Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม(มภส)และภาคีเครือข่ายจัดงานมอบรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมเป็นประจำทุกปี ซึ่งสำหรับปีนี้เป็นปีที่ ๖ แล้ว และเภสัชกรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือ เภสัชกรหญิงอัจฉรา เอกแสงศรี รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๗ อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยาหลายรายการ (ระหว่างปีพ.ศ.๒๕๔๙ – ๒๕๕๑ สมัยนพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี(๒ รายการ), ยาป้องกันการอุดตันในเส้นเลือด ๑ รายการ และยามะเร็ง(๔ รายการ) และอยู่เบื้องหลังการคัดค้าน/ต่อต้านสิทธิบัตรยาที่มิชอบ ได้แก่ ดีดีไอ, คอมบิด นอกจากนี้ยังมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาตำรับยาเพื่อผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ป่วยเอดส์, ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย, ผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงมีส่วนผลักดันให้เกิดศูนย์ศึกษาชีวสมมูลซึ่งสำคัญยิ่งต่อการวางตลาดยาชื่อสามัญที่มีราคาต่ำกว่ายาแบรนด์อย่างมโหฬาร

"นับได้ว่า งานของอัจฉราได้สร้างอานิสงส์ให้แก่สังคมเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วยกลุ่มต่างๆแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากอีกด้วย" ส่วนหนึ่งของคำประกาศเกียรติคุณ

ปัจจุบัน อัจฉรา ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ผลงานต่อสังคมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่อัจฉราปฏิบัติงานอยู่ในสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม

หลังได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม ประจำปีพ.ศ.๒๕๕๗ ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี กล่าวว่า

"ดิฉันมีความภาคภูมิใจกับรางวัล เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม แต่รางวัลนี้ไม่ใช่รางวัลที่มอบให้ดิฉันเพียงผู้เดียวเพราะผลงานต่าง ๆ ที่ทำให้คณะกรรมการได้พิจารณาและคัดเลือกให้ดิฉัน เป็นผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ ล้วนเกิดจากความทุ่มเทและร่วมแรง ร่วมใจกันทำงานของดิฉันและน้องๆ  จากองค์การเภสัชกรรม และเครือข่ายจากประชาชน แม้นว่าการได้รับรางวัลจะไม่ใช่เป้าหมายในการทำงานของเรา แต่การที่ผู้มีส่วนร่วมทุกท่านได้มาพบเจอกันในวันนี้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

​ดิฉันทำงานที่องค์การเภสัชกรรม  มาเป็นเวลากว่า 36 ปี ดิฉันรู้สึกว่า ดิฉันโชคดีที่เลือกเข้าทำงานที่ อภ. เพราะที่นี้ได้ให้โอกาสดิฉันในการทำงานได้อย่างหลอกหลาย การที่จะทำให้ประชาชนคนไทยได้มียาที่จำเป็นใช้อย่างเพียงพอนั้น อภ. นับเป็นหน่วยงาที่มีบทบาทสำคัญมาก ตั้งแต่การตรวจสอบ สืบค้น ข้อมูลสิทธิบัตร การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนถึงการผลิตยาที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ส่งถึงมือประชาชน

​ธุรกิจด้านสุขภาพเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ เงินจำนวนมหาศาลและยาก็เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทุกประเทศ ดังนั้นธุรกิจยาจึงเป็นธุรกิจที่ซับซ้อน และมีผลประโยชน์มหาศาล การรู้เท่าทันในธุรกิจยาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น  ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีกรณีที่บริษัทยาต้นแบบได้ติดสินบนบริษัทยาชื่อสามัญ โดยจ่ายเงินให้เงินให้บริษัทยาชื่อสามัญ วันละหลายแสนเหรียญเพียงเพื่อให้บริษัทยาชื่อสามัญนั้น ดีเลย์การออกจำหน่ายยาชื่อสามัญของบริษัทออกไป สำหรับในประเทศไทยจะมีกรณีเช่นนี้หรือไม่ ดิฉันไม่ทราบ แต่จากที่ผ่านมาก็มีบริษัทยาต้นแบบ ได้เข้ามาเจรจากับ อภ. หลายครั้ง ซึ่งในการเจรจาที่ดิฉันได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เราต้องนึกถึงผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
​และจากการที่จะเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในปีหน้า รูปแบบ และการต่อสู้ ในการผลิตยาชื่อสามัญ จะมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มจาก มีบริษัทยาชื่อสามัญทั้งจากในทวีปยุโรป และในทวีปเอเชียเอง มาเจรจาซื้อโรงงานผลิตยาชื่อสามัญในประเทศไทยหลายโรงงาน และที่ได้มีการซื้อเรียบร้อยแล้ว อาทิ บ.Actavis ซึ่งเป็นบริษัทยาชื่อสามัญขนาดใหญ่ของประเทศไอร์แลนด์ ได้ซื้อโรงงานผลิตยาชื่อสามัญอันดับติดท๊อปเท็นในประเทศไทย และยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคาอีกหลายโรงงาน

นอกจากนี้ เนื่องจากมียาหลายตัวที่ทยอยหมดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2554เป็นต้นมา บริษัทยาต้นแบบก็ได้มีกลยุทธ์ ในการผลิตยาชื่อสามัญของต้นเองออกมา แข่งกับบริษัทยาชื่อสามัญในประเทศ การตั้งราคายาชื่อสามัญของบริษัทเอกชนเหล่านี้จะใช้หลักตามเศรษฐศาสตร์ และการตลาด คือ จะตั้งราคาประมาณ 50-80% ของราคายาต้นแบบ โดยไม่ได้คำนึงถึงราคาต้นทุนของยา ทำให้แม้นว่าจะมีการผลิตยาชื่อสามัญออกมาจำหน่าย แต่ก็ไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศลดลงกว่าที่ควรจะเป็น

​จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า อภ. ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยาของรัฐ จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการที่จะทำให้เกิดการสมดุลของราคายาชื่อสามัญในประเทศให้เป็นไปตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่ทำให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืนได้

​ในโอกาสนี้ ที่ดิฉันได้เชิญ น้อง ๆ ชาว อภ.มาร่วมงานในวันนี้นอกจากเพื่อให้น้อง ๆ ได้ร่วมแสดงความยินดีในผลงานของพวกเราแล้ว ก็อยากให้น้อง ๆ ได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ ที่พวกเราจะต้องมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อจุดหมายเดียวกันคือ ความมั่นคงด้านยาของประเทศ ตลอดจนถึงประเทศไทย ควรจะสามารถเป็นที่พึ่งด้านยาของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนี้อีกด้วย

​ในการวิจัยและพัฒนายาของ อภ. นั้น เรามุ่งเน้นในการวิจัยและพัฒนายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาในกลุ่มที่แม้นยังไม่เข้าอยู่ใน รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ แม้นมีความจำเป็นแต่เนื่องจากราคาแพงดังนั้น เมื่อคำนึงถึง Cost effectiveness ยาเหล่านี้จึงยังไม่อยู่ในข่ายที่จะบรรจุเข้าไป ในบัญชียาหลักแต่เมื่อ  อภ. สามารถผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม อาทิเช่น ยาจิตเวช Risperidones tablet เมื่อ อภ. ผลิตสามารถผลิตลดราคาจาก 40 บาท เหลือ 5 บาท ยาสำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย Deferiprone tablet ซึ่งสามารถลดราคาจาก 30-60 บาทเหลือ 3.50 บาท ก็สามารถทำให้ยาเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกเข้ามาอยู่ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และแพทย์สามารถจ่ายยาในระบบหลักประกันสุขภาพได้
​จากประสบการณ์ความสำเร็จที่ได้จากการทำงานเรื่องการวิจัยและพัฒนายาต้าน ไวรัส เอชไอวี ซึ่งได้ก่อให้เกิดเรื่องรวมประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษามากมายซึ่งในเวลาจำกัดนี้ ดิฉันคงไม่สามารถแจงรายละเอียดในที่นี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นกรณียา ดีดีไอ ยาคอมบิด ซึ่งได้สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้ติดเชื้อและนักวิชาการ ในการร่วมมือกันต่อสู้และพัฒนายาต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ จนถึงปัจจุบัน อภ. จึงมีความสามารถในการพัฒนายาในกลุ่มนี้ ให้ทันต่อความต้องการของผู้ติดเชื้อได้

​ดิฉันได้พยายามที่จะถอดบทเรียน จากการดำเนินงานการพัฒนายาในกลุ่มยาต้านไวรัส เอชไอวี ไปใช้ในการพัฒนายาในกลุ่มอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
​นอกจากเรื่องการวิจัยพัฒนาและการผลิตยาแล้ว การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศในการติดตามและป้องปราบ ”Evergreening  patent” (สิทธิบัตรที่ไม่มีวันหมดอายุ) ในแต่ละประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเร่งรัดให้มียาชื่อสามัญออกสู่ท้องตลอดได้

​ อุปสรรคต่อการเข้าถึงยา อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญได้แก่ สิทธิบัตรยา ที่เปิดช่องทางให้บริษัทยาต้นแบบ สามารถผูกขาดการผลิตยา ที่จำเป็นต่อชีวิต และนำมาจำหน่าย ในราคาที่สูงกว่าต้นทุนหลายเท่า โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ การลงทุนคิดค้นยาใหม่ลดลงอย่างชัดเจนแต่กลับมีการจดสิทธิบัตร ขยายสิทธิการผูกขาดยาที่จำเป็นเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการอนุมัติสิทธิบัตร ขณะนี้เรามีผลงานวิจัย หลายงานวิจัย Evidence based แสดงให้เห็นประจักษ์ในสิ่งเหล่านี้ แต่ทำอย่างไร จึงจะสามารถผลักดันการพัฒนา ระบบการจดสิทธิบัตรให้ออกมาเป็นนโยบาย  ซึ่งทั้งนี้ ต้องทำให้เกิดความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กรมทรัพย์สินทางปัญญา องค์การเภสัชกรรม และเครือข่ายภาคประชาชน อย่างเป็นระบบ"
เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคมประจำปีนี้กล่าว

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการมอบรางวัลนี้ คือ เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่เภสัชกรผู้ที่ทำงานเพื่อสังคม ซึ่งมีผลงานที่ส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง โดยมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาสุขภาพสังคม การบริหารจัดการระบบยา ระบบสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพอย่างถึงพร้อมด้วยจริยาธรรมแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net