Skip to main content
sharethis




(ภาพ: ยูนิเซฟ โดย สุขุม ปรีชาพานิช)


20 พ.ย. 2557 เนื่องในโอกาสวันเด็กสากลและครบรอบ 25 ปีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในวันนี้ เด็กและเยาวชนไทยหลายร้อยคนจากทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เด็กๆ ทุกคนและทุกกลุ่มมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนา

วันนี้ ตัวแทนเด็กและเยาวชนไทยได้ยื่นแถลงการณ์และข้อเสนอแนะต่อ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ อาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยเด็กๆ เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดโอกาสที่เท่าเทียมและสังคมที่เป็นมิตรต่อเด็ก ตลอดจนนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาล ภาคเอกชน พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศไทย

“ความเป็นอยู่ของเด็กในประเทศไทยแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่” นายพงษ์นรินทร์ นนท์ก่ำ รักษาการประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยกล่าวและว่า “เด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยหรือที่อาศัยอยู่ในเมืองมักมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาหรือการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ หรือมีโอกาสอื่นๆ ที่จะพัฒนาตนเองมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือที่อาศัยอยู่ในชนบท พวกเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ เพราะเด็กทุกคนควรมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาเพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”

นอกเหนือจากโอกาสที่เท่าเทียมกันแล้ว เด็กและเยาวชนยังสะท้อนว่าพวกเขาต้องการความรักความเข้าใจจากครอบครัว อยากให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น ตลอดจนต้องการให้พ่อแม่มีทักษะในการเลี้ยงลูกมากขึ้นและหยุดใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในครอบครัวไทยจำนวนมาก

“พวกเรายังต้องการให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเรามากขึ้น เราอยากให้ผู้ใหญ่รับฟังเสียงของเด็กอย่างแท้จริงและลงมือทำสิ่งต่างๆ เพื่อเด็ก” นายพงษ์นรินทร์กล่าวและว่า “ผมหวังว่าข้อเสนอแนะของพวกเราในวันนี้จะไม่เป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น”

แถลงการณ์และข้อเสนอแนะของเด็กและเยาวชนนี้ จัดทำขึ้นโดยเด็กและเยาวชนกว่า 400 คนทั่วประเทศโดยผ่านเวทีสิทธิเด็กที่รวมเด็กทุกกลุ่ม เช่น เด็กพิการ เด็กไร้สัญชาติและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งได้สะท้อนมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กในประเทศไทยในปัจจุบัน โอกาสและปัญหาต่างๆ ที่พวกเขายังคงต้องเผชิญ

เวทีสิทธิเด็กนี้จัดขึ้นใน 4 ภาคทั่วประเทศในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นและให้เสียงของพวกเขาได้รับการรับฟัง

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยรัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามอนุสัญญาต่อสหประชาชาติทุกๆ 5 ปี ซึ่งเป็นหลักประกันว่าสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศจะได้รับการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครอง

“การสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อเด็กถือเป็นการนำหลักการสิทธิเด็กไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเด็กจากทั่วประเทศได้มาร่วมกันคิดข้อเสนอแนะเพื่อสังคมที่เป็นมิตรต่อเด็ก เพื่อทบทวนสถานการณ์ที่เด็กกำลังประสบ และหาข้อท้าทายเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถานการณ์ให้ดีขึ้น”

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ the Convention on the Rights of the Child (CRC) ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 2532 ซึ่งได้ระบุสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนในโลกและหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์สิทธิเด็ก อนุสัญญานี้ เป็นสนธิสัญญาที่มีประเทศต่างๆ ให้สัตยาบันมากที่สุดในโลก โดยระบุว่าเด็กทุกคน ทุกแห่งหน มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ได้รับการพัฒนา และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ตลอดจนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาตามอายุและวุฒิภาวะของพวกเขา

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี 2535 และเป็นหนึ่งใน 194 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบัน

นายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวในงานวันนี้ โดยเน้นถึงความสำคัญของมาตรา 12 ในอนุสัญญาฯ ซึ่งระบุว่าเด็กและเยาวชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น และเสียงของเด็กต้องได้รับการรับฟังจากผู้ใหญ่ที่มีส่วนตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา  งานเวทีสิทธิเด็กที่จัดขึ้นทั่วประเทศนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง

“ถึงตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่แล้ว” นายพิชัยกล่าว “เด็กและเยาวชนได้สะท้อนมุมมองของพวกเขาแล้ว และตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่อย่างพวกเราในการนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปพิจารณาในการวางแผน ตัดสินใจ และดำเนินการต่างๆ ต่อไป”

อนึ่ง ใน พ.ศ. 2497 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศวันเด็กสากลเป็นครั้งแรก โดยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ระลึกถึงวันสำคัญนี้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือที่มีต่อเด็ก ต่อมาประเทศต่างๆ ได้ยึดเอาวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเด็กสากล ซึ่งเป็นวันที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กใน พ.ศ. 2502 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กใน พ.ศ. 2532

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net