Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชี้พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์อุดมสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเอาไปสร้างเขื่อน กรมอุทยานฯ ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนฯ

19 พ.ย.2557 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเจรจากับผู้ประสานชมรมรักข่าวสิ่งแวดล้อมขอให้ยุติการจัดเวทีเสวนา “จากแม่วงก์ถึงคชก...ใครลักไก่EHIA??”ที่จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ยุติการจัดเวทีและให้แนวร่วม และผู้ที่เดินทางมาวันนี้สามารถไปแสดงความคิดเห็นกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ เพราะหากมีการจัดเวทีจะเป็นการสร้างความขัดแย้งและอาจจะเกิดความกับฝ่ายสนับสนุนกลุ่ม yes เขื่อนแม่วงก์ที่เดินทางมาที่ด้านหน้าประตู 1 ของ สผ.

ภายหลังที่ไม่สามารถจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ได้นายศศินได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนยืนยันว่าเป็นการให้กำลังใจคณะกรรมการพิจารณาโครงการ(คชก.) และยังยื่นยันว่าข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำที่มูลนิธิสืบนาคเสถียรได้ยื่นให้กับคชก.ไปแล้ว ก็เชื่อว่า คชก.จะนำไปพิจารณาร่วมด้วย(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

จากนั้น มติชนออนไลน์ รายงานเพิ่มเติม ด้วยว่า นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการประชุมคชก.โครงการเขื่อนแม่วงก์ ครั้งที่ผ่านมา ตัวแทนกรมอุทยานฯ ที่เข้าประชุม กลับมารายงานว่า มีข้อมูลหลายอย่างมากที่บริษัทที่ปรึกษา นำเสนอในที่ประชุมนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จหลายเรื่อง โดยเฉพาะ เรื่องสัตว์ป่า สภาพพื้นที่ป่า และเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งตามสภาพแล้วป่าแม่วงก์ เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์อย่างมาก เป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของเสือโคร่ง ที่ขยายพันธุ์ออกจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

"ที่สำคัญคือ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์นั้น เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่มรดกโลก ซึ่งในอนาคต จะต้องผนวกรวมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มรดกโลกด้วย กรมอุทยานฯ เรามองว่า หากปล่อยให้เกิดการสร้างเขื่อนขึ้นมา จะต้องมีปัญหาแน่นอน และพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ก็อุดมสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเอาพื้นที่ป่าไปสร้างเขื่อน จึงทำหนังสือแจ้งคชก.ว่า จากข้อมูล ข้อเท็จจริงและสภาพที่เป็นอยู่เวลานี้ กรมอุทยานฯ ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์" นายนิพนธ์ กล่าว

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากกรมอุทยานฯ แล้ว จะนำแจกใน คชก. ในที่ประชุม ถือเป็นข้อมูลสำคัญข้อมูลหนึ่งสำหรับการพิจารณา

"ความจริงแล้วก็ค่อนข้างชัดเจนว่าในเมื่อต้นเรื่องหรือเจ้าของพื้นที่ ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ โครงการนี้ก็แทบจะไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่เรื่องการเข้าไปศึกษา หาข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา เพื่อขอทำโครงการนั้นก็เป็นเรื่องของเจ้าของโครงการ คือกรมชลประทาน เขาก็ยังมีสิทธิทำ แต่ก็จะเข้าๆออกๆอยู่แบบนี้แหละครับ แต่คงยากเพราะเจ้าของที่เขาไม่อนุญาต"นายเกษมสันต์ กล่าว

เวลา 13.30 น. นายเกษมสันต์ เชิญให้นายศศิน และนางรตยา จันรเทียร ประธานมูลนิธิสืบฯ เข้าไปชี้แจงเรื่อง ทางเลือกการจัดการน้ำสำหรับแหล่งน้ำขนาดเล็ก ทางเลือก ที่ดีกว่าการสร้างเขื่อน ให้คชก. รับฟัง

นายสมฤทัย ทะสดวก อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า จากการลงพื้นที่ อ.แม่วงก์ จ.อุทัยธานี พบว่า รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ละเลยการจัดการน้ำในชุมชน ทั้งนี้ ภายในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับการอ้างอิงจากEHIA  ว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน มีอาคารที่ใช้ควบคุมน้ำเดิมอยู่แล้ว แต่อยู่ในสภาพที่ขาดการดูแล ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้จริง ทั้งคนในพื้นที่บางส่วนก็ไม่ทราบ ว่ามีอาคารควบคุมน้ำอยู่ด้วย แสดงให้เห็นถึงปัญหาพื้นฐานของการจัดการบริหารงานด้านน้ำของหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งหากมีการจัดการที่ดี ก็จะสามารถใช้งานจากอาคารควบคุมน้ำเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ ยังพบว่า อาคารควบคุมน้ำหรือฝาย ที่อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ การก่อสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อน้ำมาอาคารหรือสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ก็พัง ไม่สามารถใช้งานได้จริง ตามระยะเวลาอายุงานที่ควรจะเป็นตามจริงหากมีการจัดการบริหารระบบน้ำพื้นฐานในชุมชน หรือการผันน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำตามชุมชนที่มีอยู่แล้วในหน้าแล้ง การสร้างเขื่อนก็ไม่มีความจำเป็น

"เขื่อนบางเขื่อนที่ทำมา ทุกวันนี้น้ำไม่มี ปัญหา จึงอยู่ที่การจัดการน้ำพื้นฐาน ระบบหน่วยงานในท้องถิ่น ไม่ต้องสร้างเขื่อน ไม่ต้องทำลายป่า”นายสมฤทัย กล่าว

รศ.สุวัฒนา จิตตลดากร อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และแหล่งน้ำจากหลากหลายสถาบัน ได้ศึกษาและพบว่ารายงานการศึกษาอีเอสไอเอ ยังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนการวิเคราะห์ทางเลือกของโครงการเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดนั้น ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำยังขาดความชัดเจน

ส่วนการอ้างถึงประโยชน์ของการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม พบว่าการสร้างเขื่อนไม่มีนัยยะสำคัญต่อการป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ส่วนปัญหาน้ำท่วมในอำเภอลาดยาว ก็เกิดจากปัญหาเฉพาะถิ่นที่ขาดการบริหารจัดการระบบระบายน้ำในพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ วสท. จึงขอร่วมคัดค้านการพิจาณาอีเอสไอเอเขื่อนแม่วงก์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net