Skip to main content
sharethis

ขอนแก่น: เอกอัครราชทูต และตัวแทนทูตชาติต่างๆ ร่วมกันตอกย้ำความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครอง  ด้านตัวแทนชาวบ้านกลุ่มปัญหาต่างๆ ร้องขอต่างประเทศส่งเสียงแทนเสียงเล็กๆ และช่วยกู้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำในประเทศไทย


10 ธันวาคม 2557  ที่โรงแรมขวัญมอ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการจัดงาน “เทศกาลวันสิทธิมนุษยชนสากล ครั้งที่ 7” โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนอีสาน (กป. อพช. อีสาน) และโครงการ Council on International Educational Exchange (CIEE) มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มีชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 300 คน
กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นการสัมมนาในหัวข้อ “บทเรียนทางด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ”  ตัวแทนสถานทูตสวีเดน  Anne-Charlotte Malm กล่าวว่า “สิทธิที่เท่าเทียมกันทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญ ที่สวีเดนเราจะเน้นให้ทุกคนต้องมีส่วนร่วม จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ด้าน Norman Pflanz ตัวแทนจากสถานทูตอเมริกา กล่าวตอนหนึ่งว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากล รัฐบาลมีหน้าที่ที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน การที่ผู้นำบางคนอ้างว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของตะวันตกนั้น เป็นคำอ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน”  ขณะที่ Reuben Levermore  เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทยได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เมืองไทยว่า “นิวซีแลนด์เป็นห่วงเรื่องประชาธิปไตยและเฝ้ารอถึงการเลือกตั้ง สถานทูตจะให้สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็น หรือสิทธิในทรัพยากรและที่ทำกิน”

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตแคนาดาได้ร่วมแสดงความเห็นว่า “บริบทที่สำคัญสำหรับสิทธิมนุษยชนก็คือ นิติธรรม และเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลจะต้องยึดในหลักการนี้ และฟังเสียงประชาชน”  เช่นเดียวกับ Mark Kent เอกอัครราชทูตอังกฤษ ที่กล่าวว่า “ทุกคนต้องมีสิทธิเท่ากัน ไม่ว่าเขาจะรวยหรือจน อยู่ในเมืองหรือในชนบท รัฐบาลจะต้องส่งเสริมประชาชนให้มีสิทธิที่เท่ากัน ผ่านการเลือกตั้ง และให้เสรีภาพสื่อ”


ในการเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้มีประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมสะท้อนปัญหาการถูกละเมิดสิทธิทั้งจากบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ และกฎอัยการศึก  และต่างร้องขอให้ต่างประเทศช่วยเหลือไม่ให้คนไทยถูกละเมิดสิทธิ เช่น  ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร กล่าวว่า “ชาวบ้านอยู่ทำกินมาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นผู้บุกรุก ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถเข้าไปทำกินได้ รัฐบาลต่างประเทศจะมีบทบาทช่วยเหลือไม่ให้ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิได้หรือไม่”
ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า  “ตอนนี้ประเทศไทยไม่มีสิทธิและเสรีภาพ เพราะทหารมายึดเอาไป ทำให้เราเคลื่อนไหวเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย  เช่น  การประกาศเขตอุทยานทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เราต้องการเลือกตั้ง เราต้องการเสรีภาพ”

ขณะที่ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ดงมูล ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม กล่าวว่า “ชาวบ้านไม่ต้องการให้มีบ่อก๊าซ แต่บริษัทอ้างว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย เราถูกลิดรอนสิทธิในทรัพยากรที่ใช้หากิน ไม่ว่าจะยื่นหนังสือเรียกร้องอย่างไรก็ไม่มีใครฟัง และตอนนี้ก็ไม่มีพื้นที่ให้พูด ขอให้สถานทูตเป็นเสียงให้คนเล็กๆ อย่างเราด้วย”

ทางด้านตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสื้อเต้นและโคกหินขาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่ตนเองได้รับว่า “ปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมีต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โรงงานกระดาษปล่อยกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง และน้ำเสีย  ชาวบ้านทำการเกษตรไม่ได้ ปตท.รับซื้อก๊าซให้โรงไฟฟ้า แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์อะไร อย่างนี้เราจะไล่ออกจากพื้นที่ได้หรือไม่”

ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลสะท้อนปัญหาภายใต้ความปรองดองว่า “ตอนยึดอำนาจใหม่ๆ เราขอให้ปิดเขื่อนปีละ 4 เดือน ก็ตกลง แต่แล้วอยู่ๆ ผู้ว่าฯ ก็สั่งปิดเขื่อน เราไปเรียกร้อง ก็บอกให้อดทน บ้านเมืองกำลังไปได้ดี”

พร้อมด้วยตัวแทนผู้รักประชาธิปไตย ร้องขอให้ท่านทูตช่วยกู้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยอย่างรวดเร็ว และขอให้สหประชาชาติผลักดันให้รัฐบาลไทยสร้างตัวชี้วัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ก่อนการสัมมนาจะเริ่มขึ้น ผู้ดำเนินรายการในงานได้แจ้งแก่ผู้เข้าร่วมว่า งานในวันนี้ ผู้จัดงานได้ตกลงกับทางทหารว่าจะไม่พูดพาดพิงไปถึงเรื่องกฎอัยการศึก การเมือง และ คสช. จึงทำให้ในช่วงหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมงานตั้งคำถามว่า “ในขณะที่เราจัดงานสิทธิมนุษยชน แต่เรากลับพูดเรื่องสิทธิของตัวเองที่กำลังเสียไปไม่ได้ แล้วอย่างนี้จะพูดเรื่องสิทธิไปทำไม มันเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่อึดอัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นและในขณะที่เราถูกลิดรอนสิทธิแต่เรากลับพูดเรื่องนี้ไม่ได้ แล้วเราจะจัดงานสิทธิมนุษยชนไปทำไม”

นอกจากนี้ กิจกรรมในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการฉายวีดิโอสั้นจากกลุ่มนักศึกษา CIEE ซึ่งนำเสนอปัญหาของชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ เช่น สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของตนเอง สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการบริโภค สิทธิของผู้ติดเชื้อ ฯลฯ ผู้จัดงานได้เซ็นเซอร์ตัวเอง โดยการตัดเสียงและเบลอคำบรรยายภาษาอังกฤษในบางช่วงบางตอน  โดยเฉพาะในวีดิโอที่เสนอปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ ต้องถูกอพยพออกจากที่ดินทำกิน

ช่วงท้ายของงาน ตัวแทนกลุ่มปัญหาต่างๆ ได้ร่วมกันรวบรวมความเห็น และนำเสนอเป็นแถลงการณ์วันสิทธิมนุษยชน 10 ธันวาคม 2557 โดยประกาศว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิในด้านต่างๆ ได้แก่ สิทธิในการจัดการทรัพยากร และการแก้ไขปัญหา สิทธิในการเมือง การแสดงความคิดเห็นโดยไม่ผ่านตัวแทน การเรียกร้องและชุมนุม สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา กระบวนการยุติธรรม สื่อ ข้อมูลข่าวสาร และการบริการจากภาครัฐ

๐๐๐๐


แถลงการณ์วันสิทธิมนุษยชน
10 ธันวาคม 2557
ขอนแก่น

คนไทยทุกคนมีสิทธิ :

- ในการจัดการทรัพยากร และการแก้ไขปัญหา
- ในการเมือง อยากให้จัดการเลือกตั้ง
- ในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ผ่านตัวแทน
- ในการเรียกร้องและชุมนุม
- อยากให้ภาครัฐนำความคิดเห็นชาวบ้านไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
- ในการเข้าถึงการศึกษา
- ในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน
- มีกฎหมายรับรองสิทธิในการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองประชาชน
- ในกระบวนการยุติธรรม
- ในการรับบริการจากภาครัฐ (สาธารณสุข,สวัสดิการ)
- ในการเข้าถึงสื่อที่เสนอความจริงโดยไม่มีการบิดเบือน
- ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อ
- ในการรับข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net