Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ ‘พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์-เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ยื่นหนังสือต่อประธาน ป.ป.ช. จี้เร่งรัดฟ้องคดี ปรส. ก่อนหมดอายุความในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ด้าน ป.ป.ช.แจงไม่มีคดี ปรส. อยู่ระหว่างการดำเนินการอีกแต่อย่างใด

วันนี้ (11 พ.ย.57) หลังจากที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผ่าน นายศักดิ์ชัย เมทินีพิศาลกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.เพื่อให้ ป.ป.ช.เร่งรัดฟ้องคดีการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่จะหมดอายุความในวันที่ 30 พ.ย.นี้

โดยนายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ป.ป.ช.ระบุว่าชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาหมดแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในชั้นของอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่ง ป.ป.ช.ควรใช้อำนาจหน้าที่ฟ้องคดีเอง เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงก่อน เพราะความเสียหายรวมดอกเบี้ยประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ประชาชนแบกรับเป็นเวลา 50 ปี ก็ใช้ไม่หมด และกองทุนฟื้นฟูภาระหนี้กระทรวงการคลัง ก็โยนกันไปมาไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนแก้ไข จึงจำเป็นที่ ป.ป.ช. จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้อายุความสะดุดหยุดลง

ล่าสุด สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ขอเรียนว่าเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มีการร้องเรียนกล่าวหาคณะกรรมการ ปรส. และผู้บริหาร ปรส. ประกอบด้วย นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ นายอมเรศ ศิลาอ่อน นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ นางวชิรา ณ ระนอง นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ นางเกษรี ณรงค์เดช นางจันทรา อาชวานันทกุล นางนงนาท สนธิสุวรรณ และนายมนตรี เจนวิทย์การ มายังสำนักงาน ป.ป.ช. รวม 6 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 6 เรื่อง ดังกล่าวแล้ว ผลการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรณีกล่าวหาคณะกรรมการ ปรส. และผู้บริหาร ปรส. คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป จำนวน 3 เรื่อง และมีมติไม่ยกขึ้นพิจารณา เนื่องจากเป็นกรณีที่ศาลประทับฟ้องไว้แล้วและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 1 เรื่อง

สำหรับอีก 2 เรื่อง เป็นกรณีกล่าวหานายมนตรี เจนวิทย์การ ในฐานะเลขาธิการ ปรส. ว่าดำเนินการจำหน่ายสินทรัพย์ให้กองทุนรวมแกมม่าแคปปิตอล และกรณีจำหน่ายสินทรัพย์ให้บริษัท เงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายมนตรี เจนวิทย์การ ดังกล่าว มีมูลความผิดทางวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามข้อบังคับขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2540 และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่นๆ เห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยและส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด พิจารณาฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจและอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องคดีนายมนตรี เจนวิทย์การ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ทั้งสองคดีแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

ปัจจุบันจึงไม่มีคดีกรณีกล่าวหาคณะกรรมการ ปรส. หรือผู้บริหาร ปรส. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกแต่อย่างใด

เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์, ข่าวสำนักงาน ป.ป.ช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net