Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


มีโยมหลายท่านขอความเห็นอาตมา เกี่ยวกับกรณีที่มหาเถรสมาคม ออกมาย้ำเรื่องที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุทำการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็น ภิกษุณี หรือ สามเณรี ก็ตาม โดยอ้างเอาประกาศของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 ที่ได้เคยออกคำสั่ง "ห้ามมิให้มีการบวชภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี" ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2471 (นานมาก) และยังไม่ได้ถูกยกเลิกมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่า ประกาศนี้ จะเกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ 2475 และก่อนการมีรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือปฏิบัติตามหลักของศาสนาแก่พลเมืองในประเทศอย่างบริบูรณ์ ซึ่งควรจะถูกยกเลิกและตกไปแล้วก็ตาม

ย้อนหลังสักนิดก็คือว่า ก่อนที่มหาเถรสมาคมจะออกมาพูดเรื่องนี้ มันมีที่มาจากการที่กลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง จัดให้มีการบวชภิกษุณีขึ้นที่ทิพยสถานภิกษุณีอาราม ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยได้นิมนต์ภิกษุณีสงฆ์และภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระมหินทวังสะ มหาสังฆนายก สังฆราชแห่งนิกายอมรปุระ (นิกายพม่า) ประเทศศรีลังกา เป็นประธาน มาเข้าร่วมในการทำสังฆกรรมครั้งนี้ ทั้งยังมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานฝ่ายฆราวาสด้วย ในขณะที่มหาเถรสมาคมไม่ได้รับเชิญ และบอกกล่าวให้ทราบถึงเรื่องนี้ พอมาทราบอีกที เขาก็บวชกันไปแล้ว และพระมหินทวังสะก็บินกลับประเทศศีลังกาไปแล้ว การที่มหาเถรสมาคมต้องออกมาพูดเรื่องนี้ ก็เพื่อไม่ให้เป็นการเสียหน้าเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่า จะออกมาช้าไปหน่อยเท่านั้นเอง

พูดถึงทรรศนะส่วนตัวของอาตมา ในเรื่องของการบวชภิกษุณีและสามเณรีนั้น ถ้าเอาความเห็นส่วนตัวก่อน ต้องบอกว่า เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจผู้หญิงมากที่ถูกกีดกันไม่ให้บวช จะด้วยอ้างเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ผู้หญิงเดี๋ยวนี้จำนวนไม่น้อย เขาต้องการที่จะบวช ต้องการป็นศาสนทายาท เป็นศากยธิดา เพื่อธำรงไว้ซึ่งพระศาสนา ไม่น้อยไปกว่าผู้ชายที่มีโอกาสได้เป็นศากยบุตร เขาต้องการห่มผ้ากาสาวพัตร์ที่พระพุทธองค์ทรงประทานอนุญาตให้ทั้งเพศชายและเพศหญิง มีสิทธิ์นุ่งห่มได้เสมอเหมือนกัน

นี่คือเรื่องที่เราควรจะหันมาทำความเข้าใจให้มาก มากกว่าเรื่องของการอ้างความขาดสูญไปแล้วแห่งภิกษุณีของเถรวาท ที่ศรีลังกา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าวิชัยพาหุ อะไรนั่น มากกว่าเรื่องของการอ้างความยุ่งยากในการบวชภิกษุณีตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมวินัย ที่ว่าผู้หญิงหากต้องการบวช ต้องเป็นนางสิกขมานา รักษาศีล 6 ข้อให้ครบถ้วนก่อน 2 ปี จึงจะบวชเป็นภิกษุณีได้ และต้องบวชจากสงฆ์ 2 ฝ่ายเท่านั้น คือทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมีภิกษุณีสงฆ์นี้ ภิกษุณีก็บวชได้จากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ประเด็นนี้ควรถูกนำมาพูด หากเราเห็นความสำคัญของการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ที่อ้างว่าขาดสูญไปแล้ว

เป็นเรื่องแปลกที่เรายอมรับพุทธดำรัสที่ว่า ภิกษุณีสงฆ์เป็นบริษัทหนึ่งในบรรดาบริษัทสี่ ที่มีส่วนสำคัญในการรักษาอายุของพระศาสนา แต่เราไม่ยอมรับหรือขวนขวายที่จะทำให้ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นมาได้อีกครั้ง ทั้งยังมีการกล่าวอย่างเกินจริงอีกว่า การพยายามให้มีภิกษุณีขึ้นมาใหม่ ทั้งทั้งที่ขาดสูญไปแล้วนั้น เป็นภัยต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา โดยการอ้างพุทธดำรัสที่ว่า ภิกษุณีเป็นเหตุแห่งการบั่นทอนอายุของพระพุทธศาสนา เรื่องของการพยายามปฏิเสธหรือแสดงท่าทีรังเกียจการบวชของผู้หญิงที่ขาดองค์ประกอบตามพระวินัยนั้น ไม่ได้มีแค่ในสมัยนี้เท่านั้น แม้ในสมัยพุทธกาล พระนางมหาปชาบดีเองที่กล่าวกันว่า เป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา ก็เคยถูกแสดงอาการรังเกียจเช่นนี้มาแล้ว เพราะพระนางบวชเป็นภิกษุณีผ่านการถือครุธรรม 8 ข้อ ที่พระพุทธองค์ประทานให้เท่านั้น เป็นเหตุให้ภายหลังพระนางถูกรังเกียจจากหมู่แห่งภิกษุณีด้วยกันว่า เป็นคนไม่อุปัชฌาย์ไม่มีอาจารย์ เพราะไม่ได้บวชจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย จนพระพุทธองค์ต้องทรงยืนยันความเป็นภิกษุณีของพระนาง และความเป็นอุปัชฌาย์ของพระองค์ด้วย

เป็นที่น่าเสียดายว่าพระรวมไปถึงคฤหัสถ์ที่เป็นนักวิชาการทางศาสนาของเถรวาท ยังคงมองเรื่องของภิกษุณีสงฆ์ที่ขาดสูญไปแล้วนั้น ว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้ เฉกเช่นเดียวกันกับไดโนเสาร์ที่ได้สูญพันธ์จากพวกเราไปแล้ว พวกเขามักจะอ้างถึงภิกษุณีสงฆ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบวชภิกษุณีที่ขาดหายอย่างสิ้นเชิงแล้วทุกครั้ง เมื่อเกิดการเรียกร้องจากผู้หญิงที่ต้องการได้รับโอกาสในการบวชเป็นภิกษุณีอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งเราอาจลืมมองไปว่าตลอดระยะเวลา 800 ปี ที่เรานับถือลังกาวงศ์ และเชื่อมั่นในเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ว่าผู้หญิงขาดภาวะในการที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ได้นั้น เราเอาเปรียบผู้หญิงมาโดยตลอด การกระทำเช่นนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการบวชของผู้หญิงนั้น เป็นไปในทางกีดกันและผลักไส มากกว่าที่จะเอื้อเฟื้อและกรุณา อย่างที่ได้เคยตรัสอนุญาตเอาไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี"

แม้ว่าในเมืองไทยจะไม่ได้มีภิกษุณีอย่างเป็นที่ยอมรับ หรือไม่ยอมรับการมีภิกษุณีในเถรวาท แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีการกล่าวถึงภิกษุณีในสมัยพุทธกาลของภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันนี้ การกล่าวถึงภิกษุณีที่ว่า ไม่ได้เป็นไปในทางอนุสรณ์ถึงคุณงามความดีที่ภิกษุณีสงฆ์เคยทำไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่น้อยไปกว่าอรหันตสาวกที่เป็นภิกษุสงฆ์ แต่มักเป็นไปในทางที่ดูหมิ่นในความเป็นนักบวชของผู้หญิงโดยอ้างพุทธดำรัสว่า ผู้หญิงแม้บวชเป็นภิกษุณีแล้วถึง 100 พรรษา มีศีลสิกขาถึง 311 ข้อก็ต้องกราบไหว้ภิกษุใหม่แม้ผู้บวชได้เพียงวันเดียว ภิกษุณีต้องเข้ารับโอวาทจากภิกษุ แต่ภิกษุไม่ต้องเข้ารับโอวาทจากภิกษุณี ภิกษุว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุณีได้ แต่ภิกษุณีว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุไม่ได้ เป็นต้น นี่อาจเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่ภิกษุณีไม่มีอยู่ในหมู่ภิกษุสงฆ์จนบัดนี้ ไม่เช่นนั้น อาจจะนับว่าเป็นความอาภัพก็ได้ หากภิกษุณีที่บวชแล้ว จะต้องคอยถูกภิกษุอลัชชี ซึ่งมีอยู่มากในปัจจุบันนี้ ดูหมิ่นรังแก

ในสังคมพุทธของเรา มักจะมีการกล่าวอ้างอยู่เสมอว่า ผู้หญิงแม้ไม่บวชเป็นภิกษุณีหรือสามเณรี ก็สามารถโกนผมนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล 8 เป็นแม่ชี ปฏิบัติธรรมได้เหมือนกัน อยากจะบอกว่า การกล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าวที่แห้งแล้งและอยุติธรรมอย่างที่สุด เพราะคนซึ่งมีสิทธิ์อยู่แล้ว ย่อมไม่มีทางเข้าใจคนที่ไม่มีสิทธิ์ เหมือนกับผู้ชายซึ่งมีสิทธิ์บวชได้ ย่อมไม่มีทางเข้าใจผู้หญิงซึ่งถูกกำจัดสิทธิ์ในการบวช ถ้าท่านสังเกต ท่านจะเห็นภาพชัดเจนเลย สมัยนี้ผู้หญิงแม้บวชเป็นชีได้ ก็ถูกเอาเปรียบสารพัด แม่ชีนี่ แม้จะได้รับการรองรับสถานะว่าเป็นนักบวช แต่ก็เป็นนักบวชชนิดที่ แร้นแค้น ไม่มีคนให้การอุปถัมภ์ค้ำชู เหมือนกับพระเณร มีก็แต่ต้องคอยช่วยเหลือกันเองตามมีตามได้

เราไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าผู้หญิงที่โกนหัวนุ่งขาวห่มขาวนั้น พวกเธอเข้ามาบวชเพราะอะไร เป็นอยู่หรือควรจะเป็นอยู่อย่างไร ได้รับการเหลียวแลจากรัฐหรือองค์กรทางศาสนามากน้อยแค่ไหน หลายคนเมื่อเข้ามาบวชเป็นชีแล้ว ก็ยังคงต้องมีสถานภาพเช่นเดิม ยังต้องทำงานรับใช้พระเณรไม่ต่างจากแม่บ้าน ถึงขั้นหุงหาทำกับข้าวให้ฉันก็มี ทั้งทั้งที่พระเณรสามารถบิณฑบาตฉันได้ แต่แม่ชีทำไม่ได้ ดังนั้นผู้หญิงส่วนมากที่เข้ามาบวช จึงมีสภาพไม่ต่างจากครึ่งนักบวชครึ่งฆราวาส คือจะเป็นฆราวาส ก็ไม่ใช่ จะเป็นนักบวช เขาก็ไม่ยอมรับ

หลายคนอาจไม่รู้ว่า แม่ชีหลายท่านมีศักยภาพทางด้านสติปัญญามากกว่าพระเณรด้วยซ้ำ ที่จบถึงบาลีศึกษา 9 ซึ่งเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ก็มี ที่จบระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นวิชาการทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะก็มี นี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นได้ชัดเลยว่า ผู้หญิงก็มีศักยภาพในการเป็นศาสนทายาท เป็นผู้รักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียน เห็นด้วยหรือเห็นชอบการกับบวชภิกษุณีและสามเณรีอย่างที่เป็นข่าวจนมหาเถรสมาคมต้องออกโรงมาพูด เพราะการบวชผู้หญิงนั้น ถึงทำได้จริง ก็ควรผ่านความเห็นชอบ ความตกลงขององค์กรทางศาสนาที่รัฐให้การรองรับซึ่งมีอำนาจในการรับผิดชอบดูแลโดยตรงเสียก่อน มิใช่ทำโดยพลการ หรือทำกันเอง ตามความพอใจ โดยที่องค์กรทางศาสนา ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ถึงบวชเข้ามาได้ ก็ต้องประสบปัญหากับความยุ่งยากอีกหลายประการ

ผู้เขียนอยากแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเห็นความสำคัญของการมีภิกษุณีสงฆ์ ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในสี่บริษัทสำคัญที่มีหน้าที่ในการค้ำจุนและขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ไม่น้อยไปกว่า การที่เราให้ความสำคัญและฝากความหวังไว้กับภิกษุบริษัท เห็นศักยภาพในตัวของผู้หญิงที่มีไม่น้อยกว่าผู้ชาย เห็นความจริงใจและมุ่งมั่นของพวกเธอที่ต้องการได้รับโอกาสในการเป็นศาสนทายาท อย่างที่มหายานเขาเห็น มหายานเขาก็เอาไปจากเรา เอาภิกษุณีสงฆ์ไปจากลังกาทวีป แล้วเขาก็ยกย่องผู้หญิง มีพระโพธิสัตว์ที่เป็นเพศหญิงอยู่หลายองค์ อย่างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของเจ้าแม่กวนอิม นี่ก็ของมหายานเขา เราเองก็ไปรับเอาความเชื่อของเขามาเหมือนกัน มีการกราบไหว้บูชาพระโพธิสัตว์องค์นี้ จะโดยรู้เท่าทันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

ถ้าเราเห็นแบบนี้ เราควรจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันอย่างจริงจังและเป็นธรรมเสียที โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของพุทธบริษัทหลายหลายฝ่าย เพื่อหาทางออกอันเป็นข้อยุติเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยการปรึกษาตกลงกันเองเฉพาะคณะสงฆ์เท่านั้น เพราะนั่นดูเป็นเรื่องที่อยุติธรรมไปหน่อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ โดยเฉพาะก็มหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎระเบียบต่างๆ หรือมหาเถรสมาคมซึ่งประกอบด้วยพระมหาเถระเพียงไม่กี่รูป แต่ต้องคอยดูแลรับผิดชอบการพระศาสนาทั้งประเทศ จะเห็นว่า แค่ปัญหาของภิกษุสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ก็มากเกินที่จะแก้ไขเยียวยาและดูแลได้อย่างทั่วถึงได้แล้ว หากปล่อยให้มีภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นอีกคงยุ่งยากและวุ่นวายกันไปใหญ่ การพระศาสนาในเมืองไทยคงไปไม่รอดแน่ หากพระเดชพระคุณท่านมองกันแบบนี้ การหวังจะมีภิกษุณีอย่างเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน บนผืนดินไทย อันได้ชื่อว่า เป็นแผ่นดินธรรม ก็คงมีแต่ เอวํ อย่างเดียว

 

ที่มา: เฟซบุ๊กพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net