คกก.สื่อมาเลเซีย ฟ้องสถานีวิทยุหลังนักวิชาการวิจารณ์กรณีคำว่า 'อัลเลาะห์'

คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย ฟ้องเรียกค่าปรับสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟ 10,000 ริงกิต หลังจากที่นักวิชาการชาวมุสลิมวิจารณ์กรณีศาลอุทธรณ์มาเลเซียสั่งห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมใช้คำว่า "อัลเลาะห์" บอกเผยแพร่เนื้อหาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจพิจารณา

17 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวมาเลเซียอินไซเดอร์รายงานว่า คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย (MCMC) ฟ้องร้องสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟ เรียกค่าปรับเป็นเงิน 10,000 ริงกิต (ราว 330,000 บาท) จากกรณีที่เรซา อัสลาน นักวิชาการด้านศาสนาชาวมุสลิมให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์ที่ศาลมาเลเซียสั่งห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมใช้คำว่า "อัลเลาะห์" และเรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาการตัดสินใจเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2556

คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซียอ้างว่าสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟละเมิดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตพิเศษของผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอปพลิเคชัน (CASP-1) ตามกฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 ซึ่งระบุเงื่อนไขให้การออกอากาศเนื้อหาทั้งรายการสดและรายการที่เก็บไว้เผยแพร่ทีหลังต้องได้รับอนุญาตจากผู้ตรวจสอบเนื้อหาก่อน

นอกจากนี้ สถานีบีเอ็มเอฟยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 หมวด 206(3) ซึ่งระบุถึงการห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของใบอนุญาต เว็บไซต์มาเลเซียอินไซเดอร์ระบุว่าพวกเขาไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าทางสถานีละเมิดใบอนุญาต CASP-1 ในแง่ใด

แต่เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการ MCMC ของมาเลเซียได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟว่า มีการฟ้องร้องเนื่องจากสถานีบีเอ็มเอฟ 89.9 นำเสนอเนื้อหาที่อยู่นอกขอบเขตความเป็นสื่อธุรกิจ และการบันทึกเทปรายการไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการพัฒนาศาสนาอิสลามของมาเลเซีย (JAKIM) โดยอ้าง "ประมวลกฎหมายด้านเนื้อหา" ของสภาเนื้อหาของสื่อและสื่อผสม (CMCF) ที่บีเอฟเอ็ม 89.9 เป็นสมาชิก ซึ่งระบุให้ผู้เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานศาสนาของทางการก่อนการเผยแพร่

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้ปรับเงินสถานีวิทยุสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวมาเลเซียซึ่งมองว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ มีชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งเดินขบวนรอบสถานีวิทยุและบอกว่าจะร่วมกันช่วยเหลือค่าปรับให้แก่สถานีเป็นเงินคนละ 10 ริงกิต (ราว 330 บาท)

สิ่งที่เรซา อัสลาน กล่าววิพากษ์วิจารณ์คือกรณีที่ศาลอุทธรณ์สั่งห้ามไม่ให้โบสถ์ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกใช้คำว่า "อัลเลาะห์" ซึ่งเป็นคำเรียกพระเจ้าในภาษาอาหรับ อัสลานกล่าวอีกว่าชาวคริสต์ในตะวันออกกลางก็ใช้คำว่า "อัลเลาะห์" เวลาเอ่ยถึงพระเจ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ถือเป็นการคุกคามศาสนาอิสลาม อัสลานยังเคยระบุในหนังสือที่เขาเขียนว่าตามประวัติศาสตร์แล้วคำว่า "อัลเลาะห์" เป็นคำที่มีที่มาดั้งเดิมหมายถึงพระเจ้า การบอกว่าอัลเลาะห์เป็นพระนามของพระเจ้าเป็นความคิดที่ขัดกับหลักคัมภีร์อัลกุรอาน

 

เรียบเรียงจาก

BFM Radio fined RM10,000 over Reza Aslan ‘Allah’ interview, The Malaysian Insider, 16-12-2014
http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/bfm-radio-fined-rm10000-over-reza-aslan-allah-interview

Authorities deny religious issues as reason for its action against BFM, The Malaysian Insider, 17-12-2014
http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/authorities-deny-religious-issues-as-reason-for-its-action-against-bfm#sthash.arokZ7ea.dpuf

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

เว็บไซต์กฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 ของมาเลเซีย
COMMUNICATIONS AND MULTIMEDIA ACT 1998 [ACT 588], MCMC
http://www.skmm.gov.my/Legal/Acts/Communications-and-Multimedia-Act-1998-Reprint-200.aspx

http://en.wikipedia.org/wiki/Reza_Aslan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท