Skip to main content
sharethis

'สนช.' เห็นชอบเลื่อนการพิจารณากระบวนการถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ปมจำนำข้าว เป็นวันที่ 28 พ.ย. เปิดโอกาสให้ศึกษาสำนวน ป.ป.ช. หลังทีมทนายยิ่งลักษณ์เข้าแจงเหตุผล

12 พ.ย.2557  การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพื่อกำหนดวันแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ผู้ถูกกล่าวหา (ตามข้อบังคับการประชุม สนช. 2557 ข้อ 132)

ทั้งนี้ สนช.ได้อนุญาตให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง นายสมหมาย กู้ทรัพย์ และนายเอนก คำชุ่ม ทีมทนายผู้ได้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดชอบคดีโครงการรับจำนำข้าว มาชี้แจงถึงเหตุผลการขอให้ที่ประชุม สนช.เลื่อนการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 12 พ.ย. ออกไปอีก 30 วัน

โดยนายเอนก ชี้แจงถึงเหตุผลการขอเลื่อนการประชุมต่อ สนช.ว่า ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ข้อ 149 และ 150 ระบุว่า สนช.ต้องส่งรายงาน และสำนวนของ ป.ป.ช.ให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน นับจากวันประชุมนัดแรก คือ วันที่ 12 พ.ย. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ทราบว่า มีวาระถอดถอนอยู่ใน สนช. เนื่องจากอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อกลับถึงประเทศไทย วันที่ 2 พ.ย. ได้หารือกับทีมทนายความว่า ยังไม่ได้รับสำนวนจาก ป.ป.ช. จึงทำหนังสือถึงประธาน สนช. เมื่อวันที่ 5 พ.ย. เพื่อขอเลื่อนการประชุมนัดแรกออกไปก่อน เพราะการประชุมนัดแรกมีความสำคัญต่อผู้กล่าวหาที่เป็นวันกำหนดแถลงเปิดคดีของผู้กล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้ง คัดค้าน และยื่นขอให้สอบพยานเพิ่มเติมล่วงหน้า ดังนั้นโอกาสของอดีตนายกฯ ที่จะได้ศึกษาสำนวน ป.ป.ช.แทบจะไม่มีเลย เพราะเวลาหมดไปตามระยะที่ข้อบังคับกำหนด

นายเอนก กล่าวว่า หนังสือจากประธาน สนช.ที่ส่งให้กับอดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา หากนับถึงวันที่ 12 พ.ย. อดีตนายกฯ มีเวลาเตรียมตัวแค่ 5 วันเท่านั้น ทั้งที่ข้อกล่าวหาที่ สนช. แจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบ มีเนื้อหาประมาณ 100 กว่าหน้า ซึ่งพวกตนเพิ่งได้รับเมื่อวานนี้ ยังไม่มีโอกาสได้ดู จึงขอเลื่อนการประชุมออกไปก่อน จึงขอให้สมาชิก สนช.ปฏิบัติตามข้อบังคับ 149 และ 150 ให้โอกาสอดีตนายกฯ ได้ศึกษาข้อเท็จจริง ระบุพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามกระบวนการ ถือเป็นการอำนวยความยุติธรรม และผู้กล่าวหา นอกจากนี้สำนวนของ ป.ป.ช.ที่ให้สมาชิก สนช.ศึกษา มีจำนวน 3,870 หน้า เป็นเอกสารลับทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถถ่ายเอกสารได้ ทีมทนายความก็ตกใจว่า จะทำอย่างไร ถ้าถ่ายเอกสารไม่ได้ ต้องมานั่งจดอย่างนั้นหรือ ถ้านั่งดูให้จบถือเป็นเรื่องยากมาก จึงขออนุญาตประธาน สนช.ขอถ่ายเอกสารดังกล่าวเพื่อความรวดเร็ว หากตีเป็นลับทั้งหมด และไม่อนุญาตให้ถ่ายเอกสาร ก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ทีมงานเท่าไร เพื่อดูเอกสารทั้งหมด

นายนรวิชญ์ ชี้แจงเสริมด้วยว่า วันนี้ไม่ได้มาเอาโทษ หรือเอาผิดใคร มาเพื่อปกป้องอดีตนายกฯ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นลูกความเท่านั้น ที่ผ่านมา วันที่ 30-31 ต.ค.มีเจ้าหน้าที่ประสานมายังตนให้มารับสำเนารายงานของ ป.ป.ช. แต่ขณะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ต่างประเทศ ยังไม่ได้มอบหมายให้ตน และทีมทนายความมาดูแลคดีถอดถอน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่รู้ว่ามีวาระการถอดถอนบรรจุในสภาแล้ว ขณะนั้นตนยังไม่ได้รับมอบอำนาจ จึงไม่อาจมารับสำเนาของ ป.ป.ช.แทนอดีตนายกฯ ได้ จึงไม่มีเจตนาประวิงเวลาใดๆ เมื่ออดีตนายกฯ เดินทางกลับมา ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบให้ทีมทนายความดำเนินการ จึงมีการยื่นหนังสือคัดค้าน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.

ภายหลังที่ทีมทนายชี้แจงเหตุผลแล้ว นายพรเพชร ได้เปิดให้สมาชิกได้ซักถามข้อสงสัยจากทีมทนายความ โดยมีสมาชิกร่วมซัก 4 คน อาทิ นางเสาวณี สุวรรณชีพ ถามว่า ทีมทนายความได้รับการประสานจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องให้มาทำคดียาวนานแค่ไหน เพราะเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เตรียมต่อสู้คดีมายาวนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งประสานกัน ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน ถามว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ต่างประเทศ แต่เหตุใดทีมทนายความไม่โทรศัพท์แจ้งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทราบข่าวก็สามารถสั่งการมายังทีมทนายความได้ทันที กรณีการถอดถอนดังกล่าวประชาชนทั่วประเทศทราบดีว่า จะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช.วันที่ 12 พ.ย. มานานแล้ว

ขณะที่นายนรวิชญ์ ชี้แจงข้อซักถามว่า การให้เหตุผลว่า มีการรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ ว่า สนช.ได้บรรจุวาระถอดถอนในวันที่ 12 พ.ย. แสดงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับทราบวาระการถอดถอนแล้ว ถือว่า ไม่ถูกต้อง เพราะการรับทราบ ต้องได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการโดยตรงจาก สนช. ตามข้อบังคับเท่านั้น เมื่อ สนช.ร่างข้อบังคับเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการพิจารณาแล้ว จะละเลยข้อบังคับที่ตนเองร่างขึ้นมาหรืออย่างไร

ต่อมานายพรเพชร ได้ขอมติจากที่ประชุมว่า จะให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกเพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติด้วยเสียง 167 ต่อ 16 งดออกเสียง 7 เสียง ให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกออกไป และที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสนช. ได้เสนอว่า ให้เลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. ตามมติวิปสนช. ทั้งนี้นายพรเพชร แจ้งว่า เมื่อเลื่อนการพิจารณาออกไปแล้ว ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาไปตรวจเอกสาร และคัดสำนวน จำนวน 3,870 หน้า ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ในเวลาราชการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมของ ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน แทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งจำนวน 17 คน

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, คมชัดลึกออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net