มติมหาเถรฯ ‘ห้ามบวชภิกษุณี’ ขัดพระธรรมวินัยเสียเอง?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติห้ามคณะสงฆ์ไทยทำการอุปสมบทภิกษุณี สะท้อนปัญหาการคิด “เชิงหลักการ” ในหลายเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง

หนึ่งคือ เมื่อมีผู้ไปร้องเรียนคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปรากฏว่า สปช.บางคนอ้างว่า “มติ มส.ขัดรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน” ข้ออ้างเช่นนี้ไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง แต่มีปัญหาที่จริยธรรมของผู้อ้าง ในเมื่อคุณรับได้กับรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เข้ามาทำงานกับรัฐบาลจากรัฐประหาร และไม่แคร์กับการที่รัฐบาลปัจจุบันละเมิดสิทธิการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน คุณยังมีความชอบธรรมอะไรจะใช้ข้ออ้างเช่นนี้กับคนอื่นๆ

เพราะโดยหลักการแล้ว เวลาเราอ้างรัฐธรรมนูญหรือหลักสิทธิมนุษยชน เราย่อมอ้างในฐานะเป็น “หลักการสากล” ที่ใช้กับ “ทุกคน” แต่การอ้างแบบ สปช.เป็นการอ้างอย่างเลือกปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนการขาดความซื่อตรงต่อหลักการและการเคารพตัวเอง

อีกหนึ่งคือ โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ออกมากล่าวว่า “มติ มส.เป็นคนละประเด็นกันกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะคณะสงฆ์ไทยไม่ได้ห้ามบวชภิกษุณี หากจะไปบวชมาจากประเทศอื่น นิกายอื่น ก็สามารถทำได้ และยังสามารถมาสร้างสถานที่เผยแผ่หลักคำสอนในประเทศไทยได้ แต่เรื่องภิกษุณีสายเถรวาทที่ขาดสายไปแล้วนั้น เป็นเรื่องของพระธรรมวินัย จะนำเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวข้องกับหลักพระธรรมวินัยไม่ได้...”

มุมมองเช่นนี้มีปัญหาที่ผมอยากชวนอภิปราย คือ

(1) เรื่อง “ภิกษุณีขาดสาย” นั้นยังเป็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ คณะสงฆ์ไทยเชื่อว่าขาดสายไปแล้ว แต่ทางจีนเขายืนยันว่าภิกษุณีจีนที่บวชสืบสายไปจากศรีลังกายังมีอยู่ในจีน ต่อมาศรีลังกาก็ไปบวชมาจากจีน ซึ่งทำพิธีบวชแบบนิกายธรรมคุปต์ และเพื่อแก้ปัญหาการติดใจเรื่อง “นานาสังวาส” ทางคณะสงฆ์นิกายเถรวาทศรีลังกาจึงกระทำพิธีอุปสมบทใหม่แบบเถรวาทให้แก่ภิกษุณีที่บวชมาจากจีน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูภิกษุณีเถรวาทในศรีลังกา ซึ่งภิกษุณีไทยบางท่านเช่น “ธัมมนันทาภิกษุณี” ก็บวชมาจากศรีลังกา

อาจมีข้อโต้แย้งว่า ภิกษุณีเถรวาทที่ไปบวชมาจากนิกายธรรมคุปต์ (นิกายย่อยของมหายาน) เป็น “เถรวาทกลาย” หากเถรวาทไทยจะให้การยอมรับก็เท่ากับเถรวาทไทยจะเป็นเถรวาทกลายไปด้วย คำถามก็คือเถรวาทไทย (หรือเถรวาทศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา) ที่แยกเป็น “ธรรมยุต” และ “มหานิกาย” ใช่ “เถรวาทแท้” จริงๆหรือ วัดจากอะไร?

หากอ้างว่าวัดจากการยึดถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามมติของพระเถระในการสังคายนาครั้งที่ 1 โดยไม่มีการถอน ไม่มีการเพิ่มบทบัญญัติใดๆ แล้วการมีระบบสมณศักดิ์และองค์กรมหาเถรสมาคมเกิดจากบทบัญญัติของพระธรรมวินัยในการสังคายนาครั้งที่ 1 ข้อไหนหรือครับ

ไม่มีบทบัญญัติในพระธรรมวินัยในการสังคายนาครั้งที่ 1 รองรับให้มีสมณศักดิ์และองค์กรมหาเถรสมาคมเลยใช่ไหมครับ แต่คณะสงฆ์ไทยอธิบาย “เอาเอง” ว่า “สมณศักดิ์อนุโลมตามเอตทัคคะ” จะอนุโลม(อย่างสมเหตุผล)ได้อย่างไรครับ ในเมื่อ “เอตทัคคะ” นั้นพุทธะท่านใช้ยกย่องภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นที่ประจักษ์โดยไม่เกี่ยวใดๆ กับอำนาจรัฐ แต่สมณศักดิ์อำนาจรัฐแต่งตั้งและมีข้อผูกพัน “โดยประเพณีปฏิบัติ” ให้คณะสงฆ์ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐ แต่เอตทัคคะไม่ได้ทำให้คณะสงฆ์ต้องมีข้อผูกพันใดๆ กับอำนาจรัฐ

และมีบทบัญญัติในพระธรรมวินัยข้อไหนครับ ที่กำหนดว่าให้มีคณะสงฆ์จำนวนหนึ่งเรียกว่าองค์กร “มหาเถรสมาคม” มีอำนาจออกมติ กฎระเบียบต่างๆ ที่มีข้อผูกพันให้พระสงฆ์เป็นหมื่นหรือแสนรูปต้องปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยกำหนดชัดเจนว่าให้มีสงฆ์ 20 รูป, 10 รูป, 5 รูป, หรือ 4 รูป เป็นต้น ทำสังฆกรรมหรือกิจของส่วนรวมในกรณีนั้นๆ เช่นการให้การอุปสมบท, กรานกฐิน และอื่นๆ ซึ่งแปลว่าพระธรรมวินัยให้พระสงฆ์กระจายอำนาจในการหารือร่วมกันทำกิจของส่วนรวม ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจตัดสินใจไว้ที่สงฆ์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวแบบมหาเถรสมาคมในปัจจุบัน

มติมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระสงฆ์ไทยทำการบวชภิกษุณีนั้น เป็นมติที่มีอำนาจตามกฎหมายและเป็นกฎหมายที่ออกในรัฐบาลเผด็จการ ในทางพระธรรมวินัยแล้วพุทธะไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่คณะสงฆ์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มใดมีอำนาจออกมติให้พระสงฆ์เป็นหมื่นเป็นแสนรูปต้องปฏิบัติตาม การสังคายนาพระธรรมวินัยที่สามารถออกมติเป็นข้อผูกพันให้สงฆ์ต้องปฏิบัติตามนั้น ต้องใช้คณะสงฆ์ประชุมกันจำนวนมาก เช่นสังคายนาครั้งที่ 1 ก็ใช้พระอรหันต์ตั้ง 500 รูป ลงมติ เป็นต้น

ถ้าอ้างว่าองค์กรมหาเถรสมาคมและมติมหาเถรสมาคม แม้จะไม่มีพระธรรมวินัยบัญญัติรองรับไว้ (ให้ตั้งองค์กรแบบนี้และมีอำนาจเช่นนี้โดยตรง) แต่ก็ถือกันโดย “อนุโลม” ว่า “เข้ากันได้กับหลักพระธรรมวินัย(?)” แล้วทำไมการบวชภิกษุณีซึ่งมีเงื่อนไขให้อนุโลมได้ (เช่นบวชภิกษุณีเถรวาทจากศรีลังกาแล้วจึงมาทำพิธีบวชในคณะสงฆ์ไทยก็ได้) มหาเถรสมาคมถึงไม่ยอมอนุโลม

ถ้าคิดว่าอนุโลมแล้ว “ไม่บริสุทธิ์” ตามพระธรรมวินัย หรือไม่ถูกต้องตรงตามตัวอักษรในธรรมวินัยตามพระไตรปิฎกเป๊ะๆ แล้วพระสงฆ์ไทยปัจจุบันปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างไรหรือครับเช่นวินัยสงฆ์ “ห้ามพระภิกษุรับเงินและทอง” แต่ทำไมปัจจุบันพระไทยจึงมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวเป็น 10 เป็น 100 ล้านได้ หรือว่านี่เป็นการอนุโลมตามความ “จำเป็น” ในโลกปัจจุบันอีกหรือครับ

(2) เอาล่ะเรื่องพระมีบัญชีเงินฝากอนุโลมได้ก็ว่ากันไปครับ แต่ถามว่า ทำไมคณะสงฆ์ไทยจึงตีความพระธรรมวินัยในบางเรื่องที่เกี่ยวกับการเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์โดยอนุโลมตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ทำไมพูดแบบไม่คิดว่า “ธรรมวินัยกับสิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวกัน” มีวินัยสงฆ์ข้อไหนบ้างที่พุทธะบัญญัติขึ้นโดยไม่มีมิติที่เกี่ยวข้องกับบริบทสังคมวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ถ้าการบัญญัติวินัยสงฆ์พุทธะให้ความสำคัญกับบริบทวัฒนธรรมอินเดียโบราณได้ แล้วทำไมชาวพุทธในยุคปัจจุบันจะตีความธรรมวินัยหรือวินัยสงฆ์โดยคำนึงถึงบริบทวัฒนธรรมสมัยใหม่ (ในแง่ที่ก้าวหน้ากว่าวัฒนธรรมอินเดียโบราณ) ไม่ได้

สรุป ถ้าคิดไล่เรียงเหตุผลอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่การบวชภิกษุเป็นเรื่องที่ขัดพระธรรมวินัย หรือไม่มีพระธรรมวินัยรองรับให้บวชได้หรอกนะครับ แต่ ”มติ” มหาเถรสมาคม (ซึ่งเป็นพระกลุ่มเล็กๆ) ที่มีผลบังคับทางกฎหมายให้พระเป็นหมื่นเป็นแสนรูปทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามนั่นแหละ ที่ไม่มีพระธรรมวินัยรองรับ หรือไม่มีพระธรรมวินัยข้อไหนให้อำนาจไว้เช่นนั้น

ที่สำคัญ “มติ” มหาเถรฯ ที่อยู่บนสมมติฐานที่ว่า “ธรรมวินัยไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน” นั่นเอง เป็นการตัดขาดตัวเองและคณะสงฆ์ไทยจากการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับความยุติธรรมและความก้าวหน้าในความเป็นมนุษย์ในบริบทโลกสมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าเป็นการตัดโอกาสที่พระธรรมวินัยของพุทธะจะก่อเกิดคุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์และวิถีสังคมสมัยใหม่ด้วยอย่างน่าเศร้า

คำถามด้วย “เมตตามโนกรรม” คือ ถ้าเป็นเช่นนี้คณะสงฆ์ไทยจะอยู่ในสังคมสมัยใหม่อย่างมีคุณค่าได้อย่างไร และพระธรรมวินัยของพุทธะจะมีปฏิสัมพันธ์กับคุณค่าสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับเสรีภาพ และความเท่าเทียมของมนุษย์อย่างไรครับ ในขณะที่มหาเถรสมาคมชี้ว่าการกระทำของคนอื่นๆ (เช่นการบวชภิกษุณี ฯลฯ) ไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย แต่การที่พระมีฐานันดรศักดิ์ มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว มีองค์กรสงฆ์แบบเผด็จการ (ขณะที่ชาวพุทธมักอ้างเสมอว่าสังฆะในสมัยพุทธกาลบมีความเป็นประชาธิปไตย) ล้วนแต่ถูกตั้งคำถามได้ในทางพระธรรมวินัย

ฉะนั้น การที่มหาเถรฯ ซึ่งมีสถานะและอำนาจที่ถูกตั้งคำถามได้ถึงความชอบธรรมทางพระธรรมวินัย แต่ชี้นิ้วให้คนอื่นๆ เคารพพระธรรมวินัย จะต่างอะไรกับอำนาจที่ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วสั่งสอนคนอื่นให้เคารพกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรไตร่ตรองด้วยโยนิโสมนสิการเป็นอย่างยิ่ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท