Skip to main content
sharethis

เกษียร เตชะพีระ ชี้งาน “นิธิ” เป็นคู่มืออ่าน วัฒนธรรมไทย พร้อมเผยคนชั้นกลาง และชนชั้นนำไม่ยอมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม พยายามตรึงรั้งมโนทัศน์เก่าอยู่เสมอ และก้าวเดินสู่สังคมไร้อำนาจนำ

 

หมายเหตุ. นี่เป็นรายงานเสวนาฉบับเต็มของเกษียร เตชะพีระ ในงานเสวนาหัวข้อ “นิธิ 20 ปีให้หลัง” และงานเปิดตัวหนังสือพิมพ์ซ้ำ 4 ปก อันประกอบด้วย “กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย” , “โขน, คาราบาว, น้ำเน่าในหนังไทย” , “ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” และผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ โดยกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ที่อาคารมติชนอคาเดมี ซึ่งจัดขึ้นโดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน และมติชนอคาเดมี ประชาไทนำเสนอโดยละเอียด

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก  Prince Juthamas

ก่อนมามติชนได้ยินข่าวลือว่าขาดทุน มีโครงการให้พนักงานออก ใจตุ๋มๆ ต่อมๆ แต่มาถึงก็สบายดี พนักงานก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้คนอุ่นหนาฝาคั่ง พูดตรงๆ ที่ผ่านมาเราเจอ กปปส.เข้า เจอ คสช.เข้า ใครบ้างไม่ขาดทุน มีกิจการไหนบ้างที่ไม่ขาดทุน หายากมาก แต่ขาดทุนแล้วยังยืนอยู่ได้และยังมีความหวัง ยังเชื่อว่ามติชนจะอยู่รอดหลัง กปปส.และคสช.เป็นอดีตไปแล้ว

นอกจากยินดีที่ได้มาเยี่ยมมติชน ก็ชอบมากที่ชวนให้ขึ้นมาพูดเรื่องอาจารย์นิธิ อีกทั้งยังเป็นหนังสือที่ผมเขียนคำนำให้เมื่อ 20  ปีก่อน อ.นิธิเป็นปัญญาชนผู้ปรับทัศนติของสังคมวัฒนธรรมไทยไปอย่างใหญ่หลวงที่สุด ไอ่ที่คสช.พยายามจะปรับทัศนคตินี่ (หัวเราะ) ให้เซ็นอะไรก็ต้องไปเซ็นไปนะ แต่ถ้าจะหาคนที่ปรับทัศนคติของสังคมวัฒนธรรมไทยอย่างใหญ่หลวงที่สุดในรอบทศวรรษล่ะก็ เขานั่งอยู่ตรงนี้ (ผู้ฟังปรบมือ) คิดอย่างนี้ดูแล้วกัน อีก 20 ปีข้างหน้า ปี 2578 ใครบ้างจะยังจำค่านิยม 12 ประการของ คสช.ได้ ทุกวันนี้ผมยังจำไม่ได้เลย (หัวเราะ)

ผมเข้าใจว่าผมควรโฟกัสไปที่รวมบทความของอ.นิธิ เล่มที่ผมเขียนคำนำให้ก็คือ “ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น และกางเกงใน” แล้วก็จะคิดถึงมันและพยายามขยายเชื่อมโยงไปถึงภาพที่กว้างขึ้นหรืองานเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง ผมแบ่งการพูดเป็นสองส่วนหยาบๆ  ส่วนแรก อยากจะเริ่มว่าเมื่อ 20 ปีก่อนผมเข้าใจว่าเนื้อหาใจความสำคัญที่อ.นิธิฝากไว้มีอะไรบ้าง และส่วนหลังนั้นอยากจะมองตามมาว่าเมื่อเราคิดถึงข้อคิดของอ.นิธิประเด็นมันมีอะไรบ้าง แต่เพื่อตอบอ.ประจักษ์ว่า 20 ปีให้หลังมานี้งานอ.นิธิเชยไปแล้วไหม คือ ไม่เชยเลย เพราะอ.นิธิไม่หยุด ถ้าไปดูงานอ.นิธิใน 20 ปีให้หลังจะเห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนทัศนคติความคิดให้ไล่เท่าทันสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา พูดอย่างเปรียบเทียคือ จ๊าบได้ตลอด สำหรับคนที่จะว่าไปก็รุ่นปู่แล้ว (หัวเราะ)

นิธิ กับการอ่านวัฒนธรรมไทย

ผมอยากจะจับประเด็นสำคัญก่อนว่าถ้าเรานึกถึงงานผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงในของอาจารย์ เรื่องสำคัญก็คือการอ่านวัฒนธรรมไทยของอ.นิธิ เนื้อหาในเล่มพูดตรงไปตรงมาก็คือ วัฒนธรรมไทยกับความเป็นไทย ฐานะของหนังสือเล่มนี้คืออะไร มันเป็นคู่มือในการอ่านวัฒธรรรมไทยร่วมสมัย ทีนี้เวลาอ่านวัฒนธรรมไทยจะอ่านเข้าไปตรงไหน อะไรคือแก่นของวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าเป้าการอ่านของอ.นิธิคือไวยกรณ์การคิดทางวัฒนธรรม มันก็เหมือนภาษา ภาษาก็จะมีแกรมม่ากำกับ อ.นิธิพยายามจับว่าอะไรคือไวยกรณ์ความคิดทางวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องลึก เบื้องหลังของสังคมไทย ถ้าคิดอย่างนี้ บทบาทของอ.นิธินั้นเป็นทั้งอารักษ์และเป็นทั้งล่าม เป็นอารักษ์ในความหมายที่ว่าเป็นคนที่จดบันทึกวัฒนธรรมไทยในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วก็เป็นล่ามที่ช่วยแปลความหมายให้คนไทยได้คุยกับคนไทยด้วยกัน ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าคนไทยมีความแตกต่างหลากหลายมาก อาจจะมองต่างกันจนกระทั่งขัดแย้งกันจนอาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ผมคิดว่าพยายามของอ.นิธิช่วยแปลความหมายให้คนไทยที่อาจจะต่างถิ่นกัน ต่างเวลา ต่างกลุ่มกันได้คุยกันรู้เรื่อง รวมทั้งเป็นล่ามแปลให้เราได้คุยกับตัวเราเองด้วย ในความหมายที่ว่าชิ้นส่วนบางอย่างในไวยกรณ์การคิดทางวัฒนธรรมนของเรานั้น เราไม่รู้หรอกว่ามันมาจากไหน เวลาอ่านงานของอ.นิธิมันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ไอ่ชิบหาย ความคิดแบบนี้มันมาจากตรงนี้เอง หรือทำให้เราเริ่มเห็นว่าทำไมเราไม่คิดไปในแบบนั้น อะไรเป็นตัวที่สกัดหรือล็อคมันอยู่ นี่คือประโยชน์สำคัญที่ได้จากงานที่อ.นิธิทำ

วิธีการอ่านของอาจารย์ก็เป็นการมองแบบเปรียบเทียบเชิงประวัติศาสตร์ และอาศัยความรู้ทางมานุษยวิทยามาช่วยจับ วิธีการของอาจารย์มีลักษณะทางมนุษยวิทยามากทั้งที่อ.ไม่ได้ฝึกมาทางนั้น และมีลักษณะสัมพัทธ์ คือไม่สมบูรณ์ ไม่แน่นอน ตายตัว มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ของทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

อ่านเข้าไปอีกไวยากรณ์อะไรที่สำคัญ อะไรที่เป็นการค้นพบเมื่ออ่านงานอ.นิธิ อ.ชี้ให้เห็นถึงวาทกรรมความเป็นไทย 3 แบบ คล้ายการคุยหรือสนทนาเรื่องความเป็นไทยในสังคมบ้านเรา ไปนั่งแยกแยะดูดีๆ

อันแรกคือ ความเป็นไทยในจินตการ คือมโนว่าความเป็นไทยเป็นแบบนี้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัชการที่ 5 ทั้งที่เอาเข้าจริงเราไม่เคยเป็น ผมเรียกความเป็นไทยแบบนี้ว่า The Imaginary Thainess คือความเป็นแบบมโนว่าชิบหายแต่ก่อนคนไทยเป็นแบบนี้ทั้งที่ไม่เคยเป็น แต่เราเสือกเชื่อว่าเป็น

อันที่สองคือ ความไม่เป็นไทยหรือเป็นอื่น ส่วนหนึ่งของความเป็นไทยคือเราไม่อยากเป็นไทยเท่าไร เราไม่อยากเป็นไทยเท่าไร เราอยากเป็นสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน อเมริกา อังกฤษ อยากหลุดให้พ้นอะไรบางอย่างในสังคมไทยที่เราไม่ชอบแล้วไปเป็นโลกาภิวัตน์ ไปเป็นเจริญ ไปเป็นก้าวหน้า ไปเป็นพัฒนา ผมรวมเรียกอันนี้ว่า ความไม่เป็นไทยหรือเป็นอื่นในฝันที่เราไม่ได้เป็น และอาจจะไม่มีวันเป็น แต่มันเป็นความฝันที่เกาะกุมความคิดจิตใจเราและหลอนเรา ให้คนไทยจำนวนมากนึกอยากจะเป็นไอ้นั่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผมเรียกว่า The Symbolic Un-thainess ความไม่เป็นไทยหรือเป็นอื่นในเชิงสัญลักษณ์

อันที่สาม ซ่อนแฝงอยู่และอ.นิธิเป็นคนแรกที่หยิบเอามาอภิปรายให้เราเห็น คือ ความเป็นไทยที่เป็นจริง ความเป็นไทยที่เราเป็นอยู่จริง ผมคิดว่าเจ๊กปนลาว คนจำนวนมากเป็นคนอีสาน คนเชื้อสายลาว มันเป็นความเป็นจริงในประเทศเรา แต่เป็นความเป็นไทยที่ถูกกลบเกลื่อน กดทับไว้ เราไม่พูดถึงมันราวกับมันไม่มีอยู่จริง มันถูกกลบเกลื่อนไว้ด้วยความเป็นไทยสองแบบแรก ความเป็นไทยที่เป็นจริงมันถูกความเป็นไทยในจินตนาการและความเป็นอื่นที่เราฝันกลบเกลื่อนกดทับไว้ ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจตัวเอง สังคมไทยขาดความสามารถที่จะเข้าใจตัวเองที่เป็นจริงได้ เพราะถูกหลอนถูกมโนเอาไว้ด้วยความเป็นไทยในจินตนาการและความไม่เป็นไทยในฝัน เมื่อถูกกดทับเยอะๆ สิ่งที่คนไทยแสดงออกและอาจารย์นิธิได้บอกไว้คือ การฆ่าตัวตายทางวัฒนธรรม หรืออัตวิบากกรรมทางวัฒนธรรม คือ อาการมันออกแบบนี้ มีอาการอายและเกลียดตัวเองที่ดันเกิดมาเป็นคนไทยซึ่งไม่เหมือนอุดมคติความเป็นคนไทยในอดีตของนักอนุรักษ์นิยมที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง ชิบหาย กูมีตัวตนแบบนี้ เป็นเจ๊กปนลาวหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วมันไม่ตรงกับความเป็นไทยในจิตนาการ เกลียดตัวเองที่ไม่เป็นไทยแบบนั้น อันนี้ชิบหายแล้ว ตื่นเช้ามาโบยตีตัวเองก่อน ทำไมกูไม่เป็นไทยให้มากกว่านี้ๆ และไม่เทียมทันความไม่เป็นไทยในอนาคตของนักพัฒนาที่อาจไม่มีวันเป็นไปได้ มันถูกหลอนโดยความเป็นไทยที่ฝันว่าจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่น พัฒนา นิกส์ หรืออะไรอย่างอื่น แล้วปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองเป็นในปัจจุบัน อายที่ตัวเองเป็นแบบนี้ เกลียดที่ตัวเองเป็นแบบนี้

ไม่เพียงแต่อายและเกลียดตัวเองที่เป็นคนไทยแล้วไม่เข้าแก๊ปแบบที่อยู่ในจิตนาการหรือความฝัน แต่ยังอายและเกลียดตัวเองในแง่ความเป็นมนุษย์ อายและเกลียดตัวเองที่ดันเป็นมนุษย์ซึ่งในด้านที่ใฝ่ต่ำ ขี้เหม็น เห็นแต่ตัวเอง โง่ งี่เง่าและเงี่ยนด้วยซ้ำไป มนุษย์มันก็เป็นแบบนี้ แต่บางทีเราถูกโบยตีทางวัฒนธรรมว่ามนุษย์ในแง่ที่เรามีบางด้านมันผิด เราเป็นมนุษย์อย่างนี้แหละ เราใฝ่หาความสุขความพอใจของตัวเอง อยากได้ใคร่ดีและเห็นแก่ตัว อยากเห็นความพินาศที่ตัวเองไม่ชอบเพื่อบำเรอความสุขอย่างหยาบของตัวเอง บางทีผมอ่านประโยคนี้แล้วทำให้เห็นว่าคำที่ท่านประวิตรบอกว่า คิดต่างได้แต่ห้ามแสดงออก มันก็มีประเด็นนี้อยู่นะ ผมคิดว่าถ้าผมจะแสดงออกทุกอย่างที่ผมคิดเวลาที่ผมดูทีวีหรือรายการข่าวนี่ชิบหายนะ (หัวเราะ) เพราะในระหว่างที่เราดูข่าวเราคิดอะไรบ้าง (หัวเราะ) เชื่อและคาดหวังอย่างไม่มีเหตุผลอย่างงมงาย เพื่อปลอบประโลมใจตนเองให้ผ่านพ้นความทุกข์ยากของโลกนี้ไปเป็นครั้งคราว มีความต้องการจริงในโลกที่เปลี่ยนแปลงวูบวาบหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย มีอารมณ์ความรู้สึกซึ่งอาจจะโง่ ไร้เหตุผล เปียกชุ่มด้วยกิเลส คนมันเป็นแบบนี้ แน่นอน คนมันไม่ได้มีแค่นี้ มันมีแง่งาม แง่ที่อยากจะก้าวไปสู่อรหันตผลด้วย แต่มันมีด้านมืด ด้านต่ำ ปัญหาที่เราจะจัดการกับความเป็นคนด้านมืด ด้านต่ำก็คือ ยอมรับซะ รู้จักมันซะว่ามันเป็นยังไงจริงๆ จะได้จัดการมันได้อยู่ แต่ผมเกรงว่าสิ่งที่อาจารย์นิธิเสนอกับวัฒนธรรมไทยที่เรียนรู้กันมามันกดทับปิดด้านนี้ไว้เหมือนกับว่ามันไม่มี ทำให้เราอายและเกลียดตัวเองในด้านที่เป็นจริงของเราด้านนั้น ไม่มีวิธีการที่จะไปจัดการมัน อันนี้จึงทำให้ผมคิดถึงกลอนของพี่สุจิตต์ (วงษ์เทศ) ที่ว่า “คนทั้งโลกมองเห็นเป็นสีดำ แต่เจ้ากรรมมองเป็นสีขาว ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว ไม่เหมือนชาวโลกนี้ที่เป็นคน” บางทีความเป็นไทยที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ทุกวันนี้มันใช่ไทยจริงหรือเปล่า ใช่ความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่เราเป็นอยู่จริงๆ หรือเปล่า

อย่างนั้นทางออกคืออะไร เมื่อ 20 ปีก่อนอ.นิธิได้นำเสนอทางออกซึ่งถ้าพูดเป็นคำขวัญสรุปรวบยอดก็คือ “คืนวัฒนธรรมให้แก่คน คืนคนให้แก่วัฒนธรรม” ก็คือ ไม่ต้องอายและเกลียดตัวเองที่เป็นคนไทยและมนุษย์อย่างที่มันเป็นจริง พูดให้ถึงที่สุด สิ่งที่นิธิทำเท่าที่ผมเข้าใจคือ การให้ชื่อ ให้เสียง กับสิ่งที่รอคำ ให้ความเป็นธรรมดาธรรมชาติแก่สิ่งที่เราเป็นจริง ไม่ว่าในฐานะคนไทยหรือมนุษย์ ช่วยให้เราปลดปล่อยตัวเองจากความอายและความเกลียดตัวเอง ให้เรากลับภาคภูมิใจในคุณค่าในศักดิ์ศรีของตัวเอง ได้รู้จักตัวเองทั้งด้านดีด้านเลว จุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อจะสามารถฝึกฝนขัดเกลาจัดการตัวเอง เป็นการคืนวัฒนธรรมให้แก่คน และคืนคนให้แก่วัฒนธรรม อันเป็นกระบวนท่าการอ่านวัฒนธรรมไทยที่ปลดปล่อยคนอ่านออกจากกล่องกรอบที่จำกัดรัดรึงตัวไว้ให้เป็นอิสระเสรีที่สุด

ถ้าจะแถมก็คือว่า ต้องทำให้กระบวนการนิยาม สร้างสรรค์และปรับเปลี่ยนความเป็นไทยนั้นเป็นไปโดยเสรีประชาธิปไตย แทนที่การครอบงำโดยรัฐและการล่อใจโดยตลาด สิ่งที่เราต้องการเพื่อผดุงวัฒนธรรมไทยคือการสนทนากันอย่างสันติและเสรีบนพื้นฐานอำนาจที่เท่าเทียมและความรู้เท่าทันระหว่างคนไทยทุกเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา เพศและฝ่าย นี่คือข้อประมวลที่ผมเก็บได้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

20 ปีให้หลังของนิธิ

ทีนี้ 20 ปีให้หลังเป็นยังไง ผมคิดว่าอยากจะเริ่มด้วยเรื่องเล่า 3 เรื่อง คือ ประสบการณ์ส่วนตัวของผม ลูกเจ๊กเมืองกรุง เรื่องเล่าของอาจารย์คริส เบเกอร์ ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคำบ่นของอาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน ซึ่งเป็นครูสอนหนังสือผมและเชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทย

ผมนึกถึงตัวเองตอนก่อน 14 ตุลา 16  ที่ได้สัมผัสกับความคิดที่ก้าวหน้า ก่อนหน้านั้นผมเรียนเตรียมฯ และไปเรียนธรรมศาสตร์ ก็นั่งรถเมล์ไป เหมือนคนทั้งหลายที่นั่งรถเมล์ และหลัง 14 ตุลาก็จะเห็นชาวบ้านตาสีตาสา ใส่เสื้อม่อฮ่อม หิ้วตระกร้า ขึ้นรถเมล์มาเพื่อจะไปประท้วงรัฐบาล ระหว่างที่ผมใส่ชุดนักศึกษาหรือใส่ชุดนักเรียนแล้วเห็นคนเหล่านี้ พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า คนจากชนบทเหล่านี้เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะมีอะไรให้ผมเรียนรู้ มีอะไรที่จะมาสอนผม ชีวิตผมอย่างที่ดำเนินมาและเรียนมาและอยู่ในกรุงเทพฯ ผมคิดไม่ออกเลยว่ามีอะไรที่พวกเขาจะประสบ ผมอดคิดไม่ได้ว่าลูกเจ๊กเมืองกรุงคิดแบบนั้น ผมมาเปลี่ยนความคิดเมื่อผมเข้าป่าหลัง 6 ตุลา พอเข้าป่า คิดดูแล้วกันจากเยาวราชไปสู่อีสานใต้ ก็เป็นนักเรียนน้อยเปิ่นเซ่อ ทื่อมะลื่อ ไม่รู้ประสา(ห่า)อะไรเลย ไม่รู้จักต้นมันสำปะหลัง แยกไม่ออกระหว่างต้นกล้าข้าวกับต้นหญ้า ผมเดินต้อนควายด้วย จัดตั้งให้ผมต้อนควาย ผมต้อนควายทั้งฝูงลงไปกินกล้าข้าวเพราะนึกว่าเป็นหญ้า แล้วสหายก็วิ่งตามไป “บ่แม่น บ่แม่น” ผมไม่รู้จักต้นไม้สัตว์ป่านานาชนิด หว่านข้าว ไถนา เลี้ยงควาย เกี่ยวข้าว ตำข้าว ทำไม่เป็นทั้งนั้น หลงทางประจำ เมื่อไรเข้าป่าก็หลงต้องจับตาดูให้ดี เดี๋ยวมันหายไปอีกแล้ว เว้าลาวก็บ่เป็น ถูกหัวเราะเยาะ ต้องเรียนรู้หัดเอาจากใคร จากตาสีตาสายายมียายมาสหายชาวนาที่ผมเคยคิดว่าคงไม่มีอะไรให้เรียนรู้ ผมคิดว่านี่เป็นประสบการณ์ที่ healthy มาก ดีมากสำหรับสุขภาพสมองและสุขภาพใจของลูกเจ๊กเมืองกรุงที่ได้พาตัวเองเข้าป่าไปตกในสภาพช่วยอะไรตัวเองไม่ได้ในทางวัฒนธรรม ต้องถ่อมตัวเรียนรู้จากผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด จะได้เข้าใจว่ามีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะในโลก ไม่อวดวิเศษ ดูถูกคนอื่นและโง่เขลา

เรื่องที่สองเป็นเรื่องเล่าที่อ.คริส เบเกอร์ เล่าในหอเล็กในงานสัมมนาที่ท่าพระจันทร์ อาจารย์เล่าถึงเหตุการณ์หลังจากที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องเสื้อสี บรรดาคนรวยทั้งหลายในเมืองไทยก็เดือดร้อน ชิบหาย อนาคตบ้านเมืองจะเป็นยังไง ก็เชิญนักวิชาการมือหนึ่งที่วิเคราะห์เรื่องนี้เยอะอย่างคุณคริสและอ.ผาสุกไปคุยให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรื่องเล่าที่คุณคริสวิเคราะห์ให้พวกเขาฟังถึงความเปลี่ยนแปลงในชนบท เรากำลังพูดถึงที่ประชุมที่เต็มไปด้วยนายธนาคารใหญ่ บิ๊กๆ ทั้งหลายของเมืองไทย พอคุณคริสเล่าจบก็เปิดให้ตั้งคำถามหรือคอมเม้นต์ พอคุณคริสเล่าจบก็มีนายธนาคารใหญ่คนหนึ่งพูด แม้จะเป็นคนไทยแต่ที่ประชุมพูดภาษาอังกฤษ แกบอกว่า Now I know what the problem is ผมรู้แล้วล่ะว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน The problem is they know us but we don’t know them ปัญหาก็คือคนชนบทในเมืองไทยทั้งหลายรู้จักเข้าใจอิลีทในกรุงเทพฯ แต่อีลีทในกรุงเทพฯ ไม่รู้จักเข้าใจคนชนบทเลย

เรื่องเล่าสุดท้ายเป็นคำบ่นของครูผม แกเขียนไว้ในงานเขียนเพิ่มเติม จริงๆ เป็นบทวิจารณ์หนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งก็จะมีปัญหามากว่าหนังเรื่องนี้คนไทยดูแล้วไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นลูกเจ๊กเมืองกรุงอย่างผม แต่ตลกดี ประสบการณ์ของอ.เบ็นคือ เมื่อเอาหนังเรื่องนี้ไปฉายให้คนอินโดนีเซียดู คนอินโดฯ ที่มีประสบการณ์ชีวิตอยู่ในชนบทในป่าในเขาเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ง่ายมาก นำไปสู่ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า อ.เบ็นตั้งข้อสังเกตว่า ลองคิดถึงคน 3 กลุ่ม ชาวชนบท, คนชั้นกลางชาวเมืองโดยเฉพาะในกทม. และวัฒนธรรมของปัญญาชนโลกซึ่งมีวัฒนธรรมรอบรู้กว้างขวางวิพากษ์วิจารณ์ อ.เบ็นเสนอว่า คนชั้นกลางชาวเมืองโดยเฉพาะในกทม.ห่างไกลกับชาวชนบท และห่างไกลกับวัฒนธรรมวิจารย์ของปัญญาชน ทั้งในแง่เชื้อชาติและวัฒนธรรม ไม่สามารถเข้าใจชาวชนบทได้ ขณะเดียวกันคิดว่าตัวเองโลกาภิวัตน์ตายห่าก็ไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมปัญญาชนของตะวันตกได้

ที่น่าสนใจก็คือ ถ้าข้อสังเกตนี้เป็นจริง เรากำลังเจอกับภาวะที่อิหลักอิเหลื่อมาก เพราะในขณะที่คนชั้นกลางในกทม.ห่างไกลกับคนชนบททั้งในแง่วัฒนธรรมและชาติพันธุ์แต่คนสองกลุ่มนี้กลับเข้าใกล้ถึงขนาดประชิดถูกตัวกันมากขึ้นในทางการเมือง ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เข้าใกล้กันถึงขนาดที่เขาเริ่มแย่งโอกาสกัน เริ่มแย่งทรัพยากรกันและเริ่มแย่งอำนาจรัฐกัน สิ่งเหล่าไม่เกิดเมื่อ 20 ปีก่อนเพราะว่าชาวชนบท ยังไม่มีโอกาสช่องทางที่เปิดให้เข้ามาแย่งสิ่งหล่านี้ ยังอยู่ที่ปลายทางของการรับความเมตตา แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 20 ปีมานี้มันเปิดช่องให้คนชนบท เข้ามาถึงจุดที่เขาเริ่มเข้ามาในเกมส์แย่งชิงทรัพยากร เริ่มเข้ามาในเกมส์แย่งชิงโอกาส และเริ่มเข้ามาในเกสม์แย่งชิงอำนาจรัฐกันชนชั้นกลางในเมือง แบบที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ผ่านการเลือกตั้งและการเมืองบนท้องถนน ห่างกันทางวัฒนธรรมแต่ประชิดติดกันทางการเมือง ทะเลาะกันฉิบหาย

ทีนี้ 20 ปีให้หลัง อาจารย์นิธิ ทำอะไรบ้าง ผมคิดว่าอาจารย์นิธิ เป็นคนแรกๆ ในรอบ 20 ปีนี้ที่สังเกตุเห็นและร้องทัก กระทั่งระบุเรียกสิ่งเหล่านี้ 1.ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทเปลี่ยนไปแล้วในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา 2.การปรากฎตัวทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของกลุ่มคนที่อาจารย์นิธิใช้คำว่า คนชั้นกลางระดับล่าง lower middle class ในชนบท อาจารย์นิธิได้รับแรงบรรดาใจจากบทความ What is middle class about the middle class around the world ของนักวิชาการชาวอินเดีย กับลาตินอเมริกา โดยมองวิธีการวิเคราะห์ของเขาแล้วเอามาประยุกต์ทำความเข้าการเปลี่ยนแปลงในชนบทไทย คือชาวนาในนบทไทยเปลี่ยนไปแล้วไม่ใช่คนจนหงำเหงือก แต่ได้กลายเป็นคนชั้นกลางระดับล่างไป และเพราะเขาเปลี่ยนเป็นคนชนกลางระดับล่างแล้ว ความใฝ่ฝันและจินตนาการ วัฒนธรรมทางการเมืองเขาจึงเปลี่ยนและเป็นที่มาของความขัดแย้งด้วย ชุมชนชาวนาแบบเดิมที่เราเคยหลับตาฝันเห็นเขียวอร่าม ร่มรื่นอยู่ดีมีสุขมันได้เปลี่ยนไปแล้ว มันกลายเป็นสังคมการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่าง เป็นสังคมการเมืองของชาวนารายได้ปานกลางในชนบท ซึ่งปีหนึ่งเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่นหลายต่อหลายครั้ง มีโรงเรียนประชาธิปไตยที่เป็นจริงเปิดตลอดปี ในสังคมท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ เขาได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตทางการเมืองแล้ว ถ้าท่านคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก เขาเสียตัวแล้วว่ะไอ้ห่า (หัวเราะ) กลับไปบริสุทธิ์แบบเดิมไม่ได้แล้ว เขารู้จักแล้วว่าการเมืองต้องเล่นกันแบบนี้ มันถึงจะได้อะไรที่เขาต้องการ และกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นฐานมวลชนของพรรคของคุณทักษิณ และเป็นฐานมวลชนของคนเสื้อแดง

คิดต่อจากนิธิ

ทีนี้ ผมอย่างจะคิดต่อจากอาจารย์นิธิค้นพบเหล่านี้นะครับ คือถ้ามองภาพรวม ผมอยากจะยกข้อคิดของ Andrew Walker ในหนังสือ Thailand's Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy แกเสนอว่าชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สรุปมามี 4 อย่างที่เปลี่ยน 1.ชาวนาไทยส่วนใหญ่ไม่จนแล้ว คนจนยังพอมีอยู่แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่แล้ว แปลว่าเขาพ้นจากความยากจนไม่พอกิน ไม่มีจะกินมาแล้ว เขาได้กลายเป็นชาวนารายได้ปานกลาง ซึ่งมี(2.)เศรษฐกิจที่หลากหลาย ก็คือไม่ได้พึ่งเกษตร ไม่ได้พึ่งการปลูกข้าว อันใดอันหนึ่งอย่างเดียวแล้ว แต่เศรษฐกิจประเภท เปิดร้านบ้าง รับจ้างบ้าง เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯบ้าง เข้าไปทำงานต่างประเทศบ้าง เข้ามาประกอบประสมกัน เพราะฉะนั้นเขาพึ่งพาเศรษฐกิจที่หลากหลายแตกต่างจากแต่ก่อน ชาวนาจึงเผชิญหน้ารูปแบบใหม่ขอความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจ (3.)ปัญหาหลักไม่ใช่ไม่มีจะกิน ปัญหาหลักคือทำอย่างไรกูจะรวยเท่ามึง ทำอย่างไรจึงจะได้ส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งของประเทศที่เท่าเทียมกับคนเมืองบ้าง

ข้อ4 นะครับ รัฐไทยมีบทบาทใจกลางในการอุดหนุนเศรษฐกิจชาวนา การดำเนินในรอบ 20 ปีที่ป่านมามันโน้มไปในทางที่รัฐ โดยผ่านองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านนโยบายพัฒนาต่างๆ ได้ผันเงินงบประมาณของรัฐจำนวนมากเข้าไปอุ้มชูเศรษฐกิจของชาวนาไว้ และมีความจำเป็นต้องอุ้มชูด้วย จนกระทั้งคือ ประทานโทษทีนะ นี่ไม่ใช่ความเหี้ยของทักษิณ (หัวเราะ) คือถ้าเข้าใจว่ามึงเป่าทักษิณให้หายไปจากโลกนี้ แล้วมึงไม่ต้องอุ้มชูชาวนามึงบ้า เลิกได้จำนำข้าว แต่ก็กลายเป็นจำนำยุ้งฉาง มันเลิกได้ป่ะ เอ้าไม่ยอมราคายาง มึงไปขายดาวอังคารสิ แต่สุดท้ายก็ต้องต่อรอง นึกออกไหมครับ จะเป็นรัฐบาลเหาะมาจากสวรรค์ไหน มาปกครองประเทศไทย คุณเจอกับความเป็นจริงของเศรษฐกิจในชนบทแบบนี้ ความต้องการชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขาเหล่านี้ คุณไม่ช่วยเขาไม่ได้ เว้นแต่คุณเปลี่ยนเศรษฐกิจทั้งประเทศด้วยการลงทุนขนานใหญ่ ซึ่งก็เป็นทิศทางที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยากจะทำ โครงการโลจิสติกส์ต่างๆ แล้วในที่สุดรัฐบาลชุด คสช. ก็กำลังทำ มันเป็นทางที่ต้องไป ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้

คิดต่อไปอีกนะครับ ถ้าดึงเอาข้อคิดของ Partha Chatterjee ซึ่งเป็นนักวิชาการคนหนึ่งซึ่งศึกษาเรื่องชนบทอินเดียมา ผมคิดว่าเราพูดการเปลี่ยนแปลงในชนบทลึกลงไปในทางการเมืองทำได้ 3 เรื่อง 1.ชุมชนชาวนาสมัยก่อน การเลี้ยงตัวเองพึ่งตัวเองสำคัญมาก บทความเรื่อง แห่นางแมวของอาจารย์นิธิ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ได้ดีที่สุดคือ ชุมชนชาวนาแต่ก่อนต้องมีพีธีกรรมต่างๆ เพื่อรักษาความกลุ่มก้อนอันหนึ่งอันเดียวไว้เพราะการจะมีพอกินครบรอบปี มันไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเลยนอกจากความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันในหมู่บ้าน และชุมชน ดังนั้นจริยธรรมที่ถูกกำหนดจากการต้องพึ่งตัวเอง พอเพียงในตัวเองนั้นสำคัญมาก ซึ่งอันนี้มันไปแล้วในภาวะแบบใหม่ ประเด็นไม่ใช่จริยธรรมของการพอมีพอกิน ประเด็นคือจะดำเนินการเมืองอย่างไรที่จะเป็นห่วงชูชีพช่วยเขาไว้ให้พ้นจากภาวะผันผวนของตลาดโลก จะดำเนินนโยบายการเมืองอย่างไรจึงจะผลักเขาขึ้นฝั่ง คือภาพของชาวนาที่วาดไว้ช่วงหลังมันไม่ใช่ภาพของชาวนาที่กำลังจะจม เขาประคองตัวเองได้ แต่ว่าถ้ามรสุมมาเขาอยากจะได้ห่วงชูชีพ และเป้าหมายของเขาไม่ใช่การลอยคออยู่เรื่อยๆ มันดี ของลอยอยู่ก่อน ไม่ใช่! เขาอยากจะขึ้นฝั่ง

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเรียกร้องจากรัฐคือ 1.ถ้ามรสุมมาขอห่วงชูชีพคือ นโยบายจำนำข้าว ประกันราคาข้าว ประกันพืชผลทางการเกษตรทั้งหลาย 2.เขาต้องการนโยบายที่จะซัดเขาขึ้นฝั่ง เขาอยากขึ้นฝั่งเหมือนเรา และนี่มันเปลี่ยนจากจริยธรรมของการต้องยังชีพให้รอด เป็นไปเป็นการรักษาชีพ หรือห่วงชูชีพ เป็นการเมืองที่มุ่งเป้าขอห่วงชูชีพเวลาผันผวน และช่วยผลักเขาขึ้นฝั่งด้วย ชาวนารายได้ปานกลางอยากได้สิ่งนี้ และจะต้อนรับรัฐบาล หรือพรรคการเมือง และนโยบายการเมืองที่ช่วยเขาในเรื่องเหล่านี้ เขาเป็นอย่างนี้แล้ว เขาเปลี่ยนไปแล้วไม่ใช่เพราะทักษิณไปปลุกระดม ไม่ใช่เพราะว่าฟังอาจารย์นิธิ และอาจารย์ประจักษ์แล้วแบบว่า อยากจะต่อต้าน ไม่! ชีวิตเขาเปลี่ยนไปแล้ว

ฉะนั้นถ้าคนชนกลางในเมืองอยู่กับ civil society หรือประชาสังคม ซึ่งให้สิทธิ กฎหมาย และความมั่นคงในชีวิต นึกออกไหมครับ เราได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา เราไม่จำเป็นกลัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือตำรวจเทศกิจ เพราะเรามีห้องแถวของเรา เรามีสิทธิของเรา แต่กับกลุ่มคนเพิ่งขึ้นมา คนชั้นกลางระดับล่างในชนบท และเศรษฐกิจนอกระบบของเมือง คิดถึงพ่อค้าแม่ขาย หายเร่แผงลอย คนพวกนี้เขาอยู่ได้เพราะนโยบายช่วยให้เขาอยู่ได้ ผิดกฎหมายไหม ผิด แต่มีนโยบายให้เขาทำมาหากินต่อได้ นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดที่ลงไปอุ้มพืชผลทางการเกษตร ให้เขาสามารถอยู่รอดได้ ชีวิตของพวกเขามัน การเมืองอย่างไม่มีทางเลี่ยง เขาอยู่เป็นสังคมการเมือง เพราะแต่ละอย่างที่เขาได้มันเป็นนโยบายทั้งนั้น พอผู้ว่ากทม. เปลี่ยนคน  เขาต้องกดดัน ม๊อบ เพื่อให้คงนโยบายที่ของจะพึ่งพาได้ต่อไป พอรัฐบาลเปลี่ยนชุด ชาวสวนยาง ชาวนา พ่อค้าหมูคือ ต้องกดดันตลอด ชีวิตเขาอยู่กับ จะใช้คำพูดอย่างไงดีว่ะไอ้ห่า…. คือ นึกออกไหมครับ ผมหวังว่าจะมีทหารฟัง คือชีวิตของชาวนารายได้ปานกลาง และคนรายได้ปานกลางระดับล่างทั้งในเมืองและชนบท อยู่รอดได้โดยที่เขาบวกการเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะชีวิตของพึ่งนโยบายของพวกคุณ ถ้าคุณบอกว่าการเมืองมันเลว กวาดการเมืองไปให้หมด แล้วบอกให้เขาอยู่บ้านเฉยๆ เขาอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะทักษิณ

แล้วเขาคิดอย่างไรในแง่การเมืองนะครับ ซึ่ง Andrew Walker เสนอแนวคิดธรรมนูญชนบท  rural constitution เรากลับไปสู่ประเด็นคนบ้านนอกไม่รู้หนังสือ ไม่รู้การเมือง โดนนักการเมืองหลอก น่าสนใจนะครับเรื่องนี้ Andrew Walker ไว้ ธรรมนูญชนบทเป็นอย่างไรคือ วิธีคิดทางการเมืองของชาวบ้านชนบทเป็นอย่างไร เขาอย่างนี้นะ โมเดลในการเข้าใจทั้งหมดคือ ให้ไปดูความสัมพันธ์ระหว่าชาวบ้านกับผี (หัวเราะ) ตอนแรกผมอ่านผมไม่ค่อยเชื่อ มึงหลอกกูเปล่า (หัวเราะ) ผมอ่านสามรอบนะ กูเข้าใจผิดเปล่าว่ะ อ่านทั้งคืน คือแกอธิบายอย่างนี้นะครับ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านชาวชนบท ซึ่งแกดูในภาคเหนือ กับศาลเจ้า ผี สิ่งศักดิ์ในหมู่บ้าน เป็นแบบจำลองความสัมพันธ์ของเขากับพลังภายนอกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐ และทุน เขาไหว้ผี เขาบวงสรวงผี เพราะอะไร เขาหลอกใช้ผี ดูดทรัพยากรภายนอกมาเพิ่มผลิตภาพ รายได้ และโอกาสของเขา เขากระทำต่อรัฐ เหมือนที่กระทำกับผี เขากระทำต่อบริษัททุน เหมือนกระทำต่อผีนี่แหละ เขาไม่ได้สยบยอมนะครับ เขาใช้พวกคุณเป็นประโยชน์ ดังนั้นถ้าทีโครงการเศรษฐกิจพอเพียงมาจากมหาดไทย หรือกอ.รมน. เขาก็เศรษฐกิจพอเพียง (หัวเราะ) เพราะมันมีงบประมาณมากับเศรษฐพอเพียง เข้าใจไหม

เขามีไหมเกณฑ์ศีลธรรมการเมือง เขามี เขาเข้าใจนะครับ คอรัปชั่น แต่วิธีคิดของเขาไม่เหมือนเรา เขาให้ค่าเกณฑ์ดีชั่ว ทางการเมืองและการคอรัปชั่น อย่างสมจริงกว่า ยึดหยุนกว่า และสัมพัทธ์กว่า มันต้องสัมพัทธ์อยู่แล้ว เขาให้ค่าอย่างสมบูรณ์อย่างพวกคุณไม่ได้ และพวกคุณก็ไม่ได้สัมบูรณ์จริงหรอก แต่เขาให้ค่าอย่างสมบูรณ์อย่างพวกคุณไม่ได้เพราะ พวกคุณอยู่ในประชาสังคมอันมีกฎหมายรองรับ แต่เขาอยู่กับสังคมการเมืองที่แต่ละอย่างจะได้มามันอยู่ที่นโยบาย เพราะฉะนั้นแปลว่าอะไร เขาต้องให้ค่ามันสมจริงน่ะ คอรัปชั่น มีไหม เขายอมให้กินได้มีเลือกตั้ง มีผู้มาบริหารส้วนท้องถิ่น มีเบี้ยใบ้รายทางบ้าง มีช่วยพรรคพวกได้ มีกินบ้าง ได้ แต่ต้องมีขอบเขต อย่าตระกละตะกลามจนส่วนรวมเสียหาย ถ้าแดกจนส่วนรวมเสียหายกูไม่เอา นี่ไม่ใช่เขาไม่มีเกณฑ์นะครับ เพียงแต่เกณฑ์เขาไม่เหมือนเรา ของเราเนี่ยโกงไม่ได้ โกงไม่ได้ ! โกธร แต่มันก็โกงได้ใช่ไหม (หัวเราะ) เขามีเกณฑ์ไม่ใช่ไม่มีเกณฑ์ แต่เกณฑ์เขาไม่ได้สัมบูรณ์ เกณฑ์เขาสัมพัทธ์คือ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ แต่อย่ากินมาไปจนส่งผลเสียต่อโครงการจนส่งผลเสียต่อโครงการ กินจนถนนผังอย่างนี้ไม่ได้

เขาอยากจะอยู่กับนักการเมืองอย่างยั่งยืน อยากจะรู้จักนักการเมือง อยากจะไว้ใจนักการเมือง เขาดูผลงานของคนเหล่านี้ ไม่ได้ยึดกฎหมายที่เป็นสากล เขาเน้นความสัมพันธ์เฉพาะตัว เฉพากลุ่ม อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่า มีความแตกต่างจากคนเมืองเยอะนะครับ

ทีนี้ ใกล้จบแล้ว ที่เราเจออยู่ในปัจจุบันคืออะไรถ้าพยายามจะคิดแบบนิธิ ก็เหมือนก็พี่ธเนศ (อาภรณ์สุวรรณ) เลยนะครับ เราอ่านบทความเดียวกันก็คือ มองการเมืองไทยแบบกรัมชี่ ผมคิดว่าในบทความนั้นสิ่งที่อาจารย์นิธิเสนอก็คือข้อกังวลที่เห็นว่าเราอย่ในสังคมการเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ อย่างที่พี่ธเนศอ่านให้ฟัง อาจารย์นิธิช่วยนิยาม อำนาจนำ ให้เข้าใจง่ายมาก อำนาจนำ หรือ hegemony คือฐานทางวัฒนธรรม ที่ทำสังคมยอมรับอำนาจครอบงำที่รัฐต่างๆ ยึดครองอยู่ ประเด็นคือฐากอันนี้มันกำลังกร่อน ทั้งความเป็นไทยแบบในอดีตที่ไม่เคยเป็นจริง และความไม่เป็นไทยเชิงสัญลักษณ์ที่อาจไม่มีวันเป็นจริง ล้วนสูญเสียอำนาจนำเหนือสังคมไทยโดยรวมไปแล้ว ไม่อาจยึดกุมสมองของคนไทย ไม่อาจยึดกุมหัวใจของคนไทยทั่วไป ให้ยอมตามการนำโดยไม่ต้องบังคับได้ คุณสูญเสียอำนาจนำ สัญญานที่ชัดที่สุดคือการใช้วิธีการบังคับ แล้วจริงไหมล่ะว่ามีการบังคับมาก มากขึ้น เพราะเราไม่เชื่อ และเราไม่ยอม

ฉะนั้นในภาวะคลุมเครืออิหลักอิเหลื่อ ของใหม่ยังไม่ทันดิ้นรนเกิดออกมา และของเก่ายังไม่ทันตกตาย กรัมชี่ชี้ว่า ปีศาจอสูรกายทั้งหลายจะปรากฎตัวขึ้น คำถามก็คือว่า มันเป็นปีศาจของกาลเวลาที่เป็นตัวแทนของอำนาจนำใหม่ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือปีศาจแห่งโลกเก่าของสมาคมชั้นสูงที่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ อันนี้เรายังไม่รู้ขอบคุณครับ

                 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net