ยานโรเซตตาบันทึกเสียงจากดาวหาง 67P ก่อนส่งยานลูกลงจอดพื้นผิว

ยานโรเซตตาซึ่งเดินทางจากโลกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันนี้เดินทางเข้าใกล้ดาวหาง 67P และส่งยานลูก 'ฟีแล' ลงจอดที่พื้นผิวดาวหางเป็นผลสำเร็จ ขณะที่ก่อนหน้านี้ยานโรเซตตาสามารถตรวจจับเสียงประหลาดระหว่างใช้อุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาคฝุ่นและแก๊สของดาวหางด้วย

ดาวหาง 67P เชอร์ยูมอฟ เจราซีเมนโก ถ่ายจากยานโรเซตตา ในระยะห่าง 28.6 กม. จากศูนย์กลางดาวหาง เมื่อเดือนกันยายน 2557 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

เสียงจากดาวหาง 67P ที่ตรวจจับได้โดยอุปกรณ์ของยานโรเซตตา (ที่มา: ESA)

วิดีโอจำลองการส่งยานฟีเล (Philae) ออกจากยานแม่โรเซตตา เพื่อลงจอดบนพื้นผิวชั้นนิวเคลียสของดาวหาง 67P (ที่มา: ESA)

13 พ.ย. 2557 - เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สำนักข่าวเอบีซี โดยเอียน โอนีล รายงานว่า ยานโรเซตตา ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งมีภารกิจสำรวจดาวหาง 67P/เชอร์ยูมอฟ เจราซีเมนโก (67P/Churyumov-Gerasimenko) ได้ตรวจจับเสียงที่ออกมาจากดาวหางดังกล่าว

ทั้งนี้เครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับตรวจจับพลาสมา หรือ RPC ของยานโรเซตตา ซึ่งใช้ตรวจวัดและวิเคราะห์อนุภาคฝุ่นและแก๊สที่ระเหิดออกมาจากนิวเคลียสดาวหางนั้น ระหว่างที่อุปกรณ์ RPC กำลังทำการบันทึกเสียงในช่วงคลื่นความถี่ 40-50 มิลลิเฮิร์ทซ์ นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ข้อมูลดังกล่าวก็รู้สึกประหลาดใจที่ดาวหางกำลังร้องเพลง

โดยเสียงที่เกิดขึ้น เป็นการทำปฏิกิริยาภายในสภาพแวดล้อมของดาวหาง 67P ซึ่งมีสนามแม่เหล็กอย่างอ่อน และส่งคลื่นความถี่ต่ำออกมา โดยนักวิทยาศาสตร์ที่สถานีภาคพื้นได้เพิ่มความถี่ดังกล่าว 10,000 เท่าเพื่อทำให้หูของมนุษย์ได้ยินเสียงดังกล่าว

โดยเสียงดังกล่าวถูกจับได้เป็นครั้งแรกเมื่อยานโรเซตตาอยู่ห่างจากดาวหางในระยะ 100 กม. และการแกว่งของสนามแม่เหล็กก็ยังดำเนินต่อไป

นักวิทยาศาสตร์ของโครงการสำรวจโรเซตตาวิเคราะห์ว่า การแกว่งดังกล่าวอาจถูกขับเคลื่อนโดย การแตกตัวเป็นอิออนของอนุภาคที่เกิดจากส่วนก๊าซของดาวหาง

ขณะที่เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 12 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย ดิการ์เดียน รายงานว่า ยานโรเซตตาได้ปล่อยยานสำรวจขนาดเล็กที่ชื่อว่าฟีแล (Philae) เพื่อให้ลงจอดบนพื้นผิวของดาวหาง 67P ในเวลา 22.00 น. นับเป็นยานลำแรกที่จอดลงบนส่วนที่เป็นนิวเคลียสของดาวหาง และยานฟีแลจะถ่ายภาพพื้นผิวของดาวหาง และเก็บตัวอย่างพื้นผิวของดาวหางด้วย

ทั้งนี้ยานโรเซตตาเดินทางสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวดที่เฟรน เกียอานา ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2547 และเดินทางไกลกว่า 6 พันล้านกิโลเมตร เพื่อไล่ให้ทันดาวหาง P67 ที่โคจรด้วยความเร็ว 135,000 กม. ต่อชั่วโมง

โครงการโรเซตตาซึ่งมีมูลค่า 1 พันล้านยูโรดังกล่าว พยายามที่จะปลดล็อกความลึกลับของดาวหางซึ่งก่อตัวขึ้นจากชิ้นส่วนในช่วงกำเนิดระบบสุริยะจักรวาล นักวิจัยยังหวังว่าข้อมูลที่ได้จากโครงการโรเซตตาจะช่วยตอบคำถามว่าระบบสุริยะจักรวาลกำเนิดขึ้นได้อย่างไร กระทั่งไขความลับเรื่องของโมเลกุลอันซับซ้อนที่ทำให้เกิดชีวิตขึ้นบนโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท