Skip to main content
sharethis
 
ประกันสังคมโต้จ่ายยาราคาถูกให้ผู้ประกันตน ชี้เป็นดุลพินิจของแพทย์
 
(26 พ.ย.) นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงกรณีที่ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาระบุว่า ยาที่ผู้ประกันได้รับจากการใช้สิทธิประกันสังคม มีคุณภาพด้อยกว่ายาที่ใช้รักษาของระบบข้าราชการ ใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. ยาไขมัน 2. กลุ่มยาไวรัสตับอักเสบซีและบี 3. ยาลดกรด 4. ยาต้านเชื้อรา และ 5. ยาแก้ปวด ว่า การใช้สิทธิข้าราชการมาเป็นบรรทัดฐานในการตีความว่า ยาที่แพทย์สั่งดีกว่าสิทธิประกันสังคมนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากการใช้ยาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้สั่งว่ายาตัวใดเหมาะสมกับผู้ป่วยรายใด ผู้ป่วยแต่ละคนแม้เป็นโรคเดียวกันแพทย์อาจสั่งใช้ยาต่างกัน ขึ้นกับอาการปัจจัยที่เกี่ยวข้องและแพทย์ใช้หลักการของการประกอบโรคศิลปะในการพิจารณาวิธีการรักษา
        
“ยาที่ สปส. ใช้นั้นเป็นยาที่ไม่ด้อยไปกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในบางครั้งก็มีการจ่ายยาในบัญชียา จ. (2) คือ ยาที่มีราคาสูงขึ้นมา แต่ต้องใช้โดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการอนุมัติสั่งยาเท่านั้น ทั้งนี้ การที่บางครั้งแพทย์ใช้ยาที่มีราคาแพงเนื่องจากยาในบัญชียาหลักอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษาเฉพาะรายนั้นๆ” นายโกวิท กล่าว
        
ผู้สื่อข่าวถามว่า  กรณีที่รพ.จ่ายยาราคาถูกให้ผู้ประกันตนเพื่อเป็นการลดต้นเรื่องนี้มีข้อจริงเท็จแค่ไหน นายโกวิท กล่าวว่า สปส.จะเป็นผู้จัดส่งยาทุกตัวให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ สปสช.ใช้ เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยจ่ายยาตามอาการที่เป็น และจะต้องเป็นไปตามลำดับอาการไม่สามารถจ่ายยาที่รุนแรงเกินไปได้  แต่ที่เป็นเด็นเนื่องจากผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษามองว่าตนจะต้องได้รับยาที่ดีที่สุดจึงอาจจะเลยขั้นตอนของการรักษาโดยอยากรับยาที่แรงขึ้น  อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่รพ.มีการแยกส่วนของการรักษาเช่น แยกตึกสำหรับผู้ประกันตน และตึกพิเศษที่สามารถจ่ายยาที่นอกเหนือจากสิทธิประกันสังคม ทำให้ถูกมองว่ามีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น   
        
“หลังจากที่มีการร้องเรียนและกรณีต่างเกิดขึ้นมาต่อเนื่องทางสปส.จึงจะจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อชี้แจงในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ให้ประชาชนและสื่อมวลชนรับทราบเพื่อจะได้ทำความเข้าใจในสิทธิของตนเองและวิธีการเข้ารับการรักษารวมถึงการร้องเรียนในกรณีที่เกิดปัญหาต่างๆ คาดว่าจะสามารถจัดงานดังกล่าวขึ้นในเดือนธันวาคมนี้” นายโกวิท  กล่าว 
       
ตอบข้อซักถามที่ผ่านมา มีผู้ประกันตนบางรายร้องว่า ผู้ประกันตนไปพบแพทย์หลายครั้งที่โรงพยาบาลเดิมแต่กลับได้รับยาและการรักษาแบบเดิมทั้งที่อาการไม่ดีขึ้น โดยที่ไม่มีการวินิจฉัยเพิ่มเติมจนต้องไปรักษาเองที่โรงพยาบาลอื่น นายโกวิท บอกว่า อยากให้ผู้ประกันตนร้องเรียนมายัง สปส. หรือทางคณะกรรมการอุทธรณ์ ของ สปส. ที่มีตัวแทนแพทย์ นายจ้าง ลูกจ้าง ร่วมกันพิจารณา ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ แต่แพทย์ของ รพ. ในระบบประกันสังคมวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดท้องธรรมดา เมื่อผู้ประกันตนไปรักษาที่ รพ. อื่น รพ. ในระบบประกันสังคมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิก็ต้องรับผิดชอบคนไข้ เนื่องจากการวินิจฉัยไม่ได้มาตรฐาน และต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นความผิดพลาดของแพทย์ นอกจากนี้ ก็จะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการการแพทย์ (บอร์ดการแพทย์) ของ สปส. เพื่อพิจารณาว่า รพ. นี้มีมาตรฐานในการรักษาหรือไม่ หากไม่มีก็จะนำไปสู่การยกเลิกสัญญา
        
“อยากให้ผู้ประกันตนที่ประสบปัญหาเรื่องนี้และไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอจะไปรักษาเอง รีบยื่นเรื่องมาที่สำนักบริการทางแพทย์ เพื่อให้มีบอร์ดประชุมพิจารณาและดำเนินการตรวจสอบประวัติคนไข้ รวมทั้งประวัติการรักษาพยาบาลว่ามีมาตรฐานหรือไม่ ด้วยการให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย โดยจะใช้เวลาในการพิจารณา 1 - 2 เดือน ซึ่งระหว่างการยื่นเรื่องมาที่ สปส. ก็ให้ผู้ประกันตนทำการรักษาพยาบาลไปตามปกติ แต่หากผู้ประกันตนยินดีจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองก่อน และมายื่นอุทรณ์ในภายหลังอาจต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 6 เดือน เนื่องจากมีเรื่องยื่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก” โฆษก สปส. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-11-2557)
 
เหยื่อแรงงานประมงเด็กบึงกาฬเดินทางกลับไทยแล้ว
 
จากกรณี เจ้าหน้าที่ ตม.อินโดนีเซีย ตรวจเรือประมงไทยที่เกาะอัมบน พบแรงงานเด็กไทยจ.บึงกาฬ อายุต่ำกว่า 15ปี 2คน ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือ โดยเจ้าของเรือปลอมแปลงเอกสารลูกเรือเป็นชาวกัมพูชา หวังตบตาเจ้าหน้าที่ โดยครอบครัวเด็กได้ยื่นหนังสือถคงนายกรัฐมนตรีขอความช่วยเหลือด่วนนั้น
 
ความคืบหน้าล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.เวลาประมาณ 20.15น. คณะแรงงานไทยที่ถูกบังคับไปทำงานประมงที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 5คน ซึ่งในจำนวนนี้ มี นายแมว (นามสมมุติ) อายุ15ปี ชาวจังหวัดบึงกาฬ และด.ช.โจ้ (นามสมมุติ) อายุ 13 ปี ชาวจังหวัดบึงกาฬ เช่นกัน โดยเด็กทั้งสองคนถูกเจ้าของเรือและไต๋ก๋งเรือปลอมสมุดประจำคนเรือประมง เป็นคนกัมพชา อายุ 18ปี เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ร่วมคณะมาด้วย ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ คิวแซด252
 
โดยมีเจ้าหน้าที่จากส่วนช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ไปรับจากตัวคนไทยทั้ง 5 จากเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกรมสุล ที่หน้าประตูเครื่องบิน เพื่อนำไปดำเนินการตามกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย และสอบปากคำคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์จากนั้นก็พาแรงงานประมงทั้งหมดออกมายังจุดนัดพบ อาคารผู้โดยสารดอนเมือง ขาเข้า โดยมี นางสุวรีย์ ใจหาญ ผอ.สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. เจ้าหน้าที่ พม. และครอบครัวและญาติพี่น้องของแรงงานประมงทั้ง 5 คน จำนวนมากมาร่วมต้อนรับอย่างอบอุ่น ก่อนคณะแรงงานไทยทั้ง 5คน จะถูกนำไปพักฟื้นที่ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพชาย จ.ปทุมธานี เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาฟื้นฟูและช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไป
 
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของเด็กทั้ง 2 คนนั้น ขณะนี้ครอบครัวของเด็กทั้ง 2 คนก็มาพักอยู่กับทีมของมูลนิธิฯแล้ว ซึ่งพวกเขามีความปรารถนาอยากอยู่ด้วยกันกับลูกๆก่อนสักหนึ่งวัน ก่อนส่งให้ทางการเพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ เพราะสภาพจิตใจของเด็กคงยังไม่พร้อมที่จะตอบอะไรตอนนี้ได้
 
(ไทยรัฐ, 27-11-2557)
 
ก.แรงงานเตือนผู้ใช้แรงงานถูกหลอกทำใบอนุญาต
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ทางกระทรวงได้ประสานงานจัดส่งเอกสาร เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทย หลังจากที่ แรงงานไทย 3 คน ที่ได้เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ผ่านการจัดหางานที่ไม่ถูกต้อง โดยได้เสียเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท ตกลงให้ทำงานในตำแหน่ง ช่างประกอบ อัตราค่าจ้าง 120 บาท/ชั่วโมง หลังจากที่ไปทำงานแล้วปรากฏว่า แรงงานทั้ง 3 คน ทนแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบูกิต กายู ฮิตัม รัฐเคดาห์ จับกุมในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจากการให้ปากคำของญาติ แจ้งว่าแรงงานทั้ง 3 คน ไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำใบอนุญาตทำงานปลอม
 
ทั้งนี้ ทางการมาเลเซีย แสดงความเห็นใจที่แรงงานไทยทั้ง 3 ต้องตกเป็นเหยื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการ จึงขอเตือนผู้หางานไทยที่ประสงค์ หรือได้รับการติดต่อให้มาทำงานในประเทศมาเลเซีย ขอให้ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือ กรมการจัดหางาน เพื่อลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะมาทำงานต่างประเทศ พร้อมสอบถามข้อเท็จจริงก่อน และเพื่อให้ท่านได้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการจ้างงานที่ดี เหมาะสมและเป็นธรรม และได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน หากมีข้อสงสัย ติดต่อสำนักงานแรงงานมาเลเซีย ที่หมายเลข 03-21455868 หรือ 03-21456004 E-mail: Thai_labour_office@Yahoo.Com หรือที่ facebook สำนักงานแรงงานในมาเลเซีย ไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชม.
 
(ไอเอ็นเอ็น, 27-11-2557)
 
กรมจัดหางานจับมือกรมราชฑัณฑ์ เฟ้นนักโทษทำงานเรือประมง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน และนายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมประชุมโครงการจัดหางานพิเศษสำหรับผู้พ้นโทษเพื่อไปทำงานบนเรือประมง โดยนักโทษที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ต้องเป็นนักโทษที่จะพ้นโทษภายใน 1 ปี
 
โครงการดังล่าวจะเริ่มนำร่องจากเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร โดยจะสำรวจข้อมูลนักโทษที่จะพ้นโทษภายใน 1 ปี ประชาสัมพันธ์แก่นักโทษที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ประสานงานกับสำนักจัดหางานจังหวัดสมุทรสาครเพื่อสำรวจความต้องการ และให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย หรือเจ้าของเรือพิจารณาคัดเลือก โดยเมื่อเข้าเกณฑ์พิจารณาให้พักการลงโทษแล้วจะจัดให้มีการทำสัญญาจ้างงานต่อไป
 
ทั้งนี้ การนำแรงงานไปทำงานบนเรือประมงมี 3 เงื่อนไข คือ แรงงานต้องมีความสมัครใจ ต้องมีการเตรียมความพร้อม และต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 27-11-2557)
 
ส.ประมงสงขลาหนุนนโยบายรัฐ นำนักโทษทำงานเรือประมงทดแทนแรงงานต่างด้าว
 
 นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมง จ.สงขลา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีแนวคิดให้นักโทษชั้นเยี่ยมลงทำงานเป็นลูกเรือประมง เพื่อแก้ภาพลักษณ์การค้ามนุษย์ในเรือประมง และต้องการระบายนักโทษในเรือนจำที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการพูดคุยกับสมาชิกสมาคมประมง จ.สงขลา เจ้าของเรือประมงต่างเห็นด้วย แต่จะต้องนำมาปรับตัวก่อนที่จะเริ่มทำงานเพื่อให้ชินต่อสภาพการทำงานในเรือประมงที่แตกต่างจากอาชีพอื่น โดยเฉพาะสภาพคลื่นลมในทะเล
       
นายประพร กล่าวว่า ขณะนี้เรือประมงใน จ.สงขลา ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมาณ 6,000-7,000 คน เรือประมง 250 ลำ ต้องจอดเทียบท่าเนื่องจากไม่มีลูกเรือ เนื่องแรงงานต่างด้าวเลิกอาชีพลูกเรือไปทำงานในโรงงานแทน จากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ขณะนี้เรือประมงที่ออกทำประมงบางลำมีลูกเรือเพียง 8-9 คน จากแรงงานที่ต้องใช้จริง 15 คน ทำให้ลูกเรือต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-11-2557)
 
ระทึก!ไฟไหม้รง.พลาสติกเร่งอพยพชาวบ้าน
 
เมื่อเวลา 12.30น.วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ต.ท.ปฏิคม เกิดสุข พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางมด ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตแก้วพลาสติกขนาดใหญ่ชื่อบริษัท ไทยโพลีพลาสแพ็ค จำกัด เลขที่ 535 ซอย พระรามสอง 44 แขวง จอมทอง เขตจอมทอง กทม.จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบก่อนเดินทางไปตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พร้อมพล.ต.ต.ฤชากร จรเจวุฒิ ผบก.น.8,พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ ตงเต๊า รอง ผบก.น.8,พ.ต.อ.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผกก .สน.บางมด,พ.ต.ท.ธวัชชัยศรีสุรางค์ รอง ผกก.ป.สน.บางมด,พ.ต.ท.ธนกฤต บุญเจริญ รอง ผกก.สส.สน.บางมด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงชุดผจญเพลิงอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู หน่วยบรรเทาภัย ทีมกู้ชีพ ร.พ.บางประกอก 9
 
ที่เกิดเหตุเข้าไปภายในซอย พระรามสอง 44 สุดซอยเป็นโรงงานผลิตแก้วพลาสติกขนาดใหญ่ สูง 3 ชั้น เนื้อที่กว่า 15 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิด พบแสงเพลิงและกลุ่มควันสีดำขนาดใหญ่โพยพุ่งและลุกลามตัวโรงงานที่2 ลุกลามอาคารที่ 3 อย่างรวดเร็วจนเต็มพื้นที่เหลือเพียงอาคาร 1 ที่เป็นสำนักงาน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากสถานีดับเพลิงใกล้เคียง และอาสาสมัครได้ระดมรถฉีดน้ำ กว่า 30 คัน แต่แสงเพลิงไม่มีทีท่าว่าจะดับยังคงลุกลามตัวโรงงานอย่างรุนแรงเนื่องจากภายในโรงงานมีเชื้อเพลิงทั้งเมล็ดพลาสติก แก้วพลาสติกกว่า 100,000 ลังอีกทั้งยังมีน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ระดมฉีดน้ำใช้เวลา3ชั่วโมงยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ทำได้เพียงฉีดน้ำเพื่อให้เพลิงอยู่ในวงจำกัดเพราะบริเวณใกล้เคียงมีบ้านพักของประชาชนอยู่โดยรอบต่อมาเจ้าหน้าที่เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอพยพ ออกจากจุดเกิดเหตุและแจกหน้ากากกันพิษเนื่องจาก บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุเริ่มมีสภาพอาการเป็นพิษ
 
จากการสอบสวน นายวีระศักดิ์ ปานมงคล อายุ 44 ปีเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตเผยว่า โรงงานดังกล่าว มีทั้งหมด 3 อาคาร แต่ละอาคารมี 3ชั้นเมื่อช่วงก่อนพักเที่ยงที่ผ่านมา ได้มีช่างกำลังทำการเชื่อมพื้นเพื่อต่อเติมบริเวณอาคารที่2 ที่ชื่อ บริษัท ช้างไทยจำกัดเป็นเจ้าของคนเดียวกันกับบริษัท ไทยโพลีพลาสแพ็ค จำกัดตนคาดว่าต้นเพลิงอาจจะเกิดจากบริเวณดังกล่าว ก่อนจะลุกลามลังบรรจุแก้วน้ำพลาสติกที่อยู่ภายในห้องกว่า 10,000 ลังอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ โชคดีว่าเป็นช่วงพักเที่ยงคนงานส่วนใหญ่หยุดพักไม่ได้อยู่ภายในตัวโรงงานสาเหตุที่เพลิงลุกลามอย่างรวดเร็ว
 
ตนคิดว่าเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงเร่งผลิตแก้วพลาสติกเพื่อให้ทันช่วงปีใหม่มีออเดอร์จากลูกค้าจำนวนมาก ร่วมทั้งภายในอาคารยังมีเชื้อเพลิงทั้งเมล็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตแก้วน้ำและถังสารเคมีที่ใช้ผลิตจำนวนมาก พ.ต.อ.มานพ เผยว่าเบื้องต้นเพลิงยังคงลูกไหม้อย่างต่อเนื่องแต่ไม่ลุกลามไปบ้านข้างเคียงคงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าเพลิงจะสงบส่วนสาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไรอยู่ระหว่างการสอบสวน ได้สั่งให้ชุดสืบสวนลงพื้นที่เพื่อสอบสวนพยานให้ที่เกิดเหตุอีกทั้งจะประสานไปยังกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อเข้าตรวจสอบหลังเพลิงสงบเพื่อหาสาเหตุก่อนประเมินค่าเสียหายต่อไป
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 28-11-2557)
 
ปลัดอุตฯเตรียมขอพื้นที่ทหารทำนิคมกำจัดกาก
 
นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการกากอุตสาหกรรม ว่า เร็วๆ นี้ กระทรวงฯ จะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อขอใช้พื้นที่ทหารตั้งนิคมกำจัดกากอุตสาหกรรมครบวงจร ซึ่งอาจมีหลายแห่ง แต่จะมีการเริ่มดำเนินการที่บริเวณภาคตะวันตก ใน จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่นำร่องและจะมีการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว ต้องใช้พื้นที่มากพอสมควร เพื่อเป็นเขตกันชนกับชุมชน (Buffer Zone) และลดปัญหาความขัดแย้ง ประเด็นเรื่องการจัดหาพื้นที่ว่า มีความสำคัญมากที่สุด โดยหลังจากได้พื้นที่แล้ว นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีมาตรการทางกฎหมาย ให้ผู้ประกอบการที่มีกากขยะอุตสาหกรรมส่งกากอุตสาหกรรมมายังนิคมฯ และบังคับให้นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ ทั้งนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้าหมายอย่างน้อย 6 พื้นที่ ในจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากก่อน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 28-11-2557)
 
นายกฯ สั่งอาชีวะสำรวจแรงงานทุกสาขานำมาพัฒนา-ทำบัญชีให้สถานประกอบการเลือก
 
(28 พ.ย.) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย ระหว่างวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 2557 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สอศ. ให้การต้อนรับ ผู้บริหารระดับสูงของสถานประกอบการชั้นนำ และนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
       
โดย พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผู้เรียนอาชีวศึกษา คือ ผู้ทรงคุณค่าของสังคม” มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันที่ตนได้เห็นว่าประเทศกำลังเดินหน้า เพราะในช่วงปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมาดูเรื่องการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยเราต้องมองตัวเองจากข้างนอกเข้ามาข้าง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับประเทศอื่นๆ ในด้านใดบ้าง อีกทั้งความท้าทายของเราก็คือการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติและของโลก เพราะฉะนั้นเวลานี้รัฐบาลจึงต้องมุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศ เพื่อนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลเพียงอย่างเดียวที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว แต่รวมถึงประชาชน นิสิต นักศึกษา ภาครัฐ และอกชนทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการลดความขัดแย้ง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อประเทศให้เดินหน้าไปได้
       
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ อาชีวศึกษามีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยระบบทวิภาคี คือ การจับคู่ สถานศึกษากับสถานประกอบการเพื่อพัฒนาคนให้มีทักษะฝีมือและมีคุณภาพ ดังนั้น ขอฝากให้ภาครัฐและเอกชน และนักศึกษา ต้องสร้างความเชื่อมโยง และขอให้จัดทำแผนแม่บทในการทำงานว่าในอีก 5 - 10 ปีประเทศไทยต้องการกำลังคนด้านใดบ้าง จำนวนเท่าไรให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งหากทำตามนี้ก็จะสามารถพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว
       
“ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนแรงงานอาชีวะหลายหมื่นคน และในปี 2558 จะเพิ่มเป็นหลายแสนคน ดังนั้น ขอให้ สอศ. ไปสำรวจแรงงานแต่ละสาขาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นให้นำมาพัฒนาต่อยอดและขึ้นบัญชีไว้ เพื่อให้สถานประกอบการได้คัดเลือกแรงงานตามความต้องการจากบัญชีดังกล่าวได้ทันที เพราะถือว่าเป็นแรงงานที่ได้รับการพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้ ศธ. เร่งแก้ปัญหาให้ทุกคนเรียนอย่างมีความสุขทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพราะผมต้องการการศึกษาที่มีความสุข และมีผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน”นายกฯ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-11-2557)
 
เตือนแรงงาน ระวังถูกนายหน้าตุ๋นเงิน ปลอมเอกสารทำงานในมาเลย์
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย (สนร. มซ.) ได้รับแจ้งจากแรงงานจังหวัดระยอง ซึ่งส่งคำร้องขอให้ช่วยเหลือแรงงานไทย 3 คน ที่ได้เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียผ่านการจัดหางานที่ไม่ถูกต้อง โดยจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท ตกลงให้ทำงานในตำแหน่ง ช่างประกอบ อัตราค่าจ้าง 120 บาท/ชั่วโมง แต่หลังจากที่ไปทำงานแล้ว ปรากฏว่า แรงงานทั้ง 3 คน ทนแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเคดาห์ จับกุมในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจากการให้ปากคำของญาติ แจ้งว่า แรงงานทั้ง 3 คน ไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำใบอนุญาตทำงานปลอม และไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม โดยนายอุสมาน บุญมาหล้า เป็นนายหน้าจัดหาคนงานเข้าไปทำงานเป็นผู้ดำเนินการให้ สนร. มาเลเซีย จึงได้ติดต่อประสานสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง (สกญ. ปีนัง) เพื่อหาทางช่วยเหลือ
       
ทั้งนี้ ได้มีการประสานงานจัดส่งหมายจับ นายอุสมาน บุญมาหล้า ของทางการตำรวจไทย เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานประกอบการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกจับ ซึ่งจากที่ สกญ. ปีนัง ได้เข้าพบหัวหน้าฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของตรวจคนเข้าเมืองรัฐเคดาห์ และพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เพื่อหารือในการช่วยเหลือแรงงานไทย แล้ว
       
“ขอเตือนผู้หางานในไทยที่ประสงค์หรือได้รับการติดต่อให้มาทำงานในประเทศมาเลเซีย ขอให้ติดต่อที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือกรมการจัดหางาน กระทรวง เพื่อลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะมาทำงานต่างประเทศ หรือสอบถามข้อเท็จจริงก่อน โดย สนร. มซ. สามารถหาข้อเท็จจริง และตรวจสอบสถานภาพนายจ้าง สัญญาจ้างให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ สถานที่พักให้เหมาะสมก่อนได้ และเพื่อให้ท่านได้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับการจ้างงานที่ดี เหมาะสม และเป็นธรรม และได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน หากมีข้อสงสัย ติดต่อ สนร. มาเลเซีย ที่หมายเลข 03-21455868 หรือ 03-21456004 E-mail: Thai_labour_office@Yahoo.Com ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตลอด 24 ชม. รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-11-2557)
 
กทม.วัดค่าสารพิษเหตุไฟไหม้โรงงาน
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 พ.ย. นายไพฑูรย์ งามมุข หัวหน้าฝ่ายจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เดินทางมาตรวจสอบค่าของสารพิษในอากาศภายในและโดยรอบๆ บริษัท ไทยโพลีพลาสแพ็ค จก. และบริษัท ถ้วยช้างไทย จก. ซอยพระราม 2 ที่ 44 แขวงและเขตจอมทอง กทม. ที่ถูกเพลิงไหม้ นายไพฑูรย์กล่าวว่า จากการตรวจวัดค่าสารพิษในอากาศนั้น พบว่าต่ำกว่ามาตรฐาน แต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ตอนที่เกิดเหตุนั้นรัศมีของมลพิษนั้น แผ่ขยายไปถึง 10 กิโลเมตร แต่ในส่วนของวันนี้นั้น เหลือเพียงแค่ 200-300 เมตร รัศมีรอบโรงงาน ตอนนี้เหลือเพียงแค่กลิ่นเหม็นเท่านั้น หากคนที่ร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เด็กเล็ก และคนชรา สูดดมเข้าไปอาจจะเกิดอาการคลื่นไส้ และอาเจียน บางรายอาจจะมีอาการแสบตา จมูก ผิวหนัง แต่ก็ไม่อันตรายมากนัก
 
ด้านพ.ต.อ.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผกก.สน.บางมด เปิดเผยว่า จากการสอบสวนพนักงานของโรงงานทราบว่า จุดเกิดเหตุกับจุดที่พนักงานทำงานนั้นเป็นคนละจุดกัน ซึ่งต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบหาสาเหตุเสียก่อน ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้ เนื่องจากพื้นที่ยังมีความร้อน เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำเลี้ยงไว้ โดยได้นัดเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานมาอีกครั้งในวันจันทร์ และทางสน.บางมดได้ร่วมกับสำนักงานเขตจอมทอง ทหารจาก พล.ร.9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี ตั้งกองอำนวยการตรวจร่างกายให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณ
 
(ข่าวสด, 29-11-2557)
 
ไทยโดน "ใบเหลือง" สหภาพยุโรปภาคทัณฑ์ บี้ เร่งแก้ปัญหากดขี่เเรงงานประมง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่าด้วยการค้ากิจการประมงได้มีการประชุมเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในกิจการประมงของประเทศไทยและได้แจ้งผลกลับมาว่าสถานะของประเทศไทยโดนภาคทัณฑ์(ใบเหลือง)โดยระบุว่าไทยไม่มีการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและมีการทำประมงแบบไร้การควบคุม
 
โดยนายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวระบุว่าต้องการให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีเพียงนโยบาย โดยมีระยะเวลาให้ปรับปรุงภายใน 6 เดือนนับจากนี้ สิ่งที่คณะกรรมาธิการระบุให้ต้องปรับปรุงคือ ให้มีระบบเฝ้าระวัง ติดตามในเรือประมงที่คำนวณได้ตามกฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป หรือเรือที่ทำการประมงนอกน่านน้ำ ให้รายงานการตรวจสอบ ลงทะเบียน มีระบบการให้ใบอนุญาตและการถอดใบอนุญาตหากพบว่ากระทำผิด ทั้งนี้ หากไม่มีการแก้ปัญหาภายระยะเวลาที่กำหนดสินค้าประมงของไทยส่งออกไปยุโรปที่มีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้าน จะได้รับผลกระทบทันที
 
ด้าน นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงความกังวลว่า ขณะนี้อียูได้ส่งสัญญาณว่าไทยจะอยู่ในสถานะประเทศถูกจับตาเป็นพิเศษกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและแรงงานโดยให้เวลา6เดือนในการแก้ไข หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวไทยไม่สามารถแสดงให้อียูเห็นว่ามีการปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานในทางที่ดีขึ้นแล้วอียูอาจประกาศระงับการนำเข้าสินค้าประมงของไทยและอาจตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้าไทยด้วย 
 
(มติชน, 1-12-2557)
 
สหภาพแรงงานฮัทชินสันประท้วง พ้อทำงานทั้งปีได้โบนัส  0.91 เดือน
 
ผู้แทนพนักงานจาก บริษัท ฮัทชินสัน เทคโนโลยี โอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กว่า 100 คน  นำโดยนางสาววิมล แก้วกอง ประธานสหภาพแรงงานบริษัทฯ เดินทางมาประท้วงผู้บริหาร ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับส่งตัวแทนเพื่อขึ้นไปประชุมเจรจา 3 ฝ่ายกับ นายวรรณรัตน์  ศรีสุขใส สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
โดยประธานสหภาพฯ เปิดเผยว่า โรงงานแห่งนี้ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ มีกลุ่มทุนจากสหภาพยุโรปเป็นเจ้าของ  ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ ส่งออกตลาดต่างประเทศ มีคนงานรวมกว่า 1,200 คน ชก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว มีการประท้วงนายจ้าง ช่วงหลังเลิกงานที่หน้าบริษัทหลายครั้ง ในประเด็นขอให้ปรับปรุงสัญญาการจ้างงาน 9 ข้อ เพื่อเพิ่มสวัสดิการและโบนัส แต่นายจ้างไม่ยินยอม และได้ยืนข้อเรียกร้องสวนกลับ เพื่อขอตัดลดสวัสดิการสมาชิกสหภาพฯ พร้อมอ้างเหตุผลว่า สหภาพฯ เป็นเป็นอุปสรรค์ต่อการบริหารจัดการในบริษัท และทั้งหมดกลายเป็นปัญหาข้อพิพาทแรงงาน จนต้องมาเจรจา 3 ฝ่ายในวันนี้
 
ล่าสุด เมื่อเวลาเวลา 11.00 น. ผลการเจรจา นายจ้างยอมจ่ายโบนัสเพียง 0.91 เดือนเท่านั้น ส่วนข้ออื่น ๆ หาข้อยุติกันไม่ได้ และการเจรจาโดยรวมถือว่าไม่เป็นผล โดยจะมีการนัดมาเจราจากันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ประท้วงครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการผละงานประท้วง เพราะบริษัทยังเปิดสายการผลิตตามปกติ
 
(มติชน, 1-12-2557)
 
ก.แรงงานดึงเครือข่ายสำรวจความต้องการแรงงานแก้ปัญหาเตะฝุ่น
 
นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาการมีงานทำของคนไทย หลังจากที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดตั้งศูนย์ Smart Job Center ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานโดยตนเป็นประธานทำงานภายใต้แนวคิดคนไทยไม่ตกงาน ทักษะดี เงินดี โดยคณะทำงานจะร่วมมือกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยออกแบบและปรับปรุงฐานข้อมูลด้านดีมาน ซัปพลายของตำแหน่งและจำนวนผู้สมัครงานในประเทศไทย เนื่องจากข้อมูลทีมีอยู่ในขณะนี้ยังมีช่องว่างไม่มีการจับคู่ระหว่างความต้องการของนายจ้างและลูกจ้างที่แท้จริง
        
นายนพดล กล่าวอีกว่า แนวการดำเนินการของคณะทำงานจะใช้วิธีสอบถามความเห็นนายจ้างผ่านสำนักงานประกันสังคมที่มาจ่ายเงินสมทบเพื่อให้รู้สถานะของแรงงานว่ามีทักษะอยู่ในระดับใด ส่วนแรงงานนอกระบบจะใช้เครือข่าย อบต. และแรงงานจังหวัดเข้าไปสำรวจข้อมูลความต้องการทั้งในปัจจุบันและอีก 5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกัน แรงงานต่างด้าวก็จะมีการสำรวจความต้องการจ้างงานของผู้ประกอบการในปัจจุบัน และ 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จะเร่งทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อนำมาจัดทำยุทธศาสตร์ด้านแรงงานต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-12-2557)
 
แนะนายจ้างบรรจุแรงงานซับคอนแทรคเป็นลูกจ้างประจำ ชี้หากมีการเอาเปรียบต่อเนื่องเตรียมแก้กฎหมายห้ามจ้าง
 
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงการช่วยเหลือแรงงานรับเหมา (ซับคอนแทรค) ในสถานประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จ.พระนครศรีอยุธยาและสมุทรสาครที่มาร้องเรียนถูกเลิกจ้างและย้ายสถานที่ทำงานว่าในส่วนของแรงงานซับคอนแทรค จ.สมุทรสาคร 72 คนนั้นได้ข้อสรุปว่า ได้สิ้นสุดสภาพการจ้างทั้งหมดโดย นายจ้างจะจ่ายเงินช่วยเหลือตามอายุงานโดยได้รับเงินร้อยละ 90 ของเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่วนแรงงานซับคอนแทรคใน จ.พระนครศรีอยุธยา 24 คน ในจำนวนนี้ 23 คนได้สิ้นสุดสภาพการจ้างและได้รับเงินช่วยเหลือและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่ง 1 คน ยังคงฟ้องร้องนายจ้างตามมาตรา 11/1 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อให้ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ เท่าเทียมกับลูกจ้างประจำ ทั้งนี้ กสร.จะประสานกับกรมการจัดหางานหางานใหม่ให้แก่แรงงานซับคอนแทรคเหล่านี้
       
รองอธิบดีกสร. กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาแรงงานซับคอนแทรกนั้น ขอให้นายจ้างทยอยบรรจุเป็นลูกจ้างประจำโดยกำหนดเงื่อนไขตามอายุงาน หากไม่สามารถบรรจุได้ทุกคนหรือบรรจุไม่ได้เลย จะเลิกจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะทำให้ปัญหาแรงงานซับคอนแทรคฟ้องร้องนายจ้าง ลดลง ทั้งนี้ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น กสร.พยายามใช้หลักแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างซับคอนแทรคเจรจากันให้ได้ข้อยุติที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ ลดการฟ้องร้องกันซึ่งใช้เวลานาน
       
อย่างไรก็ตาม อนาคตหากประเมินแล้วแรงงานซับคอนแทรคยังถูกเอารัดเอาเปรียบและ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ กสร.จะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจาณาว่าควรแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อห้ามไม่ให้มีการจ้างงานในลักษณะแรงงานซับคอนแทรคอีกต่อไปหรือไม่
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-12-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net