Skip to main content
sharethis

องค์กรทนายความ-สหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี-สหภาพแรงงานสาธารณสุขเกาหลี-ประชาสังคมรวม 13 กลุ่ม ออกแถลงการณ์ "ไม่คาดหวังสิ่งใดจากการประชุมอาเซียน-เกาหลี 2014" คัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์ เยือนปูซาน - ตำหนิรัฐบาลเกาหลีและชาติอาเซียนที่ล้มเหลวในการต้านรัฐประหาร สะท้อนภาวะถดถอยของประชาธิปไตยในเอเชีย-ซึ่งได้มาด้วยความยากลำบากจากการอุทิศชีวิตประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะเดินทางถึงฐานทัพอากาศกิมแฮ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2557 โดยมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-เกาหลี ในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

12 ธ.ค. 2557 - ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนนครพูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อร่วมการประชุมอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-ROK CEO Sumit) นั้น  องค์กรประชาสังคมเกาหลีและสหภาพแรงงาน 13 องค์กร เช่น ทนายเพื่อกฎหมายประโยชน์สาธารณะ (APIL), ทนายความเพื่อสังคมประชาธิปไตย (MINBYUN), กลุ่มพลเรือนจับตากองทัพเกาหลี, มูลนิธิกองกัมเพื่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สหพันธ์แรงงานกลางเกาหลี (KCTU), สหภาพแรงงานสาธารณสุขและการแพทย์เกาหลี (KHMWU) ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์ร่วม "ไม่คาดหวังสิ่งใดจากการประชุมอาเซียน-เกาหลี 2014" ลงวันที่ 10 ธันวาคม คัดค้านการเยือนเกาหลีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีการเผยแพร่แถลงการณ์ทั้งภาษาอังกฤษและเกาหลีอยู่ในเพจของ KHIS

ทั้งนี้ไม่มีรายงานการจัดประท้วงรับการเยือน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการเยือนนครมิลาน ประเทศอิตาลี และกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนที่ผ่านมา

สำหรับแถลงการณ์ที่ออกโดยกลุ่มทนายความ สหภาพแรงงาน และองค์กรประชาสังคมเกาหลี 13 กลุ่ม มีรายละเอียดดังนี้

000

"ไม่คาดหวังสิ่งใดจากการประชุมอาเซียน-เกาหลี 2014"

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี 2014 ซึ่งจัดวันที่ 11 ธันวาคม ที่ปูซาน เกาหลี หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2014 และกลายเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลทหาร

องค์กรประชาสังคมเกาหลี รวมทั้งองค์กรด้านแรงงาน ขอคัดค้านการเข้าร่วมการประชุมของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ซึ่งถูกวิจาณ์โดยประชาคมนานาชาติว่าเข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร ทั้งยังจับกุมโดยพลการ และปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร

การรัฐประหารในประเทศไทย ไม่เพียงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อประชาธิปไตยของไทยเท่านั้น แต่รวมทั้งภูมิภาคเอเชียทั้งหมดด้วย อีกทั้งประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแจ่มชัดว่าผู้ที่ยึดอำนาจด้วยวิธีรุนแรงและปราศจากการเลือกตั้งที่ยุติธรรม จะต้องพึ่งพาการใช้อำนาจอย่างกดขี่เพื่อผลประโยชน์ของตนไม่ใช่ของประชาชน

หากเกาหลีและอาเซียนล้มเหลวในการต่อต้านการทำรัฐประหารโดยกองทัพ สิ่งนี้ก็จะนำไปสู่ภาวะถดถอยของประชาธิปไตย ซึ่งที่่ผ่านมาก็ได้มาอย่างยากลำบากด้วยการอุทิศของประชาชนในเอเชีย

สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่เรื่องของประเทศไทยเท่านั้น สมาชิกของทุกๆ รัฐในอาเซียน รวมทั้งเกาหลี ต่างถูกเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการปรับปรุงประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แน่นอนว่าประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนควรถูกรวมเป็นหัวข้อหลักของการประชุมอาเซียน อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของการประชุม คงไม่ต้องบอกว่า ไม่มีหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเลย

แรงงานย้ายถิ่นจากประเทศในอาเซียนมักถูกบังคับส่งกลับโดยรัฐบาลเกาหลี โดยไม่มีการจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระ การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานและประชาชนในประเทศอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเกาหลี หรือโครงการลงทุนโดยบริษัทเกาหลี มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ดังนั้น เมื่อประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับการเพิกเฉย "ความร่วมมือ" ที่แท้จริง จึงไม่มีวันเกิดขึ้น

ภาคประชาชนสังคมในเกาหลีและเอเชีย ตระหนักเป็นอย่างดีต่อผู้ถูกจองจำในประเทศไทย เนื่องจากพวกเขาต้านรัฐประหาร สิ่งที่พวกเราต้องการได้ยินจากผู้นำของเกาหลีและอาเซียน ไม่ใช่ความพยายามทางเศรษฐกิจซึ่งไม่มีความจริงจัง จากการประชุม พวกเราขอให้พวกเขาตอบคำถามเรื่องจุดยืนต่อการรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อประชาชนซึ่งมีความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีถูกลิดรอนเสรีภาพ สโลแกนของการประชุมที่ว่า "สร้างความเชื่อมั่น, นำมาซึ่งความสุข" ก็ไม่มีความหมายอะไรนอกจากการเล่นคำ

ทั้งนี้องค์กรที่ลงนามท้ายแถลงการณ์ประกอบด้วย Advocates for Public Interest Law, Civilian Military Watch, Human Rights Law Foundation Gong Gam, Korean Confederation of Trade Unions, Korean Health and Medical Workers' Union, Korean House for International Solidarity, Korean Lawyers for Public Interest and Human Rights, MINBYUN – Lawyers for a Democratic Society International Solidarity,  Committee NANUM MUNHWA(Global Peace Activities), Palestine Peace and Solidarity in South Korea, People’s Solidarity for Participatory Democracy, SARANGBANG Group for Human Rights, Workers' Solidarity

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net