บทวิเคราะห์ต่างประเทศ: การเต้นรำของ 2 มหาอำนาจ จีน-สหรัฐฯ

เมื่อไม่นานมานี้เรื่องความร่วมมือระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ บนเวทีระดับโลกเป็นเรื่องน่าติดตาม จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการ Foreign Policy In Focus วิเคราะห์ท่าทีและแนวทางที่ทั้งสองประเทศจะสามารถร่วมมือกันได้เพื่อแก้ปัญหาในระดับโลกได้อย่างแท้จริง

21 พ.ย. 2557 เว็บไซต์ Foreign Policy In Focus ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศต่อเอเชียภายใน 3 ปี โดยต้องการสร้างระบบการวางนโยบายในระยะยาวแทนการตอบโต้ต่อวิกฤติในทันที ซึ่งดูเหมือนว่าสหรัฐฯ พยายามจะเปลี่ยนเป้าหมายจากการปกป้องยุโรปจากภัยคุกคามจากตะวันออกกลางและยึดครองแหล่งน้ำมันไปพร้อมๆ กับหันมาหาตลาดในเอเชียและถ่วงดุลอำนาจกับจีน

ขณะที่รัฐบาลโอบามาต้องเผชิญกับวิกฤติโลกรอบด้านทั้งกรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กรณีความขัดแย้งของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในกาซา และกรณีการเติบโตของกลุ่มไอซิสในซีเรียและอิรัก ขณะที่ทางการจีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์เหล่านี้

FPIF ระบุว่า ในฐานะรัฐที่ท้าทายอำนาจความเป็นผู้นำโลก จีนวางตัวเหมือนรัฐใหญ่ๆ รัฐอื่นในโลกที่คาดเดาได้ง่ายว่าจะทำอะไรต่อไป และด้วยความเป็นมหาอำนาจจีนยังมีความทะเยอทะยานในระดับโลกซึ่งในบางเรื่องททางการสหรัฐฯ ก็อยากสนับสนุนถ้าหากมันเข้าทางผลประโยชน์ เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย การลดสะสมนิวเคลียร์ การรักษาสันติภาพ และประเด็นอื่นๆ

กรณีความร่วมมือดังกล่าวมีการหารือกันในที่ประชุม G20 ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีการตกลงด้านความร่วมมือเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม FPIF ระบุว่าทางการสหรัฐฯ และจีนยังมองหน้ากันไม่ค่อยติดแม้แต่กับเรื่องที่ทั้งสองชาติต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ไปเยือนจีนแล้วกล่าวไว้สั้นๆ ว่า ปัญหาของโลกยุคศตวรรษที่ 21 จะไม่สามารถจัดการได้ถ้าสหรัฐฯ และจีนไม่ร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทางการสหรัฐฯ จะไม่ยอมทนต่อความทะเยอทะยานในระดับภูมิภาคของจีน แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้สนใจเรื่องแผนการด้านพลังงานของจีนในทางฝั่งตะวันออกของรัสเซีย แต่ในช่วงที่จีนเริ่มแสดงท่าทียกระดับต่อข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู หรือหมู่เกาะเซนกากุช่วงกลางปีที่ผ่านมาจะเป็นสัญญาณเตือนสหรัฐฯ ว่าทางการจีนเริ่มเปลี่ยนท่าทีแบบพร้อมใช้กำลังมากขึ้นจนทำให้สื่อสหรัฐฯ เขียนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะทางการทหารระหว่างสองชาติ

หลังจากนั้นจีนและสหรัฐฯ ก็เริ่มมีท่าทีอ่อนข้อลงจนนักคิดของสหรัฐฯ มองว่าทางการสหรัฐฯ ดำเนินการแบบใช้ความอดกลั้นและมีเล่ห์เหลี่ยมมากขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีการพุ่งเข้าชนแบบผู้นำรัสเซีย จากปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าทำให้สหรัฐฯ ต้องการความช่วยเหลือจากจีนแม้ว่าจะยังคงมองจีนด้วยความระมัดระวัง

FPIF ระบุว่าสิ่งเหล่านี้คือใจกลางความย้อนแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากปัญหาวิกฤติต่างๆ ทำให้สองประเทศราวกับกำลังเต้นรำกันในหลายท่วงท่าซึ่งบางครั้งก็เข้าใกล้ บางครั้งก็ออกห่าง ปรับเปลี่ยนไปตาม "เพลงฉากหลัง" และบางครั้งก็มีการขัดผลประโยชน์กันโดยเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกจนต้องหยุดเพลงแล้วถกเถียงกันว่าควรจะเปิดเพลงแบบใด ใครจะเป็นคนเลือก

FPIF วิเคราะห์อีกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนแตกต่างกันกับช่วงที่สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต โดยในกรณีของสหรัฐฯ กับโซเวียตนั้นมีความร่วมมือในระดับนานาชาติในเรื่องที่ไม่มีความสลักสำคัญแต่ก็ยอมให้ในเรื่องที่เกี่ยวกับอิทธิพลในพื้นที่ของตนเอง ส่วนในกรณีของจีนกับสหรัฐฯ นั้น สิ่งที่เป็นเรื่องท้าทายในอีก 10 ปีข้างหน้าคือการทูตของทั้งสองประเทศจะต้องไม่ทำให้ความไม่ลงรอยกันในระดับภูมิภาคมาทำลายความร่วมมือกันในระดับโลก

ความร่วมมือระดับโลก
ในช่วงปลายปี 2555 สีจิ้นผิง หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความฝันของประเทศจีนไว้สี่ประการคือการทำให้ประเทศจีนมีความเข้มแข็ง ศิวิไลซ์ งดงาม และสามัคคี มีการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรขึ้นสองเท่าภายในปี 2563 เสริมความแข็งแกร่งเรื่องความมั่นคง และเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว ผู้นำจีนยังพยายามขยายความฝันไปสู่ระดับภูมิภาคด้วย "กองทุนทางสายไหม" 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาโครงสร้างทั้งทางบกและทางทะเลโดยรอบประเทศจีน

แม้ว่าฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ จะมีความเห็นลงรอยกันกับจีนในเรื่องอำนาจและความมั่งคั่ง แต่ดูเหมือนว่าสภาคองเกรสจะยังคงมองจีนแบบไม่ไว้ใจและไม่ยอมให้มีอิทธิพลในสถาบันการเงินมากนัก

แต่ FPIF ก็วิเคราะห์ว่าสหรัฐฯ ดูเหมือนจะต้องพึ่งพาทางการเงินจากจีน จากการที่สหรัฐฯ เป็นหนี้จีนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งจีนยังเร่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2557 ทำให้เป็นการส่งเสริมการส่งออกของจีนโดยการทำให้ค่าเงินหยวนต่ำลง และทำให้ตลาดการเคหะเข้มแข็งขึ้นโดยการกดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ทางการสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาผู้ผลิตและผู้บริโภคในจีนในแง่การค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลกโดยรวม แม้ว่าในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นแล้วของจีนจะลดลง แต่สหรัฐฯ ก็ยังเรียกร้องให้ทางการจีนยังคงการค้าขายและการลงทุนกับต่างชาติไว้ในระดับสูง ซึ่งทางการจีนเองก็ต้องการทำตามด้วยหลายเหตุผลรวมถึงความมั่นคงของรัฐบาลเอง

แต่การเห็นพ้องด้านเศรษฐกิจก็ไม่ไปด้วยกันกับเรื่องปัญหาการใช้ทรัพยากรและเรื่องโลกร้อน เนื่องจากทางการจีนเน้นเรื่องการเติบโตโดยไม่สนใจในเรื่องอื่น ทำให้ทั้งสองประเทศนี้ไม่ลงรอยกันในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน แม้ว่าจีนจะเสนอเพดานจำกัดการปล่อยก๊าซในระดับภูมิภาคแต่จีนเองยังคงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ระดับก๊าซคาร์บอนและปรากฏการณ์เรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อไม่นานมากนี้สหรัฐฯ ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มเช่นกัน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะพยายามเจรจาวางแนวทางปรับลดแต่ก็ยังไปด้วยกันไม่ได้ในเรื่องนี้

ในแง่ของกำลังการทหาร ทั้งสองประเทศนี้ก็มีผลประโยชน์คาบเกี่ยวกัน หนึ่งในนั่นคือการต่อต้านการก่อการร้าย โดยจีนร่วมมือกับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งทางการจีนเองก็มีความกังวลในเรื่องแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนในซินเจียงและความเกี่ยวข้องระหว่างการก่อการร้ายภายในประเทศและองค์กรก่อการร้ายภายนอกประเทศ แต่จนถึงตอนนี้ทางการจีนก็ยังไม่ได้ร่วมมือกับการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายในอิรักและซีเรีย จีนยังคงทำตามนโยบายไม่แทรกแซงอย่างน้อยก็ในแง่ทางการ แต่พวกเขาก็อาจจะเปลี่ยนใจหลังจากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างคนที่มีสัญชาติจีนกับกลุ่มติดอาวุธไอซิสรวมถึงความสนใจในแหล่งพลังงานในประเทศอิรัก

ทั้งสหรัฐฯ และจีนยังเป็นสมาชิกภาพความร่วมมือด้านการลดอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งสองชาติยังเคยร่วมมือกันเพื่อเจรจากับเกาหลีเหนือในเรื่องนี้แต่ก็ส่งผลเพียงเล็กน้อย และเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ กับอีกประเทศหนึ่งคืออิหร่าน จีนได้สนับสนุนให้มีการยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อิหร่านเช่น เรื่องความสัมพันธ์ทางการค้ารวมถึงการค้าอาวุธ

ในเชิงการทูต FPIF ระบุว่าแม้ก่อนหน้านี้จีนจะไม่ค่อยชื่นชมบทบาททางการทูตของสหรัฐฯ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในตอนนี้ดูเหมือนว่าจีนจะเริ่มเปลี่ยนท่าทีเนื่องจากจีนเริ่มทำข้อผูกมัดด้านเศรษฐกิจกับคนทั่วโลก จีนเคยมีบทบาทเชิญผู้นำอิสราเอลและปาเลสไตน์ร่วมเจรจาหารือกันในปี 2556 แต่ทั้งคู่ต่างก็ไปเยือนจีนคนละเมืองและไม่ได้พบกัน จีนยังเป็นคู่ค้าที่ดีกับกลุ่มประเทศละตินอเมริกาส่วนใหญ่ และเคยจัดประชุมกับกลุ่มผู้นำในทวีปแอฟริกาทุก 3 ปี มาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลโอบามาเพิ่งจะประกาศว่าจะขอให้ผู้นำแอฟริกันมารวมตัวประชุมที่วอชิงตันเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

จีนยังแสดงท่าทีว่าจะเป็นคู่แข่งทางการเงินกับสหรัฐฯ เมื่อ 5 ประเทศกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้) ต่างร่วมจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยตั้งสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ แม้ว่าเหล่าผู้นำจะให้คำมั่นว่าจะมีการทำงานร่วมกับสถาบันเบรนตัน วูดส์ (ธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟ) แต่ก็สามารถเป็นคู่แข่งในแง่การกำหนดบทบาทการพัฒนาตลาดได้ ซึ่งจีนไม่พอใจที่พวกเขาไม่สามารถสะท้อนอำนาจทางเศรษฐกิจได้ผ่านทางสถาบันเบรนตัน วูดส์ มานานแล้ว ธนาคารของ BRICS ยังมีการใช้เงินหลักเป็นเงินหยวนซึ่งจุดนี้อาจจะมาคานอำนาจเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการใช้อิทธิพลในสถาบันเบรนตัน วูดส์ อย่างไม่เหมาะสมของสหรัฐฯ ได้

เรื่องที่ดูมีเงื่อนงำที่สุดจากบทวิเคราะห์ของ FPIF น่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับกองทัพจีนโดยตรง หลังจากที่ผู้นำทั้งสองประเทศพบกันเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 เจ้าหน้าที่ทางทหารของจีนและสหรัฐฯ ก็พบปะกัน 4 ครั้ง และมีการเปิดเผยความร่วมมือทางการทหาร 8 จุด รวมถึงการที่จีนขอเข้าร่วมซ้อมรบ RIMPAC 2557 ที่ฮาวาย แต่ทางสภาคองเกรสยังคงไม่ไว้ใจจีนมากเท่าฝ่ายบริหาร

FPIF ระบุว่าแม้ว่าจะมีพื้นที่ให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโลก เปรียบเสมือนพื้นที่กลางฟลอร์เปิดให้ทั้งสองเข้าไปเต้นรำ แต่ปัญหามีอยู่ว่าใครจะเป็นคนขอเพลงในประเด็นของเอเชียตะวันออก

การเผชิญหน้าในระดับภูมิภาค
FPIF ระบุว่านอกจากเรื่องที่สหรัฐฯ กับจีนแข่งกันเรื่องความเป็นมหาอำนาจของโลกแล้วสิ่งที่ทำให้ทั้งสองชาติไม่สามารถมีความสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ได้คือเรื่องของการเผชิญหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ขณะที่สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรสองทางกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ มีพันธะทางการทหารในการช่วยปกป้องไต้หวัน และต้องรักษาผลประโยชน์ด้วยการรักษาช่องทางเดินทางทะเลในพื้นที่ไว้ ช่วงสงครามเย็นสหรัฐฯ ยังคงอำนาจด้วยการวางกำลังทหารไว้ แต่หลังการล่มสลายของโซเวียตและจีนเริ่มมีประสิทธิภาพทางการทหารมากขึ้น สหรัฐฯ ก็เริ่มปรับยุทธวิธี เลิกการเน้นตั้งฐานทัพอยู่กับที่ หันมาพัฒนาการรบทางทะเลและทางอากาศ รวมถึงดำเนินนโยบายศูนย์กลางแปซิฟิกแต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป้าหมายหลักๆ ไป

FPIF ระบุอีกว่าทางการสหรัฐฯ ยังรีรอที่จะเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติต่อจีนในเรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่นกรณีที่เกาะไห่หนานปี 2544 ที่เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ บินเข้าไปใกล้เกาะซึ่งเป็นพื้นที่ของจีนในระยะห่างราว 110 กม. จนทำให้จีนใช้เครื่องบินขับไล่ J-8 ติดตามจนมีการชนกันกลางอากาศ ซึ่งในกรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องนำเครื่องบินสอดแนมเข้าไปใกล้ขนาดนั้นเพราะพวกเขาได้รับข้อมูลที่เพียงพอแล้วจากการสอดแนมทางดาวเทียม ทางเรือดำน้ำ และทางบก แต่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้จีนเห็นว่าตนอ่อนข้อและยอมลดปฏิบัติการทางอากาศตามที่จีนขอร้องซึ่งถ้าหากสหรัฐฯ ทำตามจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ โดยสหรัฐฯ ยังคงอ้างว่าปฏิบัติการทางอากาศมีความจำเป็นเพราะประเทศจีนไม่มีความโปร่งใสมากพอในด้านการพัฒนาทางการทหาร

ไม่เพียงแค่การไม่ยอมเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ เท่านั้น การที่จีนชอบอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในแถบหมู่เกาะทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ใช้จุดนี้เป็นการเสริมความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรและหาพันธมิตรเพิ่ม สหรัฐฯ สามารถผลักดันให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายขอบเขตการใช้กำลังทหาร อีกทั้งยังเจรจาให้เกาหลีใต้มองว่าพัฒนาการทางทหารของจีนน่าเป็นห่วงรวมถึงการตั้งฐานทัพเรือที่เกาะเชจูโดยทางการเกาหลีใต้ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการสอดแนมและการป้องกันขีปนาวุธ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังสามารถหารือข้อตกลงใหม่กับฟิลิปปินส์และได้รับความร่วมมือจากเวียดนามในเรื่องนโยบายความมั่นคง แม้กระทั่งมาเลเซียซึ่งก่อนหน้านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนก็หันมาสนับสนุนที่ตั้งฐานทัพเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งแถบทะเลจีนใต้ โดยพยายามคัดค้านการตั้งฐานขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทางทะเลที่มีข้อพิพาทกัน แต่ทางการจีนไม่ยอมรับแนวคิดการแทรกแซงเช่นนี้ แม้กระทั่งการนำข้อพิพาทเข้าสู่ศาลอนุญาโตตุลาการ จีนก็ไม่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม FPIF มองว่าทางการสหรัฐฯ เคยทำตัวไม่จริงใจมาก่อนโดยการเสนอตัวเป็นตัวกลางผู้เจรจาไกล่เกลี่ยทั้งๆ ที่พวกเขาเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจนโดยมีพันธมืตรอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนโยบายการต่างประเทศแบบเดียวกับในตะวันออกกลางที่แม้จะแสดงตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแต่ก็ยังส่งเงินสนับสนุนกองทัพอิสราเอล FPIF ระบุว่าถ้าสหรัฐฯ เชื่อเรื่องความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายจะช่วยแก้ปัญหาได้จริง พวกเขาต้องเลือกเล่นบทเอาตัวเองเข้าว่าอย่างเดียวแล้วสนับสนุนกลไกหรือสถาบันที่มีความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายจริง

โรเบิร์ต รอสส์ ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตันคอลเลจและผู้ร่วมงานศูนย์จีนศึกษาที่ฮาร์วาร์ดระบุว่า รัฐบาลโอบามาต่างจากรัฐบาลอื่นตรงที่มีการท้าทายการพยายามขยายอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของจีน แต่ก็สร้างความย้อนแย้งในตัวเองเพราะแทนที่จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจของจีนกลับกลายเป็นทำให้จีนมีท่าทีพร้อมสู้รบมากขึ้นเพราะการกระทำของพวกเขาทำให้ผู้นำจีนเชื่อว่าจะจีนต้องมีท่าทีแข็งกร้าวถึงจะขยายอำนาจได้อย่างมั่นคง

ความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนยังขยายไปถึงเรื่องการค้า พวกเขาไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการค้าระดับภูมิภาคได้ สหรัฐฯ พยายามผลักดันหุ้นส่วนเศรษฐกิจทรานส์แปซิฟิก (TPP) โดยจีนสามารถร่วมได้แต่ต้องทำตามข้อกำหนดพื้นฐานซึ่งยากมากที่จีนจะทำได้ แต่ถ้าหาก TPP ดำเนินการต่อไปโดยไม่มีจีน ทางการจีนจะสูญเสียอย่างมาก ในขณะเดียวกันจีนก็มีข้อตกลงการค้าเอฟทีเอ (FTA) กับกลุ่มประเทศอาเซียนและเพิ่มข้อตกลงใหม่ๆ เข้าไป นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่การส่งออกอย่างเกาหลีใต้

FPIF ระบุว่าขณะที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรค่อนข้างพอใจกับสถานะคงที่ในปัจจุบันของภูมิภาค แต่ดูเหมือนจีนจะไม่ได้พอใจด้วย จีนสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน จีนเคยยอมรับการมีอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้มาก่อนแต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ จะมีอิสระมากขึ้นและเริ่มมีการพัฒนาทางการทหารมากขึ้นทำให้จีนเห็นว่าสถานะคงที่เช่นนี้เป็นเรื่องไม่ปลอดภัย อีกทั้งจีนยังไม่สนใจว่าสหรัฐฯ จะใช้แผนยุทธวิธีสร้างประสิทธิภาพและความเป็นอิสระให้กับประเทศพันธมิตรของเขาในภูมิภาคนี้ เมื่อระบบความมั่นคงในปัจจุบันของภูมิภาคไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งจำนวนมากได้ อนาคตจะเป็นอย่างไร

ระบบพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจ?
FPIF ระบุว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็มีความสัมพันธ์แบบพหุภาคีที่มีการตกลงนโยบายร่วมกันทั้งหลายฝ่ายในแบบที่กระท่อนกระแท่น ในฐานะประเทศมหาอำนาจทั้งคู่ต่างชอบใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยแบบร่วมกันสองฝ่ายหรือทวิภาคีมากกว่าเพราะพวกเขาจะได้คาดเดาและบรรลุเป้าหมายได้ง่ายกว่า พวกเขาไม่เก่งในเรื่องการสร้างผลลัพธ์แบบที่เป็นบวกสำหรับทุกฝ่ายผ่านระบบการตัดสินใจแบบพหุภาคีที่มีประเทศอื่นร่วมหารือด้วย ดูเหมือนว่าจีนจะคุ้นเคยระบบพหุภาคีน้อยกว่าสหรัฐฯ

ในประเด็นเรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออก สหรัฐฯ ยังคงไม่ยอมลดอำนาจนำเพราะกลัวว่าจะเปิดโอกาสให้จีนเพิ่มอำนาจตัวเองได้ ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนทำตัวเป็นผู้ถือผลประโยชน์ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทางการจีนก็กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียว ข้อกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายถือว่าถูกทั้งคู่ตราบใดที่ยังไม่มีการตัดสินใจแบบพหุภาคี

FPIF ระบุว่าทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการ "ระบบพหุภาคีด้วยความสมัครใจ" ทางการสหรัฐฯ วางรากฐานระบบพหุภาคีในหมู่ประเทศพันธมิตรเช่นระบบไตรภาคีซึ่งร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จีนก็มีความพยายามในการสร้างโครงสร้งแบบเดียวกันจากองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และระบบใหม่ของ BRICS ส่วนความท้าทายของประเด็นในเอเชียตะวันออกอยู่ที่การสร้าง "ระบบพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจ" ให้ได้

แม้ว่าการประชุม 6 ฝ่ายที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวกับการพยายามปลดอาวุธเกาหลีเหนือจะยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายแต่ก็ถือเป็นแบบแผนที่ดีในการสร้างข้อตกลงชั่วคราวให้กับประเทศในภูมิภาค ตัวอย่างที่ดีกว่านี้ของพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจคือองค์กรเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (OSCE) ที่สหรัฐฯ และโซเวียตเคยร่วมหารือควบคุมด้านอาวุธกันในช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้ OSCE ยังกลายเป็นพื้นที่หารือแบบพหุภาคีในประเด็นอื่นที่เกิดขึ้นจากสงครามเย็น เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องพรมแดน การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ

ทางการจีนและสหรัฐฯ อาจจะมีความร่วมมือแบบทวิภาคีแน่นแฟ้นขึ้นในประเด็นของโลกและอาจจะส่งผลในความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคเช่นเรื่องที่ตกลงกันว่าจะมีการประกาศเตือนก่อนหากจะมีการซ้อมรบในแถบเอเชียแปซิฟิก แต่สภาคองเกรสและการผลัดเปลี่ยนผู้นำของสหรัฐฯ มักจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศย้อนกลับไปเป็นแบบเดิม

บทความใน FPIF ระบุว่าแม้ทั้ง 2 ประเทศจะไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ในแบบการหารือระหว่างประเทศ วิธีที่ดีที่สุดคือการจัดตั้ง "ระบบพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจ" ในเอเชียตะวันออกจะช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศที่เล็กกว่าได้ แต่สหรัฐฯ และจีนจะต้องยอมประนีประนอมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์

FPIF ระบุว่าถ้าหากสหรัฐฯ และจีนยังคงต้องการเล่นบทเจรจาแบบระหว่างสองประเทศต่อไป อาจจะดูเป็นการระแวดระวังป้องกันตัวแต่ก็อาจจะนำมาซึ่งการต้องจ่ายงบประมาณการทหารเพิ่มขึ้นและต้องแสดงท่าทีก้าวร้าวมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการหารือกันเพียงสองฝ่ายคงไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงสำหรับทั้งสหรัฐฯ และจีนอีกต่อไป

 

เรียบเรียงจาก

The Dance of Superpowers, John Feffer, FPIF, 18-11-2014
http://fpif.org/dance-superpowers/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท