Skip to main content
sharethis

ในช่วงที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมในบราซิลเริ่มมีการปรับเปลี่ยนทำให้บุคคลร่ำรวยหรืออยู่ในระดับสูงไม่สามารถลอยนวลจากความผิดที่ก่ออีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่คอร์รัปชันหรือผู้พิพากษาที่เบ่งใส่ตำรวจจราจร


24 พ.ย. 2557 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานว่าเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พนักงานอัยการรัฐหลายคนในบราซิลเริ่มดำเนินการฟ้องร้องชนชั้นนำที่กระทำความผิด ทำให้ผู้สังเกตการณ์ประเทศบราซิลมีความหวังว่าบราซิลจะเริ่มเอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีกับผู้อยู่ในสังคมระดับสูง

นับตั้งแต่ประเทศบราซิลเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1980 กลุ่มคนรวยและผู้มีอำนาจในบราซิลต่างก็กระทำความผิดต่างๆ แล้วยังลอยนวลอยู่ได้ โดยไม่เพียงแค่มีการทุจริตคอร์รัปชันแพร่กระจายไปทั่วเท่านั้น ความผิดต่างๆ เหล่านี้ยังไม่เคยถูกสอบสวนหรือมีการดำเนินการใดๆ เลย แต่จากเทรนด์ในบราซิลตอนนี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวกำลังจะเปลี่ยนไป

ชาวบราซิลใช้ 'แฮชแท็ก' ในทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับคดีความต่างๆ 3 คดี ซึ่งทั้ง 3 คดีเกี่ยวพันกับชนชั้นนำในบราซิลทั้งสิ้น

แฮชแท็กแรกคือ #Petrobras หรือกรณีบริษัทเปโตรบราส ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานของบราซิลซึ่งเป็นแบบกึ่งรัฐกึ่งเอกชน บริษัทนี้ไม่เพียงแค่มีเงินมหาศาลหลายพันล้านดอลลาร์เท่านั้นแต่ยังถูกกล่าวหาว่ามีการฟอกเงินและตั้งราคาสูงทำกำไรเกินจริง (profit-skimming) ทำให้อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเปโตรบราสและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในบราซิลตกเป็นผู้ต้องหา ถือเป็นการกล่าวหากลุ่มผู้บริหารและคนของรัฐบาลในบริษัทที่อำนาจมากในบราซิล ในตอนนี้มีผู้ถูกจับกุมแล้ว 27 ราย

นอกจากนี้อัยการของบราซิลยังเปิดเผยอีกว่าเงินที่ยักยอกจากเปโตรบราสไปนั้นมีการนำไปใช้กับการรณรงค์ทางการเมืองรวมถึงพรรคแรงงานของประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ด้วย ซึ่งรุสเซฟฟ์และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็คอยปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยตลอด

อย่างไรก็ตามรุสเซฟฟ์ยอมรับว่าคดีนี้มีความสำคัญในระดับที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนประเทศได้จากการทำให้ 'การลอยนวล' เหนือความผิดหมดไป

เปาโล โซเตโร ผู้อำนวยการสถาบันบราซิลที่ศูนย์วิลสันวูดโรว์ในวอชังตันดีซีกล่าวว่าคดีเปโตรบราสเป็นคดีที่สะท้อนคดีใหญ่อีกคดีหนึ่งก่อนหน้านี้ที่ชื่อ "คดีเมนซาเลา" (คดีเงินเดือนสูง) ที่มีการดำเนินคดีในปี 2555 ในคดีนั้นทำให้มีนักการเมือง 18 คนถูกตั้งข้อหาเรื่องซื้อเสียงและทำให้เสนาธิการทหารในสมัยของประธานาธิบดีลุลา ดา ซิลว่า ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

โซเตโรกล่าวถึงคดีเมนซาเลาว่าในตอนนั้นผู้คนคิดว่าเรื่องจะจบลงโดยมีการจัดสรรผลประโยชน์กันในหมู่ชนชั้นนำแล้วก็จบไป แต่กลายเป็นว่ามีคนถูกพิจารณาให้มีความผิด 25 คน มีบางคนถูกส่งเข้าคุก คดีเมนซาเลาจึงเป็นคดีที่ยุติความคิดที่ว่าการดำเนินคดีกับชนชั้นนำจะยุติลงที่การ 'แบ่งเค้ก' และลอยนวลเหนือความผิด

โซเตโรกล่าวอีกว่าคดีเปโตรบราสก็เช่นเดียวกับกรณีเมนซาเลา มันเป็นสัญญาณว่าระบบยุติธรรมของบราซิลมีการเติบโตและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเน้นย้ำในเรื่องหลักนิติธรรม

คดีต่อมาที่ถูกกล่าวถึงคือ #EikeBatistaClasseMedia หรือ "คดีชนชั้นกลางไอเก บาติสตา" ซึ่งไอเก บาติสตา ถือว่าเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในบราซิลจากการจัดอันดับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาสืบทอดกิจการต่อจากบรรษัทด้านเหมืองเงินและทอง รวมถึงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่เมื่อปีที่แล้วมีการเปิดเผยว่าโครงการสำรวจนอกชายฝั่งของเขาล้มเหลว ทำให้บรรษัทของเขาล่มสลาย

บาติสตาสูญเสียทรัพย์สินของเขาไปหลังจากที่หุ้นของบรรษัทเขาดิ่งลงฮวบฮาบ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาเขากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ในบราซิลว่าการสูญเสียของเขาทำให้เขากลับไปเป็นชนชั้นกลางด้วย "เสียงร่วงตุ้บขนาดใหญ่" ซึ่งคำๆ นี้กลายมาเป็นสิ่งที่ถูกล้อเลียนทั่วเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย

แต่บาติสตาเจอปัญหามากกว่านั้นเมื่อเขากำลังถูกสอบสวนเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลวงใน (insider trading) และยังถูกกล่าวหาว่าเทขายหุ้นของบรรษัทตนหลายล้านดอลลาร์เพื่อไม่ให้สูญเสียทางการเงินไปมากกว่านี้ แต่บาติสตาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยพยายามชี้ให้เห็นว่าเขาสูญเสียไปหลายพันล้านในช่วงที่หุ้นตก

ในวอลล์สตรีท คดีซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลวงในอาจจะเป็นสิ่งที่ดูธรรมดาไปแล้วแต่สำหรับในบราซิลคดีของบาติสตาเป็นเรื่องใหม่เพราะไม่มีใครเคยต้องเข้าคุกจากคดีแบบนี้มาก่อน

เจมี คูเปอร์ ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายแคลิฟอร์เนียเวสเทิร์นในซานดิเอโก ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบกฎหมายอเมริกาใต้กล่าวว่า คดีของบาติสตาแสดงให้เห็นว่าบราซิลเริ่มมีการท้าทายเพื่อตรวจสอบบุคคลที่มีอำนาจด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย แม้ว่าอาจจะยังสรุปให้ดูยิ่งใหญ่ไม่ได้แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี

คดีที่สามคือคดี #Juiznaoedeus ที่แปลว่า "ผู้พิพากษาไม่ใช่พระเจ้า" คดีนี้มาจากการพยายามเอาตัวเองพ้นผิดของผู้พิพากษาคนหนึ่งทำให้มีผู้ทราบเหตุการณ์ไม่พอใจอย่างมาก และเป็นบทสะท้อนว่าสำหรับในบราซิลไม่ใช่แค่ชนชั้นนำที่มีชื่อเสียงเท่านั้นจะถูกตัดสินไม่ให้ลอยนวล แต่ผู้พิพากษาที่ทำความผิดเสียเองก็หนีไม่พ้น

เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นมาจากรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้พิพากษาโจเอา คาร์ลอส เดอ เซาซา คอร์เรีย เขาถูกสั่งให้หยุดที่ด่านตรวจคนเมาแล้วขับที่ริโอเดอจาเนโร เขาขับรถโดยไม่มีใบขับขี่รวมถึงไม่มีป้ายทะเบียนทำให้ตำรวจจราจรชื่อลูเซียนา แทมบูรินี ออกใบสั่งแต่เซาซา คอร์เรีย ก็โต้ตอบด้วยความโมโหแล้วประกาศว่าเขาเป็นผู้พิพากษา แต่แทมบูรินีก้กล่าวตอบว่า "คุณอาจจะเป็นผู้พิพากษา แต่คุณไม่ใช่พระเจ้า"

จากนั้นแทมบูรินีก็ถูกตัดสินดำเนินคดีข้อหา "ล่วงละเมิดผู้มีบรรดาศักดิ์" ซึ่งหมายถึงผู้พิพากษาและถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์ (ราว 65,000 บาท) แต่การลงโทษก็ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ หลังจากที่สื่อรายงานเรื่องราวนี้แล้วก็มีการลงขันบริจาคเพื่อเป็นเงินต่อสู้คดีให้กับแทมบูรินีมากกว่า 27,000 ดอลลาร์ (ราว 886,000 บาท)

นอกจากนี้ชาวบราซิลตามโซเชียลมีเดียก็เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับ เซาซา คอร์เรีย ตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้ปลดเขาออกจากตำแหน่ง สมาคมนักกฎหมายบราซิลสาขาริโอเดอจาเนโรยังได้เรียกร้องให้มีการสั่งพักงานเขาทันที แม้ว่าเซาซา คอร์เรีย จะยังไม่ถูกดำเนินการใดๆ ในตอนนี้แต่การตอบโต้จากสาธารณชน จากสื่อ และจากสมาคมนักกฎหมายก็แสดงให้เห็นว่าเขามีปัญหาแล้ว

 

เรียบเรียงจาก

Brazil's rich and powerful may no longer be above the law, Global Post, 20-11-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/americas/brazil/141118/hashtags-brazilian-justice-cases-petrobras

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net