ประยุทธ์ระบุสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องโปร่งใส-เตรียมใช้ 'สัญญาคุณธรรม' จัดซื้อจัดจ้าง

พอใจผลการจัดอันดับปัญหาคอร์รัปชันไทยดีขึ้น เตรียม ตั้ง คกก.ต่อต้านแก้ปัญหาทุจริตทั้งระบบ เตรียมนำร่องใช้ระบบ CoST เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า นำ “สัญญาคุณธรรม” หรือ Integrity Pact มาใช้กับผู้จัดซื้อจัดจ้างและเอกชนทุกคนที่เข้ามาเสนอราคา
 
 
12 ธ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์  12 ธ.ค.57 เวลา 20.15 น. ระบุในตอนหนึ่งว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร มีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งในประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2536 (21 ปีที่แล้ว) และไทยได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในปี พ.ศ. 2543 (14 ปีที่ผ่านแล้ว) ก็เผยผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) ของปี พ.ศ.2557 ระบุว่าประเทศไทยของเรา ได้คะแนนดีขึ้น มาเป็นลำดับที่ 85 รวม 9 ประเทศ จากทั้งหมด 175 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 17 อันดับ เดิมเราได้ลำดับที่ 102 เป็นอันดับที่ 12 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์อันดับ 7 และมาเลเซีย อันดับ 50
 
ถึงแม้ว่าอันดับของประเทศไทยจะดีขึ้นในสายตาองค์กรระหว่างประเทศนั้น แต่ผมคิดว่าประเทศไทยก็ยังต้องมีการให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วว่าการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นถือว่าเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ
 
ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้สั่งการให้มีการนำระบบการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ ได้นำระบบการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency: CoST) มาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่อย่างนั้นก็กล่าวกันไปกันมา บางทีก็มีข้อเท็จจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ปัญหาของเราก็คือว่า การดำเนินคดีต่าง ๆ นั้น ต้องว่าไปตามหลักฐานจริง ๆ ตามกฎหมาย บางครั้งก็มีความเข้าใจคนละอย่าง เป็นอีกอย่างหนึ่ง บางทีก็ทำให้การบริหารราชการหรือการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก
 
ในส่วนของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นโครงการนำร่องที่จะใช้ระบบ CoST เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการ ก่อนจะขยายไปสู่โครงการของรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ในการนำระบบ CoST มาใช้นี้ จะช่วยลดช่องทางหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจ แล้วก็เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และการตรวจสอบของภาคประชาชน ตั้งแต่การออก TOR การประกวดราคา การก่อสร้าง จนถึงการตรวจรับงาน ก็ได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกมิติ
 
นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีการนำ “สัญญาคุณธรรม” หรือ Integrity Pact มาใช้ โดยหน่วยงานรัฐแล้วก็ผู้จัดซื้อจัดจ้างและเอกชนทุกคนที่เข้ามาเสนอราคาต้องลงนามในสัญญาที่ว่านั้นว่า จะไม่มีการรับหรือให้สินบน แล้วก็ยอมรับกระบวนการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน แล้วก็ยอมให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพหรือภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นคณะตรวจสอบอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็จะเป็นโครงการนำร่องการปฏิบัติตามสัญญาคุณธรรม เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ปัญหาและความเสี่ยงในทางการปฏิบัติ ก่อนที่จะมีการพัฒนาต่อยอดเป็นร่างกฎหมาย หรือมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อให้ใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินการของโครงการต่าง ๆ ต่อไป
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์  12 ธ.ค.57 เวลา 20.15 น. มีดังต่อไปนี้
 
 
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รักทุกคน
 
ในเดือนธันวาคมนี้ ประชาชนชาวไทยทุกคน ต่างร่วมใจกันทำความดีถวายในหลวงฯ รวมทั้งพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและร่วมถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นที่หน้ายินดี
 
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ผมก็ได้มีโอกาสชมการแสดงละครเพลงเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง “พระมหาชนก เดอะฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” ณ บริเวณลานกลางน้ำอเนกประสงค์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์เมื่อปี พ.ศ.2539 อันทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แฝงไปด้วยปรัชญาแห่ง “คุณธรรม ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน” ต้องขอแสดงความชื่นชมและขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้ประพันธ์บทเพลงประกอบการแสดงไพเราะมาก นักแสดงและทีมงานกว่า 1,000 ชีวิต และวงออเคสตร้า เครื่องดนตรีกว่า 60 ชิ้น ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานบทพระราชนิพนธ์สู่สายตาประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับโลก โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เป็นการคืนความสุข พร้อมเพิ่มพูนปัญญาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
 
นอกจากความเพียรพยายามของพระมหาชนกแล้ว ในการว่ายน้ำกลางทะเลตลอด 7 วัน 7 คืน อย่างไม่ย่อท้อ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง แต่ก็มีสติรู้ตัวตลอดเวลา มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เมื่อเห็นว่าจะเกิดพายุ ก็มีการเตรียมสะสมเสบียงอาหาร รับประทานให้อิ่ม และการชุบร่างกายด้วยน้ำมันให้ชุ่ม เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สอนมา สอนให้เรารู้จักคิด เตรียมตัวเอง
 
สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และประทับใจในปรัชญาที่แฝงอยู่ในบทพระราชนิพนธ์นี้ ก็คือ “การสร้างความเจริญงอกงามทางสติปัญญา” ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่มีฉากการเพาะปลูกมะม่วงไว้กินเอง มีวิธีการถึง 9 ประการด้วยกัน ได้แก่ การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ การถนอมรากไม้ เพื่อรักษาต้นพ่อพันธุ์ การปักชำ การเสียบกิ่ง การต่อยอด การทาบกิ่ง การตอนกิ่ง การรมควันต้นที่ไม่เคยให้ผล และการเพาะเนื้อเยื่อ แล้วเลือกต้นกล้าที่สมบูรณ์ไปขยายพันธุ์ ซึ่งการเพาะปลูกได้เองนั้น ทำให้ไม่ต้องแก่งแย่งกันจะเห็นได้ว่าถ้าแย่งกันมะม่วงก็ตาย ทุกคนก็ไม่ได้กินอีกต่อไป
 
ฉะนั้นแสดงให้เห็นถึงว่า ถ้าหาเราจะทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะไม่ใช่การหาแต่ประโยชน์ใส่ตนและขัดขวางความสุขของผู้อื่น ต้องมีการเผื่อแพร่แบ่งปันที่สำคัญคือ การสร้าง “ปูทะเลมหาวิชาลัย” นับเป็นแหล่งวิชาการเรียนรู้ ซึ่งสอดแทรกอยู่ในบทพระราชนิพนธ์ที่ให้ข้อคิดว่าการศึกษาที่ขาดความเข้าใจนั้น จะไม่เกิดประโยชน์ และถ้าหากคนเรามีความรู้ความเข้าใจแต่ไม่มีคุณธรรม ไม่อาจแยกดีเลวได้ อย่างที่บอกไปแล้วว่าคนเราต้องมีคุณธรรม ก็ไม่อาจจะแยกดีเลวได้ อย่างที่เราบอกไปแล้วว่าคนเราต้องมีคุณธรรมก็เปรียบเหมือนคนที่ไร้ปัญญา คิดไม่เป็น
 
ปัจจุบันประเทศไทยของเรากำลังอยู่ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการหยุดทบทวนตัวเอง สำหรับการปฏิรูปประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อยากจะขอความร่วมมือพี่น้องชาวไทย ทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันใช้ความอดทนและเพียรพยายาม และร่วมรับฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ มีความสามัคคี ร่วมใจทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต โดยเราอาจจะทำได้อย่างด้วยกัน การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน รับฟังกันในช่องทางที่เหมาะสมและละทิ้งประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง รัฐบาลเองก็จะสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการสร้างการเรียนรู้ในทุกระดับ ในขณะที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะรักษาไว้ซึ่งบรรยากาศความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการปรองดอง เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าประเทศไทยของเรานั้น เป็นไปด้วยดี
 
ในสัปดาห์นี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ที่นครปูซาน และได้มีโอกาส พบปะกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ผู้นำอาเซียน และภาคเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งบทบาทของไทยในการจะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน การไปเยือนในครั้งนี้ ผมได้มีการกล่าวถึงเรื่องที่จะส่งเสริมผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงในภูมิภาคตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ตลอดจนความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม
 
การปราบปรามทุจริต คอร์รัปชั่น และการฉ้อราษฎร์บังหลวง
 
วันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยเรา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับโลก ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร มีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งในประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2536 (21 ปีที่แล้ว) และไทยได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในปี พ.ศ. 2543 (14 ปีที่ผ่านแล้ว) ก็เผยผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) ของปี พ.ศ.2557 ระบุว่าประเทศไทยของเรา ได้คะแนนดีขึ้น มาเป็นลำดับที่ 85 รวม 9 ประเทศ จากทั้งหมด 175 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 17 อันดับ เดิมเราได้ลำดับที่ 102 เป็นอันดับที่ 12 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์อันดับ 7 และมาเลเซีย อันดับ 50
 
ถึงแม้ว่าอันดับของประเทศไทยจะดีขึ้นในสายตาองค์กรระหว่างประเทศนั้น แต่ผมคิดว่าประเทศไทยก็ยังต้องมีการให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผมในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วว่าการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นถือว่าเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ
 
เนื่องจากว่า การทุจริตเป็น “ต้นตอ” ของปัญหาด้านต่าง ๆ ของประเทศ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวด้วย ซึ่งสะท้อนถึงวิกฤตการณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม
 
ทุกภาคส่วนนั้นต้องให้ความร่วมมือ ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งรัฐบาล เอกชนประชาชน ข้าราชการ องค์กรต่าง ๆ ช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ ทั้งผู้ให้ผู้รับก็มีความผิดทั้งคู่ เพราะฉะนั้นผมในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร และหัวหน้ารัฐบาล ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและจริงใจในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีธรรมาภิบาล และจะไม่เพิกเฉยต่อการกระทำความผิดกฎหมาย ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกเรื่อง ก็เป็นเรื่องของการพิจารณาต่อไป ตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ทุกภาคส่วน
 
เรื่องของการฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น ส่วนใหญ่มักจะนำผลประโยชน์ของรัฐมาเป็นส่วนตัว หรือเอื้อประโยชน์ ซึ่งข้าราชการทุกระดับชั้นนั้น ทั้งบุคคลรอบข้างหรือใกล้ชิดต่าง ๆ ก็ต้องระมัดระวังด้วย อย่าปล่อยปะละเลยให้คนเหล่านั้นไปเรียกร้องผลประโยชน์ ในส่วนของรัฐบาลผมเองและคณะรัฐบาลก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นขอให้ช่วยกันดูแลด้วย
 
ทั้งนี้ เรามีความตั้งใจในการป้องกันและปราบปรามปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และผมในฐานะหัวหน้า คสช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ” เพื่อที่จะบูรณาการการกำกับดูแลทั้งในเรื่องการ “ป้องกัน” และ “การปราบปราม” การทุจริตคอร์รัปชันของภาครัฐทั้งระบบซึ่งที่ผ่านมานั้น อาจะจะมีการดำเนินการอยู่บ้างแล้วแต่การบริหารจัดการค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน อาจจะไม่มีเจ้าภาพหลักที่ดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการจะได้ให้รวดเร็วขึ้น และให้ได้รับการยอมรับจากทุกพวกทุกฝ่าย ในเรื่องของการดูแลเรื่องคอร์รัปชั่นให้จริงจังขึ้น มีการประสานงาน มีการดำเนินการต่าง ๆ ให้รวดเร็ว แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ด้วยพยานหลักฐานให้ชัดเจนขึ้น อาจจะดูล่าช้าไป เพราะบ้างอย่างยากที่จะหาพยาน หาวัตถุพยาน กระบวนการทุจริตเหล่านี้ก็มีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ เราก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาในส่วนของกระบวนการตรวจสอบให้ทันต่อสถานการณ์
 
เพราะฉะนั้น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาตินี้ ก็อย่าเกรงว่าจะเป็นซ้ำซ้อนกับใครอะไร อย่างไร กลไกหลักในการดำเนินการป้องกัน ก็จะเน้นในเชิงป้องกันและขจัดทุจริตคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นเอง คณะกรรมการฯ ชุดนี้นอกจากจะมีกรรมการจาก คสช. แล้ว จะมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เมื่อได้รับข้อมูลต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว หากมีหลักฐานชัดเจน เป็นการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน คงต้องมาช่วยกัน ว่าจะช่วยกันทำอย่างไร ทำให้การป้องปรามและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้มีผลอย่างจริงจัง มีประสิทธิผล และจะช่วยเสริมในการประสานให้กับการทำงาน การต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล ของทุกหน่วยงานให้เป็นไปได้ดียิ่งขึ้น
 
ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้สั่งการให้มีการนำระบบการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ ได้นำระบบการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency: CoST) มาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเปิดเผยข้อมูลการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่อย่างนั้นก็กล่าวกันไปกันมา บางทีก็มีข้อเท็จจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ปัญหาของเราก็คือว่า การดำเนินคดีต่าง ๆ นั้น ต้องว่าไปตามหลักฐานจริง ๆ ตามกฎหมาย บางครั้งก็มีความเข้าใจคนละอย่าง เป็นอีกอย่างหนึ่ง บางทีก็ทำให้การบริหารราชการหรือการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก
 
ในส่วนของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นโครงการนำร่องที่จะใช้ระบบ CoST เข้ามาตรวจสอบการดำเนินการ ก่อนจะขยายไปสู่โครงการของรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ในการนำระบบ CoST มาใช้นี้ จะช่วยลดช่องทางหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจ แล้วก็เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และการตรวจสอบของภาคประชาชน ตั้งแต่การออก TOR การประกวดราคา การก่อสร้าง จนถึงการตรวจรับงาน ก็ได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่าผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกมิติ
 
นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีการนำ “สัญญาคุณธรรม” หรือ Integrity Pact มาใช้ โดยหน่วยงานรัฐแล้วก็ผู้จัดซื้อจัดจ้างและเอกชนทุกคนที่เข้ามาเสนอราคาต้องลงนามในสัญญาที่ว่านั้นว่า จะไม่มีการรับหรือให้สินบน แล้วก็ยอมรับกระบวนการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน แล้วก็ยอมให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพหรือภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นคณะตรวจสอบอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็จะเป็นโครงการนำร่องการปฏิบัติตามสัญญาคุณธรรม เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนรู้ปัญหาและความเสี่ยงในทางการปฏิบัติ ก่อนที่จะมีการพัฒนาต่อยอดเป็นร่างกฎหมาย หรือมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อให้ใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินการของโครงการต่าง ๆ ต่อไป
 
ขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งดำเนินการการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนที่สำคัญ ที่จะเร่งดำเนินการก่อน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่ให้ปราศจากการทุจริต อาทิ การนำระบบพิทักษ์คุณธรรมมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ส่งเสริมคนดีมีความรู้ความสามารถให้มีโอกาสทำงาน การออกกฎหมายเพื่ออุดช่องว่างการกระทำผิด เช่น การออกกฎหมายอำนวยความสะดวกให้การบริการภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์บริการแบบ One Stop Service ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง วันนี้ก็มีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมด้วยเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการกระบวนการยุติธรรม ดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ในกรณีที่มีคดีความต่าง ๆ อันนี้เป็นโครงการของกระทรวงยุติธรรม เมื่อวานก็ได้มีการเปิดไปเรียบร้อยแล้ว
 
อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการปรับปรุงและเสริมสร้างมาตรการ - เครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาและเด็ดขาด ตามหลักนิติธรรม จะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจหรือปัจจัยภายนอก อันนี้ก็คงต้องดูแลด้วย ดูแลเจ้าหน้าที่ด้วยที่เกี่ยวข้อง อาจจะถูกกดดันจากหลาย ๆ ทางด้วยกัน ในเรื่องของความปลอดภัยของตัวเอง ของครอบครัว ผมก็ให้แนวทางไปแล้วต้องดูแลเขาด้วย จะได้สามารถที่ตัดสินใจในเรื่องของการใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในเรื่องของการส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ เช่น โครงการ “องค์กรใสสะอาดจังหวัดชายแดนภาคใต้” แล้วก็จัดกิจกรรมให้องค์กรภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตื่นตัว ตระหนัก และปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีความโปร่งใส ประชาชนร่วมตรวจสอบได้ ทั้งนี้ก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 267 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำร่องโครงการฯ และที่สำคัญ ก็คือ การส่งเสริมความเข้มแข็งของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่สำคัญ เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามภารกิจได้อย่างเต็มขีดความสามารถ ปัญหาก็คือ คดีมีมากมายเจ้าหน้าที่ก็มีอัตรากำลังน้อย ก็ได้อนุมัติอัตรากำลังพลเพิ่มเติมมากกว่า 700 อัตรา เพื่อให้ ป.ป.ช.สามารถสะสางคดีที่มีค้างอยู่เดิมก่อนที่ คสช. จะเข้ามาดำเนินการเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 2,000 คดี ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น
 
ทั้งนี้ ก็ขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมต่าง ๆ ในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน เหน็ดเหนื่อยแล้วก็เครียด แล้วก็ขอยกตัวอย่างอันหนึ่ง ก็คือ โครงการโรงเรียนสีขาว หลักสูตร “โตไปไม่โกง” ที่ได้ดำเนินการภายใต้หลักความดี 5 ประการ ที่จะช่วยสร้างชาติและต่อต้านการทุจริต ก็คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ได้แก่ การยึดมั่นในความสัตย์จริงและสิ่งที่ถูกต้องดีงาม รู้จักแยกแยะถูกผิด ดีไม่ดี ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง ต่อไปก็คือ เรื่องการมีจิตสาธารณะ คือ การมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ตระหนักรู้ และคำนึงถึงสังคมส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองในการกระทำทุกอย่าง ที่จะต้องไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม แล้วก็พร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตน รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมด้วย เป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ ทุกคนต้องดูแลกันทั้งหมด
 
ในเรื่องของ ความเป็นธรรมทางสังคม ก็เช่นเดียวกัน คือ การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างมีเหตุผล ไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น แล้วก็สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การกระทำใด ๆ ก็ตามนั้น ทุกคนต้องกระทำอย่างรับผิดชอบ มีความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเองแล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการกระทำความผิดก็พร้อมที่จะยอมรับและแก้ไข แล้วก็สุดท้าย คือ เรื่องการเป็นอยู่อย่างพอเพียง คือ การดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ ซื่อตรงไม่ละโมบโลภมาก รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ซึ่งก็นับว่าเป็นการน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเน้นความพอดี พอสมพอควรแก่ฐานะ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันมาเป็นแนวคิด แนวปฏิบัติ หลักสูตรนี้ถือว่า เป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชนลูกหลาน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ในการต่อสู้กับกระแสวัตถุนิยม ทุนนิยมด้วยปัญญา
 
อย่างที่ “พระมหาชนก” ที่ไปดูกันมาก็จะมีคำเหล่านี้อยู่ด้วย ต้องต่อสู้หรือว่าต้องมีความเพียรพยายาม ใช้สติปัญญาในการเอาชนะทุกอย่างที่เป็นอันตราย เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้ปัญญาแล้วเราก็จะป้องกันแล้วก็ปราบปรามการทุจริต ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญต่อชาติบ้านเมืองเรา เพราะฉะนั้นเราก็อยู่ในหัวข้อในการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทุกด้านเลย ทั้ง 11 ด้าน จะต้องนำหัวข้อการปฏิรูปในทุกกิจกรรมใส่เข้าไปด้วย
 
รัฐบาลเองก็ได้มีความพยายามเต็มที่ ในการที่จะบริหารจัดการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการขับเคลื่อน บริหารประเทศในเวลานี้ก็ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงทั้งสิ้น เป็นหลักการ ในการประชุมสัปดาห์นี้ ก็ได้มีการรายงานจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐหรือ คตร. และ กระทรวงคมนาคมว่า รัฐบาลมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการก่อสร้างทางแยกและถนนของกระทรวงคมนาคมในหลายโครงการนั้น มีการประมูล ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคากลางกว่า 200 ล้านบาท หรือ ประหยัดงบประมาณไปได้กว่า 6% ก็อยากให้มากขึ้นกว่านี้อีก ที่ผ่านมาก็หลายโครงการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลได้ทำมา บางโครงการก็ 10% 20% 30% มาตามลำดับ
 
หลายโครงการด้วยกันที่ คสช. ไปตรวจสอบมา เราก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน แล้วก็ทำอย่างไรจะลดราคาได้แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ในทุกโครงการต่อไป
 
เนื่องในโอกาส วันรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น ผมก็ขอร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกท่านในการเฉลิมฉลองการมีรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมากว่า 80 ปี นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย นับถึงปัจจุบันเราได้มีรัฐธรรมนูญ (และธรรมนูญการปกครอง) มาเกือบ 20 ฉบับ เราอาจต้องมาดูความพร้อมไม่พร้อม ในด้านความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองนี้อย่างถ่องแท้ แล้วก็การศึกษาของเรานั้น จะต้องยกระดับการศึกษาของเราให้ได้ ทำอย่างไรให้การเมืองของเรา นักการเมือง ประชาชน เรียนรู้ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะว่าเป็นคนใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้ง แล้วก็ในเรื่องของการจะทำอย่างให้การบริหารราชการของรัฐบาลที่เลือกเข้ามานั้น มีธรรมาภิบาล เรื่องเหล่านี้ทุกคนต้องเรียนรู้อย่าถือว่าเป็นหน้าที่ของใคร ของใครเลย ประชาชนต้องรู้ ถ้ารู้แล้วเราก็จะเลือกคนได้ถูกต้องก็มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น ประเทศของเรานั้นเหมือนกับอยู่บนเรือฝ่าคลื่นลมการทุจริตมาโดยตลอด
 
การหาผลประโยชน์ใส่ตัวของผู้มีอำนาจ มีผลประโยชน์ตลอดมา ดังนั้น ก็จำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้ทันสมัย เพื่อขจัดปัญหาในอดีต แล้วก็มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยของเรา ผมก็ยังไม่มีข้อยุติว่าจะเป็นแบบไหนอะไรอย่างไร ก็เป็นเรื่องของการปฏิรูปในเรื่องของคณะกรรมการกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็เสนอขึ้นมาก็แล้วกัน เราก็จะไปพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในช่วงท้าย วันนี้ก็แสดงความคิดเห็นกันไปได้ ผมไม่ได้จำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วก็จะมาถามข้อสรุปของผมยังสรุปไม่ได้ในเวลานี้
 
สิ่งสำคัญก็เป็นหัวใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เราไม่อาจจะละเลยได้เลย คือ
 
ประเทศประชาธิปไตยนั้น ไม่เพียงแต่จัดให้มี “การเลือกตั้ง” เท่านั้น คือ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเสนอตัวเข้ารับใช้ส่วนรวมโดยการสมัครรับเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้พลเมืองใช้สิทธิในการที่จะเลือกบุคคลที่ตนต้องการให้เป็นผู้ปกครอง หรือเป็นผู้ใช้สิทธิเป็นปากเสียงแทนตนในสภาฯ เท่านั้น หากแต่การใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิด้วยว่า สามารถได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้อย่างเสรีเต็มที่ไหม มีโอกาสเลือกสรรตัวบุคคลที่ต้องการจริง ๆ และปราศจากแรงจูงใจที่จะให้เกิดการทุจริต เช่น การซื้อสิทธิขายเสียง วันนี้อาจจะซื้อสิทธิขายเสียงอาจจะมีมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่พื้นที่ไป แต่วันนี้ทุกนักการเมืองเขามีฐานเสียงของตัวเองทั้งสิ้น มีประชาชน เหมือนกับว่าเป็นคะแนนเสียงของตัวเอง ไปไหนก็ไปด้วยตลอด ผมว่าก็อันตรายเหมือนกัน ต้องดูในเรื่องของหลักการในเรื่องของนโยบายให้ชัดเจนขึ้น เพราะว่าในระบอบประชาธิปไตย ก็คงไม่ได้หมายความเพียงว่า “การยึดหลักเสียงข้างมาก” อย่างเดียว และก็พยายามทำอย่างไรให้มีเสียงมากขึ้น จนกระทั่งหลงลืม บางครั้งก็หลงลืมเสียงข้างน้อย ฉะนั้นจำเป็นต้องมีหลักประกันให้เสียงข้างน้อยด้วย ให้เขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และต้องได้รับการเคารพจากเสียงส่วนใหญ่ด้วย เสียงข้างมากต้องไม่ไปละเมิด หรือก้าวก่ายสิทธิของเสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยก็ไม่ไปเกะกะระรานกับเสียงข้างมากอะไรทำนองนี้ เพราะเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น
 
เรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นความพยายามร่วมกันของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับนี้ ก็ได้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผมบอกแล้วว่าต้องคิดถึงประชาชนก่อน และย้อนขึ้นมาว่าจะไปสู่กระบวนการเข้าสู่อำนาจอย่างไร และไปหากระบวนการตรวจสอบความโปร่งใส ว่ากันมา ถ้าไปเริ่มต้นจากข้างบนลงไปก่อน ไปถึงข้างล่างก็ไปไม่ถึงข้างล่าง เริ่มจากข้างล่างอย่างเดียวก็ไปไม่ถึงข้างบน เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มจากข้างล่างประชาชนเป็นศูนย์กลางก่อน ข้างบนก็เป็นฝ่ายบริหาร ตรงกลางก็หาช่องทาง หาวิธีการดำเนินการมา ให้เกิดความโปร่งใสมีประสิทธิภาพก็แล้วกัน ถึงจะเกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าว หรือว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็เขียนมาตั้ง 20 ฉบับแล้ว ฉะนั้นถ้าเขียนดีอย่างไรก็ตาม แต่ขาดจิตสำนึกที่ดี ขาดคุณสมบัติของนักการเมืองที่ดี ขาดการเป็นประชาชนที่มีการเรียนรู้แล้ว อย่างไรก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคนแต่ละพวก แต่ละฝ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยทรงรับสั่งไว้แล้วว่า ทุกคนทำหน้าที่ด้วยความสุจริตใจ ในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด บ้านเมืองก็เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความสุขอย่างยั่งยืน ทรงรับสั่งไว้แล้ว
 
เพราะฉะนั้น “หน้าที่พลเมือง”เป็นสิ่งสำคัญ หน้าที่นักการเมือง หน้าที่ข้าราชการ หน้าที่ประชาชนคนละอย่างกัน ต้องต่างคนต่างมีบทบาทของตัวเอง ต้องวางตัวให้เหมาะสม ไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็เหมือนเดิม ไม่หลุดพ้นกับดักประชาธิปไตยหรือคำว่ามีเสรีภาพ มีสิทธิเป็นของประชาชนอะไรทำนองนี้ ไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัดไม่ได้ ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นเขาด้วย
 
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือราคาพืชผลทางการเกษตร กราบเรียนว่าพวกเราไม่เคยนิ่งนอนใจ รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเอง ก็ให้นโยบายให้แนวทางไปอย่างต่อเนื่อง ก็ติดตามทุกวันไม่ใช่ไม่สนใจ แต่ปัญหาของเราคือต้องดูแลคนหลายกลุ่มหลายพวก เดือดร้อนมาก เดือดร้อนปานกลาง เดือดร้อนน้อย ก็ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น วันนี้พยายามที่จะขับเคลื่อนงบประมาณต่าง ๆ ให้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ก็ต้องขอความร่วมมือจากพวกเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรภาคต่าง ๆ วันนี้ทราบดี การที่จะเรียกร้องหรือเดินขบวนอะไรต่าง ๆ ผมว่าบางทีก็ไม่เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาในเวลานี้ วันนี้อยากจะกราบเรียนว่าเศรษฐกิจของโลกก็ยังไม่ดีขึ้นมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมโลกอื่น ๆ ประเทศที่มีขีดความสามารถสูง วันนี้ GDP ก็ลดลงหลาย ๆ ประเทศด้วยกัน ก็มีผลกระทบมาถึงในประเทศด้วย
 
เรื่องราคาน้ำมัน ก็ผูกติดไปกับหลาย ๆ อย่าง ราคาพืชผลทางการเกษตร น้ำมัน เกี่ยวข้องกับยางด้วย ซึ่งวันนี้รัฐบาลพยายามที่จะขับเคลื่อนทุกอย่าง มาตรการเรื่องยาง 11 เรื่อง และอีก 3 มาตรการเรื่องการใช้จ่ายเงินลงไป ปัญหาอยู่ที่ว่าไม่สามารถจะออกได้พร้อมกันในเวลานี้ กำลังเร่งไปแล้ว ผมก็ได้สั่งการลงไปแล้ว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ลงไปดูแล วันนี้ก็ได้มีความคืบหน้ามาตามลำดับ ต้องมองหลายส่วนด้วยกัน ทั้งการค้าขายในประเทศ อันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือพ่อค้าต่าง ๆ ภาคเอกชนต่าง ๆ ต้องร่วมมือช่วยกัน อย่าพึ่งไปหาประโยชน์มากนัก มีกำไรจนมากเกินไป ต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนเดือดร้อนหรือเปล่า อาจจะกำไรน้อยลง ก็น่าจะยอมกันสักเล็กน้อย ช่วยรัฐบาลบ้าง เพราะถ้าหากว่าเราใช้งบประมาณมากเกินไปก็จะมีปัญหา และวันหน้าเราก็จะไม่มีงบประมาณในการที่จะดูแลภาคอื่น ๆ ด้วย อาจจะมีความเดือดร้อนการใช้งบกลาง เรื่องภัยพิบัติ เรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม มีปัญหามากมายที่จะต้องใช้งบประมาณเพื่อดูแลประชาชนทุกคน เพราะประชาชนทุกคนนั้นมีส่วนร่วมในงบประมาณ มีส่วนร่วมในปัญหาของชาติบ้านเมืองทั้งสิ้น ถ้าทุกคนยอมรับในหลักการนี้ รัฐบาลก็มีกำลังใจ และก็จะหาวิธีการในการแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว ไม่ใช่ว่าเรานิ่งนอนใจ ก็ร้อนอกร้อนใจทุกวัน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น
 
เรื่องอื่น ๆ นั้น เรื่องการตรวจสอบการทุจริตการโปร่งใสต่าง ๆ ทุกอย่างก็เดินหน้าไปเรื่อย ๆ คดีต่าง ๆ ก็มีความก้าวหน้ามาตามลำดับ ติดตามแล้วกัน อย่าพึ่งไปวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายกระบวนยุติธรรมเขาทำงานลำบาก แล้วในส่วนของการเดินหน้าประเทศไทย วันนี้มีการประชุม ผมก็ไปประชุมที่เกาหลี เดือนนี้ก็จะมีการประชุม ความร่วมมือเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ก็มีหลายประเทศจะมาประชุมในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ และจะมีการประชุมอีกหลาย ๆ อย่างตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ผมคิดว่าวันนี้ เรามองเศรษฐกิจของประเทศไทย ต้องมองภาพใหญ่ด้วย คราวนี้เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจระดับล่างดีขึ้น ก็ต้องขอความร่วมมือช่วยกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นภาคเอกชนดำเนินการมาโดยตลอด วันนี้รัฐบาลเมื่อลงมาแล้ว ก็เจอปัญหามากมาย ต้องแก้ปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ทั้ง ในเรื่องของกฎหมาย เรื่องกติกา พันธสัญญา ติดไปหมด ฉะนั้นวันนี้ต้องร่วมมือกัน ประชาชนก็ร่วมมือกับรัฐ เจ้าหน้าที่คนไหนถ้าไม่ขยันขันแข็ง ไม่ทำงานให้เกิดประโยชน์ ไม่ดูแลพี่น้องก็บอกมา เราก็จะเร่งรัดในทุกเรื่อง วันนี้ขอขอบคุณอีกครั้ง เดือนนี้เป็นเดือนแห่งมิ่งมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกคน ทั้งภาครัฐ ประชาชน เอกชน ภาคธุรกิจ ฯลฯ ก็คงจะต้องร่วมกัน ช่วยกันร่วมถวายพระพรชัยมงคลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุก ๆ พระองค์ จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของประชาชนคนไทยทั้งประเทศตลอดไป ขอบคุณ สวัสดี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท