สมชาย ปรีชาศิลปกุล: หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน

ฉายภาพคนจน “นอกมิติเศรษฐศาสตร์” หลังประชากรไทยอยู่ใต้เส้นความยากจน 12% ลดลงจาก พ.ศ.2530 ที่มีคนจนถึง 60% - แต่ก็ยังมี “คนเกือบจน” ที่แม้กินดีอยู่ดีขึ้น แต่เผชิญความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซ้ำช่องว่างรวย-จนก็ถี่ห่าง แถม “คนจนอำนาจ” ก็ไม่สามารถต่อรองเรื่องที่สำคัญกับชีวิตได้ ขณะที่การเมืองเสื้อสีตัดผ่านเข้าไปทุกมิติชีวิตประจำวัน

4 ธ.ค. 2557 - ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนปีที่ 19 โดยการประชุมดังกล่าวจัดโดย สมัชชาคนจน ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยหลังการปาฐกถาเปิด มีการเสวนาหัวข้อ “หลากหลายมุมมองต่อสถานการณ์คนจน” โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินรายการโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในส่วนของการอภิปรายของสมชาย ปรีชาศิลปกุล มีรายละเอียดดังนี้

000

คลิปการอภิปรายของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2557

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

ผมรู้จักสมัชชาคนจนตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ก่อนมาเป็นอาจารย์ พอมาเป็นอาจารย์บางช่วงก็ได้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์ เรื่องที่จะพูดในวันนี้ จะใช้เวลา 15 นาที ลองเสนอบางอย่างที่คิดมา ผมจะเริ่มต้นด้วย เส้นที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องคนจนในมิติทางเศรษฐศาสตร์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 – 2555 เส้นสีน้ำเงินคือเส้นความยากจน ในปี พ.ศ. 2555 คนที่มีรายได้ต่อคนต่อเดือนต่ำกว่า 2,492 บาท ตีว่า 2,500 บาท เขานับว่าเป็นคนจน นี่เป็นตัวเลขในมิติเศรษฐกิจ

อีกอันที่สำคัญคือ สัดส่วนคนจนในสังคมไทย เทียบกับคนทั้งหมดในสังคมไทย เมื่อปี พ.ศ. 2531 ตอนนั้นเส้นความยากจนอยู่ที่ รายได้ต่อหัวต่ำกว่า 879 บาทต่อเดือน ตอนนั้นคนจนมี 60% ปัจจุบันคนจนในสังคมไทยเหลืออยู่ประมาณ 12%

เราคิดแบบง่ายๆ ถ้าคิดจากมิติเศรษฐศาสตร์ เอารายได้คำนวณอย่างเดียวเลย ผมเดาว่าแบบนี้ ผมเดาว่าคนในห้องนี้จำนวนไม่น้อย ไม่ใช่คนจน ถ้าใครมีรายได้มากกว่า 2,500 บาท ต่อเดือนต่อคน ไม่ใช่คนจน คืออาจมีคนจนอยู่ได้และอาจมีคนที่ไม่จนอยู่ด้วย คือคนที่ได้มากกว่า 2,500 บาทต่อเดือนแต่ยังไม่รวย

คือภาพนี้บอกเกี่ยวกับเรื่องคนจนในมิติเศรษฐศาสตร์ แต่ภาพนี้ไม่ได้บอก อย่างน้อยสองเรื่อง อันที่หนึ่ง ไม่ได้บอกถึง “คนเกือบจน” หมายความว่า คือมากกว่า 2,500 บาท แต่ถามว่า “กินดีอยู่ดีหรือเปล่า?” ก็ไม่ดีเท่าไหร่ กล่าวคือ คนเกือบจนเป็นคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น ถ้าถามคนในห้องนี้ อาจจะบอก “ไม่จนหรอกครับ” ถ้าถามว่า ปานกลางหรือเปล่า “ไม่แน่ใจ” คือภาพไม่ได้บอกถึง “คนเกือบจน”

อันที่สอง ไม่ได้บอกถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หมายความว่า ระหว่างคนที่รวยที่สุด กับคนที่จนที่สุด ในสังคมไทย มีแต่จะห่างกันมากขึ้น คนจนน้อยลง แต่ความห่างระหว่างคนจนกับคนรวย ความห่างจะจากมากขึ้น คือตระกูลรวยที่สุดในประเทศไทยที่เราพูดได้ คือตระกูลไหน? ชินวัตรไม่ได้รวยที่สุดนะครับ ตระกูลที่รวยที่สุด หลายๆ คน สัมพันธ์ใกล้ชิด ด้วยการเข้าไปซื้อของน่ะ

ยกตัวอย่าง เครือซีพี ปี 2555 มีทรัพย์สินประมาณ 2 แสนล้าน ไม่ต้องไปคิดว่าเยอะขนาดไหน พวกเรารวมเข้าไปเกิดแล้วตายๆ เสวยชาติประมาณหมื่นชาติ พอมาปี 2556 ซีพีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นสามแสนล้าน ปีเดียวแสนล้าน

บางคนอาจจะบอกว่าผมพูดเรื่องนี้เพราะ ก็อิจฉา คนรวยเราจะบอกไม่อิจฉาก็เกินไป เรื่องสำคัญคือ คนในสังคมกลุ่มที่เรียกว่าเป็นคนรวย รวยมากๆ คนจนรวยขึ้นไหม “คนจนรวยขึ้น” แต่คนรวยรวยขึ้นไหม “รวยขึ้นนนน” เส้นนี้ไม่ได้บอกเรื่องความเหลื่อมล้ำ บอกแต่ว่า คนจนน้อยลงจงสบายใจเถิด พวกเราส่วนใหญ่กินดีอยู่ดี ไม่ได้บอกเรื่องความเหลื่อมล้ำ

สิ่งที่เราควรคิดคือแบบนี้ คนจนลดน้อยลงโดยเปรียบเทียบ จาก 2531 ลดเหลือ 10% คนจนลดน้อยลงนะครับ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อปี พ.ศ. 2530 หลายๆ คนในห้องนี้อาจจะเป็นเด็ก ตอนนั้นผมอยู่ในมหาวิทยาลัย เทียบกับทุกวันนี้ ผมคิดว่าตอนนี้สังคมไทยมีความขัดแย้งกว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่า พ.ศ. 2531 ตอนที่สังคมไทย 60% กับสังคมไทยที่มีคนจน 10% ผมคิดว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยตอนนี้กว้างขวางลึกซึ้งมากกว่า ความขัดแย้งในสังคมตอนนี้เป็นความขัดแย้งชนิดที่ “ตัดผ่านอุดมการณ์อื่นๆ” ตัดผ่านความสัมพันธ์อื่นๆ ในชีวิตเรา

อย่างเช่น อดีตความขัดแย้งมันตัดผ่านครอบครัวได้น้อย หมายความว่า คนในครอบครัวไม่ได้ทะเลาะกันเพราะความขัดแย้งในสังคม แต่ตอนนี้คนในครอบครัวสามารถขัดแย้งกันได้ เพราะความขัดแย้งในสังคมมันลากเส้นผ่านเข้าไป ข่าวที่ชวนตระหนกคือพ่อแม่แจ้งจับลูก ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน หมายความว่าบัดนี้ความขัดแย้งกรีดผ่านครอบครัว ยังไม่ต้องพูดถึงเพื่อนฝูง มันโดนเส้นนี้ตัดกระจุยเลย

สิ่งที่ผมเสนอเบื้องต้นคือ “ความจนทางเศรษฐกิจไม่ใช่สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งในสังคมไทย” ถ้ามันใช่ พ.ศ. 2531 ที่เรามีคนจนมากกว่า 60% มันต้องขัดแย้งแบบลุกเป็นไฟ แต่ไม่ใช่ ตอนนี้คนจนลดน้อยลง แต่ความขัดแย้งมันเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเสี้ยวหนึ่ง ผมคิดว่าอาจไม่สำคัญมากเท่าที่เราคิด

สิ่งที่ผมอยากลองชวนคุยคือ ความขัดแย้งปัจจุบันเป็นความขัดแย้งแบบไหน และคนจนมีบทบาทอย่างไร ผมอยากชวนสำรวจความขัดแย้งในสังคมไทยแล้วดูว่า คนจนเราเข้าไปสัมพันธ์กับความขัดแย้งนั้นแบบไหน ตรงนี้เราน่าจะทำให้เข้าใจถึงเงื่อนไขทางสังคมและบทบาทของคนจนได้

ผมลองย้อนกลับไปสั้นๆ นิดหน่อย ทศวรรษ 2530 ช่วงที่ก่อตัวของสมัชชาคนจน ประเด็นที่เราเห็นคือ มีเรื่องความขัดแย้งทรัพยากร โดยเฉพาะการขยายโครงการของรัฐ การสร้างเขื่อน การพัฒนาที่ทำกินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดเป็นความขัดแย้งหลักของสังคม เป็นใจกลางหลักของความขัดแย้ง

สิ่งที่น่าสนใจคือในทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540 เป็นช่วงที่ อ.วรวิทย์ พูดว่าเราเน้นการพัฒนาทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาเมือง ความขัดแย้งด้านทรัพยากรในเวลานั้น ขบวนการคนจนได้เสนอแนวทางหรือทางเลือกให้สังคมมากขึ้น จะเรียกว่าชุมชนนิยม หรือพึ่งตนเองก็ได้ ตอนนั้นขบวนการคนจนเคลื่อน แต่การเคลื่อนไม่ได้ต่อรองอำนาจหรือเจรจากับ ครม. เท่านั้น แต่ได้เสนอทางเลือก ผมคิดว่านี่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นคุณูปการ เป็นการเสนอทางเลือกซึ่งต่างไปจากการพัฒนากระแสหลักที่รัฐและทุนเสนอ ที่ว่าเราต้องพัฒนาไปเป็นเสือตัวที่ห้า ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเยอะ แล้วเกษตรกรจะลดลง ก็ว่ากันไปนะครับ

แต่การเคลื่อนไหวของคนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ สิ่งที่เราเห็น ยุทธวิธีที่ใช้คือ การเมืองบนท้องถนน ก็คือชุมนุม มีการชุมนุมบ่อยขึ้น ชาวบ้านปากมูนส่วนหนึ่งบอกว่ามี “ยุทธวิธีตบโต๊ะ” ได้มีโอกาสเจรจากับคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ตบโต๊ะเลย รัฐมนตรีพูดนู่นนี่ เจอชาวบ้านตบโต๊ะ รัฐมนตรีตกใจ ชาวบ้านตบโต๊ะ ต้องหันมาฟังชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านชอบใจฝึกตบโต๊ะ (ทำท่าตบโต๊ะ) ว่าตบโต๊ะเมื่อไหร่เพื่อให้รัฐบาลฟัง

ในช่วงทศวรรษ 2530 การใช้การเมืองบนท้องถนน เป็นฐานหลักเพื่อกดดันระบบรัฐสภา สิ่งที่ผมเห็นคือ การสร้างเครือข่ายมีความสำคัญ สามารถทำให้ต่อรอง เจรจา ในลักษณะบางพื้นที่ บางโครงการได้ แต่การผลักดันอำนาจที่เป็นทางการไม่สู้จะสำเร็จ ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ กฎหมายป่าชุมชน กล่าวคือ เราหยุดบางโครงการได้ หยุดโรงไฟฟ้าได้ แต่พอจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการ เช่น การกฎหมาย เราไม่ประสบความสำเร็จ เช่น กฎหมายป่าชุมชนที่มาแนวทางชุมชนนิยมนั้นไปไม่ถึงฝั่ง ที่ล่ารายชื่อได้ 50,000 รายชื่อก็ตกไป

ต่อมา ช่วงกลาง พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน พูดง่ายๆ ช่วงคุณทักษิณมา การเมืองเรื่องเสื้อสี ความขัดแย้งทางการเมือง กลายเป็นประเด็นหลักทางการเมืองในช่วงกลางทศวรรษ 2540 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าในแง่หนึ่งก็คือการเกิดขึ้นของการเมืองเรื่องเสื้อสีในแง่หนึ่ง โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ คนจนได้ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทย จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม โดยการเคลื่อนไหวของการเมืองบางปีกทำให้คนจนกลายเป็นปัญหาทางการเมือง

คนจนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองอย่างไร ด้วยความเข้าใจแบบเดิมๆ เช่น “ชาวบ้านถูกซื้อเสียง เลือกนักการเมืองห่วย” “นักการเมืองห่วยๆ เข้ามาโกงกิน” ท่ามกลางความขัดแย้งของการเมืองเสื้อสี สมัชชาคนจนบอกว่า “เราไม่เลือกข้าง” แต่ว่าในท่ามกลางความขัดแย้ง การสร้างความเชื่อบางชุดที่ผลิตออกมา ผมคิดว่ามีส่วนโดยตรงทำให้คนจนกลายเป็นปัญหาการเมือง คนจนกลายเป็นเป้าทางการเมือง ถูกหาว่าคนจนเลือกตั้งไม่เป็นซื้อเสียง มันเลยมีข้อเสนอเยอะแยะออกมาในช่วงนั้น เช่น คนเราเสียงไม่ควรเท่ากัน คนกรุงเทพฯ ควรเสียงดังกว่า คนต่างจังหวัดเลือกตั้งไม่เป็นเสียงควรเล็กกว่า

แน่นอน ความขัดแย้งการเมืองเรื่องเสื้อสีได้ตัดผ่านเข้าไปในทุกที่ ในครอบครัว ในความเป็นเพื่อน ในวงวิชาการ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าขบวนการคนจนก็ถูกการเมืองเรื่องเสื้อสีตัดผ่านเข้าไป สมัชชาคนจนและขบวนการคนจนก็หลีกไม่พ้นความขัดแย้งหลักทางการเมืองนี้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าในช่วงกลางทศวรรษ 2540 ถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง อุดมการณ์ทางการเมืองที่ใหญ่ขึ้น ได้ทำให้การเคลื่อนไหว หรือเครือข่ายที่เคยสานกันได้มันไม่เหมือนเดิม

ตัวอย่างง่ายๆ คนชอบมองว่าผมเป็นเสื้อแดงนะครับ คือผมไม่รู้เขามองอย่างไร ผมวิจารณ์รัฐบาลคุณทักษิณมาเยอะนะครับ แต่คนหาว่ากระดุมแดง ... คืออย่างนี้ ทางเหนือเกิดความขัดแย้งของการเมืองสีเสื้อ บางส่วนอยู่กับสีหนึ่ง บางส่วนเลือกอยู่กับสีหนึ่ง ทำให้ขบวนการที่เคยเรียกร้องอะไรที่เดินเคยผนึกเป็นขบวนการได้มันอ่อนแรงลง เป็นเพราะว่า อุดมการณ์ไม่เหมือนกัน แนวทางเคลื่อนไหวก็ไม่เหมือนกัน อย่างการผลักดัน เสนอนโยบาย เราต้องผลักดันความรู้ โดยอาศัยคนในสังคมช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น เราไม่คิดว่าการฝากความหวังให้กับใครคนใดคนหนึ่ง เช่น คณะรัฐประหาร มันเป็นไปไม่ได้ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทางเหนือก็อ่อนแรงลง ทุกที่อ่อนแรงลง

ผมคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในชนบท นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ถึงปัจจุบัน คือเรื่องกระจายอำนาจคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป นี่คือสองเรื่องหัวใจหลักที่ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลง

ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ครับ ทางเหนือนะครับ เคยเป็นฐานสำคัญของแนวคิดชุมชนนิยม ป่าชุมชนอะไรทำนองนี้นะครับ ตอนนี้ถ้าใครไปทางเหนือ น่านมีเครือข่ายป่าชุมชนเป็นร้อยแห่ง เยอะแยะเต็มไปหมด ตอนนี้เครือข่ายป่าชุมชน ไม่ได้เอาภาพมานะครับ แต่ถ้าใครเคยเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนเห็นแล้วคงร้องไห้น้ำตาไหลแน่ ข้าวโพดครับ ข้าวโพดเต็มภูเขา คือชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับป่าชุมชนบางส่วน ไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ ก็เข้าสู่ธุรกิจปลูกข้าวโพด ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ขยายตัวกว้างขวาง น่านที่เป็นฐานสำคัญของป่าชุมชน ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว

การเปลี่ยนนี้ผมคิดว่าสำคัญ การเปลี่ยนอันนี้ในแง่หนึ่ง มันสะท้อนอุดมการณ์ของคนที่เราเรียกว่าเกษตรกรก็แล้วกัน เปลี่ยนนะครับ บางที่ป่าชุมชนมีอยู่ แม่แจ่มก็มีอยู่ แต่เอาไว้ทำอะไร ลงไปคุยกับชาวบ้าน บอกว่าป่าชุมชนมีอยู่ มี เอาไว้โชว์ เวลาจะขอทุน จะขอหน่วยงานที่พึ่งตนเอง ขาดไม่ได้ เป็นเหมือนห้องโชว์ของ พวกสนใจเรื่องพึ่งตนเองพาไปป่าชุมชน พอกลับไป เอ้า พวกเราขึ้นรถไปอุ้มข้าวโพดเหมือนเดิม

ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ผมคิดว่าความเข้าใจของชาวบ้านต่อความหมายในชีวิตเปลี่ยนอย่างกว้างขวาง ในแง่เดียวกันมีการเปลี่ยนตัวระบบการผลิต เกษตรกรเปลี่ยนมาเป็นแรงงานในที่ดิน การขยายข้าวโพดเข้าไปก็มาจากสิ่งที่เรียกว่า เกษตรพันธะสัญญา ขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ชาวบ้านก็ขายข้าวโพด แต่ชาวบ้านแบกรับความเสี่ยงมากขึ้น แม้ราคาจะไม่ลงเหมือนยางพาราทางใต้ ราคาข้าวโพดพุ่งขึ้นนะครับ ชาวบ้านพบว่าปลูกข้าวโพดแล้วมันรวยได้ เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็หันมาปลูกข้าวโพด หรือหันมาเปลี่ยนอาชีพอื่นๆ เราเห็นการเปลี่ยนอาชีพของชาวบ้าน

ก่อนหน้านั้นในทศวรรษ 2530 เดิมชุมชนนิยมเข้มแข็ง ชาวบ้านยังคิดเรื่องนี้อยู่มาก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ข้อสรุปของผมเองคือ ผมตั้งคำถามดังนี้ ทำไมขบวนการชุมชนนิยมมันอ่อนแรงลงในช่วงหลังทศวรรษ 2550 ผมคิดว่าอันหนึ่ง การที่กฎหมายผลักดันไม่ออก เป็นเพราะบัดนี้ชาวบ้านเปลี่ยน อุดมการณ์ชาวบ้านเปลี่ยน ไม่ได้แปลว่าชาวบ้านไม่ดี แต่ชาวบ้านคิดถึงชีวิตตัวเอง อนาคตตัวเองที่ต่างไปจากเดิม เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็เปลี่ยนอาชีพ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เปลี่ยนอย่างไพศาลในภาคเหนือ ผมคิดว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีความเปลี่ยนแปลงด้วย ภาคอื่นผมไม่รู้

ผมพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่สองคือ การกระจายอำนาจ ชาวบ้านพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลายเป็นสถาบันการเมืองที่ใกล้มือชาวบ้าน ชาวบ้านหลายแห่งเข้าไปใช้ อปท.

ผมยกตัวอย่างที่เป็นข้อยกเว้นมากๆ เช่น กำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน เป็นผู้นำเรียกร้องป่าชุมชนแห่ง อ.แม่ทา จ.เชียงใหม่ เข้าไปชี้แจงถึงเหตุผลร่างกฎหมายป่าชุมชนในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปลายปีที่แล้วผมไปคุยกับกำนันอนันต์ยอมว่าเครือข่ายป่าชุมชนหมดพลังแล้ว สิ่งที่ทำคือกำนันทำคือ เครือข่ายที่ยังพอเหลือบางส่วน กำนันอนันต์เข้าไปยึด เข้าไปใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นฐาน คือหมายความว่า ก็ให้ลูกลงสมัครเข้าไปใน อปท. แล้วใช้ อปท. เป็นเครื่องมือผลักดันเรื่องชุมชนนิยมที่พอเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นคือ อปท. ตอนนี้ทางเหนือหลายที่ เนื่องจากขบวนการที่ใหญ่เหมือนทศวรรษ 2530 หรือต้นทศวรรษ 2540 เห็นได้น้อยลง สิ่งที่เห็นตอนนี้คือหลายๆ พื้นที่ คิดถึงและเข้าไปใช้สถาบันการเมืองใกล้มือ อย่าง อปท. สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่มันเป็นสถาบันการเมืองที่ชาวบ้านไม่ต้องออกแรงเหมือนเมื่อก่อน เขาพบว่าไม่ต้องระดมทรัพยากรมาก เหมือนการเคลื่อนไหวกับโครงสร้างขนาดใหญ่

อีกอันหนึ่งที่ผมเห็นจากการเก็บข้อมูลคือ ชาวบ้านเข้ามาในการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความหมายกับชาวบ้านมากขึ้น และชาวบ้านเวลาเลือกตั้ง ไม่ได้เลือกเพราะถูกซื้อเสียงเพียงอย่างเดียว แน่นอนอาจมีบ้าง แต่ชาวบ้านเลือกเพราะสัมพันธ์กับนโยบาย กับความต้องการของตัวเองเป็นกลุ่มๆ ซึ่งมียุทธวิถีหลากหลาย แต่ชาวบ้านตระหนักว่า อปท. เป็นแหล่งกระจายทรัพยากรที่สำคัญอันหนึ่ง ชาวบ้านจึงเข้ามาสัมพันธ์กับการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น อันนี้ผมคิดว่า โดยเฉพาะ “กลุ่มคนเกือบจน” เป็นกลุ่มคนที่เขาสัมพันธ์กับท้องถิ่นมาก เพราะเขาพบว่า อปท. ระดมทรัพยากรได้ ในขณะที่กลุ่มที่เรียกว่า “ชนชั้นนำในหมู่บ้าน” ถ้าตัวเองไม่เล่นการเมือง ก็จะเป็นกลุ่มที่ไม่สนใจการเมืองท้องถิ่น

อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งที่ผมจะบอก และเป็นความเข้าใจของผมคือ เวลาเราพูดถึงคนจน คนจนทางเศรษฐกิจนี้ ผมคิดว่ามันเป็นความหมายเล็กๆ อันหนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นในสังคมไทยตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ก็คือว่า ที่คนจำนวนมากขัดแย้งกันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนในชนบทและอาจรวมผู้ใช้แรงงานด้วย ผมคิดว่า “การจนในอำนาจ” ผมคิดว่านี่คือหัวใจสำคัญ การจนในอำนาจ หมายความว่า กลุ่มคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าไปต่อรอง เข้าไปถกเถียง เข้าไปตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตตนเองได้ ชาวบ้านเปลี่ยนรูปแบบการผลิต สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญคือบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งการเพาะปลูกไม่มั่นคงนะครับ ข้าวโพดตอนนี้ราคาขึ้น แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ราคาลง และในข้อตกลง มีหลายอย่างที่เอาเปรียบ

ที่เราเห็นคือความเปลี่ยนในการสังคมคือ อำนาจในทางเลือกของคนตัวเล็กๆ ถูกริบไปมาก ผมคิดว่าเสื้อแดงก็จนในอำนาจนะครับ เวลาจะเลือกตั้ง เสื้อแดงบอกว่าต้องปรึกษาเราก่อน “เจ๊” ชี้มาว่าเอาคนนี้ลง คนเสื้อแดงก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น คนเสื้อแดงก็จนในอำนาจ หมายความว่า ความสามารถของผู้คนในการกำกับพรรคการเมืองต่ำ ซึ่งมันควรจะต้องมากกว่านั้น

ชุมชนท้องถิ่นเผชิญธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ ชุมชนท้องถิ่นแตกเป็นเบี้ยหัวแตก แรงต่อรองในเชิงปัจจัยน้อยลง ราคาดีก็มีกำไร ราคาตกก็มีปัญหา

สิ่งที่เราเห็นเวลาเราพูดถึงคนจน ที่สำคัญคือ ความจนในอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ขณะที่บางกลุ่มบางสถาบันมีอำนาจที่มากกว่าคนอื่นในการกำหนดชะตากรรมของคนในสังคม หรือสังคมโดยรวม

เพราะฉะนั้นหากถามผม สิ่งที่เราควรทำหรือสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ จะทำอย่างไรให้เห็นทิศทางในการสร้างอำนาจต่อรอง การตัดสินใจนะครับ ผมคิดว่าต้องสร้างเครือข่ายด้วย การเมืองท้องถิ่น ผมคิดว่าต้องคิดถึงมากขึ้น การเมืองท้องถิ่นต้องถูกคิดถึงมากขึ้น นี่เป็นแหล่งทรัพยากรที่จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้น การเมืองระดับชาติ จะสัมพันธ์พรรคการเมืองอย่างไร จะสร้างระบบอย่างไร ที่ผ่านมา บทเรียนที่เราเห็นคือ การรวมตัวของคนไร้โอกาส อาจต่อรองบางประเด็น บางเรื่องได้ แต่การผลักดันอำนาจที่เป็นทางการนั้นสำคัญ เพราะมันจะทำให้อำนาจต่างๆ เหล่านี้แผ่กระจายไปหาทุกคนได้กว้างขวางมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงความจน ความจนที่เป็นปัญหาของสังคมไทยคือความจนอำนาจในการต่อรองในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มันควรถูกทำให้เท่าเทียม และคนจนต้องมีอำนาจต่อรองเรื่องเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท