สารคดีที่ห้ามพลาด ‘ความทรงจำ-ไร้เสียง’ 6 ตุลาในความทรงจำของ ‘พ่อ-แม่’

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดฉายสารคดีนี้เรื่องนี้ไปเมื่อ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา

“ความทรงจำ-ไร้เสียง (Silence-Memories)”

เป็นเสียงของ 2 ครอบครัวผู้สูญเสียลูกไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

    >แม่เล็ก วิทยาภรณ์ แม่ของคุณมนู วิทยาภรณ์ นักศึกษาปีสุดท้ายของคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

    >พ่อจินดา ทองสินธุ์ พ่อของคุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

หนังเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hearing Historical Voicesฯ

จัดทำขึ้นโดยนักวิจัย ‘ภัทรภร ภู่ทอง’ กับเพื่อนครีเอทีฟ ‘เสาวนีย์ สังขาระ’

เป็นหนัง 6 ตุลาที่ไม่มีฉากเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้สักซีน

เป็นหนัง 6 ตุลาที่ใช้เวลาเป็นปีๆ เพื่อสานความสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจกับพ่อแม่ผู้สูญเสีย ในขณะที่ถ่ายทำจริงไม่เกิน 3 วัน และระมัดระวังในการตั้งคำถามอย่างยิ่ง

เป็นหนัง 6 ตุลาที่จะพาเราไปนั่งในหัวใจบอบช้ำของพวกเขา ราวกับเรื่องราวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน....

หมายเหตุผู้เขียน หากผู้ใดมีข้อมูล มีเรื่องราว เรื่องเล่า เอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สามารถติดต่อมาได้ที่ aor@museforpeace.org

 

ภายหลังการฉายหนังมีวงเสวนากับทีมผู้สร้าง และ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสที่มีประสบการณ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ประชาไทเก็บความมานำเสนอ

@ที่มาที่ไปของโครงการนี้?

ภัทรภรกล่าวว่า โครงการนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า Hearing Historical Voices: Oral Histories of Political Violence in Southeast Asia, Connecting Past Violence, the Present Situation and Future Justice ได้รับการสนับสนุนจากAsian Public Intellectual Program, Nippon Foundation  โครงการนี้เป็นการทำงานวิจัยเพื่อฟังเสียงประวัติศาสตร์ คือพยานและครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในประเทศไทยและจากเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวมุสลิม ที่ Talang Sari, Lampung, Indonesia ในยุคซูฮาโต้ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ที่เรียกว่า Talang Sari tragedy

ที่มาของโครงการนี้ คือเราและเพื่อนๆ ที่เป็นนักวิชาการ นักวิจัยและคนทำงานด้านสันติศึกษาได้ริเริ่มทำโปรเจ็คที่ชื่อว่า project MUSE หรือ The Initiative of Museum and Library for Peace (โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเพื่อสันติภาพ) เราอยากทำงานที่เป็นการท้าทายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเงียบจากความรุนแรงทางการเมืองและวัฒนธรรมการไม่รับผิด รวมทั้งทำงานด้านการศึกษาสันติวิธีเชิงวิพากษ์ และงานด้านการสื่อสาร เช่น พิพิธภัณฑ์สันติภาพและจัดพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ บนหลักการที่ว่า ทำให้งานวิชาการสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนที่หลากหลายในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงง่าย งานวิจัย Hearing Historical Voices: Oral Histories of Political Violence in Southeast Asia, Connecting Past Violence, the Present Situation and Future Justice เป็นโครงการแรกของเราที่ทำขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมและบันทึกเสียงประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ความรุนแรง ทางการเมืองที่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เป็นที่กล่าวถึงนักหรือยังอยู่ในความเงียบในอาเซียน โดยทำเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์สารคดีในรูปแบบที่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สูญเสียได้ส่งเสียง รวมทั้งกระตุ้นให้คนดูได้คิด ตั้งคำถามและเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ในฐานะนักวิจัย ไม่อยากให้แค่ศึกษาทางวิชาการแล้วจบ แล้วเอาขึ้นหิ้ง มันเข้าไม่ถึงคน จึงคิดว่าน่าจะทำเป็นสารคดีสักชิ้น เพราะมันเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า” ภัทรภรกล่าว

เสาวนีย์กล่าวว่า ปกติทำ Production House อยู่แล้วที่อินเดีย เช่น ทำเรื่องการศึกษาทางเลือก พอภัทรภรซึ่งเป็นเพื่อนติดต่อมาชวนทำสารคดีเรื่องนี้ก็คิดว่ามีคนทำเรื่อง 6 ตุลาเยอะแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นแบบที่เราอยากเห็น  ที่ผ่านมาเราได้ยินเสียงนักวิชาการแต่ยังไม่เคยได้ยินเสียงผู้ถูกกระทำในเชิงลึก

“ครั้งแรกที่ไปบ้านป้า อยู่กับเขาทั้งวัน เราพบว่าความทรงจำเขายังอยู่เหมือนเดิม มันไม่ได้รับการเยียวยา เขาเล่าเรื่องด้วยอารมณ์ความรู้สึกเหมือนมันเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้ เขาน้ำตาไหล เราถือกล้องอยู่ก็น้ำตาไหล และคิดว่าอย่างน้อยก็ยังมีเราที่รับฟัง” เสาวนีย์กล่าว

 

@ทำไมไม่ใช่ฟุตเทจ 6 ตุลา?

ภัทรภรกล่าวว่า เราทะเลาะกันเยอะเหมือนกันตอนทำ เราอยากเล่าในแง่มุมใหม่ ที่ผ่านมีหลายเรื่องที่ใช้ภาพเหตุการณ์เข้าไปประกอบด้วย แต่เราอยากให้พื้นที่ว่างให้คนดูไปศึกษา ไปค้นพบ หาคำตอบให้กับตัวเอง นอกจากนี้ยังสนใจเกี่ยวกับความทรงจำกับพื้นที่ เราจึงใช้ภาพธรรมศาสตร์ ภาพสนามหลวงปกติแล้วลองดูว่าเมื่อเอามาใช้แล้วคนจะนึกถึงอะไร ได้ผลอย่างไร

“ถ้าเราจะทำสารคดีสักเรื่อง ก็อยากให้งานเราเพียงแค่โยนคำถาม กระตุ้นให้คนดูไปทำการบ้านที่เหลือเอง” ภัทรภรกล่าว

เสาวนีย์กล่าวว่า ตอนแรกเราลองใส่ฟุตเทจแบบนั้นลงไปแล้วพบว่ามันไม่แตกต่างจากชิ้นอื่น มันแรงเลย ใช่เลย แต่มันเหมือนคนอื่น เราจึงคิดใหม่ว่าทำยังไงให้กระชากโดยให้คนดูอยู่กับลุงกับป้าจริงๆ

ที่ผ่านมาไม่ได้สนใจ 6 ตุลาฯ มากนัก แต่พอจะทำสารคดีและได้ยินเคสที่เพื่อนเล่าแล้วมันสะเทือน เราจึงกลับไปศึกษา กลับไปเรียนประวัติศาสตร์ใหม่ บางทีการทำให้คนสนใจศึกษาเรื่องนี้มันอาจเริ่มต้นจากความรู้สึก

นิธินันท์กล่าวว่า รู้สึกประทับใจกับการเล่าเรื่องของคนรุ่นใหม่มากๆ สะเทือนใจมากๆ ความดราม่าในที่นี้คือ ดราม่าโดยไม่ต้องทำให้ดราม่า เราเองก็เป็นพ่อเป็นแม่คน เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เหตุการณ์ 6 ตุลา แต่มันสะท้อนความรุนแรงทั้งหมดทุกครั้งที่รัฐทำกับประชาชน

นอกจากนี้มันยังสะท้อนบางอย่างที่น่าสนใจ ประวัติศาสตร์เราถูกลบไปหนึ่งชั่วอายุคน คนรุ่นใหม่หลายต่อหลายคนไม่เชื่อว่ามันรุนแรงจริงๆ บางคนยังสงสัยว่านั่นคือภาพจริงหรือภาพจากหนัง

@หลายคนบอกว่า เราควรลืมบางอย่างเพื่อสร้างความปรองดอง สร้างสันติภาพ เพราะการจำทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น?

ภัทรภรกล่าวว่า ก่อนถึงขั้นปรองดองความทรงจำจะทำให้เกิดการตั้งคำถาม นำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีคนรับผิด ความรุนแรงมันไม่ได้มีแค่ 6 ตุลา ยังมีพฤษภา35 และล่าสุดคือ พฤษภา53 นี่คือคำตอบว่ามันจะส่งผลยังไง การลืมทำให้เราไม่เรียนรู้ และกวาดปัญหาไปอยู่ใต้พรม มันจะเกิดขึ้นอีก ถ้าคนทำผิดก็ยังไม่ต้องรับผิด

“ความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงคือ คีย์สำคัญในการรักษาแผล” ภัทรภรกล่าว

เสาวนีย์กล่าวว่า การพูดว่าเราควรลืม “เรา”ที่ว่านั้นคือใคร เราที่ว่าไม่ใช่พ่อแม่ผู้สูญเสีย พูดเหมารวมให้ทั้งสังคมลืมให้หมดนั้นไม่ได้  

 “ปิดแผล แผลมันก็เน่า และความเงียบทำให้สังคมโง่” นิธินันท์กล่าว

นิธินันท์กล่าวว่า ดูหนังเรื่องนี้แล้วทำให้รู้สึกว่าต้องทำให้ความเงียบนั้นดังขึ้นมาในแง่มุมมต่างๆ เพราะที่ผ่านมาเธอเองก็ตั้งใจที่จะเงียบ เป็นประวัติศาสต์ช่วงที่ไม่มีใครอยากพูดถึง เป็นความพ่ายแพ้ คนที่เข้าป่าก็พบว่า พคท.ก็ไม่ใช่คำตอบ คนที่อยู่ในเมืองก็เงียบ ไม่ใช่เงียบเพราะญาติหรือเพื่อนถูกฆ่า แต่เป็นความเงียบที่รู้สึกว่า ฉันอยู่ในกลุ่มที่มันไม่ดี ถูกชี้หน้าประณามว่าไม่เข้าท่า ทำให้สังคมไทยเสียหาย

“เราเงียบจนกระทั่งดูหนังเรื่องนี้แล้วพบว่าต้องทำให้ส่วนที่เงียบนั้นดังขึ้นมา เพราะมันคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพด้วย” นิธินันท์กล่าว

กฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้ร่วมดูสารคดีและฟังเสวนากล่าวว่า ผมเป็นเพื่อนกับคุณจารุพงษ์ ทองสินธุ์ ต้องขอขอบคุณที่ได้จัดทำสารคดีนี้ขึ้นมา มันเป็นบทเรียนที่สำคัญเพราะมันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เหตุการณ์นี้จำเป็นต้องเกิดและมันต้องเกิดอีก เพราะความขัดแย้งในสังคมยังไม่จบ เราทำได้เพียงแค่ให้มันไกลจากตัวเรา เราอย่าไปคิดว่าชนชั้นนำจะเอ็นดูพวกเรา ถามว่าจะช่วยให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ยังไง สามสิบกว่าปีมานี้ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ได้แต่ให้กำลังใจผู้ที่พยายาม ถ้าจะทำต่อช่วยทำให้ลึกซึ้งไปกว่านี้อีกว่า ใครเป็นคนทำ” กฤษฎางค์กล่าว

 

หมายเหตุ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา 16.45 น. (22 ธ.ค.57)                                                                                                                                                           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท