60 นักวิชาการแถลงคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์

60 นักวิชาการระบุโครงการเขื่อนแม่วงศ์ไม่สมควรได้รับการดำเนินการต่อไปและรัฐบาล กรมชลประทาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยควรยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแม่วงก์โดยทันที
 
21 พ.ย. 257 ตามที่รัฐบาลได้เร่งรัดผลักดันให้มีการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าตะวันตกอีกครั้งหลังจากที่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาหลายครั้งและได้รับการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่และสาธารณชนมาโดยตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปีโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการมีกำหนดการประชุมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA)ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ศกนี้ นั้น
 
เหล่านักวิชาการซึ่งมีรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่าโครงการเขื่อนแม่วงศ์ไม่สมควรได้รับการดำเนินการต่อไปและรัฐบาล กรมชลประทาน รวมทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยควรยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแม่วงก์โดยทันทีและตลอดไปด้วยเหตุผลเบื้องต้นโดยสรุปต่อไปนี้
 
1. โครงการเขื่อนแม่วงก์จะก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของผืนป่าตะวันตกโดยรวมซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อห่วงโซ่ความสัมพันธ์ในหมู่สัตว์และพืชในผืนป่าตะวันตกทั้งหมด และย่อมกระทบในทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์ในชุมชนและสังคมวงกว้างในที่สุด การดำรงอยู่ต่อไปของผืนป่าและสัตว์ป่าในปัจจุบันหมายถึง การดำรงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพที่จะประกันความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนของธรรมชาติที่มีคุณค่าทั้งเพื่อธรรมชาติทั้งระบบและเพื่อมนุษย์ เราเห็นว่า การพิจารณาคุณค่าในแง่มุมเหล่านี้ ไม่อาจพิจารณาอย่างผิวเผินแค่การเปรียบเทียบหรือประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับช้าง เสือ นกยูงฯลฯ หรือพืชพันธุ์ใดๆ เป็นรายชนิดหรือรายตัว แต่ต้องมองให้เห็นคุณค่าอันสูงส่งอย่างประเมินค่าไม่ได้ของระบบและวัฏจักรของชีวิตทั้งหมดที่จะเกื้อกูล สัมพันธ์และพัฒนาหนุนเนื่องต่อไปตามธรรมชาติ
 
สังคมอเมริกันเคยเรียนรู้ว่า หากย้อนเวลาได้จะไม่ตัดสินใจสร้างเขื่อนชลประทานในโครงการ Hetch Hetchy ในเขตอุทยานแห่งชาติ Yosemite National Park (แล้วเสร็จ ค.ศ. 1938) ซึ่งทำให้ที่สุดต้องทำลายเขื่อนนี้ลงแล้วปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเองขึ้นมาใหม่ซึ่งต้องใช้เวลาหลายร้อยปี ประสบการณ์ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นกับอีกหลายโครงการทั้งในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ จนการสร้างเขื่อนกลายเป็น “ทางเลือกที่สังคมพัฒนาแล้วเขาไม่เลือก” กันแล้วในปัจจุบัน
 
2. โครงการนี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการและพื้นที่ต่อเนื่องที่จะมีการเวนคืนที่ดินและทำลายทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากเพื่อการสร้างคลองชลประทานและถนนเป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประจักษ์จากการสำรวจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนครสรรค์เองก็ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการนี้
 
3. โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณสูงมากถึง 13,000 ล้านบาท (ตามมติของคณะรัฐมนตรีชุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ.2555) แต่จะไม่มีประสิทธิผลเพียงพอในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วงก์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพราะจะสามารถรับน้ำได้เพียงประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณน้ำที่เข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ.2554 นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์ที่ต่ำมากในแง่ชลประทานที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ (โดยที่ยังไม่ได้คำนวณ “มูลค่า” ความเสียหายที่เกิดจากผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะความเสียหายที่จะกระทบต่อ “คุณค่า” ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันไม่อาจประเมินได้ดังกล่าวมาในข้อ 1)
 
4. โครงการนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมาแล้วหลายครั้งแม้แต่ในช่วงระยะเวลาภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะมีปัญหาในหลายมิติ การเร่งรัดพิจารณาปัญหานี้ทั้งที่ยังมีการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่โครงการฯ และสาธารณชน รวมทั้ง การวางแผนและดำเนินการตามแผนแม่บทเพื่อการป้องกันน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกับโครงการเขื่อนแม่วงก์เองก็ยังมีปัญหาการไม่ได้รับการยอมรับและเกิดการคัดค้านอย่างหนักหน่วงและกว้างขวางของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่อาจได้รับผลกระทบ การพยายามเร่งรัดพิจารณาโครงการโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลและชุมชนที่จะตัดสินใจที่กำหนดวิถีชีวิตและเลือกเผชิญ ไม่เผชิญหรือเผชิญอย่างไรกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิการเข้าถึงข้อมูล สิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯย่อมหมายถึง การใช้อำนาจรัฐจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมในการจัดสรรประโยชน์และภาระ-ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการไม่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของรัฐ หลักธรรมาภิบาลและหลักความโปร่งใสในการใช้อำนาจรัฐได้ด้วย
 
พวกเราหวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับฟังคำคัดค้าน ความเห็นและคำเรียกร้องขอพวกเรา เช่นเดียวกับการรับฟังเสียงของชุมชนในพื้นที่ที่กล่าวถึงทั้งหมดและสาธารณชน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่ประเมินมิได้จากการดำเนินการโครงการนี้ของรัฐ
 
ด้วยจิตคารวะ
20 พฤศจิกายน 2557
 
รศ.ดร. สุวินัย ภรณวลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ชวินทร์  ลีนะบรรจง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อ.ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ตระกูล มีชัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ธีระชน พลโยธา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาจารย์ ดร.ปานพิมพ์ เชื้อพลากิจ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาจารย์ ดร.อัจศรา ประเสริฐสิน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อาจารย์ ดร.ประกฤติยา ทักษิโณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาจารย์ ดร.เสกสรรค์  ทองคำบรรจง  มหาวิทยาลัยบูรพา
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คงสม  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์ อิงอร ไชยเยศ  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์ ปริชาติ ดิษฐกิจ  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร สัจจา บรรจงศิริ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.วราภรณ์ อุปลาคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.สมัครสมร ภักดีเทวา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์ วิลาวัลย์ ศิลปศร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์ ศิริลักษณ์ นามวงศ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์ ดร.จรรยา สิงห์คำ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ผศ.ดร.ปัณฉัตร หมอยาดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อาจารย์วริณาฐ  พิทักษ์วงศ์วาน  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ศรีดี  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อาจารย์ ดร. อนุสรณ์ ศรีแก้ว มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ บุญส่ง ชเลธร  มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.ลักษณา แสงแก้ว มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ ดร.บุปผา บุญสมสุข มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.ดวงทิพย์ เจริญรุกข์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ ดร.อนิก ทวิชาชาติ  มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.เธียรชัย อิศรเดช  มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ ดร.ฉลองรัฐ เฌอมาลย์มารค  มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.สิริทิพย์ ขันสุวรรณ  มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.พิมณัฐชยา สัจจาศิลป์   มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์วีรวัฒน์ อำพันสุข  มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ปฏินันท์ สันติเมธนีดล มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ วรวุฒิ  อ่อนน่วม  มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ ธิราภรณ์ กลิ่นสุคนธ์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ พิทักษ์ ชูมงคล  มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ ฐิติ พิทยสรณะ  มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์คมสัน โพธิ์คง  มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ นิดาวรรณ เพราะสุนทร มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ ดร.ชุลีรัตน์ เจริญพร   มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ สุริยะใส กตะศิลา มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ บูชิตา แสงแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
อาจารย์พัทธ์ธีรา นาคอุไร มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์อนินทร์ พุฒิโชต มหาวิทยาลัยทักษิณ
อาจารย์กนกวรรณ สุทธิพร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
อาจารย์ ณัฐพล อมรทัต  มหาวิทยาลัยสยาม
อาจารย์ สมคะเน  วรวิวัฒน์   มหาวิทยาลัยสยาม
อาจารย์ มนต์ศักดิ์  เกษศิรินทร์เทพ มหาวิทยาลัยสยาม
อาจารย์ศักดิ์ณรงค์ มงคล   นักวิชาการอิสระ
นางสาวณัฏฐ์ชวัล  โภคาพานิชวงษ์    นักวิชาการอิสระ
อาจารย์ ชุมพล ศรีรวงทรัพย์ นักวิชาการอิสระ
นายสุวพจน์ อุปลาคม นักวิชาการอิสระ
นางอัญชลี นาควิเชตร์  นักวิชาการอิสระ
นางกมลรัตน์ ประกอบการ นักวิชาการอิสระ
นางสาวอัญชลิตา สุวรรณชฎ นักวิชาการอิสระ
อาจารย์ชรัตน์ สินธุสะอาด   นักวิชาการอิสระ
นายจุมพล หมอยาดี นักวิชาการอิสระ
นายอุรุพงษ์   สินธุสะอาด  นักวิชาการอิสระ
นางสาวเนตรดาว ณ พัทลุง  นักวิชาการอิสระ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท