สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เตือนอีก 10 ปี ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ถ้าไม่หลุดกับดักรายได้ปานกลางจะเป็นชาติ "แก่ก่อนรวย" พร้อมฉาย 3 ภาพ เมืองไทยอีก 30 ปี ระบุ 4 กุญแจเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่พึงปรารถนาต้องมีทุนมนุษย์คุณภาพสูง จัดสรรเงินทุนก่อให้เกิดผลิตภาพ รัฐมีประสิทธิภาพ ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้าง
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
แบบจำลองภาพเศรษฐกิจไทยใน 3 ทศวรรษข้างหน้า
25 พ.ย. 2557 - ในงานสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2557 เรื่อง ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเปิดประเด็น โดยระบุว่า
"ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้รัฐบาล ธุรกิจและประชาชนไทยสนใจเฉพาะปัญหาระยะสั้นมากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้พ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” การปฏิรูปการศึกษาและการรักษาสิ่งแวดล้อม
ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2025 และในอีก 30 ปีไทยจะมีคนสูงอายุถึง 36% หากไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ทัน ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่ “แก่ก่อนรวย” และ “แก่โดยไม่มีสวัสดิการเพียงพอ” เพราะกองทุนประกันสังคมจะมีปัญหาจนถึงขั้นล้มละลายในประมาณปี 2045 หากไม่มีการปฏิรูปอย่างทันการณ์
ที่ผ่านมา ไทยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่พัฒนาเทคโนโลยี เน้นส่งออกไปยังตลาดโลกโดยกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อให้แข่งขันได้ และไม่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ การพัฒนาจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก ในอนาคต ไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับไปสู่ยุทธศาสตร์พัฒนาใหม่ ที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มบนฐานนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น"
สมเกียรติ อภิปรายว่า เพื่อให้เห็นถึงภาพอนาคตเศรษฐกิจไทยใน 3 ทศวรรษหน้า และความท้าทายต่างๆ บทความนี้จะยกตัวอย่างภาพสถานการณ์ที่เป็นไปได้ (possible scenario) 3 ภาพคือ
ภาพสถานการณ์ 1 “ประเทศไทยไปเรื่อยๆ”
การพัฒนาในภาพสถานการณ์นี้คล้ายกับแนวทางในปัจจุบัน แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยจะลดลงเหลือ 3.55% ต่อปี ซึ่งทำให้คนไทยมีรายได้ต่อหัว 17,000 ดอลลาร์ในปี 2045 และหลุดพ้นจากระดับรายได้ปานกลางในปี 2036 หรือหลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์กว่าทศวรรษ
ไทยจะมีแรงงานในระบบเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2045 และในปีนั้น ดัชนีความเหลื่อมล้ำ (Gini coefficient) จะอยู่ที่ระดับ 0.37 ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันเล็กน้อย จากแรงกดดันให้มีการกระจายรายได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศในแนวทางเดิมจะทำให้ไทยยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าไทยจะพ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2036 นั้นยังมองโลกแง่ดีเกินไป เพราะไม่ได้พิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง การเปลี่ยนผ่านจะล่าช้าออกไป 2 ปี หากรัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยม โดยใช้เงินปีละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้เปลี่ยนผ่านล่าช้าออกไป 4 ปี หากเกิดวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน หรือวิกฤติธนาคาร การเปลี่ยนผ่านจะล่าช้าออกไป 2 ปี และ 4 ปีตามลำดับ และหากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านก็จะล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น ในกรณีที่การบริหารความเสี่ยงผิดพลาด ไทยจะไม่พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางแม้ใน 3 ทศวรรษหน้า
ภาพสถานการณ์ 2 สู่ “ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า”
เศรษฐกิจไทยจะถูกขับเคลื่อนจากการยกระดับผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมจากการนำเอาระบบการผลิตแบบลีนมาใช้อย่างกว้างขวาง การทำ R&D การออกแบบและพัฒนาแบรนด์สินค้า ตลอดจนการย้ายการผลิตมูลค่าเพิ่มต่ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
คนไทยจะมีรายได้ต่อหัว 23,700 ดอลลาร์ในปี 2045 จากอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.6% ต่อปี ซึ่งทำให้พ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2028 หรือหลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์เล็กน้อย อุตสาหกรรมจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 64% ของ GDP และมีแรงงานในระบบเพิ่มเป็น 67% อย่างไรก็ตาม การเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เพราะประโยชน์ตกอยู่กับเจ้าของทุน
ในภาพนี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เหมาะสมเช่น เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง พัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค รณรงค์ให้ภาคเอกชนเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรม ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลไม่ควรดึงดูดแรงงานข้ามชาติทักษะต่ำเข้ามาในไทย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมพึ่งพาแรงงานราคาถูกต่อไป
ภาพสถานการณ์ 3 สู่ “ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้”
การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะเน้นการพัฒนาภาคเกษตรดั้งเดิมให้เป็นภาคเกษตรทันสมัย โดยใช้เครื่องจักร เทคโนโลยี ทำวิจัยและพัฒนา บริหารการผลิตรองรับการผลิตอาหารปลอดภัย และการพัฒนาภาคบริการให้เป็นบริการฐานความรู้ โดยเปิดเสรีภาคบริการ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาแรงงานให้มีทักษะทั่วไปที่มีคุณภาพสูง
รายได้ต่อหัวของคนไทยในปี 2045 จะสูงขึ้นถึง 28,400 ดอลลาร์ โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.2% ต่อปี ทำให้ไทยพ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2028 ภาคบริการมีมูลค่าเพิ่มเป็น 59.3% ของ GDP โดยเป็นบริการฐานความรู้ 30.8% ในขณะที่ภาคเกษตรเล็กลงเหลือ 3.8% ของ GDP ในภาพนี้ ดัชนีความเหลื่อมล้ำจะลดลงเหลือ 0.33 เนื่องจากรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้น และจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง เนื่องจากใช้พลังงานต่ำกว่าอุตสาหกรรม
ในภาพนี้ รัฐบาลจะต้องไม่มีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมากจนเกษตรกรมุ่งผลิตสินค้าในเชิงปริมาณ โดยไม่สนใจคุณภาพ และต้องไม่คุ้มครองบริการที่ผูกขาด ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนสูงต่อเศรษฐกิจ
เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยในปี 2045 ใน 3 ภาพสถานการณ์ (ดูตารางประกอบ) จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ น่าจะเป็นภาพที่พึงปรารถนาที่สุด เพราะจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด ซึ่งทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 2028 หลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ไม่กี่ปี ขณะที่มีความเหลื่อมล้ำและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมใน GDP ในระดับสูง จะทำให้การเปลี่ยนสู่ภาพสถานการณ์ที่ 2 ง่ายกว่าในระยะสั้น ดังนั้น ภาพที่น่าจะเกิดขึ้นคือส่วนผสมของภาพสถานการณ์ที่ 2 และ 3 โดยมีจุดเชื่อมที่สำคัญคือ การพัฒนาบริการธุรกิจที่รองรับอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างภาคเศรษฐกิจทั้งสาม
การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปัจจัย 4 ด้านเกิดขึ้นคือ มีทุนมนุษย์คุณภาพสูง การจัดสรรเงินทุนก่อให้เกิดผลิตภาพ รัฐมีประสิทธิภาพและระบบเศรษฐกิจเปิดกว้าง
โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจะทำให้สังคมไทยในอนาคตมีความหลากหลาย และซับซ้อนกว่าปัจจุบันมาก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะผลประโยชน์ ความเชื่อ และคุณค่าของคนแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันมากขึ้น การป้องกันและระงับความขัดแย้งจากการเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากรัฐที่ควรเป็นผู้ป้องกันและระงับความขัดแย้ง มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ บริหารอย่างแยกส่วน ไม่เปิดกว้าง และไร้วินัย
การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นจึงจำเป็นต้องมีภาครัฐที่เปิดกว้าง มีวินัยและกระจายอำนาจ ขณะที่ยังสามารถประสานนโยบายภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านของไทยในอีก 3 ทศวรรษคือ การปฏิรูปภาครัฐ
ประเทศไทยในปัจจุบันและประเทศไทยในปี 2045 ในภาพสถานการณ์ต่างๆ
ดัชนี |
ประเทศไทย 2014 |
ประเทศไทยไปเรื่อยๆ |
อุตสาหกรรมก้าวหน้า |
เกษตรทันสมัย-บริการฐานความรู้ |
อัตราการเติบโตเฉลี่ย (% ต่อปี) |
5.94 |
3.55 |
4.59 |
5.21 |
รายได้ที่แท้จริงต่อหัว ($) |
5,480 |
17,016 |
23,736 |
28,402 |
ปีที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง |
|
2036 |
2028 |
2028 |
สัดส่วนมูลค่าเพิ่ม |
|
|
|
|
- เกษตรกรรม |
12.3 |
4.4 |
3.1 |
3.8 |
- อุตสาหกรรมการผลิต |
37.9 |
49.9 |
63.8 |
37.0 |
- บริการ |
49.8 |
45.8 |
33.1 |
59.3 |
ดัชนีความเหลื่อมล้ำ (Gini coefficient) |
0.39 |
0.37 |
0.42 |
0.33 |
มูลค่าเพิ่มต่อหน่วยการปล่อย CO2 ($ ต่อตัน) |
1,109 |
3,584 |
3,901 |
5,464 |