Skip to main content
sharethis

เสวนาเปิดตัวหนังสือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล (ภาคจบ) วิทยากรชี้เป็นวรรณกรรมติดปีกให้คนหนุ่มสาวผู้ใฝ่หาเสรีภาพและสิ่งใหม่ พร้อมสะท้อนภาพสังคมเผด็จการ ที่สั่งสอนให้คนทำตามกัน

12 ธ.ค. 2557 ที่สำนักหอสมุดปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาเปิดตัวหนังสือ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลจาก Jonathan Livingston : Seagull  ต้นฉบับของริชาร์ด บาก (Richard Bach) จัดโดยสำนักพิมพ์จินต์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และหอสมุดปรีดี พนมยงค์ โดยภายในงานเสวนาครั้งนี้มีผู้สนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน

“แม่ ฉันไม่กลัวที่จะเหลือแต่กระดูกและขน ฉันเพียงแต่อยากรู้ว่า เมื่อฉันอยู่ในอากาศ ฉันจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ฉันเพียงแต่อยากรู้เท่านั้นเอง” ส่วนหนึ่งจากหนังสือโจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล

ชาญวิทย์ เริ่มต้นด้วยเล่าถึงเหตุผลที่เลือกแปลหนังสือเรื่อง โจนาธานฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2515 ว่าเป็นเพราะ ในช่วงนั้นหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในสังคมอเมริกัน และในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการที่คนหนุ่มสาวในอเมริกาออกมาต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์ที่สำคัญของโจนาธานฯ คือการทำหน้าที่เป็นกระจกที่สะท้อนสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคแสวงหา หรือยุคบุพพาชน เป็นช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวลุกคนมาตั้งคำถามต่อระบบระเบียบเดิมหลายๆ สิ่ง  ทั้งวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรม แล้วแสวงหาสิ่งใหม่ในแนวทางของตนเอง

โจนาธานฯ เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิเสธสิ่งเก่า ประเพณี และความเชื่อโบราณที่คร่ำครึ แล้วต้องการแสวงหาสิ่งใหม่ หรือต้องการที่จะบินในเส้นทางของตัวเอง ฉะนั้นความรู้สึกของการแสวงการบินค้นพบอะไรบางในตัวของเราเอง โจนาธานฯจึงถูกหยิบยกออกมาพิมพ์ หรือพูดถึงกันในหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่ผู้คนถูกกดทับให้อยู่ภายในกรอบ หรือระเบียบของสังคม

ชาญวิทย์ได้กล่าวต่อไปว่า การจัดพิมพ์ครั้งใหม่นี้เนื่องมาจากได้มีการค้นพบต้นฉบับที่ผู้เขียนได้เขียนภาคจบไว้ แล้วได้รับมาตีพิมพ์ โดยเนื้อหาในส่วนที่ได้ตีพิมพ์เมเข้ามาใหม่ได้สะท้อนถึงการทำให้โจนาธาน กลายเป็นสถาบัน ถูกทำให้เป็นเทพ หรือลัทธิบูชาตัวบุคคล ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่เขาต้องการ

โจนาธาน ลิฟวิงสตัน : นางนวล ในหลากหลายภาษา

ด้านประจักษ์ ก้องกีรติ  เริ่มต้นด้วยการหยิบยกประโยคหนึ่งในหนังสือเรื่องโจนาธานฯ ซึ่งเป็นช่วงที่โจนาธานเริ่มออกบินในวิถีทางของตน แล้วถูกนกผู้ใหญ่เรียกมาตักเตือนว่า “คุณจะทำแบบนี้ทำไม เรามาอยู่ในโลกนี้เพียงเพื่อหากิน และพยายามมีชีวิตให้ยืนยาวเท่าที่เราจะทำได้”  ซึ่งนั่นเป็นประโยคที่ส่งผลให้ผู้อ่านเริ่มตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิต โจนาธานจึงเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวที่เริ่มตั้งคำถามกับชีวิต และสังคม ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดด้วยกรอบของกาลเวลา ทว่าเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวทุกยุคสมัย

“โจนาธานทำให้เห็นว่า ชีวิตที่ดีที่สุดคือชีวิตที่แหกคอก ผมสรุปได้อย่างนี้ เพราะถึงที่สุดถ้าคุณไม่แหกคอก คุณจะมีวันได้เจออะไร และคุณจะไม่มีวันรู่ว่าคอกที่คุณอาศัยอยู่มันใหญ่โตและแน่นหนาขนาดไหน จนเมื่อเดินออกไปแล้วถึงจะหันกลับมามองได้” ประจักษ์กล่าว

ขณะเดียวกัน ประจักษ์ ได้เล่าถึงเรื่องของพ่อ Malala Yousafzai หญิงสาวผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปีนี้  ซึ่งได้ตอบคำถามของนักข่าวว่า สอนลูกสาวอย่างไรถึงได้มีจิตที่ใฝ่หาเสรีภาพ และต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กทุกคน ซึ่งพ่อของ Malala ได้ตอบคำถามของนักข่าวไปว่า “อย่าถามว่าผมทำอะไรให้กับเธอ ให้ถามผมว่าไม่ได้ให้กับเธอ สิ่งที่ผมไม่ได้ทำกับเธอคือ ผมไม่ได้เด็ดปีกของเธอ”  ซึ่งเป็นประโยคที่สะท้อนถึงการที่มนุษย์ทุกคนโตมาพร้อมกับปีกติดอยู่กับหลัง  ซึ่งขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ระบบการศึกษา และสังคมที่เด็กคนหนึ่งโตเติบมาว่า ได้หล่อเลี้ยงให้ปีกนั้นเติบโตและงอกงามหรือไม่ ถ้าเปิดให้มีเสรีภาพ ให้ปีกนั้นงอกงามได้ เด็กก็จะบินได้ สามารถที่ค้นหาแนวทางของตัวเอง ทว่าเมื่อย้อนมามองสังคมไทยกลับเป็นสังคมที่เด็ดปีกของมนุษย์ตั้งแต่เด็ก ทุกคนจะเติบโตมาด้วยสูตรสำเร็จแบบเดียวกัน ที่ถูกกำหนดพ่อแม่ ระบบการศึกษา และรัฐ ซึ่งเป็นสังคมที่ต้องการทำให้คนเชื่อง  ในแง่นี้สังคมไทยจึงไม่เอื้อให้มีคนอย่างโจนาธานได้  และการเป็นอย่างโจนาธานในสังคมไทยมีราคาที่ต้องจ่ายสูง เพราะหลายครั้งการไม่เชื่อฟังกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนด สุดท้ายแล้วนำไปสู่การกำจัดผู้ที่คิดต่าง

ด้านสุชาติ ได้กล่าวถึงนัยยะสำคัญทุกครั้งที่มีการพิมพ์ใหม่หนังสือเรื่องโจนาธาน และหนังสืออีกหลายเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่ม และหากย้อนกลับไปมองช่วงเวลาที่มีการตีพิมพ์หนังสือโจนาธานฯ 4 ครั้งที่ผ่าน และรวมครั้งนี้ด้วยเป็นครั้งที่ 5 ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในยุคนั้นๆ ซึ่งเป็นยุคเผด็จการ ซึ่งโจนาธานก็ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญอีกทางหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ด้วยฐานขอความคับข้องใจที่มีต่อสภาพสังคม การเมืองการปกครองในยุคสมัยของตน เปรียบเหมือนกาติดปีกอีกหลังจากถูกเด็ดทิ้ง

สุชาติกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่โจนาธานฯ ตีพิมพ์ครั้งแรก และครั้งที่สอง ได้ถูกโจมตีอย่างหนักจากนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย ซึ่งปัจจุบันคนเหล่านั้นกลับยอมรับการรัฐประหารครั้งล่าสุดอย่างน่าแปลกใจว่า งานแปลของชาญวิทย์ เป็นงานประเภทจิตนิยม และพยายามสร้างตัวตนให้ผู้อ่านมีจิตวิญญาณอิสสระ เป็นพวกวีระชนเอกชน ซึ่งมีลักษณะเป็นปัจเจกนิยม และถึงที่สุดไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ทว่าสุชาติกลับไม่ได้มองว่าโจนาธานฯเป็นเช่นนั้น แต่กลับจุดเริ่มต้นของการนับหนึ่งของผู้แสวงหาเสียมากว่า ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net