แพทย์ชาวกานาตั้งข้อสงสัยกรณีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อคนไข้ 'อีโบลา'

คเวย์ ควอร์เตย์ แพทย์จากประเทศกานาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ระบุในบทความถึงหลายกรณีที่คนไข้อีโบลาจำนวนหนึ่งกลับได้รับการรักษาที่ดีและทันท่วงทีกว่าคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งอาจจะสะท้อน 'การเลือกปฏิบัติ' ที่ขัดหลักจรรยาบรรณทางการแพทย์

27 พ.ย. 2557 เว็บไซต์ Foreign Policy In Focus เผยแพร่บทความเรื่องการรักษาโรคอีโบลาโดยตั้งคำถามถึงกรณีคนที่ติดเชื้อไวรัสและได้รับการรักษาว่ามีการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติหรือสีผิวอยู่ด้วยหรือไม่

คเวย์ ควอร์เตย์ แพทย์จากประเทศกานาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เขียนถึงกรณีที่ผู้ติดเชื้ออีโบลาส่วนหนึ่ง ได้แก่คนทำงานด้านสาธารณสุขชาวอเมริกันคือ แนนซี ไรท์โบล, เคนท์ แบรนท์ลี, เครก สเปนเซอร์ และริค ซาครา รวมถึงช่างภาพข่าวเอ็นบีซี อะโชกา มุปโก ได้รับการรักษาอย่างดีในระบบการพยาบาลของสหรัฐฯ และสามารถรอดชีวิตจากโรคได้

ควอร์เตย์ระบุว่าพวกเขาเหล่านี้ได้รับการวินิจฉัยโรคหลังจากติดเชื้อไม่นาน มีการลำเลียงพวกเขาไปที่ศูนย์แยกตัวผู้ป่วยพิเศษของสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว และในบางกรณีมีการให้เซรุ่มระยะฟื้นโรค (convalescent serum) และยารักษาซีแมป (ZMapp) ซึ่งยังอยู่ในขั้นทดลอง

แต่กับคนไข้ที่มีชื่อเสียงบางรายกลับได้รับการปฏิบัติต่างกันออกไป เช่น มาติน ซาเลีย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเซียร์ราลีโอนซึ่งเป็นผู้อาศัยถาวรในรัฐแมรีแลนด์ ซาเลียเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็จริงแต่เนื่องจากการขาดแคลนแพทย์ในประเทศเซียร์ราลีโอนทำให้เขาเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาคนเดียวในโรงพยาบาลด้วย อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่หลายสายงานทั้งการรักษากระดูกไปจนถึงการรักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย

แต่ซาเลียเป็นคนที่ศรัทธาในศาสนามาก เขาเชื่อว่าที่เขาถูกเรียกไปทำงานเป็นแพทย์ที่เซียร์ราลีโอนเพราะเขามีหน้าที่ต้องรับใช้ประชาชนของที่นั่นในขณะที่ยังมีการแพร่เชื้ออีโบลาอย่างหนัก แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำงานในศูนย์รักษาอีโบลาโดยตรงแต่ก็มีโอกาสติดเชื้อได้จากการที่ต้องสัมผัสคนไข้ผ่าตัด

ซาเลียเริ่มป่วยเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา เขารับการตรวจหาเชื้ออีโบลาในตอนแรกผลออกมาเป็นลบ แต่อีกสามวันถัดมาผลการตรวจหาเชื้อออกมาเป็นบวก แต่เขาก็ไม่ได้ถูกส่งตัวกลับสหรัฐฯ โดยทันทีเช่นเดียวกับคนผิวขาวคนอื่นที่ติดเชื้อ

ซาเลียได้รับเซรุ่มระยะฟื้นโรคในเซียร์ราลีโอนเป็นเวลา 5 วันก่อนที่จะถูกส่งไปยังศูนย์แยกตัวผู้ป่วยพิเศษของสหรัฐฯ ซึ่งช้ากว่าคนไข้ชาวอเมริกันผิวขาวเกือบหนึ่งสัปดาห์ ควอร์เตย์มองว่าการวินิจฉัยโรคและการรักษาซาเลียที่ล่าช้าเกินไปส่งผลต่อสภาพร่างกายเขาที่ไม่อาจเยียวยาได้ และเมื่อซาเลียถูกส่งตัวไปที่สหรัฐฯ ในวันที่ 15 พ.ย. การติดเชื้อของเขาก็เริ่มรุนแรงจนเขาป่วยเกินกว่าจะให้ความช่วยเหลือได้แล้ว

มีกรณีที่เลวร้ายกว่านั้นคือกรณีของชีค อูมาร์ คาน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาการไข้เลือดออกจากไวรัสชาวเซียร์ราลีโอนผู้ที่ถูกระงับการรักษาโดยสิ้นเชิง คานถูกตรวจพบว่าติดเชื้อในช่วงเดือน ก.ค. และถูกส่งตัวไปรักษาที่ศูนย์รักษาอีโบลาในเซียร์ราลีโอน หลังจากนั้นกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนและองค์การอนามัยโลกก็ให้การรักษา แต่ก็ลังเลว่าจะให้ยาซีแมปแก่เขาดีไหม จนกระทั่งตัดสินว่าไม่ให้ยาโดยอาจจะเป็นเพราะว่าไม่ต้องการให้หรือเกรงว่ายาที่ยังอยู่ในขั้นทดลองอาจจะส่งผลให้คานเสียชีวิตได้ หรือระดับของไวรัสอาจจะสูงเกินไปจนยาอาจจะไม่ได้ผล

แต่ควอร์เตย์ไม่เชื่อคำกล่าวอ้างที่ว่ายาซีแมปจะรักษาคานไม่ได้ เพราะหลังจากที่คานเสียชีวิตก็มีการส่งยาซีแมปไปที่ไลบีเรียเพื่อใช้กับไรท์โบลและแบรนท์ลี ผู้ที่ต่อมาฟื้นฟูจากอาการได้อย่างดี แม้จะยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าซีแมปมีผลต่อการฟื้นฟูอาการของพวกเขาแค่ไหน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทางการสเปนก็กล่าวยืนยันว่าพวกเขาได้รับยาซีแมปสำหรับคนไข้รายที่ 3 ซึ่งเป็นนักบวชอายุ 75 ปีผู้ที่ต่อมาเสียชีวิตหลังจากถูกส่งตัวจากไลบีเรียไปยังแมดริด

อีกกรณีหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือโธมัส อิริก ดันแคน ชาวไลบีเรียผู้ที่ติดเชื้ออีโบลาแล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเท็กซัส ซึ่งหลานชายของดันแคนชื่อโจเซฟุส วีคส์ กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่เรื่องนี้จะมีอคติด้านเชื้อชาติอยู่ด้วยเนื่องจากก่อนหน้านี้ในวันที่ 25 ก.ย. ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเลือกส่งตัวดันแคนกลับบ้านทั้งๆ ที่ดันแคนมีอาการเป็นไข้ ทำให้เกิดเป็นคำถามในด้านจรรยาบรรณว่ามีการเลือกปฏิบัติในการรักษาคนติดเชื้ออีโบลาโดยแบ่งแยกเชื้อชาติหรือสีผิวอยู่ด้วยใช่หรือไม่

แพทย์ที่ดูแลรักษาคนป่วยอาจจะปฏิเสธว่าไม่มีอคติเรื่องเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้องในระดับจิตสำนึก แต่ควอร์เตย์ก็ระบุถึงบทความเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่นำเสนอว่าแพทย์อาจจะปฏิบัติอย่างมีอคติทางเชื้อชาติหรือสีผิวโดยไม่รู้ตัวเพราะมันอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ทำให้แพทย์ต้องมีความระมัดระวังอย่างมากว่าการตัดสินใจของพวกเขาสะท้อนให้เห็นการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานต่อคนไข้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีอีโบลาหรือกรณีอื่นก็ตาม

 

เรียบเรียงจาก

Ebola’s Racial Disparity, Foreign Policy In Focus, 26-11-2014
http://fpif.org/ebolas-racial-disparity/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท