Skip to main content
sharethis

17 ธ.ค.2557 ที่ศาลแขวงดุสิต มีการนัดสอบคำให้การคดีที่นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยณัฐได้ถอนคำให้การและยอมรับสารภาพ ศาลสั่งให้มีการสืบเสาะพฤติการณ์จำเลย โดยให้พนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลภายใน 30 วัน นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 ม.ค. 2558 เวลา 9.00 น.

ทนายของณัฐกล่าวว่า เหตุที่คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลอาญา ไม่ใช่ศาลทหารเนื่องจากคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช.ฉบับที่มีชื่อณัฐนั้นออกมาก่อนที่จะมีคำสั่งให้การกระทำผิดลักษณะนี้ต้องขึ้นศาลทหาร  นอกจากนี้ทนายความยังแสดงความกังวลกรณีที่อัยการได้ขอให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษจำเลยด้วย โดยอ้างว่าณัฐมีคดีเก่าคือ คดี 112 และเพิ่งพ้นโทษมายังไม่เกิน 5 ปีแล้วไปกระทำผิดซ้ำอีก

รายงานข่าวแจ้งว่า ณัฐทำงานเป็นพนักงานขายในร้านขายเครื่องสุขภัณฑ์ รายได้วันละ 350 บาท ชื่อของเขาอยู่ในคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. ฉบับที่ 5/2557 วันที่ 24 พ.ค.2557 ต่อมาเขาถูกจับกุมที่บ้านพักในเวลาราว 1.00 น.ของวันที่ 7 มิ.ย.57 จากนั้นถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วันก่อนจะปล่อยตัวและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

ณัฐ คืออดีตผู้ต้องโทษในคดี 112 ในปี 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 9 ปีจากกรณีส่งอีเมล์เข้าข่ายหมิ่นให้นายอีมิลิโอ เอสเทแบน (Emilio Esteban)  ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่สเปน แต่เนื่องจากรับสารภาพ โทษจำคุกจึงเหลือ 3 ปี 18 เดือน จากนั้นระหว่างถูกคุมขังเขาได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวาระพิเศษต่างๆ รวมถึงเป็นนักโทษชั้นดีที่ได้รับลดวันต้องโทษ ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนด วันที่ 19 เม.ย.2555 รวมระยะถูกคุมขัง 2 ปี 4 เดือน จากนั้นก็ออกมารับจ้างเป็นล่าม และทำธุรกิจทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเป็นลูกจ้างตามร้านขายของ

ณัฐเคยให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษชนว่า ในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนั้น เขาถูกใช้ผ้าปิดตาและควบคุมตัวในบ้านหลังหนึ่งคาดว่าในค่ายทหาร มีการสอบสวนหลายครั้งนอกรอบ แต่ในการสอบสวนอย่างเป็นทางการซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน คำถามหลักที่เจ้าหน้าที่ต้องการทราบคือเรื่องการสนับสนุนเงินแก่นักโทษการเมือง และการรวมตัวกันของอดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่มักไปพบปะกันตามงานต่างๆ แล้วถ่ายรูปร่วมกันสร้างความไม่พอใจกับหน่วยงานความมั่นคง แต่เขาระบุว่าเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวหลังจากรู้จักกันในเรือนจำและไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net