Skip to main content
sharethis

ถาวร เสนเนียม-สาทิตย์ วงศ์หนองเตย-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์-สุริยะใส กตะศิลา-แซมดิน เลิศบุศย์ ให้ข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญ โดยย้ำระบบพรรคการเมืองต้องปลอดซื้อเสียง ขจัดนายทุนพรรค ยกเลิก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ศาลมีอำนาจตัดสินการเลือกตั้งแทน กกต. ใช้ระบบแต่งตั้ง ส.ว. ประชาชนฟ้องคดีคอร์รัปชั่นได้และปลอดอายุความ

ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา

25 พ.ย. 2557 - เว็บไซต์รัฐสภา รายงานว่า ระหว่างเวลา 09.30 - 12.00 น. วันนี้ (25 พ.ย.) ที่ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทีประชุมได้รายงานความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันนี้เป็นการการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพรรคการเมืองต่างๆ และกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองในหัวข้อ "จะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยมีอนาคตที่ดีเพื่อส่งมอบให้ลูกหลานได้อย่างไร"

โดยที่ประชุมได้เชิญคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข (กปปส.) มีนายถาวร เสนเนียม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสุริยะใส กตะศิลา และ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นผู้แทนในการเข้าประชุม

ทั้งนี้ในเว็บไซต์ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่คำแถลงของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้เสนอต่อคณะกรรมาธิการ มีรายละเอียดดังนี้

000

วันนี้ กปปส. มาให้ข้อเสนอแนะกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป เราหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่า การที่ กมธ.ได้เชิญเรามาให้ความคิดเห็น ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แต่จะมีการทำอย่างจริงจัง จากนี้ต่อไป เราจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมวลมหาประชาชนในการติดตามการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและรวมไปถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูป จากนี้ต่อไปเราจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งประกอบด้วยแกนนำกปปส.ทั้ง 5 คนที่มาเสนอความคิดเห็นในวันนี้ ซึ่งประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายถาวร เสนเนียม, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา จะขอความร่วมมือกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้แถลงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ

ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กปปส.จะเสนอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้  ได้แก่  หลักสำคัญที่ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ คือ ต้องระบุว่า ประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, ต้องมีระบบถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รวมไปถึงองค์กรอิสระ อย่างชัดเจน, ต้องขจัดการผูกขาดอำนาจ-การรวมศูนย์อำนาจที่หน่วยราชการ และกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน, รัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติใช้ได้จริง

กปปส. ได้รวบรวมความคิดเห็นจากมวลมหาประชาชนตลอดระยะเวลา 204 วันที่ในช่วงที่มีการชุมนุม และได้ข้อสรุปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มานำเสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้  กล่าวคือ

พรรคการเมือง

หัวใจสำคัญของการออกแบบระบบการเมืองหรือการเลือกตั้ง คือ การกำจัดกระบวนการทุจริตคอรัปชั่น ทุจริตการเลือกตั้ง ซื้อสิทธิ์ขายเสียงในทุกระดับ ตั้งแต่นายทุนเข้ามาซื้อเสียง ซื้อ ส.ส. เข้าพรรค จากนั้น ส.ส.ก็ใช้เงินไปซื้อเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง พอเข้ามาอยู่ในอำนาจก็ใช้เงินใช้ผลประโยชน์แทรกแซงระบบราชการ การทำงานขององค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการ เราต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค ไม่ใช่นายทุน ต้องระบุให้ชัดว่า พรรคการเมืองต้องมีฐานสมาชิกหรือประชาชนผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของพรรคไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซนต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด และต้องคำนึงตามสัดส่วนของภูมิภาคด้วย  ต้องกำหนดชัดเจนว่า พรรคการเมืองต้องได้รับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปทำกิจกรรมของพรรคจากผู้ที่ลงทะเบียนเป็นเจ้าของพรรคอย่างเหมาะสม พอเพียง ต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของพรรคได้สนับสนุนพรรคอย่างโปร่งใส เช่น การบริจาคเงินผ่านภาษี ซึ่งในปัจจุบันที่ให้ผู้เสียภาษีสนับสนุนพรรคการเมืองปีละ 100 บาทนั้นไม่พอเพียง ต้องกำหนดใหม่ตามสัดส่วนไม่เกิน 5 เปอร์เซนต์ของจำนวนเงินที่เสียภาษี  หรือ บริจาคเงินเป็นก้อนได้แต่ต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่จ่ายในแต่ละปี

รัฐธรรมนูญต้องกำหนดชัดเจนว่า กรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกเลือกโดยเจ้าของพรรค และเจ้าของพรรคจะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวผู้สมัครของพรรคลงเลือกตั้งในทุกระดับ

ระบบการเลือกตั้ง-ยกเลิกสส.บัญชีรายชื่อ

ในส่วนของระบบการเลือกตั้ง ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า โทษของผู้ที่กระทำความผิดในการซื้อขายเสียงจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต นอกจากนี้ กปปส.ยังได้เสนอให้ถอนอำนาจ "กึ่งตุลาการ" ออกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อจากนี้ อำนาจการให้ใบเหลืองใบแดง ควรจะเป็นหน้าที่ของศาล อาจจะมีการตั้งศาลเฉพาะ หรือ สาขาของศาลขึ้นมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

ต้องการให้ยกเลิกระบบสส.บัญชีรายชื่อ เพราะกปปส.เห็นว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ทำหน้าที่และไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมย์เดิม แต่ระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับเป็นช่องทางให้นายทุนเข้ามาครอบงำกิจการของพรรค และไม่มีความยึดโยงกับประชาชน

อำนาจหน้าที่ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา  กปปส.เห็นว่าจะต้องคัดสรร ส.ว.จากอาชีพต่างๆ เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การกระจายอำนาจ-เลือกตั้งผู้ว่าฯ

กปปส.เสนอให้ยุบราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจการบริหาร รวมถึงงบประมาณไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมกับการบริหารท้องถิ่นของตนเอง

การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชัน

กปปส.เสนอให้ประชาชนถือว่าเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเองได้ ให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชันไม่มีอายุความ และจะต้องเพิ่มโทษกับผู้ที่มีความผิดฐานทุจริตคอรัปชัน คือ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ให้มีการผ่าโครงสร้างตำรวจ ลดการรวมศูนย์อำนาจของตำรวจไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระจายอำนาจของตำรวจไปสู่จังหวัด ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คุณให้โทษ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในพื้นที่ได้

ลดความเหลื่อมล้ำ-ปฏิรูปพลังงาน

การปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ ต้องสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนทุกประเทศในทุกระดับ เช่น โอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกิน สาธารณสุข การศึกษาฟรีตลอดชีพ

การปฏิรูปพลังงาน ต้องเปลี่ยนจากการผูกขาดเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด มาเป็นแนวคิดว่าพลังงานเป็นทรัพยากรของประเทศไทย ต้องถูกบริหารเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ และประชาชน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอโดยย่อที่กปปส.จะเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ  เราหวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ เราหวังว่าการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทยที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ในส่วนของการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กปปส.ไม่มีความขัดข้อง แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลต้องหาหนทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความชอบธรรม ขอย้ำว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำประชามติ คือ การทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการบ้านที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไรภายใต้กฎอัยการศึกที่มีอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้แม้ว่ามวลมหาประชาชนจะไม่ได้ออกมาชุมนุม แต่ก็ยังติดตามและคาดหวังว่าการปฏิรูปจะสำเร็จได้ เราไม่อยากให้การต่อสู้ของเราสูญเปล่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net