Skip to main content
sharethis

ปาตานี ฟอรั่ม นำเสนอรายงานข้อเสนอต่อองค์กรสื่อ แนะการรายงานข่าวของสื่อหลักควรนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน เป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างเนื่องเพื่อเห็นถึงต้นต่อความขัดแย้ง เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ<--break- />

(ภาพจาก : เฟซบุ๊กปาตานี ฟอรั่ม)

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2557 ที่ห้องประชุมโรมานี โรงแรมแกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ ปาตานี ฟอรั่ม(Patani Forum) ได้จัดเวทีนำเสนอรายงาน ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี  / ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสนับสนุนสื่อภาคพลเมืองเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี  /  ชายแดนใต้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อองค์กรด้านการสื่อสารมวลชน พร้อมสร้างความร่วมมือของคนทำงานด้านสื่อฯ และสร้างความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ทางสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อการนำเสนอข่าวที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพในพื้นที่

การจัดเวทีนำเสนอรายงานฯ ครั้งนี้เป็นการรวบรวมข้อเสนอจากเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชน จากทั้ง 4 ภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 8 เวที ซึ่งในการนำเสนอครั้งนี้มี อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้นำเสนอรายงานข้อเสนอฯ และร่วมวิพากษ์รายงานโดย ดอน ปาทาน ผู้อำนวยการต่างประเทศปาตานีฟอรั่ม สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส  และพิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าว ประชาไท

“อยากจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะอยู่ที่อุบลก็ได้แต่ฟังข่าวจากทีวีและวิทยุท้องถิ่นที่มีการรายงานข่าว พลทหารที่เป็นคนอุบลไปเสียชีวิตที่นั้น เราเลยอยากมาร่วมเวที อยากฟังข้อมูลว่าจริง ๆ มันเป็นอย่างไร อยากจะฟังและอยากจะให้กำลังใจพี่น้องที่อยู่ทางนู้น” เสียงจากผู้เข้าร่วมเวทีเสนอความคิดเห็น ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอันธิฌาหยิบยกขึ้นมาเพื่อเล่าถึงเรื่องราวของความสัมพันธ์และความสนใจต่อปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัด ของคนนอกพื้นที่

เวลากว่า 6 เดือน กับ 8 เวทีรับฟังความคิดเห็น อันธิฌา ได้นำเสนอให้เห็นว่า สามารถจัดประเด็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกเวทีออกมาได้ทั้งหมด 4 มิติ

1.มุมมองของประชาชนต่อภาพลักษณ์ และพัฒนาการในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในรอบทศวรรษ ต่อเหตุการณ์ในปาตานี / ชายแดนใต้ ความคิดเห็นในเรื่องของพัฒนาการนั้นในภาพรวมแล้ว ความคิดเห็นจากหลายเวทมองว่ามีการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักมีพัฒนาการที่ดีขึ้น คือเริ่มเห็นความหลากหลายของแง่มุมในการนำเสนอข่าว และมีเปิดโอกาสให้เสียงของคนในพื้นที่เข้าไปอยู่ในการนำเสนอมากขึ้น รวมทั้งได้เห็นการนำเสนอประเด็นในพื้นที่จากมุมมองของคนในชุมชนเอง

ในด้านของการใช้ภาษาพบว่า มีการเปลี่ยนการใช้ภาษาจากคำที่ให้ความหมายในแง่ลบ หรือเป็นการตัดสินตีตรา ไปสู่คำที่มีความหมายที่เป็นกลางมากขึ้น 

กระนั้นก็ตามในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักหลายๆ ครั้งยังคงเห็นภาพของการเอารัฐเป็นศูนย์กลาง และยังคงสร้างภาพจำว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่ไม่สงบ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความรุนแรงเกิดขึ้นเพียงในบางพื้นที่เท่านั้น ขณะเดียวกันภาพจำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง ประเด็นหลักในการรายงานข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังคงยึดโยงอยู่กับเรื่องของความรุนแรง มีการนำเสนอภาพข่าวที่มีแต่แง่มุมของความรุนแรง ซึ่งสื่อหลายสำนักมักมาองว่าเป็น ข่าวที่ “ขาย” ได้ และด้วยการมองเห็นความรุนแรงในพื้นที่เป็นเพียงสินค้า ที่เชื่อว่า “ขาย” ได้ จึงทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการนำเสนอข่าวที่จะให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง

2. ความต้องการของประชาชน ต่อการรายงานข่าวเรื่องราวของปาตานี / ชายแดนใต้ ในสื่อกระแสหลัก สิ่งที่ผู้เข้าร่วมเวทีเสนอความคิดเห็นต้องเห็นจากสื่อกระแสหลักคือ ข้อเท็จจริงอื่นที่ ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง อาทิเรื่อง อาหาร วัฒนธรรม เรื่องราวของคนมาลายูที่เป็นคนพุทธ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังว่าจะเห็นการ รายงานข่าวเรื่องราวของผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง และการเยียวยาผลได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีความต้องการรู้ถึงมิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นชุดประวัติศาสตร์ที่ แตกต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของรัฐไทย และเรื่องนี้เป็นปัญหาจริงหรือไม่

3.ความคาดหวังของประชาชน ต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในการรายงานข่าว และนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัด สิ่งที่เป็นความคาดหวังหลักของประชาชนในหลายพื้นที่คือ ต้องการเห็นการนำเสนอที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นกลางและรอบด้าน มีทำงานที่ละเอียดมากขึ้น มีการรายงานข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน และรายงานข่าวโดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม และศักดิ์ความเป็นมนุษย์

ขณะเดียวกันยังมีความต้องการเห็นการนำเสนอผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษ(พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4.ข้อเสนอต่อสื่อทางเลือก สิ่งที่ประชาชนในหลายเวทีต้องการคือ ต้องการเห็นการสร้างความเข้มแข็งของการทำงานแบบเครือข่ายของสื่อทางเลือกทั้งใน และนอกพื้นที่ เพื่อเป็นแรงหนุนการพัฒนาทักษะในการทำงาน และเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ กับพื้นที่อื่นๆ และไม่ต้องการให้สื่อทางเลือกถูกแทรกแซงจากรัฐ

“เข้าใจว่าทั้ง 4 มิติที่กล่าวมาเป็นไปเพื่อภาพกว้างที่เราต้องการให้เห็นคือ การสร้างสันติภาพให้เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้” อัณธิฌากล่าว

ซ้าย พิณผกา งามสม บรรณาธการข่าว ประชาไท ขวา อันธิฌา แสงชัย

อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

(ภาพจาก : เฟซบุ๊กปาตานี ฟอรั่ม)

ในด้านของการวิพากษ์รายงานฯ และข้อเสนอแนะต่อรายงานฯ พิณผกา เสนอว่า หากดูจากการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาที่ผ่านมาถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของ ปาตานี ฟอรั่ม คือสามารถทำให้เสียงของคนธรรมดาได้ถูกพูดออกมา อย่างไรก็ตามจุดออ่อนของรายงานฯชิ้นนี้ คือยังไม่ได้มีการรับความคิดเห็นที่กว้างขวาง ขณะเดียวกันควรจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน จากนโยบายของรัฐ

“การที่เราบอกสื่อหลักว่า ไม่ควรทำอะไร หรือควรทำอะไร มันไม่สามรถเปลี่ยนแปลงอะไรในทันที่ เพราะต้องเข้าใจว่าสื่อหลักทำงานที่มีลักษณะแบบของการแข่งขันกันสูง แต่สิ่งจะที่ท้าทายสื่อหลักคือเทคโนโลยี  ยิ่งถ้าเราสามารถทำให้คนสามารถนำเสนอประเด็นของตัวเองได้ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม สุดท้ายมันก็ทำให้มันเกิดการปรับตัวของสื่อหลักเอง” พิณผกากล่าว

พิณผกายังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เราควรจะพัฒนาต่อไปคือ ควรจะมีการกำหนดวาระร่วมกัน เพื่อทำอะไรที่ท้าทายสื่อหลักขึ้นมาให้ได้ หรืออาจจะทำงานกับสื่อหลักมากขึ้น และควรจะพัฒนาพื้นที่การสื่อสาร ควบคู่ไปกับพัฒนาศักยภาพการสื่อสารของตนเอง เพราะปัจจุบันการตั้งความหวังว่า สื่อหลักจะมาสนใจประเด็นในพื้นที่ของเรานั้นค่อนข้างยาก ฉะนั้นโจทย์หลักอีกข้อหนึ่งคือ เราจะพัฒนาศักยภาพในการสื่อสารประเด็นของตัวเอง แล้วส่งผลสะเทือนกับวงการสื่อหลักได้อย่างไร

สมเกียรติ จันทรักษ์ศรีมา ผู้อำนวยการสำนักข่าวสื่อสารสาธารณะ

(ภาพจาก : เฟซบุ๊กปาตานี ฟอรั่ม)

ด้านสมเกียรติ เห็นว่า การสื่อสารประเด็นในพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมามีพัฒนาการที่ดีขึ้น คือไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถสื่อสารได้ เนื่องจากปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีเอื้ออำนวย

“ถ้าโจทย์อยู่ที่ว่าเราจะทำอะไรให้สื่อ มีส่วนในการสร้างสันติภาพ ผมคิดว่าหัวใจสำคัญคือการทำให้คนในพื้นที่ หรือเจ้าของประเด็น ได้มีพื้นที่ในการสื่อสารประเด็นของตัวเอง” สมเกียรติกล่าว

สมเกียรติเสนอต่อไปว่า การนำเสนอข่าวจากคนนอกพื้นที่ บางครั้งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย หรือยากต่อการเข้าใจปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง เช่นในกรณีตากใบ ช่วงแรกคนแทบจะตัดสินเหตุการณ์โดยยอมรับความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐไปแล้ว แต่มีสื่อทางเลือก ที่นำเสนอข้อมูลอีกแบบ ที่ท้าทายความเข้าใจที่คนได้จากสื่อหลักในช่วงหนึ่ง คือมันสร้างความปั่นป่วนมาก เพราะเป็นการนำเสนอชุดข้อเท็จจริงที่ปะทะกัน ถึงที่สุดแล้วก็นำไปสู่การปรับตัวของสื่อหลักเอง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นชัดว่า ภูมิศาสตร์ของการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เวลาพูดถึงสื่อทางเลือกคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า พวกสื่อทางเลือกเป็นใคร แต่ทุกวันนี้เรากลับเห็นสื่อหลักหยิบข้อมูลจากสื่อทางเลือกไปใช่บ่อยมาก ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการยอมรับสถานะสื่อ ฉะนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้คือ เราก็ควรจะทำงานสื่อของเราให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับทำงานควบคู่ไปกับสื่อหลัก

ดอน ปาทาน ผู้อำนวยการต่างประเทศปาตานีฟอรั่ม

(ภาพจาก : เฟซบุ๊กปาตานี ฟอรั่ม)

ด้านดอน ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการทำงานข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งว่า เห็นการพัฒนาที่ชัดเจน เช่นเรื่องการใช้คำในการนำเสนอข่าว จากเดิมที่เคยคำว่า โจรใต้ โจรกระจอก หรือผู้ก่อการร้าย เปลี่ยนมาใช้คำที่เป็นกลางมากขึ้นเช่น ผู้ต้องหา หรือผู้เห็นต่างจากรัฐ ขณะเดียวกัน การทำงานพื้นที่ความขัดแย้งนั้น บางครั้งการรายงานข่าวซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ขัดแย้งกับชุดข้อมูลของทางภาครัฐ หรือความคิดเห็นของแหล่งข่าว ซึ่งเห็นต่างจากรัฐไทย ยังคงมีลักษณะของการคุกคามจากภาครัฐอยู่ มีการเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ ถึงที่สุดแล้วนำมาซึ่ง Self-censorship เพราะไม่มีหลักประกันว่าสื่อจะปลอดภัย หากนำเสนอข้อเท็จจริงที่ต่างจากรัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net