Skip to main content
sharethis
กสม.แถลงกรณีห้าม จนท.ตั้งครรภ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้ออกแถลงการณ์กรณีหน่วยงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้ติดประกาศว่า "ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย" ซึ่งก่อนหน้าที่ทางโรงพยาบบาลได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ออกประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ลงพื้นที่ให้ข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชน
 
ทั้งนี้ กสม. ได้ชื่นชมกระทรวงแรงงาน ที่ได้นำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เรื่องห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้หญิงเพราะเหตุตั้งครรภ์ และข้อมูลข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ กสม. เห็นว่าการเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรให้สิทธิแก่สตรีในการตัดสินใจอย่างอิสระ
 
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนหรือผู้พบเห็นบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถร้องเรียนมายัง 1777 เพื่อจะได้ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำไปสู่การสร้างสังคมให้มีความเสมอภาค 
 
(ไอเอ็นเอ็น, 19-11-2557)
 
ขสมก.เรียกร้องค่า "ขับรถดี"
 
นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า สร.ขสมก.จะเรียกร้องให้พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นเช่น กัน
 
"ตามปกติอัตราเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจจะมีช่องว่าง ที่ใช้เปรียบเทียบกันอยู่ หากข้าราชการปรับขึ้น รัฐวิสาหกิจก็ต้องปรับด้วย แค่มีการประกาศจะขึ้นเงินเดือนก็ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จะปรับราคาขึ้นแล้ว" นายวีระพงษ์กล่าว
 
นายวีระพงษ์กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ สร.ขสมก.เคยเสนอให้ปรับขึ้นก่อนหน้านี้คือ 9,040 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6,800 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกันจะขอเพิ่มค่าฝีมือให้กับพนักงานขับรถ ขสมก.ที่ขับรถดีอีก 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเคยเสนอเรื่องนี้ไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาแล้ว
 
นายวีระพงษ์กล่าวว่า ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการขนส่งสาธารณะ เงินเดือนจะไม่มาก เช่นเดียวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) โดยเมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเดือนที่ได้รับจะต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันด้วยซ้ำ ส่วนค่าทำงานเกินเวลา 8 ชั่วโมง จะได้รับประมาณ 60-80 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นที่ได้ค่าล่วงเวลา 3 เท่าของการทำงานปกติ
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 19-11-2557)
 
เผยอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องการแรงงานอีกเพียบ
 
มล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการศึกษาแนวทางการพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ พบว่าในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 มีความต้องการแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ 63,025 คน ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ 200,555 คน
 
หากแยกความต้องการตามระดับการศึกษาพบว่า มีความต้องการในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสบการณ์หรือผ่านการฝึกฝีมือ ร้อยละ 55 รองลงมา ระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 25 ระดับปริญญาตรีสายวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิคส์ เมคคาทรอนิกส์และอุตสาหการ ร้อยละ 15 และระดับปริญญาตรีในสายอื่นๆ เช่น บริหารธุรกิจ ร้อยละ 5
 
มล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า กพร.มีแผนพัฒนากำลังคนในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ โดยจะพัฒนาแรงงานให้ได้ 800 คน ทั้งพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบการ นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาด้านยานยนต์ในระดับปวช. ปวส. ในสาขาที่เกี่ยวข้อง และในระดับวิทยากร ในสาขาต่างๆ อาทิ กลึงซีเอ็นซี กัดซีเอ็นซี เครื่องวัดละเอียด การเชื่อมแมกซ์ ระบบไฮโดรลิกส์ โดยเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เป็นต้นไปซึ่งจะอบรมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ มีระยะเวลาการอบรม 2 – 5 วัน
 
โดยจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา สถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้ประกอบการด้านยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จัดอบรมทั้งในสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลระดับกลางและสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการเป็นเจ้าภาพหลักและบางส่วนจะอบรมในสถานประกอบการ เนื่องจากมีอุปกรณ์ในการฝึกครบถ้วน
 
“การพัฒนาบุคลากรด้านนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การจัดทำหลักสูตร การพัฒนาครู การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและการฝึกงานในสถานประกอบการจริงเพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ในสถานการณ์จริง มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งความร่วมมือในลักษณะของเครือข่ายระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกมีความรู้อย่างรอบด้านจากอุปกรณ์ที่ทันสมัยในสถานประกอบการ”
 
ทั้งนี้ยอดการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านคัน ต่อปี มีกำลังแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 700,000 คน โดยไทยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2563 จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 3.5 ล้านคัน ทำให้ต้องเพิ่มกำลังแรงงานอีก 200,000 คน 
 
(มติชนออนไลน์, 20-11-2557)
 
"อมรา" ชี้เศรษฐกิจ-ละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เหตุนายทุนข้ามชาติไม่เหลียวแลสิทธิแรงงาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเตรียมชีวิต มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ประเทศไทยจะก้าวไปทางไหนกับการปฎิรูปประกันสังคม กรณีสถานะของแรงงานข้ามชาติ" โดยมีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางประกันสังคมไทย สู่ประชาคมอาเซียน(AEC)
 
โดยนางอมรา กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อพูดถึงแรงงานข้ามชาติ ต้องรวมไปถึงคนไทยด้วย เพราะเราอาจข้ามชาติไปทำประเทศอื่นได้ เมื่อประชาคมอาเซียนเปิด รั้วไม่มี แรงงานเหล่านี้ก็ไปๆมาๆ ทุกคนก็เป็นแรงงานข้ามชาติได้หมด ในมิติของการเปิดประชาคมอาเซียน ต้องมองเรื่องแรงงานกันใหม่ เพราะต่อไปคำว่าแรงงานข้ามชาติจะหมดไป แต่จะกลายมาเป็นแรงงานอาเซียนแทน ดังนั้น ประชาคมอาเซียนต้องร่วมมือกันเรื่องแรงงาน โดยมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน 3 อย่างที่ควรเกิดขึ้น คือ คณะกรรมาธิการด้านอาเซียนสังคม คณะกรรมาธิการอาเซียนด้านผู้หญิงและเด็ก ซึ่งคณะกรรมาธิการทั้งสองคณะนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่คณะกรรมาธิการอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ ยังไม่ยอมเกิด เกิดยากมาก เพราะเวลาเราพูดถึงอาเซียน มักจะบอกว่าเราเป็นอันหนึงอันเดียวกัน แต่เมื่อมาดูมิติด้านแรงงานแล้วไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
 
"เราต้องติดตามดูว่าเมื่อเกิดเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ข้อตกลงแรงงานจะเป็นอย่างไร กรรมาธิการด้านแรงงานจะเป็นอย่างไร แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครองดูแล ระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศจะดูแลแรงงานที่ไม่มีสัญชาติของประเทศนั้นๆได้มากน้อยแค่ไหน แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศต้นทางที่ส่งแรงงานข้ามชาติเข้ามามีความร่วมมืออะไรบ้าง เพื่อให้เเกิดความคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์เข้าถึงประกันสังคม การคุ้มครองแรงงาน ไม่ถูกเอาเปรียบ ต้องให้การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติด้วยการให้ความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง จึงถือเป็นมาตรฐานสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของภูมิภาคได้"นางอมรา กล่าว
 
นางอมรา กล่าวต่อว่า ทุกประเทศในอาเซียนต้องตระหนักใน 3 เรื่อง ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนควรร่วมมือทำความตกลงด้านประกันสังคมเพื่อคุ้มครองดูแลแรงงานและพลเมืองอาเซียนให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน แรงงานข้ามชาติควรได้รับความคุ้มครองดูแลทางสังคมและประกันสังคมอย่างเท่าเทียมจากประเทศนั้นๆ และกลุ่มประเทศอาเซียนควรขยายความคุ้มครองทางสังคมโดยขยายระบบประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบให้ครอบคลุม ซึ่งขณะนี้สังคมโลกยอมรับว่าปัญหาทางสังคมที่มีอยู่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจ และปัญหาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากนายทุนข้ามชาติมักไม่ดูแลเรื่องประกันสังคมของแรงงานในพื้นที่ ดังนั้น เห็นควรว่ารัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองให้ทุกคนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ เอกชนต้องเคารพสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ดูแลไม่ละเมิดสิทธิ และสุดท้ายรัฐและเอกชนต้องเยียวยาหากมีการละเมิดสิทธิอย่างครอบคลุม
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 20-11-2557)
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รอเข้าพบ รมว.แรงงาน 28 พ.ย. หารือปรับขึ้นค่าแรงงานตามเงินเฟ้อ 320 บาท
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยกับ รายการ ไอ.เอ็น.เอ็น. โฟกัสเศรษฐกิจ ว่า ส่วนตัวขอแสดงความยินดีการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะที่ค่าจ้างของแรงงานไทยนั้นเบื้องต้นได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แล้ว เพื่อขอเข้าพบในวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พร้อมหารือเรื่องปรับขึ้นค่าแรงตามอัตราเงินเฟ้อ คือ ปรับขึ้นเป็น 320 บาท
 
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรอตอบรับจากทางกระทรวงแรงงานว่าจะให้เข้าพบในวันดังกล่าวหรือไม่ ส่วนผลสำรวจของ คสรท. ที่ระบุว่าค่าแรงที่เหมาะสมคือ 460 บาทต่อวัน เพื่อให้แรงงานมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ด้วยนั้น คงต้องดูถึงผลกระทบกับภาคธุรกิจด้วย 
 
(ไอเอ็นเอ็น, 20-11-2557)
 
จ.ตาก ขาดแคลนแรงงานกว่า 1 แสนคน วอน รง.ดัน กม.ให้ต่างด้าวเข้าทำงานเช้าเย็นกลับ
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อติดตามความคืบหน้าการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และรับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จากผู้ประกอบการเมื่อเร็วๆ นี้ทางกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดตาก มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว 5 ข้อ ได้แก่ 1. ให้สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2. ให้เร่งดำเนินการตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ได้แก่ การจ้างแรงงานต่างด้าวแบบเดินทางเช้ามา - เย็นกลับ/การเดินทางไป - กลับ ที่มีช่วงระยะเวลาสั้น/การทำงานตามฤดูกาล (ภาคเกษตรกรรม) 3. การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ 4. กำหนดกรอบระยะเวลาการผ่อนผันที่ให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทำงานได้ ให้ชัดเจน หลังจากนั้น ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้แรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายไปสู่กิจการอื่นๆ หรือพื้นที่ชั้นใน 5. ให้นำเงินค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยไม่ต้องรอส่วนกลางจัดสรรงบประมาณ
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า จังหวัดตากมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม ดังนั้น สถานประกอบการจึงได้จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 19,300 ราย มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว จำนวน 126,851 คน เฉพาะในอำเภอแม่สอด ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว จำนวน 73,590 คน โดยล่าสุด จังหวัดตาก มีการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 26,403 คน ที่นำเข้ามาตาม MOU จำนวน 3,110 คน และมีแรงงานต่างด้าวที่ยื่นจดทะเบียน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ จำนวน 45,083 คน โดยเป็นแรงงานต่างด้าวที่มายื่นจดทะเบียน ณ ศูนย์ฯ อำเภอแม่สอด จำนวน 30,264 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในประเภทกิจการผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เกษตรและปศุสัตว์ กิจการต่อเนื่องการเกษตร งานบริการทั่วไป ส่วนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวใน จ.ตาก นั้น ขณะนี้มีแรงงานพม่าผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 7,836 คน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-11-2557)
 
หนุนให้นักโทษใช้กำไลข้อเท้า-ทำงานภาคประมง
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาค้ามนุษย์ โดยเสนอให้ส่งผู้ต้องขังไปทำงานในเรือประมง เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานค้ามนุษย์ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยจะให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ หรือพักการลงโทษ มีโอกาสหาลู่ทางทำมาหากิน เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว เนื่องจากภาคประมงถือว่ามีปัญหาการใช้แรงงานมาตลอด อีกทั้งคนไทยไม่นิยมทำ
 
ดังนั้น หากผู้ต้องขังรายใดที่มีความรู้ความเข้าใจงานประมงและสมัครใจทำงานในเรือก็จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการมีอาชีพทำให้รู้สึกกลมกลืนกับสังคมก่อนพ้นโทษ ขณะที่ภาคประมงก็ไม่ต้องใช้แรงงานเถื่อน จึงประสานงานกับปลัดกระทรวงแรงงานและอธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อวางแนวทางผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ย้ำว่าการค้ามนุษย์คือการบังคับใช้แรงงาน แต่แนวทางการให้ผู้ต้องขังใช้แรงงานในเรือประมงต้องเน้นสมัครใจเท่านั้น หรือหากทำแล้วไม่ถนัดก็สามารถเปลี่ยนใจกลับขึ้นฝั่งได้
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการทำงานของกรมคุมประพฤติ โดยมี นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ ให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมศูนย์ควบคุมการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ( Electronic Monitoring : EM) หรือกำไลข้อเท้า ซึ่งกรมคุมประพฤติเพิ่งจะจัดซื้อลอตใหม่ 3,000 เครื่อง โดยใช้งบ 74 ล้านบาท โดยกำไลข้อเท้าลอตนี้ ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบจีพีเอสแทนการใช้เครื่องควบคุมติดตั้งที่บ้านเพื่อลดระบบทำงาน ซึ่งการใช้งานล่าสุด จะขยายพื้นที่เพิ่มจากเดิมเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ไปยังต่างจังหวัดอีก 22 จังหวัด ประกอบด้วยนนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ปทุมธานี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา สมุทรปราการ อุดรธานี สกลนคร เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก นครปฐม เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า กำไลคุมประพฤติ เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามควบคุมพฤติกรรมผู้กระทำผิดได้โดยไม่ต้องคุมขัง เน้นใช้กับคดีที่ส่งผลกระทบกับสังคม เช่น คดีเมาแล้วขับ โดยเครื่องมือสามารถกำหนดเงื่อนไขการเดินทาง การห้ามเข้า-ออกพื้นที่ รวมถึงจำกัดระยะเวลาออกนอกพื้นที่ได้ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่สามารถออกไปก่อเหตุซ้ำได้
 
(ไอเอ็นเอ็น, 22-11-2557)
 
เตือนคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลี
 
นายคมสัน พัวศรีพันธุ์ จัดหางานจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ได้รับเบาะแสจากคนหางานว่ามีสาย นายหน้าจัดหางานชักชวนคนหางานให้สมัครไปทำงานประเทศเกาหลีใต้โดยแอบอ้างว่า สมัครงานผ่านบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะให้เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ในลักษณะนักท่องเที่ยวและอยู่ลักลอบทำงาน โดยเรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายคนละ 150,000 บาท ทำงานเกษตร ค่าจ้างเดือนละ 30,000 –40,000 บาท ทั้งนี้คนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีจะต้องสมัครเข้ารับการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลีเพื่อสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ หรือ EPS และเมื่อสอบผ่านจึงจะสามารถสมัครเพื่อไปทำงานที่ประเทศเกาหลีได้ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงแรงงานเกาหลี โดยมีกรมการจัดหางานเป็นหน่อยงานดูแลรับผิดชอบในการจัดส่งเท่านั้น และการลักลอบไปทำงานโดยการเดินทางไปในลักษณะนักท่องเที่ยวนั้น คนหางานอาจถูกระงับการเดินทางจากด่านตรวจคนหางานได้หรือหากสามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีและอยู่ลักลอบทำงานได้อาจประสบกับปัญหาภาวะยากลำบากในต่างประเทศ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน 
 
สำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยา จึงขอแจ้งเตือนคนหางานหากต้องการสมัครไปทำงานต่างประเทศ โปรดตรวจสอบตำแหน่งงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือขอรับคำปรึกษาก่อนตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยา หมายเลขโทรศัพท์ 054-887263 หรือที่เว็ปไซด์ www.doe.go.th/phayao 
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23-11-2557)
 
เผยธุรกิจขายปลีก-ส่ง ขาดแรงงานมากสุด
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้รายงานเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเปรียบเทียบกับค่าจ้างจริง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปี 2557 มี 17 จังหวัดที่มีค่าจ้างจริงเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จังหวัดที่มีค่าจ้างจริงเฉลี่ยสูงที่สุดทั้งปี 2556 และ 2557 คือ ภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ส่วนจังหวัดที่มีค่าจ้างจริงเฉลี่ยต่ำที่สุดในปี 2556 คือ นราธิวาส และปี 2557 คือ ศรีสะเกษ จังหวัดที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงมากขึ้น ซึ่งอยู่นอกปริมณฑลและเป็นเมืองอุตสาหกรรม คือ ชลบุรี ระยอง และปราจีนบุรี ส่วนผลสำรวจข้อมูลความต้องการและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ ปี 2557 พบว่า ความต้องการแรงงานในกิจการขายส่ง ขายปลีกมากสุดอยู่ที่ร้อยละ 22.92 รองลงมาคือ ก่อสร้างร้อยละ 8.38 และที่พักแรมและบริการด้านอาหารร้อยละ 7.30 ตามลำดับ
       
ส่วนระดับการศึกษาที่ต้องการแรงงานมากที่สุดคือ ต่ำกว่า ม.3 อยู่ที่ ร้อยละ 23.04 รองลงมาคือ ป.ตรีและสูงกว่า ร้อยละ 22.53 และ ม.3 อยู่ที่ ร้อยละ 16.74 ตามลำดับ ขณะที่ทักษะฝีมือที่ต้องการมากที่สุดคือ แรงงานมีฝีมือร้อยละ 45.42 รองลงมาเป็นแรงงานกึ่งฝีมือร้อยละ 28.44 และแรงงานไร้ฝีมือ ร้อยละ 24.97 ตามลำดับ
       
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเดือนตุลาคม 2557 พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ค่อนข้างช้าและไม่ชัดเจนในทุกภาคส่วนโดยอุปสงค์ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่บางส่วนถูกรั้งไว้ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ภาระหนี้ในครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเป็นลำดับ ความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผล ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล ส่วนสถานการณ์การจ้างงานกันยายน 57 มีผู้ว่างงาน 118,680 คน อัตราการขยายตัว ร้อยละ10.28 อัตราการเติบโตของผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือนตุลาคม 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.29
       
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ขอให้สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง นำรายงานสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจแรงงานสรุปเป็นรายงานสำหรับผู้บริหาร โดยจะรายงานเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาสนั้นจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างก่อน เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-11-2557)
 
แรงงาน 2.8 ล้านยังไม่ได้ 300 บาท
 
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 57 ว่า มีผู้ว่างงาน 326,616 คน หรือ 0.84% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราการว่างงาน 0.77% โดยผู้ว่างงานเป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน 171,117 คน เพิ่มขึ้น 14.6% เป็นการเลิกจ้าง 15,968 คน และลาออก 128,971 คน ทั้งนี้ เพราะจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการขยายกิจการและการจ้างงาน ส่วนค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนยังไม่รวมค่าล่วงเวลา และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น เพิ่มขึ้น 11.4% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแรงงานที่ทำงานเต็มเวลา แต่ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 300 บาทอยู่ 2.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ 64.4% มีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา และ 21% มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
 
สำหรับมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังคือการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 58 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างและแรงงานกึ่งฝีมือ ที่ปัจจุบันยังมีคุณลักษณะไม่ตรงกับความ ต้องการของตลาด ดังนั้น จะต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการศึกษาสายอาชีวะกับสายสามัญให้อยู่ที่ 45:55 ภายในปี 58 พัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงความ ต้องการของตลาด วางแผนการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ และเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการผิดนัดชำระหนี้เชื่อภายใต้การกำกับและบัตรเครดิต ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 90,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% คิดเป็น 2.7% ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 48.9% มูลค่า 14,644 ล้านบาท คิดเป็น 4.7% ของสินเชื่อภายใต้การกำกับรวม สำหรับยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 28.1% มูลค่า 8,153 ล้านบาท คิดเป็น 2.9% ของสินเชื่อภายใต้การกำกับรวม “แม้การผิดนัดชำระหนี้ยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม แต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจกระทบทั้งความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินและคุณภาพชีวิตของครัวเรือน เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้สถาบันการเงินต้องกันสำรองเงินเพิ่ม”
 
ขณะเดียวกัน สศช.ยังเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้พยายามฆ่าตัวตาย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 55 มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 21,195 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 43,500 คนในปี 56 ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านการสื่อสารและความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรัง
 
(ไทยรัฐ, 25-11-2557)
 
แนะปรับสวัสดิการแรงงานไทย เน้น "ปั๊มบุตร-คลอดลูก-เงินสำรองยังชีพ"
 
ผศ.ดร.วิชัย โถสุวรรณจินดา ผู้บริหารโครงการปริญญาเอกสาขานโยบายสาธารณะและการจัดการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า จากการศึกษาด้านสวัสดิการแรงงานของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบ พบว่า หลายประเทศเน้นสวัสดิการการคลอดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้น การส่งเสริมสวัสดิการออมเงินผ่านกองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้แรงงานมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณจากการทำงาน และการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากการทำงาน
       
ผศ.ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องปรับปรุงสวัสดิการแรงงานและระบบประกันสังคมเพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีบุตรและรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยโดยในเรื่องสวัสดิการการคลอดบุตรและเลี้ยงดูบุตรนั้นควรเพิ่มวันลาคลอดจาก 90 วัน เพิ่มเป็น 120 วัน โดยได้รับค่าจ้างและรัฐบาลจัดสรรงบอุดหนุนการเลี้ยงดูลูก และสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปมีสถานเลี้ยงเด็ก รวมทั้งสถานประกอบการต้องให้โอกาสแรงงานชายลางานเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร ได้ 15 วันโดยได้รับค่าจ้าง
       
ทั้งนี้ ในส่วนของสวัสดิการออมเงิน รัฐบาลจะต้องปรับปรุงกฎหมายโดยให้ทุกสถานประกอบการต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนร้อยละ 10 ของค่าจ้างและลูกจ้างจ่ายร้อยละ 5 ของค่าจ้างหรือตามกำลังที่ลูกจ้างจะจ่ายได้ ขณะเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมจะต้องขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปีและค่อยทยอยเพิ่มเป็น 65 ปี และเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของเงินสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 8 ภายในเวลา 5 ปี แรงงานจะได้มีเงินเพียงพอไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ ซึ่งควรอยู่ที่เดือนละ 5 พันบาท ไม่ใช่เดือนละ 3 พันบาทเช่นปัจจุบัน ซึ่งไม่พอใช้จ่าย รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุหากเกษียณแล้วยังจ้างงานต่อไปนายจ้างจ่ายค่าจ้างร้อยละ 80 และกองทุนประกันสังคมหรือรัฐบาลจ่ายร้อยละ 20
       
นอกจากนี้ การรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการทำงานควรยุบรวมกองทุนเงินทดแทนเข้ากับกองทุนประกันสังคม เพื่อให้แรงงานใช้สิทธิประโยชน์กรณี เจ็บป่วย/บาดเจ็บจากการทำงานได้อย่างคล่องตัวและนายจ้างไม่ต้องกังวลกับการถูกปรับต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบ หากลูกจ้างเจ็บป่วย/บาดเจ็บจากการทำงานเพิ่มขึ้น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-11-2557)
 
ก.แรงงาน คาดปี 58 ศูนย์ Smart Job Center ช่วยลดตัวเลขผู้ว่างงานเขต กทม.- ปริมณฑล ได้ร้อยละ 10
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวในระหว่างเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ด้านแรงงาน ว่า กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเป็นเอเยนต์หางานให้กับคนไทยมีโอกาสได้งานทำอย่างเต็มรูปแบบโดยผ่านศูนย์ Smart Job Center ซึ่งจะใช้ทรัพยากรกระทรวงแรงงานที่มีอยู่อย่างเต็มที่ร่วมกัน การสร้างศูนย์ดังกล่าว แต่ถ้าทำดีตึกสวยงามแต่ไม่มีใครมาหา นั่นคือสิ่งที่ต้องคิด การต้อนรับการให้บริการบรรยากาศต้องอบอุ่น คือโจทย์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันคิด ทั้งนี้ คนไทยต้องมีงานทำ แต่ปัจจุบันคนไทยบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงการมีงานทำ เนื่องจากอาจไม่มีการบริหารจัดการเหมือนต่างประเทศที่มีเอเยนต์จัดหางาน กระทรวงแรงงานจึงต้องเข้ามาทำบทบาทเสมือนเอเยนต์รวมทั้งสร้างค่านิยมการใช้แรงงานให้ถูกต้อง
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสถานการณ์ด้านแรงงานต่างชาติ มอบหมายให้กรมการจัดหางาน วิเคราะห์ลักษณะและศักยภาพของแรงงานต่างชาติ ชาติต่างๆ ที่ต้องการจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยประเด็นที่จะวิเคราะห์ ได้แก่ ความเหมาะสมกับลักษณะงานประเภทใด นิสัยใจคอ อารมณ์ วัฒนธรรม ทั้งนี้การวิเคราะห์ต้องครอบคลุมทุกมิติไม่ใช่เฉพาะด้านแรงงานเท่านั้น
       
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า คาดว่า เมื่อเปิดศูนย์ Smart Job Center จะมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มผู้หางานระดับกลางถึงระดับสูงได้ โดยได้มีการกำหนดเป้าหมาย โดยคาดว่าจะมีการขยายศูนย์ ไปยังปริมณฑล ทั้งนี้ ใน 2558 จะสามารถลดตัวเลขผู้ว่างงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงร้อยละ 8 - 10 จากตัวเลขผู้ว่างงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน สำหรับความก้าวหน้าของศูนย์ Smart Job Center ได้มีการรับมอบแปลนปรับปรุงอาคารจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงการเตรียมบุคลากรโดยซักซ้อมความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงาน และจัดเตรียมสื่อประชาสัมพันธ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พร้อมที่จะให้บริการประชาชนตามกำหนดการเปิดศูนย์ ล่าสุดมีการดำเนินการไปแล้วกว่า 50% เบื้องต้นจะมีพิธีการเปิดศูนย์ฯ ได้ ในวันที่ 19 มกราคม 2558
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-11-2557)
 
คร.เล็งตรวจวัดแร่ใยหิน เฝ้าระวังโรคในโรงงาน
 
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเอเชีย ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวในการประชุมเรื่อง "เร่งเอเชียขจัดภัยใยหิน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสังคม" ว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 เห็นชอบยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถยกเลิกการนำเข้า การผลิต และการใช้แร่ใยหินได้อย่างจริงจัง ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนี้จะรวบรวมให้หน่วยงานที่มีอำนาจออกนโยบายกำหนดมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในไทย
 
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หลักฐานที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดว่าต้องยกเลิกแร่ใยหิน แต่ยังติดปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ และข้ออ้างที่เกี่ยวข้องกับการเปิดการค้าเสรี แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าต้องยกเลิกใช้อย่างเด็ดขาด ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินร่วมในการผลิต 100 แห่ง และมีโรงงานที่ใช้แร่ใยหินเป็นหลักในการผลิต 20-30 อุตสาหกรรม ซึ่ง คร.จะประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงานและผู้ประกอบการ ในการตรวจวัดแร่ใยหินที่กระจายในอากาศภายในโรงงาน เพื่อให้คำแนะนำในการลดอันตรายให้ต่ำที่สุด รวมทั้งการใช้เครื่องป้องกัน ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในอนาคตจะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นประมาณ 100,0000 รายต่อปี ส่วนไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000-10,000 คน ซึ่งต้องสร้างระบบติดตาม เพื่อให้แรงงานได้รับการตรวจรักษา โดยใน 3 ปีข้างหน้าต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบ
 
(ASTV ประชาติธุรกิจ, 25-11-2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net