ล่าสุดได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในแต่ละแผนกของโรงพยาบาลแล้ว และได้พบอยู่แผนกหนึ่ง ซึ่งสอบถามไปยังหัวหน้าแผนกก็พบว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการตกลงกันภายในแผนก

เนื่องจากที่แผนกดังกล่าวมีคนท้องค่อนข้างมาก และในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่ามีคนท้องพร้อมๆ กันหลายคน จนเกิดการลาคลอด ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร ทำให้มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ ปัญหาคือ กลับเกิดการสื่อสารกันภายในผิดพลาด จนกลายเป็นความไม่พอใจต่อกัน และขยายความต่อจนทำให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้น  ซึ่งเรื่องนี้ตนได้จัดการไปแล้วและตักเตือนกับหัวหน้าหน่วยว่าทางโรงพยาบาลไม่มีนโยบายแบบนี้ และห้ามประกาศเช่นนี้

“วันนี้ได้เรียกมาทำความเข้าใจแล้วว่า หากจะห้ามในลักษณะดังกล่าว ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการริดรอนสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการทำโดยพลการไม่ได้มีการปรึกษาฝ่ายบุคคล และเป็นเพียงความหวังดีอยากแก้ปัญหาความขาดแคลนภายในหน่วยงาน ซึ่งได้ให้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว และตักเตือนหัวหน้าส่วนงานดังกล่าวแล้ว ​โดยต่อไปหากเกิดความขาดแคลนบุคลากรฝ่ายบริหารก็จะช่วยแก้ปัญหาเอง” นพ.อุดม กล่าว

นพ.อุดม กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหาร คิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหญ่ และไม่ได้กระทบกระเทือนสิทธิของประชาชน หรือ ทำให้กระทบต่อการให้บริการประชาชนแต่อย่างใด ส่วนที่จะมีการนำเรื่องนี้ไปขยายว่าเป็นเรื่องของสีเสื้อนั้น ตนคงไม่จำเป็นต้องชี้แจง เพราะไม่ใช่สาระสำคัญ และมีการทำความเข้าใจกับบุลคลากรของโรงพยาบาลให้เข้าใจตรงกันแล้ว และไม่ได้มีการปิดกั้นสิทธิของพนักงานแต่อย่างใด

วันเดียวกัน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้หลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นถ้าจะดำเนินการเรื่องนี้ก็ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบไปฟ้องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ในแง่ของการรักษาสิทธิ

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ที่แน่ๆ  สธ. ไม่เคยมีนโยบายห้ามบุคลากร เจ้าหน้าที่ในสังกัด สธ. ห้ามตั้งครรภ์แต่อย่างใด

 

‘จิตรา’ ชี้ห้ามคนงานท้อง ละเมิดสิทธิ ผิด กม. แนะรวมตัวต่อรอง

ด้าน น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่ กว่า 1,400 คน เป็นผู้หญิง กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า เป็นประกาศที่ละเมิดสิทธิผู้หญิงมาก รวมทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 มาตรา 43 มีข้อห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะ เหตุมีครรภ์

เรื่องนี้ผู้หญิงในโรงพยาบาลจึงจำเป็นต้องรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของตัวเองในเนื้อตัวร่างการ เสรีภาพที่จะทำแท้งหรือเสรีภาพที่จะมีลูก เพราะเป็นเรื่องเนื้อตัวร่างกายที่ไม่ให้ใครมาควบคุมได้ แต่กรณีมีบุตรเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับและรับรองว่าไม่มีใครสามารถมาห้ามได้และเมื่อมีบุตรแล้วต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ในเรื่องสิทธิการทำงาน การไม่ต้องทำงานล่วงเวลา สิทธิลาคลอด

โดย น.ส.จิตรา ยกกรณีสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานและมีการเจรจาต่อรองที่ดีนั้น จะมีการต่อรองขอให้ผู้หญิงคลอดลูกได้รับการลางานมากกว่ากฎหมายกำหนด มีเงินรับขวัญบุตร ผู้หญิงมีครรภ์มีเงินค่ารักษา มีสิทธิทานนมในเวลางานได้ มีค่าพยาบาลมากกว่าพนักงานทั่วไป เช่น กรณีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ พนักงานทั้งโรงงานหยุดทำงานล่วงเวลาเพื่อประท้วงบริษัทฯ ในกรณีที่บริษัทออกใบเตือน พนักงานหญิงที่มีครรภ์ที่ทำงานได้น้อยกว่าเป้าที่บริษัทตั้งให้

น.ส.จิตรา กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้มันสะท้อนว่าการที่จะออกประกาศควบคุมหญิงมีครรภ์นั้นเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง ทางที่ดีโรงพยาบาลราชวิถีควรเอากรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างแล้ว ออกระเบียบเกี่ยวกับสิทธิสตรี สิทธิของผู้หญิงมีครรภ์ให้มีสิทธิมากกว่ากฎหมายกำหนดทั้งกฎหมายไทยและสากลเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นโรงพยาบาลปกป้องสิทธิผู้หญิง โรงพยาบาลราชวิถีเป็นโรงพยาบาลที่มีคนมาคลอดลูกจำนวนมาก มีบุคลากรที่เป็นหญิงจำนวนมาก ควรให้สิทธิผู้หญิงได้รับการดูแลที่ดีไม่ใช่พวกเธอมีแค่หน้าที่ดูแลลูกและหญิงมีครรภ์คนอื่นแต่พวกเธอไม่มีสิทธิที่จะตั้งท้องเอง ไม่เช่นนั้นพนักงานในโรงพยาบาลจะเข้าใจและดูแลผู้หญิงตั้งครรภ์อย่างเข้าใจได้ดีได้อย่างใร

 

‘บุษยรัตน์’ ยกฎีกา “นายจ้างไม่สามารถมีข้อตกลงเรื่องการห้ามตั้งครรภ์กับพนักงานได้”

น.ส.บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ว่าเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า “นายจ้างไม่สามารถมีข้อตกลงเรื่องการห้ามตั้งครรภ์กับพนักงานได้” กล่าวคือ เมื่อปี 2549 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2549 ที่ระบุชัดเจนว่า การที่บริษัทมีข้อตกลง (สัญญา)ห้ามพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตั้งท้อง ไม่สามารถนำสัญญาดังกล่าวนี้มาใช้บังคับกับพนักงานได้ เนื่องจากขัดกับ พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ร่วมด้วย ที่ระบุไว้ว่า การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ

สรุปย่อสาระสำคัญของคำพิพากษา มีดังนี้

(1) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเพศหญิงเพราะเหตุมีครรภ์

(2) ได้มีข้อตกลงระหว่างนายจ้างและพนักงาน (ลูกจ้าง) ตามสัญญาจ้างพนักงานตอนรับบนเครื่องบินที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มสัญญา หากพนักงาน (ลูกจ้าง) ตั้งครรภ์ ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญา

(3) ในสัญญาได้ระบุว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ ทั้งเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนด และไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน

ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่นายจ้างกำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องจึงจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการฝึกอบรมและปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

(4) ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ที่กำหนดว่า เมื่อพนักงาน(ลูกจ้าง)ได้กระทำการผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ คำสั่งต่างๆ ที่กล่าวไว้ กรณีร้ายแรงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง และข้อตกลงที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงาน(ลูกจ้าง)ตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงาน(ลูกจ้าง)บอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่าพนักงาน(ลูกจ้าง)ตั้งครรภ์

(5) ศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะลูกจ้างมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท