เรียนเล่นเล่น #4: Impunity: เมื่อคนทำผิดไม่ต้องรับผิด (2) 5 ปีสังหารหมู่นักข่าวฟิลิปปินส์

เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ประชาไทจัด เรียนเล่นเล่น #4 ตอน "Impunity : เมื่อคนทำผิดไม่รับผิด วงจรแห่งการลอยนวล" โดยมีวิทยากร คือ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก FORUM-ASIA กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพ จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ดำเนินรายการโดย ทวีพร คุ้มเมธา ผู้สื่อข่าวประชาไทภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ เดือนพฤศจิกายนถือเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติการไม่ต้องรับผิดสากล โดยเมื่อปี 2555 นั้นสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ยอมรับให้วันที่ 2 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ยุติการไม่รับผิดสากล  ขณะที่ในวันที่  23 พ.ย. เป็นอีกวันที่มีการรณรงค์ยุติการไม่รับผิดสากลอันเนื่องมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าวในมากินดาเนา ซึ่งการฆ่าหมู่นักข่าว 34 รายเมื่อปี 2552 นับเป็นการสังหารหมู่นักข่าวที่ร้ายแรงที่สุด และในวันที่ 23 พ.ย. นี้จะเป็นการครบรอบ 5 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว

000

ในส่วนของการนำเสนอโดยกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ได้กล่าวถึงความหมายของ Impunity ว่า คือการปล่อยการเพิกเฉยทำให้คนผิดลอยนวล SEAPA เริ่มรณรงค์เรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2011 มูลเหตุเกิดจากเหตุกาณ์ในฟิลิปปินส์นั้นเอง โดยในปี 2009 มีการสังหารหมู่ทั้งหมด 58 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนทำงานสื่อ 32คน องค์กรทำงานนั้นด้านนี้ประชุมกันเห็นว่าเป็นจุดที่วิกฤตมาก

ฟิลิปปินส์แม้จะมีเสรีภาพมากที่สุดในการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพผู้สื่อข่าวที่ระบุชัดในรัฐธรรมนูญแล้วแต่ทำไมการฆ่านักข่าวเกิดอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้คิดว่าทุกคนต้องลุกมารณรงค์เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม นักข่าวถูกฆ่าเยอะมากในฟิลิปปินส์ในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มซาลงไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ สังคมตื่นตัวมากขึ้น Impunity สัมพันธ์กับเสรีภาพของผู้สื่อข่าวอย่างไร

มันเหมือนฟันเฟืองสองอันที่ส่งผลต่อกันในการจะหมุนไปข้างหน้า วงกลมแรก คือ ถ้ามีการสังหารนักข่าวแล้วไม่มีใครพูดถึง ไม่มีการเอาตัวคนผิดมาลงโทษ จะเกิดบรรยากาศปล่อยให้คนผิดลอยนวล คนผิดก็จะทำซ้ำ ส่งผลทำให้เกิดบรรยากาศการเซ็นเซอร์ ไม่กล้าพูดความจริง

วงกลมแรกจะมาปั่นวงกลมที่สอง เมื่อสื่อไม่สามารถทำหน้าที่ตรงไปตรงมา เพราะเซ็นเซอร์ตัวเองเนื่องจากกลัวโดนทำร้าย การละเมิดสิทธิก็จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อไม่มีใครกล้าพูดถึง และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลร้ายต่อประชาธิปไตย ก็จะเกิดการ abuse อำนาจต่างๆ เพราะประชาธิปไตยทำงานไม่ได้

ในบริบทไทยก็ยังไม่เห็นว่า เป็นปัญหาการทำร้ายหรือคุกคามสื่อเป็นเรื่องรุนแรง เพราะของไทยมองไม่เห็นชัดเหมือนฟิลิปปินส์ ซึ่งในรอบสองทศวรรษมีนักข่าวถูกสังหารเกือบ 200 คน สำหรับของไทยเป็นเรื่องการละเมิดในรูปแบบอื่น คือ การละเมิดกฎหมาย ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมโดยภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมกำหนดให้วันที่ 23 พ.ย.เป็นวันรณรงค์หยุดการไม่รับผิด  ซึ่งไม่ได้รณรงค์เฉพาะในฟิลิปปินส์แต่ทั้งภูมิภาคความพยายามนี้เป็นความพยายามร่วมกันของเอ็นจีโอสากล แต่เมื่อปีที่แล้วมีพัฒนาการสำคัญคือ ยูเอ็นออกมติให้ความสำคัญต่อการเอาตัวคนผิดมาลงโทษกรณีมีการทำร้ายร่างกายหรือคุกคามสื่อ ออกเป็นข้อมติที่ชัดเจนแต่ไม่ใช่ข้อผูกพันทางกฎหมาย และกำหนดวันใหม่คือ 3 พ.ย. ถือเป็นวันรณรงค์สากลหยุดการปล่อยคนผิดให้ลอยนวลและหยุดคุกคามและทำร้ายสื่อ

ในส่วนของสื่อยังมีกลไกที่ยังไม่ค่อยแพร่หลาย ริเริ่มโดยยูเนสโก ผอ.ยูเนสโกจะทำรายงานทุกปีเรื่อง Impunity แล้วถามไปในทุกประเทศว่ากระบวนการยุติธรรมของคุณไปถึงไหน เราสามารถใช้ข้อมูลนี้ได้เพื่อสะท้อนถึงประชาชนและรัฐบาล จะมีการพูดตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา มีนักข่าวสียชีวิตกี่คน ปีไหนในรอบหกปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีการสังหารมากที่สุด ข้อมูลอัพเดทและละเอียด กลไกนี้ไม่ได้บังคับว่าประเทศสมาชิกต้องตอบ โดยส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ แต่ก็สามารถบันทึกไว้ว่าคุณไม่ให้ความร่วมมือ สาเหตุที่มีรายงาน เพราะ 6-7 ปีที่ผ่านมาการคุกคามสื่อหนักมากในระดับโลก ในตะวันออกกลางหลายประเทศ บล็อกเกอร์ นักข่าวต่างชาติโดนฆ่า โดนคุกคามจำนวนมาก แต่เหตุที่ต้องมาให้ความสนใจนักข่าวจริงๆ เพราะนักข่าวท้องถิ่นโดนคุกคามหนักที่สุด

กรณีสังหารหมู่ที่อัมปาตวน มากินดาเนา เกาะมินดาเนาของฟิลิปินส์ จับผู้ต้องสงสัยได้เกือบ 200 คน แต่จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีแค่ 110 คนที่จับได้ ส่วนผู้ต้องสงสัยสำคัญ ตำรวจที่เกี่ยวข้องก็สามารถประกันตัวได้ และแม้แต่ตำรวจที่เกี่ยวข้องในเหตุการก็ได้รับการโปรโมทในตำแหน่งที่สูงขึ้น ทำไมจึงเกิดสภาพแบบนี้ได้ คำตอบคือ การคอรัปชั่นแทรกซึมทุกอณูของสังคมฟิลิปปินส์ มีการใช้เส้นสายเครือญาติเป็นเรื่องปกติ เป็นสังคมที่นิยมใช้ความรุนแรง คนธรรมดาเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายมาก ในช่วงแรกคดีมาพิจารณาที่กรุงมะนิลา เพราะพยานกังวลความปลอดภัย

แต่ในช่วงหลังก็ดำเนินคดีต่อในท้องถิ่น ระบบนิติวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ก้าวหน้า ใช้พยานบุคคลเยอะ ซึ่งทำให้มีการฆ่าพยาน ภายใต้ระบบคุ้มครองพยานก็ไม่มีประสิทธิภาพ และใช้เงินปิดปากญาติ โดยใช้เงินในอัตราส่วนที่สูงกว่าที่ให้กับคนที่ลงมือฆ่านักข่าว นอกจากนี้ยังมีการเตะถ่วงคดี เปลี่ยนทนายบ่อยๆ ทำให้ล่าช้า จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถนำตัวคนกระทำผิดมาลงโทษได้สักคน

สำหรับ SEAPA ซึ่งเข้าไปทำงานในฟิลิปปินส์ ได้ศึกษา 217 กรณีที่นักข่าวถูกฆ่า ตั้งแต่ปี 1986 จำนวนนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการทำหน้าที่รายงานข่าว มีเพียง 14 คดีที่นำตัวคนผิดมาลงโทษได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท