สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 พฤศจิกายน 2557

 
กกร.ลงมติเลื่อนลงนามกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศออกไปไม่มีกำหนด
 
นายอิสระว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.มีมติให้ชะลอการเข้าร่วมลงนามสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อย่างไม่มีกำหนด โดยฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว หรือการตั้งสหภาพแรงงานคนต่างด้าวในไทย และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง หลังจากที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ขอให้ประเทศสมาชิก 183 ประเทศ ลงนามรับสัตยาบันอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
 
ทั้งนี้ที่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก กกร.ส่วนใหญ่เกือบ 100% ไม่เห็นด้วยกับการลงนามดังกล่าว เนื่องจาก ไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวซึ่งปัจจุบันมี 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานมจากพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนามและอื่น ๆ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทย อยู่ระหว่างการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทำให้อาจส่งผลกระทบต่อการจัดระบบในภาพรวมได้
 
“เป็นการสำรวจบริษัทที่เป็นสมาชิก 4,000 ราย เกือบ 100% ระบุว่ายังไม่พร้อมที่จะลงนามกับไอแอลโอ เนื่องจากหากรวมตัวประท้วงของคนต่างด้าว เพื่อเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ในเมืองไทยก็จะเป็นความวุ่นวายเพราะแค่การประท้วงของคนไทยเองด้วยกัน ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแย่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา นายจ้างคนไทยก็มีมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ดีอยู่แล้ว เพื่อเอาใจไม่ให้แรงงานต้องย้ายไปทำงานที่อื่น ๆแต่อนาคต หากไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ ก็จะพิจารณากันใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่าหลาย ๆ ประเทศก็ยังไม่มีการลงนามเช่นกัน”
 
(เดลินิวส์, 5-11-2557)
 
จ่อคลอดอาชีพใช้แรงงานต้องขอตั๋วทำงาน
 
(6 พ.ย.) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายต่อ กพร. ว่า อยากให้พัฒนาแรงงานทั้งด้านทักษะฝีมือแรงงานและทางด้านภาษา โดยอยากให้มียุทธศาสตร์ทางด้านแรงงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนายจ้างในการจ้างแรงงานที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังได้เน้นในเรื่องการวางแผนปฏิบัติการในการใช้งบประมาณให้ชัดเจน และเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งตนได้กำชับเรื่องนี้ต่อหัวหน้าส่วนราชการของ กพร. ทั่วประเทศแล้ว
       
ม.ล.ปุณฑริก ยังกล่าวถึงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่...พ.ศ. ...) ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการทำงานในอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถโดยเฉพาะ อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างแอร์ เป็นต้น โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้กำหนดอาชีพที่ต้องใช้ใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมมาตรการรองรับการบังคับใช้กฎหมายให้เสร็จภายใน 90 วัน จากนั้นจึงจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป 
 
(ASTVผู้จัดการออนไลน์, 6-11-2557)
 
ช่วยเหลือเยียวยาแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาสที่อินโดนีเซียเพิ่มอีก 6 ราย
 
นางเสาวนีย์ โขมพัตร รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกไปใช้แรงงานทาส ที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เพิ่มอีกจำนวน 6 คน
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการสำรวจพบว่ายังมีแรงงานประมงไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทยอีก จำนวน 14 คน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดโครงการความร่วมมือช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหาในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหา และผู้ที่อาจจะประสบปัญหาจากการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง เป็นการขยายผลการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ในเรือประมง โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยดังกล่าว และสามารถเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยในวันที่ 6 พ.ย. 57 เพิ่มอีกจำนวน 6 คน ส่วนแรงงานประมงไทยที่เหลืออีก 9 คน อยู่ในระหว่างการดำเนินการช่วยเหลือเพื่อให้เดินทางกลับมาประเทศไทยต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม นางเสาวนีย์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยหลังจากเดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซีย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีกระบวนในการดูแล ตั้งแต่ติดตามเยี่ยมครอบครัว เพื่อประเมินสภาพปัญหาความต้องการในการช่วยเหลือ และเตรียมการส่งกลับคืนสู่ครอบครัว จัดทีมสหวิชาชีพ เพื่อคัดแยกผู้เสียหาย กรณีที่เป็นผู้เสียหายจะมีการแจ้งสิทธิและจัดให้เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองพัฒนาอาชีพ ยกเว้นผู้เสียหายต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา จะประสานหน่วยงานในพื้นที่ติดตามให้การช่วยเหลือ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีกองทุนเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งสามารถให้ผู้เสียหายเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และ การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และให้การช่วยเหลือด้านการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตลอดจนการ
ช่วยเหลือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ฯลฯ ตามที่กฎหมายกำหนด
 
(ไอเอ็นเอ็น, 6-11-2557)
 
ผอ.สำนักแรงงานต่างด้าว จี้นายจ้างยื่นประวัติแรงงานรอพิสูจน์สัญชาติ เผยนายจ้างยื่นแล้วกว่า 1 หมื่นคน
 
(6 พ.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นายพิชิต นิลทองคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและการพิสูจน์สัญชาติ ว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ยื่นรายชื่อขอพิสูจน์สัญชาติไว้ก่อนสิ้นสุดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในวันที่ 31 ตุลาคม และอยู่ระหว่างการดำเนินการมีอยู่กว่า 10,000 คน ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการได้วันละประมาณ 1,000 - 1,500 คน ซึ่งตกค้างอยู่ประมาณ 10 จังหวัด แต่คาดว่าบางจังหวัดจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในวันนี้
       
นายพิชิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีนายจ้างยื่นรายชื่อแรงงานต่างด้าวเพื่อพิสูจน์สัญชาติต่อ กกจ. บ้างแล้ว ซึ่งในส่วนของสัญชาติพม่า กกจ. ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหภาพเมียนมาร์ แล้วและอยู่ระหว่างรอการตอบกลับ ส่วนสัญชาติกัมพูชานั้นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเคลื่อนที่ได้ลงพื้นที่ไปรับเอกสารเพื่อส่งต่อไปจัดทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ใน 5 จังหวัดแล้ว ได้แก่ นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรสาคร และที่ อ.พระประแดง สมุทรปราการ แล้วจำนวนประมาณ 6,000 คน โดยต้องรอพาสปอร์ต จากประเทศต้นทางจากนั้นจะนำมาตรวจลงตราประทับวีซ่าเพื่อออกใบอนุญาตทำงานต่อไป ส่วนสัญชาติลาวนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้ามาดำเนินการแต่นายจ้างสามารถนำเอกสารหลักฐานไปยื่นได้ที่สำนักจัดหางานจังหวัดเพื่อรอการดำเนินการต่อไปได้ โดยอยากขอให้นายจ้างเร่งยื่นประวัติแรงงานต่างด้าวเข้ามาที่กกจ.เพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติ
       
ทั้งนี้ ยอดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน นั้นมีแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 1,584,938 คน แยกเป็นแรงงานจำนวน 1,493,781 คน เป็นผู้ติดตามจำนวน 91,157 คน 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-11-2557)
 
ส.อ.ท.จี้รัฐคุมค่าไฟ-ค่าแรง ไม่อยู่ เอกชนหนีซบเพื่อนบ้านแน่ 
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนา อุตสาหกรรมไทย...ผู้นำในอาเซียน”จัดโดยส.อ.ท.ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยอย่างรุนแรง คือ ต้นทุนค่าแรง รัฐบาลควรคงอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ 300 บาท ไปจนถึงสิ้นปี 2558 และการปรับค่าจ้างในแต่ละครั้งควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้นทุนค่าไฟฟ้า มีความสำคัญต่อหลายอุตฯ ภาครัฐควรคงอัตราค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.96 บาทต่อหน่วย และถ้าเกิน 5 บาทต่อหน่วย จะทำให้เอกชนรับไม่ไหว ย้ายฐานไปประเทศอื่น และต้นทุนการติดต่อสื่อสารของไทย ของไทย มีราคาสูงพอสมควร และยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ควรปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งให้มีต้นทุนที่ลดลงด้วย
 
“ระบบการสื่อสารของไทย ถือเรื่องที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าไทยต้องการเป็นผู้นำในอาเซียน ระบบการสื่อสารต้องดี ต้องมีการติดต่อสื่อสารผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนท์ การโทรศัพท์ข้ามประเทศตลอดเวลา"นายสุพันธุ์กล่าว
 
โดยตอนนี้ในเวทีอาเซียนอุตฯ ไทยยังอยู่ในอันดับหนึ่ง มีความได้เปรียบในเรื่องภูมิประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ ที่มีความพร้อมกว่าหลายประเทศ โดยหลายอุตสาหกรรมเสียเปรียบเรื่องค่าแรง อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ แล้วผลกำไรที่ได้ก็ไหลกลับสู่ประเทศไทย ทำให้ในภาพรวมทั้งหมดอุตสาหกรรมไทยยังคงมีศักยภาพสูงในอาเซียน
 
นายสุพันธุ์กล่าวถึงนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนว่า เป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไทยที่ยังต้องพึงแรงงานในระดับสูง ส่วนอุต ฯ ที่ยังตั้งฐานการผลิตภายในประเทศ บางส่วนได้ปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้าต้นน้ำที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น แต่ภาครัฐควรให้การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
 
“รัฐบาลควรเร่งพิจารณายกเว้นภาษีการโอนเงินผลกำไรกลับประเทศ สำหรับผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งปรับบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ให้ขยายไปสู่การส่งเสริมให้เอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถใช้ศักยภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยสูงสุด"
 
(มติชน, 6-11-2557)
 
ศธ.ไฟเขียวออกตั๋วครูชั่วคราวให้ครู 86 สาขา มาสอนในสถานศึกษาสังกัด สอศ. พร้อมให้เห็นครอบคลุมทุกสังกัด
 
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมหารือกรณีที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับบุคคลที่ไม่ได้จบสาขาวิชาชีพครูเข้าเป็นข้าราชการครูได้ในสาขาที่ขาดแคลนครูผู้สอน และต้องเป็นสาขาที่ไม่มีการเปิดสอนในคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ จำนวน 86 สาขา ทางคุรุสภาจะออกหนังสืออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นระยะเวลา 90 วัน เพื่อให้สามารถสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู สอศ.ได้ นั้น ที่ประชุมเห็นว่าแนวทางดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดี
 
จึงอยากให้ขยายให้ครอบคลุมครูของสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ด้วย เพราะปัจจุบันสถาบันอาชีวะเอกชน และโรงเรียนสังกัดสพฐ. บางแห่งก็เปิดสอนในสายวิชาชีพ ซึ่งเป็นสาขาขาดแคลนเช่นเดียวกับสอศ. อาทิ สาขาพาณิชศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักนิติการ สำงานปลัดศธ. ไปดูรายละเอียดข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้ให้เรียบร้อย ก่อนเสนอให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 20 พฤศจิกายน
 
นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ที่ผ่านมา ยังพบว่า 86 สาขาขาดแคลนครู ที่สอศ. สำรวจเดิมนั้น ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เพราะบางแห่งยังมีความต้องการครูในสายวิชาชีพอื่น ๆ อาทิ สาขานิติศาสตร์ ซึ่งคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่เปิดสอน แต่วิทยาลัยบางแห่งมีความต้องการครูสาขานิติศาสตร์ ที่จะมาสอนเรื่องกฎหมายแรงงาน ดังนั้นสอศ. จะไปสำรวจสาขาที่ขาดแคลนครูเพิ่มเติม เพื่อเสนอต่อคุรุสภา เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพนั้นๆ สามารถสอบเป็นครูสังกัดสอศ. ได้
 
รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้ที่จบหลักสูตรการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผลิตครูของสอศ. โดยตรงสามรถมาเป็นครูได้ จากเดิมที่เด็กที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวไม่สามารถเป็นครูได้เนื่องจากติดข้อกำหนดของคุรุสภา ที่มองว่าไม่ใช่หลักสูตรต่อเนื่อง 5 ปี ทั้งๆที่เรียน ปวส.2 ปี บวกกับปทส. 3 ปี รวมเป็น 5 ปี เท่ากัน โดยปัจจุบันสอศ. มีผู้ที่จบจากหลักสูตรดังกล่าว ค้างท่ออยู่ประมาณ 100 คน หากสามารถเปิดทางให้คนกลุ่มนี้ได้ ในอนาคตสอศ. หารือกับคุรุสภาเพื่อหาช่องทางเปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว เพื่อผลิตครูช่างรองรับความต้องการของ สอศ. ในอนาคต
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 6-11-2557)
 
แชร่ว่อน!รพ.พิลึกติดประกาศ "ห้ามท้อง" รุมจวกละเมิดสิทธิ์-ขัดกม.แรงงาน
 
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในโลกออนไลน์ว่า มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีการติดประกาศที่สร้างความงุนงงให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง โดยประกาศดังกล่าวติดไว้ที่ แผนกจ่ายยาของโรงพยาบาลดังกล่าว มีใจความว่า "ประกาศ.... ตั้งแต่ 30 ต.ค.57- 31 ธ.ค.58 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย" โดยในประกาศดังกล่าว ยังให้เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อรับทราบในแผ่นประกาศด้วย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเซ็นชื่อรับทราบกว่า 30 คน พร้อมกำกับวันเดือนปีที่ลงชื่อรับทราบไว้ด้วย
 
สำหรับคำสั่งดังกล่าวก็เกิดวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นกันกว้างขวาง บางคนเห็นว่าหน่วยงานดังกล่าว อาจอยู่ในช่วงขาดแคลนบุคคลกร จึงจำเป็นต้องบังคับไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ขาดแคลนเจ้าหน้าที่อีก แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน อีกทั้งขัดกับกฏหมายแรงงานที่อนุญาตให้ลาคลอดได้ 
 
ผู้สื่อข่าวไปสอบถามไปทางผู้บริหารของโรงพยาบาลหลายแห่งในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิโดยนพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้ และโรงพยาบาลราชวิถีไม่เคยมีนโยบายจำกัดสิทธิของบุคคลากรแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวอาจเป็นเพียงแค่ข่าวลือ เพราะแหล่งที่มาของข่าวในสังคมออนไลน์ ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานเองหรือไม่
 
ด้าน พญ.ศิริภรณ์ สวัสดิวร ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) เปิดเผยเรื่องเดียวกันว่า ยืนยันว่า ไม่มีกรณีดังกล่าวในโรงพยาบาลแน่นอน เพราะโรงพยาบาลส่งเสริมเรื่องการตั้งครรภ์ และการเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่ด้วยซ้ำ
 
นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ตนขอยืนยันว่า โรงพยาบาลไม่มีการห้ามเจ้าหน้าที่หญิงตั้งท้องอย่างแน่นอน เนื่องจากการตั้งท้องถือเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล
 
ขณะที่ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงประกาศเรื่องห้ามท้อง ว่า การมีคำสั่งห้ามท้องนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่สามารถกำหนดและออกกฎในลักษณะเช่นนี้ได้ เนื่องจากเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล อีกทั้งยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ห้ามให้เพศหญิงตั้งท้อง โดยในบางสังคม สามียังไม่สามารถบังคับให้ภรรยามีหรือไม่มีลูกได้เลย อีกทั้งในกฎหมายแรงงาน ยังระบุว่าไม่สามารถออกกฎในลักษณะดังกล่าวได้ ในสถานที่ทำงาน 
 
น.ส.พรเพ็ญ กล่าวต่อว่า หากคำสั่งดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ผู้หญิงในสถานที่ทำงานนั้นสามารถร้องเรียน หรือฟ้องเลิกให้ยกเลิกคำสั่ง และประกาศดังกล่าวได้ นอกเสียจากมีแรงจูงใจว่า หากไม่ท้องในช่วงดังกล่าว จะได้เงินเพิ่มหรือมีค่าตอบแทนพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและหากเป็นเรื่องจริง ต้องมีการดำเนินการฟ้องร้องให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว
 
ส่วนนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้มีกฎหมายลาคลอด ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากมีคำสั่งหรือข้อห้ามออกมาในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นายจ้างที่ออกคำสั่งออกมาต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายระบุอย่างชัดเจนว่าผู้หญิงที่ท้องสามารถลาคลอดได้ 90 วัน ไม่ว่าจะลาก่อนหรือหลังคลอดก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้กรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน และกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปตรวจสอบและดูแล หากมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงต้องดำเนินคดีกับนายจ้าง และหากเคยมีคนถูกบังคับให้ลาออกจากกรณีนี้ ก็สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้
 
นายจะเด็จ กล่าวต่อ การตั้งท้องนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิทางธรรมชาติ ส่วนบุคคลจะไม่สามารถห้ามหรือบังคับไม่ให้มีได้ โดยก่อนหน้านี้ ที่สิทธิแรงงานอนุญาติให้เพศหญิงลาคลอดได้เพียง 30 วัน เคยมีหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานต้องรัดหน้าท้องเวลาทำงาน แอบคลอด ทำแท้ง หรือบางคนต้องแอบมีลูกแบบหลบๆซ่อนๆ ซึ่งส่งผลกระทบเรื่องปัญหาสุขภาพตามมากับหญิงเหล่านั้น
 
“สถานที่ทำงานมักออกประกาศหรือคำสั่งที่กดขี่เพศหญิงมาโดยตลอดเนื่องจากยังมีความคิดว่าชายเป็นใหญ่ และมองเพศหญิงเป็นเพศที่ความสามารถด้านการทำงานไม่เท่ากับเพศชาย และจะกำหนดกฎระเบียบที่กระทบเพศหญิงมาโดยตลอด ซึ่งนายจ้างควรเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายก็มีความสามารถมนการทำงานไม่ต่างกัน” นายจะเด็จ กล่าว
 
(ข่าวสด, 9-11-2557)
 
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครนำ จนท.แรงงานตามเช็คสภาพแรงงานข้ามชาติ พบแรงงานมหาชัยจดทะเบียนเพิ่มกว่า 9 หมื่น
 
ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หลังลงพื้นที่นำคณะร่วมรับฟังรายงานแรงงานต่างด้าว โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมบรรยายสถานการณ์ปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ทั้งนี้ก่อนออกสำรวจตรวจสภาพโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่ส่งออกแห่งหนึ่ง (บ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด) ฐานะโรงงานที่มีการจ้างแรงงานงานต่างด้าวค่อนข้างมากในจังหวัด
 
สมุทรสาคร นับเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา เข้ามาขายแรงงานกระจายตัวอยู่จำนวนมาก โดยอดีตสมุทรสาครเคยมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างมากในระดับล่าง หลังพบคนไทยไม่นิยมทำงานในกิจการอุตสาหกรรม งานประมง และกิจการประมงทะเลต่อเนื่อง รวมถึงภาคการเกษตร อันเนื่องมาจากส่วนหนึ่งเป็นที่มีกลิ่นเหม็น งานสกปรก และงานหนักในบางชนิด ตลอดจนระยะเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน รวมทั้งงานประเภทเสี่ยงต่อสารเคมีตกค้าง เป็นต้น
 
ทั้งนี้จากสภาพจังหวัดสมุทรสาคร ที่ผ่านมามีประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานคนไทยในพื้นที่ ส่งผลให้มีทยอยการนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้าใช้งานทดแทนต่อความต้องการในธุรกิจของผู้ประกอบการต่างๆ ตลอดจนภาคงานก่อสร้าง สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในจังหวัดมียอดแรงงานอยู่ในปัจจุบันทั้ง 3 อำเภอ (เมืองฯ กระทุ่มแบน บ้านแพ้ว) มีจำนวนมาก
 
ด้านสถานการณ์ศูนย์ One STOP Service บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จจังหวัดสมุทรสาคร มีรายงานหลังปิดฉากเปิดลงทะเบียนบุคคลสัญชาติต่างด้าว พม่า ลาว และกัมพูชา จดทะเบียนเข้าระบบในกำหนดระหว่าง 30 มิถุนายน ถึง 30 ตุลาคม 57 พบว่า มียอดแรงงานใหม่มาดำเนินการตามกฎหมายทั้งนี้ 92,842 คน และเป็นเด็กผู้ติดตามจำนวน 5,460 คน จำแนกเป็นชาวพม่า 66,894 คน, กัมพูชา 16,056 คน และลาว 9,892 คน ขณะที่ทายาทชาวพม่า 4,349 คน, ส่วนทายาทกัมพูชา 856 คน และลาว 255 คน โดยมีระบุนายจ้างทั้งสิ้น 16,014 ราย “ทั้งนี้ สำหรับในส่วนโครงการขึ้นทะเบียนแรงงาน 3 สัญชาติ ตามบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยูระหว่างประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา ที่เปิดพิสูจน์สัญชาติพร้อมทำหนังสือเดินทาง ผ่านไปช่วงเมื่อเดือนเมษายน ในปี 2555 (ที่โครงการบ้านเอื้ออาทร ต.ท่าจีน) ได้สิ้นสุดลงตามระยะเวลาพิสูจน์สัญชาติมีทั้งสิ้นประมาณ 1.79 แสนคน”
 
สำหรับ จ.สมุทรสาครได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแก่คณะกรรมการนโยบายแรงงานต่างด้าว หลังพบว่า ที่ผ่านมาการดูแลบริหารจัดการมีความยุ่งยากซับซ้อนมาก โดยเรื่องเฉพาะที่ไม่สามารถใช้หลักปฏิบัติเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆได้ สืบเนื่องส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติมาขายแรงงาน และพบการเคลื่อนย้ายสูง และมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจำนวนมาก ส่งผลให้สามารถการจัดการควบคุมได้ลำบาก แม้ส่วนหนึ่งมีความจำต้องใช้แรงงาน ทั้งนี้โดยเฉพาะภาคประมง ซึ่งขณะนี้กำลังทำเรื่องส่งยังส่วนกลางเพื่อต้องการขอแยกเรื่องการดูแล หลังปิดฉากการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เกิดตามนโยบายเฉพาะอย่างชัดเจนและรูปธรรม อันจะง่ายต่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพต่อไป
 
ขณะที่นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรสาคร เผยว่า จากปัญหาสำหรับกรณีของในส่วนแรงงาน 3 สัญชาติ ที่ผ่านมานอกจากสมุทรสาครเคยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานไทยเพราะคนไทยเลือกงาน ทำให้หันไปนิยมใช้แรงงานต่างด้าวกันเพราะความจำเป็น อย่างไรก็ตามถึงปัจจุบันนี้ก็ยอมรับว่ามีปัญหาในหมู่แรงงานข้ามชาติเลือกงานทำเช่นกัน และเลือกหานายทุนรายใหญ่ สอดคล้องกับปัญหาข้างต้น ตลอดจนปัญหาแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นแหล่งทำงานกันอยู่บ่อยๆ ทั้งการหลบหนีนายจ้าง เป็นต้น ส่งผลให้กลุ่มชาวประมงหลายรายต้องเดือดร้อนเช่นกัน เช่น สูญเสียเงินที่จ่ายมัดจำไปให้กับแรงงานไปไว้ล่วงหน้าก่อนลงเรือทำงาน ขณะเดียวกันบางรายก็ต้องมีแรงงานใหม่เข้ามาหางานทำเพื่อชดเชยบ้าง ซึ่งอาจมีถูกกฎหมายบ้างผิดบ้าง อย่างไรก็ตามทำให้กลุ่มอาชีพเรือประมง ถูกมองว่าเป็นคนเลวร้ายมาตลอดในสายตามประชาชน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็แก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้ซักที ดังนั้นจึงยังพบปัญหาการจ้างงานกันอยู่เนื่องๆ
 
ทั้งนี้ ในส่วนเรื่องที่กระทรวงแรงงานหลังได้มีการเสนอให้กลุ่มชาวเรือต้องทำสัญญากับบรรดาแรงงานที่ลง นั้นพอฟังได้แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ โดยส่วนสำคัญหนึ่งไม่มีความมั่นคงเลยสำหรับผู้ประกอบการเรือประมง ขณะที่แผนคุ้มครองนายจ้างและพวกเรานั้นก็ไม่มีเลย มีแต่แผนคุ้มครองแต่แรงงานอย่างเดียว ซึ่งล่าสุดตนจึงได้เสนอข้อคัดค้านเพื่อให้ส่วนกลางและให้นำไปทบทวนกฎกติกาดังกล่าวอยู่ที่ออกมาหลายข้อ อย่างไรก็ตามชาวประมงยังคงกำลังติดตามเพื่อรอฟังผลกันอยู่ว่ามีข้อกำหนดใดบ้างที่ทางเรารับได้และข้อที่รับไม่ได้เพื่อนำมาขอแก้ไขต่อไป
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 9-11-2557)
 
จ่อตั้งสำนักคณิตประกันภัย วางแผนกองทุนประกันสังคม
 
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตนได้วางแนวทางการบริหารงาน สปส.เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันตามนโยบายของรัฐบาล และพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงเตรียมจัดโครงการ “ประกันสังคมโปร่งใสร่วมใจต่อต้านคอร์รัปชัน” ขึ้นในวันที่ 17-18 พ.ย. 2557 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยกิจกรรมภายในงานจัดสัมมนาผู้บริหารหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาคของ สปส.ที่ทำหน้าที่บริหารเงินของประกันสังคมมารับฟังการบรรยายด้านบริหารการเงินจากผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งให้มีการวิเคราะห์เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางป้องกันการทุจริตและเงินรั่วไหล รวมทั้งมีการกล่าวคำปฏิญญาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันร่วมกันด้วย
       
เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ตนยังมีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้าง สปส.โดยจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อขอจัดตั้งสำนักคณิตศาสตร์ประกันภัยและบริหารความเสี่ยงขึ้นและมีมาตรการจูงใจให้มืออาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยมาบริหารสำนักนี้เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ สปส.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเงินทั้งการจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตน รวมทั้งการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
       
“งานของ สปส.ส่วนใหญ่ต้องใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงมาเป็นข้อมูลหลักในการประกอบการพิจารณาวางแผนการบริหารกองทุนในอนาคตให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เช่น การวางแนวทางรองรับเงินกองทุนประกันสังคมที่ค่อยๆลดลงในอนาคตเนื่องจากจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพโดยมีการศึกษาวิธีการต่างๆ เช่น การเพิ่มฐานรายได้ในการจัดเก็บเงินสมทบการเพิ่มอัตราเงินสมทบ การขยายอายุเกษียณของผู้ประกันตน นอกจากนี้จะต้องมีการศึกษาในกรณีหากเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพได้โดยเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพหรือเงินบำนาญชราภาพก็ได้ จะมีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมในระยะยาวอย่างไร” นางปราณินกล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-11-2557)
 
ก.แรงงาน ลุย ตั้งคณะทำงาน ปฏิรูปกองทุนประกันสังคม-เงินทดแทน
 
กระทรวงแรงงาน ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูป กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน มูลค่า1.2ล้านล้าน เล็งเสนอหลักประกันกองทุนส่วนตัว ส่งเสริมการออมทุกภาคส่วน
 
วันที่9พ.ย. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้ง ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ที่มีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยมี คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ นายแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายดนัย จันทร์เจ้าฉาย นักวิชาการด้านกลยุทธ์ธุรกิจสีขาว เป็นที่ปรึกษา มุ่งนำสำนักงานประกันสังคมสู่การปฏิรูปการทำงานประกันสังคมใหม่โดยมีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงาน ดังนี้
 
1)ปฏิรูปรูปแบบการบริหารการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงให้เป็นอิสระโดยมืออาชีพที่มีมาตรฐานสากลรองรับ 2) เพิ่มความเข้มแข็งให้สำนักงานประกันสังคมสกัดการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพิ่มความพึงพอใจของผู้ประกันตน นายจ้าง และบุคลากรภาครัฐ และ 3) จัดระบบการเปิดเผยด้านการบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง และแผนงานการลงทุนของกองทุนต่างๆ
 
ดร.นพดล กรรณิกาในฐานะประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า หลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบประกันสังคมแต่ยังไม่สำเร็จรวมถึง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับล่าสุด ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย ดังนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันโดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ตัดสินใจผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่เข้าสู่สภา สนช. เพราะเป็น พ.ร.บ.ที่ดีกว่าฉบับปัจจุบันในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภทของหน่วยงานภาครัฐ และที่ดีต่อทุกฝ่ายก็คือ ช่วยเหลือทั้งผู้ประกันตนและนายจ้างในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เช่น การเกิดภัยพิบัติ ก็สามารถนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเยียวยาทั้งผู้ประกันตนและนายจ้างได้ เป็นต้น
 
“การให้คณะกรรมการหรือบอร์ดต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อปปช.และต่อสาธารณชน และห้ามไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ คือก้าวสำคัญของผลงานกระทรวงแรงงานขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ท่านรัฐมนตรีฯ ยังมีนโยบายเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเปลี่ยนผ่านระบบประกันสังคมของประเทศไทยให้เป็นอิสระมีการบริหารโดยมืออาชีพ ป้องกันการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายและโปร่งใสมั่นคงยั่งยืนอีกด้วย” ดร.นพดล กล่าว
 
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า คณะทำงานชุดปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนนี้ จะเน้นการทำเวิร์คชอป (Workshop) มีสูตรการทำงาน คือ 30: 30: 30 สู่การเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วของสำนักงานประกันสังคมคือช่วง 30 วันแรก จะค้นหาข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จากนั้น 30 วันในช่วงที่สอง จะทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบโมเดลทางเลือก และทดสอบโมเดลร่วมกัน สำหรับช่วง 30 วันสุดท้าย จะเป็นการนำสู่ภาคปฏิบัติตามโรดแมปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนตามโรดแมปเปลี่ยนผ่านสู่ หลักประกันสังคม หลักประกันกองทุนส่วนตัว ของผู้ประกันตน ความมั่นคงของนายจ้างและการบริหารจัดการที่ดีของภาครัฐ ต่อไป
 
“ยุทธศาสตร์ในการศึกษาแนวทางปฏิรูปนี้ เล็ง ให้สำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานภาครัฐสีขาว (White Government) และเป็นภาครัฐแบบเปิด (Open Government) ให้ผู้ประกันตนและผู้ประกอบการทั้งประเทศ เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการแกะรอยการใช้ทุกเม็ดเงินของกองทุนและบริหารการลงทุนได้อย่างแท้จริง ภายใต้การบริหารกองทุนโดยมืออาชีพด้านการลงทุนและการประกันความเสี่ยง” ดร.นพดล กล่าว
 
ดร.นพดล กล่าวต่อด้วยว่า ขณะนี้กำลังเร่งทำเวิร์คชอป (Workshop) ในนโยบายของกระทรวงแรงงานด้านกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ด้วยวิธีต่อไปนี้ 1) เสวนาหารือกับทุกภาคส่วน และการจัดเวทีสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ 2) ค้นหารูปแบบที่ดีที่สุดของการบริหารกองทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เชิญชวนนักบริหารกองทุนมืออาชีพจากภาคเอกชน ธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าสู่การศึกษาแนวทางปฏิรูปร่วมกัน 3) ร่วมสร้างรูปแบบและทดสอบรูปแบบจำลองเพื่อให้ได้รูปแบบที่ดีที่สุด สำหรับประเทศไทยในการบริหารจัดการการใช้เงินและการลงทุนของกองทุนต่างๆ สู่การรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติและของประชาชนทุกคนในกรอบของกฎหมายและความมั่นคงของประเทศ
 
“ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า กระทรวงแรงงานมีหลายแนวทางที่ทำได้ก่อน ทำจริง ทำทันที เพื่อสร้างความพอใจแก่ผู้ประกันตน นายจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รื้อบอร์ด ผ่าตัดคณะกรรมการชุดต่างๆ ของประกันสังคม และเดินหน้าเสริมสร้างระบบที่ยั่งยืนทำลายวงจรกลุ่มผลประโยชน์ที่แทรกแซงเข้ามากอบโกยจากกองทุนต่างๆ ของประชาชนผู้ประกันตน นอกจากนี้ คณะทำงานยังเล็งเสนอโครงการ หลักประกันสังคม หลักประกันกองทุนส่วนตัว ส่งเสริมการออมของทุกภาคส่วน ภายใต้ ชื่อ 1 คน 1 กองทุน หนุนความมั่นคงรักษาผลประโยชน์ชาติ ด้านกองทุนประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงแรงงาน” ดร.นพดล กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 10-11-2557)
 
ส.อ.ท. ระบุปี 2560 ใช้แรงงานเพิ่มถึง 681,000 คน
 
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านแรงงาน เปิดเผยถึงภาวะแรงงานในปัจจุบันว่า  ธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และก่อสร้าง
 
ทั้งนี้ ส.อ.ท. คาดว่า ในปี 2560 ภาคอุตสาหกรรมจะต้องใช้แรงงานประมาณ 4,080,000 ล้านคน เพิ่มขึ้น 681,000 คน จากปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแรงงานระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยม 6 มากที่สุด มีสัดส่วน ร้อยละ 11.64 รองลงมาเป็นระดับ ปวช. และ ปวส. ร้อยละ 5.86 และปริญญาตรี ร้อยละ 2.55 ทำให้อาจมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นจากการไปประกอบอาชีพอิสระกันมากขึ้น รวมทั้งแรงงานยังขาดศักยภาพด้านภาษา ไอที การคำนวณ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
 
ผลจากการสำรวจของ International Institute for Management Development (IMD) ในปี 2557 พบว่า ผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก ขณะที่คุณภาพด้านการศึกษาไทยอยู่อันดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่งมาก
 
จากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นในการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวต่อไป แต่ทั้งนี้ รัฐบาลควรต้องมียุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน โดยกำหนดจำนวนแรงงานต่างด้าวอย่างชัดเจนว่าควรมีสัดส่วนเท่าไรเมื่อเทียบกับแรงงานไทย เพื่อให้พึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอัตราที่เหมาสะสม และไม่กระทบต่อแรงงานภายในประเทศ และความมั่นคง รวมทั้งจัดทำข้อมูลแรงงานต่างด้าวแต่ละประเภท เพื่อใช้พยากรณ์ความต้องการแรงงานต่างด้าวในอนาคต
 
นอกจากนี้ ควรเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้มีจำนวนเครื่องจักรต่อแรงงานมากขึ้น พัฒนาเทคโนโลยี เร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตรและธุรกิจเอสเอ็มอี และขยายความร่วมมือรัฐกับเอกชนตั้งมาตรฐานแรงงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าต้องการความสามารถเฉพาะทางเพียงใด เพื่อรับประกันคุณภาพของแรงงานได้
 
(ไอเอ็นเอ็น, 10-11-2557)
 
หนุนตั้งสภาผู้ประกันตนเลือก 1 คน 1 เสียง แนะเปลี่ยน สปส.ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ตัวบุคคล
 
(10 พ.ย.) นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ในฐานะประธานคณะทำงานชุดปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน กล่าวถึงการปฏิรูประบบประกันสังคมซึ่งได้ข้อเรียกร้องจากเครือข่ายแรงงานให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) 1 คน 1 เสียง และกำหนดให้มีการสรรหาสภาผู้ประกันตนซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ถอดถอนบอร์ด สปส.หากมีปัญหาบริหารงานไม่โปร่งใสว่า เรื่องนี้ทางคณะทำงานได้เล็งเห็นเช่นกัน จึงจะมีการศึกษารูปแบบที่ดีที่สุดโดยมีตัวแทน 3 ฝ่ายมาจากฝ่ายรัฐ นายจ้างและลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อปฏิรูประบบประกันสังคม ส่วนกระบวนการดำเนินการอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้ประกันตน หรือการเลือกตั้งแบบ 1 คน 1 เสียง เพราะขณะนี้ถึงเวลาที่ สปส.ต้องเปลี่ยนระบบ ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ตัวบุคคล เนื่องจากตัวบุคคลเข้ามาแล้วก็ไป รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแต่ถ้าเปลี่ยนระบบจะเป็นการวางมาตรการแก้ปัญหาการบริหารประกันสังคมในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การศึกษารูปแบบนั้นจะต้องพิจารณาความคุ้มค่าและได้ผลเร็วที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดเวทีเสวนาปฏิรูประบบประกันสังคมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และเครือข่ายแรงงานในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 09.00 น. ที่สำนักงาน คปก. ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี
       
นายนพดลกล่าวด้วยว่า แนวทางการทำงานของคณะทำงานชุดปฏิรูปกองทุนประกันสังคมฯ ซึ่งมีคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ นพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายดนัย จันทร์เจ้าฉาย นักวิชาการ เป็นที่ปรึกษา โดยเป้าหมายการปฏิรูประบบประกันสังคมเน้นการปฏิรูปรูปแบบการบริหารการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงให้เป็นอิสระ โดยมืออาชีพที่มีมาตรฐานสากลรองรับ การ เพิ่มความเข้มแข็งให้สำนักงานประกันสังคมสกัดการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพิ่มความพึงพอใจของผู้ประกันตน นายจ้าง และบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งจัดระบบการเปิดเผยด้านการบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง และแผนงานการลงทุนของกองทุนต่างๆ  โดยคณะทำงานฯได้กำหนดกรอบเวลาการทำงานไว้ 90 วันโดยช่วง 30 วันแรกจะรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จากนั้น 30 วันในช่วงที่สอง จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบโมเดลทางเลือก และทดสอบโมเดลร่วมกัน ส่วนช่วง 30 วันสุดท้าย จะเป็นการนำสู่ภาคปฏิบัติตามแผนการดำเนินงาน (โรดแมป) เสนอต่อพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนตามโรดแมปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
       
“ผลศึกษาเบื้องต้นพบว่ากระทรวงแรงงานมีหลายแนวทางที่ทำได้ก่อนโดยรมว.แรงงานได้รื้อบอร์ด ผ่าตัดคณะกรรมการชุดต่างๆ ของประกันสังคม และเดินหน้าเสริมสร้างระบบที่ยั่งยืน ทำลายวงจรกลุ่มผลประโยชน์ที่แทรกแซงเข้ามากอบโกยจากกองทุนต่างๆ ผู้ประกันตน นอกจากนี้ คณะทำงานยังเล็งเสนอโครงการ หลักประกันสังคม หลักประกันกองทุนส่วนตัว ส่งเสริมการออมของทุกภาคส่วน ภายใต้ชื่อ 1 คน 1 กองทุน หนุนความมั่นคงรักษาผลประโยชน์ชาติ ด้านกองทุนประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงแรงงาน” นายนพดลกล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-11-2557)
 
พบ "รพ.ราชวิถี" ต้นตอห้ามจนท.หญิงท้องทำงาน ผอ.ชี้มาจากแผนกยา เรียกหัวหน้าหน่วยตักเตือน-สั่งเลิก เพราะละเมิดสิทธิ
 
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถียอมรับเอกสาร "ห้ามพนักงานท้อง" ที่แชร์ว่อนเน็ต มาจากแผนกยาซึ่งเป็นหน่วยย่อย คาดสาเหตุมาจากปัญหาภายในทำให้เกิดการสื่อสารผิดพลาด จึงเรียกมาชี้แจงทำความเข้าใจถึงนโยบายของโรงพยาบาล
 
นพ.อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) ถึงกรณีสังคมออนไลน์ส่งต่อภาพถ่ายกระดาษมีข้อความระบุว่า "ประกาศ ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2557-31 ธ.ค.2558 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่าน ให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย" โดยด้านล่างของประกาศมีการเซ็นชื่อรับทราบพร้อมลงวันที่กำกับไว้นั้น ว่า จากการสอบถามไปยังหัวหน้าแผนกยาของโรงพยาบาลพบว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการตกลงกันภายในแผนก เนื่องจากที่แผนกดังกล่าวมีคนท้องเยอะ จึงมีการขอความร่วมมือกันว่าอยากให้คุมกำเนิด แต่คงมีอะไรบางอย่างที่ทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจ และภายในหน่วยยังมีเรื่องระหองระแหงกันภายใน ซึ่งเรื่องนี้ได้จัดการไปแล้วและตักเตือนกับหัวหน้าหน่วยว่า ทางโรงพยาบาลไม่มีนโยบายแบบนี้
 
"เรื่องนี้อาจมาจากความเครียดของหัวหน้าหน่วยที่เห็นว่าหน่วยมีการตั้งท้องเยอะ คนหายาก จึงมีการขอความร่วมมือในการประชุมหน่วยว่าพยายามคุมกำเนิดอย่าท้อง แต่วิธีการที่ทำอาจดูว่าเป็นการลิดรอนสิทธิไป ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นความหวังดีแต่ผมเคลียร์แล้วว่ามาตรการแบบนี้ใช้ไม่ได้อย่าไปลิดรอนสิทธิ์และยกเลิกไป ใครอยากท้องก็ท้องไป ซึ่งอาจเป็นความหวังดีแต่อาจคิดไม่ออกว่าจะจัดการอย่างไรก็เลยไปใช้มาตรการที่อาจเป็นการลิดรอนสิทธิ และให้ไปหาวิธีการบริหารจัดการเอาและมาบอกฝ่ายบริหาร" นพ.อุดม กล่าว
 
นพ.อุดม กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นการทำภายในหน่วยงานย่อย เป็นระเบียบของหน่วยงานไม่เกี่ยวกับโรงพยาบาลราชวิถี แต่ได้ชี้แจงไปแล้วว่าการทำแบบนี้ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งวันนี้มีการเรียกชี้แจงกันในหน่วยย่อยแล้ว
 
วันเดียวกัน นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ กสร.ไปตรวจกรณีดังกล่าว แต่ทั้งนี้หากเป็นความจริงที่เกิดกับบริษัทเอกชนก็เป็นความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งลูกจ้างหญิงสามารถร้องเรียนต่อ กสร.ได้ โดยนายจ้างจะต้องรับลูกจ้างหญิงดังกล่าวกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างด้วย
 
ส่วนกรณีลูกจ้างหญิงหมดสัญญาแล้วไม่ต่อสัญญาจ้าง หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะเหตุตั้งครรภ์ นายจ้างอาจจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย จะต้องรับกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างเช่นกัน ส่วนถ้าเป็นลูกจ้างโรงพยาบาลรัฐมีระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอดได้
 
อนึ่ง อนุสัญญาองค์การแรงงานประเทศ และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 ได้ให้ความคุ้มครองลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ไว้ ในหลายมาตรา คือ มาตรา 39 ห้ามมิให้นายให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานหนัก เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักร งาน ยก แบกหาม งานที่ทำในเรือ งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับพาหนะ
 
มาตรา 41ให้ลูกจ้างหญิงซึ่งตั้งครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 90 วัน มาตรา 42 กรณีลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้ให้ลูกจ้างนั้น มีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดก็ได้และให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้าง
 
นอกจากนี้ มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างแรงงานหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งให้สิทธิลูกจ้างหญิงที่ลาคลอดได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วันและได้รับเงินจากสำนักงานประกันสังคม 45 วัน
 
ทั้งนี้ หากลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ถูกบีบบังคับให้ลาออกการกระทำของนายจ้างดังกล่าวนี้ผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 11-11-2557)
 
จี้เปลี่ยนโครงสร้าง สปส.ให้มืออาชีพเข้ามานั่งบริหาร
 
(11 พ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ นางสุนี ไชยรส รองประธาน คปก. นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายแรงงาน ร่วมหารือถึงการปฏิรูประบบประกันสังคม โดย นายนพดล กล่าวว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้คณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุน สปส.และกองทุนเงินทดแทนมุ่งเน้นใน 2 ประเด็น คือ 1. ให้กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเป็นกองทุนที่สร้างความพอใจให้ในทุกภาคส่วน ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ และ 2. ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ยังเน้นการปฏิรูปใน 2 ส่วน คือ การบริหารการลงทุนและการบริการความเสี่ยงจะต้องเป็นไปโดยมืออาชีพที่ได้มาตรฐานสากล การเป็นองค์กรเปิดที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ บนพื้นฐานของการทำงานอย่างโปร่งใส นอกจากนี้การคงไว้หรือยุบหน่วยงานใดก็ต้องพิจารณาถึงความจำเป็น
       
นางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวว่า การบริหารจัดการ สปส.ต้องเป็นมืออาชีพโดยเฉพาะคณะกรรมการทุกชุดที่จะต้องรู้รายละเอียดของการดำเนินงานอย่างชัดเจน ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนี้ คณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของสมาชิก เนื่องจากที่ผ่านมาวิธีการได้มาไม่สะท้อนที่มาจากตัวแทนของผู้ประกันตนโดยตรง ทั้งนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน ในอนาคตก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม คือการโดนการเมืองแทรกแซง นอกจากนี้ในส่วนของการบริหารการลงทุนก็ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าลงทุนในส่วนใดบ้าง รวมทั้งในเรื่องของการรักษาพยาบาลก็ไม่มีการพัฒนา
       
นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณานั้นกำหนดว่าสามารถปลดบอร์ดสปส.ได้แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เสียง แต่ก็ไม่สะท้อนว่าสามารถดำเนินการได้จริงเนื่องจากใช้เสียงจำนวนมากไปและอาจมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้อยากให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อยื่นปลดตัวแทนของผู้ประกันตนได้หากทำไม่ถูกต้อง ที่สำคัญคือที่มาของตัวแทนผู้ประกันตนที่มาจากการเลือกของสหภาพแรงงาน ไม่ได้มาจากผู้ประกันตนโดยตรง อีกทั้งในเรื่องของการได้สิทธิประโยชน์ควรจะได้สิทธิทันทีที่เข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้อยากให้มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อเปลี่ยนกรรมการบอร์ดให้เร็วที่สุด
       
นายโกวิท สัจจาวิเศษ กรรมการธิการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. ... ของกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันร่างดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ในวาระที่ 2 ซึ่งในขั้นนี้ต้องพิจารณากฎหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน ทั้งการแปรญัตติหรือสงวนคำแปรญัตติ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีหลักการ 9 ข้อ โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยมี สนช.ยื่นคำแปรญัตติเข้ามาแล้ว 2 คน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-11-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท