Skip to main content
sharethis

28 พ.ย. 2557 - ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีการพิจารณาคำรับขอยืนพยานหลักฐานเพิ่มเติมจำนวน 72 รายการ สำหรับการพิจารณาถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ซินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานความผิดกรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดย นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีเข้ายื่นคำร้องขอต่อที่ประชุม สนช. ซึ่งมี พรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานในที่ประขุม

โดยในที่ประชุม นรวิชญ์ ชี้แจงว่าพยานหลักฐานทั้ง 72 รายการ แม้ไม่ใช่หลักฐานใหม่ แต่มีหลักฐานพยานบุคคลและพยานเอกสารจำนวนมากที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.แล้วแต่กลับไม่ปรากฏอยู่ในสำนวน จึงต้องขอยื่นเพิ่มเติมต่อ สนช.

ด้าน วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การที่ทีมทนายความระบุว่า เอกสาร 72 รายการ มีการส่งให้ป.ป.ช.แต่ ป.ป.ช.ไม่รับพิจารณานั้น ขอยืนยันว่า เอกสารที่ส่งมาทั้งหมด ป.ป.ช.ไม่เคยปฏิเสธการพิจารณา เพราะเรื่องเอกสารมีความสำคัญ อย่างไรก็ตามเอกสารที่ทีมทนายความส่งมาให้ป.ป.ช.มีเพียงแค่ 28 รายการเท่านั้น ไม่ใช่ 72 รายการได้แก่ รายการที่ 1-25 เรื่องคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี รายการที่ 31และ 40 เรื่องผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และรายการที่72 เรื่อง เอกสารหลักเกณฑ์การคิดค่าเปลี่ยนแปลงสภาพข้าวหรือค่าเสื่อมราคาข้าวตามคำให้ การของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรมว.พาณิชย์ ส่วนเอกสารอีก 44 รายการ ไม่เคยยื่นต่อป.ป.ช.เลย

นรวิชญ์ ชี้แจงกลับว่า เอกสาร 28 รายการที่ป.ป.ช.ระบุว่า มีการยื่นต่อป.ป.ช.แล้ว แต่ในความจริงกลับไม่มีการนำมาพิจารณาอยู่ในสำนวน ส่วนอีก 44 รายการได้แก่รายการที่ 26-30 รายการที่ 32-38 และรายการที่ 41-71 นั้น ยอมรับว่า ยังไม่ได้ยื่นเอกสาร เนื่องจากเอกสารบางส่วนรวมอยู่ในคำชี้แจงของอดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว และบางส่วนถูกป.ป.ช.ปฏิเสธการสอบปากคำพยานบุคคล เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ สมชาติ สร้อยทอง อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ทำให้เอกสารเหล่านี้ไม่ถูกนำมาพิจารณา ดังนั้นทีมทนายต้องการให้สนช.นำหลักฐานเหล่านี้มาพิจารณาเพิ่มเติม

ด้าน วิชา ตอบโต้กลับว่า การตัดพยานบุคคลเช่น ร.ต.อ.เฉลิมทิ้งเนื่องจากเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องสอบปากคำ แต่ไม่ได้ปิดโอกาสให้ทีมทนายความยื่นเอกสารเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่เอกสารทั้ง 44 รายการ เมื่อไม่มีการยื่นมา ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถพิจารณาให้ได้

จากนั้น พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมจึงให้ทีมทนายความชี้แจงต่อในส่วนเอกสารที่ไม่ มีในสำนวน จำนวน 44 รายการ ก่อนให้ที่ประชุมลงมติ โดยเสียงส่วนใหญ่ 148:31 (งดออกเสียง 11) ไม่อนุญาตให้เพิ่มเติมพยานหลักฐานตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ

สำหรับขั้นตอนจากนี้ ประธาน สนช. กำหนดให้สมาชิกที่ประสงค์จะเสนอญัตติประเด็นซักถาม สามารถยื่นเข้ามาได้ก่อนวันนัดแถลงเปิดคดีคือตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 8 ม.ค.58 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข 108 อาคารรัฐสภา 2 ในวันและเวลาราชการ และเมื่อมีการแถลงเปิดคดีในวันที่ 9 ม.ค. 58 แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งข้อซักถามของคณะกรรมาธิการซักถาม ก่อนเข้าสู่การแถลงเปิดคดีของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ตามข้อบังคับการประชุม สนช. ซึ่งตามกรอบคาดกำหนดวันลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 58

 

เรียบเรียงจาก : ข่าวรัฐสภา , คมชัดลึกออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net