Skip to main content
sharethis

10 ธ.ค.2557 นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ภาคประชาชน กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสธ.และสปสช.ที่เกิดขึ้นนั้น น่าเป็นห่วงว่า ท้ายที่สุดจะทำให้ประชาชนในระบบบัตรทองกลายเป็นผู้ป่วยอนาถา ถ้าสธ.ยังไม่ตระหนักว่าบทบาทที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร สธ.คือเจ้าของรพ.รายใหญ่ที่สุดของประเทศ อยู่ในฝั่งของผู้ให้บริการ หน้าที่ของสธ. คือการพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลให้ดี มีคุณภาพ และมีปริมาณที่รองรับกับความจำเป็นด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนให้ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้แล้ว 12 ปีที่ผ่านมา ความต้องการของประชาชนที่จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลที่จำเป็นเพิ่มขึ้น แต่ฝั่งผู้ให้บริการจัดระบบรองรับไม่ทันกับความต้องการนี้ และเมื่อไม่ทัน สิ่งที่ง่ายที่สุด คือหันมาโทษสปสช.ซึ่งทำหน้าที่แทนประชาชนในฐานะผู้จัดหาบริการว่าทำให้ประชาชนมาใช้บริการมาก แต่ไม่ดูว่าระบบบริการของสธ.มีเพียงพอหรือไม่

บอร์ดสปสช.ภาคประชาชน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา เข้าใจว่า ปลัดสธ.ก็ตระหนักตรงนี้ จึงได้ทำเรื่องเขตบริการสุขภาพเพื่อพัฒนาระบบบริการของสธ. และก็สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ถ้าปลัดสธ.เดินหน้าพัฒนาการรักษาพยาบาลให้รองรับได้ ระบบก็จะเดินหน้าไปได้ แต่ที่ผ่านมา เราเห็นแต่ปลัดบอกว่า รพ.ขาดทุน ความทุกข์เจ้าหน้าที่ แล้วโทษว่าเป็นเพราะวิธีการจัดสรรเงินของสปสช. มีแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์ ดังนั้นต้องให้เขตสุขภาพสธ.จัดการว่างบจะถูกใช้เพื่ออะไรบ้าง บอร์ดสปสช.จัดแค่ 4 หมวดพอ ที่เหลือสธ.จัดสรรเอง แม้จะบอกว่าสปสช.ยังทำหน้าที่โอนเงินอยู่ แต่การทำแบบนี้ก็เท่ากับทำลายหลักการแยกผู้ให้บริการและผู้จัดหาบริการ และถอยหลังกลับไปแบบเดิม สุดท้ายก็จะบอกว่ามีงบประมาณเท่านี้ ทำได้เพียงเท่านี้ ประชาชนจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นหรือไม่อย่างไรก็ไม่สนใจ ถ้าเป็นแบบนี้ แม้จะมีสิทธิรักษาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะถูกรักษาตามมีตามเกิด เป็นคนไข้อนาถา รอไม่ไหวก็ตายไปก่อน

“ที่สำคัญ ถามว่าการทำแบบนี้ประชาชนอยู่ตรงไหน เรากลายเป็นแค่ผู้รอรับบริการที่สธ.จะจัดสรรมาให้ตามงบประมาณที่มีแบบตามมีตามเกิดแค่นั้นหรือ ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกได้เลยหรือว่า ด้วยภาษีของเรา อยากได้บริการอะไร แล้วสธ.จัดบริการแบบนี้ได้ไหม แต่ปลัดสธ.จะดึงเอาอำนาจนี้คืนจากประชาชน และบอกว่า ภายใต้เงินแค่นี้ ทำได้เท่านี้ เราไม่ปฏิเสธว่าระบบหลักประกันสุขภาพมันมีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาและแก้ไขร่วมกัน แต่ไม่ใช่ทำลายหลักการที่ให้ประชาชนมีประกันสุขภาพเช่นนี้” นายนิมิตร์กล่าวและว่า ส่วนปัญหารพ.ขาดทุนนั้น เกิดจากสปสช.จริงหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ต้องทบทวนให้ดี งบบัตรทองที่ได้มา เป็นงบที่มีกฎหมายและระเบียบกำกับทุกบรรทัด ประกาศของบอร์ดสปสช.เรื่องงบบอกไว้หมดว่าเงินจำนวนนี้ต้องใช้ทำอะไรบ้าง กองทุนย่อยต้องทำอย่างไร ตัวชี้วัดเป็นอย่างไร ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ได้งบ ซึ่งก็ถูกต้อง ในเมื่อให้บริการแบบนี้ไม่ได้ จะเอางบไปเก็บไว้ทำไม อำนาจหน้าที่ของบอร์ดสปสช.มีเท่านี้ แต่เอาเรื่องที่เกินบทบาทของบอร์ดสปสช.มาโยนบาปให้ ถูกต้องหรือไม่ รพ.คือบริการของรัฐ จะทำกำไรไปเพื่ออะไร รพ.มีกำไร แต่ประชาชนเดือดร้อน แบบนี้ถูกต้องหรือไม่

“รพ.ขาดทุนนั้น สธ.ต้องพิจารณาว่า เป็นเพราะบริหารไม่เป็น ไม่มีระบบบัญชีที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพ การกระจายทรัพยากรบุคคลมีปัญหา และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเช่นที่เกิดขึ้นในภาคใต้ตอนล่างขณะนี้หรือไม่ ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างชัดเจนเมื่อสธ.ทำเรื่องการหักเงินเดือนรายเขต โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ ก็มีปัญหามากมาย บางพื้นที่ได้เงินเยอะ บางพื้นที่เงินขาด นี่เป็นเรื่องธรรมาภิบาลที่สธ.ต้องดูแล” นายนิมิตร์กล่าว  

 นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ปลัดสธ.เรียกประชุมผู้บริหารสธ.และนพ.สสจ.เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีการสื่อสารกล่าวโทษว่า มติคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังนำเสนอเข้าบอร์ดสปสช.ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้นั้น ก็ไม่เป็นความจริง มติของอนุกรรมการการเงินการคลังคือรับทราบข้อเสนอ และเมื่อเช้าสู่การพิจารณาของบอร์ดสปสช.ก็มีมติรับทราบข้อเสนอของสธ.เช่นเดียวกัน ไม่ได้มีมติรับข้อเสนอไปปฏิบัติ การที่ปลัดสธ.ไปนำเสนอในที่ประชุมผู้บริหารสธ.จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทั้งยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นด้วยการปลุกระดมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสธ.ให้เกลียดชังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งจะส่งผลทำให้ไม่อยากให้บริการประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net