ร้องผู้ว่าเชียงใหม่ เข้ม! ขจัดขบวนการนายหน้าหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

18 ธ.ค. 2557 ในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธ.ค. ของทุกปี เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มแรงงานงานข้ามชาติ ได้แก่ กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN), เครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่ (SWAN), Shan Youth Power (SYP) และมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) เสนอแนวทางการส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจนและเข้มงวด เพื่อขจัดขบวนการนายหน้าที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติในการขึ้นทะเบียนแรงงานโดยไม่มีกิจการจริง และเข้มงวดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงสร้างกระบวนการในการตรวจสอบการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ในระดับจังหวัด โดยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งต้องมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ องค์กรแรงงานในพื้นที่รวมถึงตัวแทนของนายจ้างด้วย

นอกจากนี้ มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคของการผลิต รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบ หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีของระบบประกันสังคมได้อย่างครบถ้วนและเท่าเทียม

 

00000

วันที่ 18 ธันวาคม 2557

เรื่อง ขอยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ
เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ / คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrant Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว24 ปีนับแต่การจัดทำอนุสัญญาฯ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติโดยส่วนใหญ่ยังห่างไกลจาก “การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและ สิทธิแรงงาน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติ ยังคงประสบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนการขออนุญาตทำงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ปัญหาความล่าช้าในขั้นตอนการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ เกิดกระบวนการนายหน้าและบริษัทนายหน้าเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ สูงกว่าค่าใช้จ่ายจริงที่หน่วยงานราชการเรียกเก็บนายจ้างส่วนใหญ่ยึดหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานของแรงงานไว้

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติที่ได้รับวีซ่าทำงานในประเทศไทยครบ 4 ปีแล้ว จำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการต่อใบอนุญาตทำงาน ทำให้ส่วนหนึ่งได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียน ณ ศูนย์ One Stop Service ตามนโยบายใหม่ของ คสช. ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติต้องเสียโอกาสการเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานข้ามชาตินั้น ยังพบปัญหาว่า นายจ้างซึ่งมีหน้าที่นำแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานประกันสังคม แต่กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเองก็ไม่ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อนายจ้างอย่างเข้มงวด ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง และกฎหมายประกันสังคมยังไม่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม และ แม่บ้าน/ทำงานบ้าน ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมทั้ง 7 กรณีได้ครบถ้วน

ดังนั้น ในวันแรงงานข้ามชาติสากล ปี 2557 นี้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มแรงงานงานข้ามชาติ ได้แก่ กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF.) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN), เครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่ (SWAN), Shan Youth Power (SYP) และมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง(EMPOWER) จึงขอเสนอแนวทางการส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดังนี้

ส่วนที่ 1 ข้อเสนอแนะต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ข้อ 1 ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจนและเข้มงวด เพื่อขจัดขบวนการนายหน้าที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติในการขึ้นทะเบียนแรงงานโดยไม่มีกิจการจริง เพื่อแก้ไขปัญหานายจ้างที่จ้างงานและจ่ายค่าจ้างไม่ได้เป็นนายจ้างตัวจริง นายจ้างตัวจริงคือนายหน้าที่ไม่ได้มีกิจการจริง จึงไม่นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เสียโอกาสในการเข้าสู่ระบบประกันสังคม

ข้อ 2 ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้มงวดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นย้ำให้ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งการส่งเสริมสิทธิแรงงาน การนำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม และให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ

ข้อ 3 ขอให้จังหวัดเชียงใหม่สร้างกระบวนการในการตรวจสอบการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ในระดับจังหวัด โดยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะกรรมการในระดับจังหวัด ที่ทำหน้าที่ในการจัดการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ องค์กรแรงงานในพื้นที่รวมถึงตัวแทนของนายจ้างด้วย

ส่วนที่ 2 ข้อเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
ข้อ 1 ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคของการผลิต เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันยังมีข้อยกเว้นอยู่ ส่งผลให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและแรงงานทำงานบ้านไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้

ข้อ 2 ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบ หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีของระบบประกันสังคมได้อย่างครบถ้วนและเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท