มองวิดีโอเกมยุคใหม่ ในฐานะเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาด้วยวิถี 'ประชาธิปไตย'

วิดีโอเกมเป็นสื่อบันเทิงที่กำลังเติบโต แม้จะถูกวิจารณ์ในหลายเรื่อง แต่ผู้คนส่วนหนึ่งก็เล็งเห็นว่าเกมอย่างเช่น Papers, Please หรือ Unrest มีส่วนในการสร้างความเข้าใจต่อผู้คน และเกมในยุคสมัยของ crowdsource อาจจะนำมาใช้ประโยชน์ในการหารือเพื่อร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ของโลกได้


เกม Papers, Please ที่ให้ผู้เล่นรับบทเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารคนเข้าเมือง
ท่ามกลางความผันผวนของการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการทำงาน

22 ธ.ค. 2557 จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF) เขียนบทความเกี่ยวกับวิดีโอเกมที่มีส่วนในการสะท้อนประเด็นต่างๆ ของสังคม โดยยกตัวอย่างความประทับใจในเกมที่ชื่อ 'Papers, Please' ซึ่งเป็นเกมเกี่ยวกับการเล่นเป็นพนักงานตรวจเอกสารคนเข้าเมืองในรัฐเผด็จการ

Papers, Please พัฒนาโดยลูคัส โป๊ป ผู้ที่เคยทำงานในค่ายเกมดัง 'Naughty Dog' โป๊ปบอกว่ามันเป็นเกมแนว "สารคดีระทึกขวัญเกี่ยวกับโลกที่เลวร้าย" (dystopian document thriller) ในเกมนี้ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นคนตรวจเอกสารที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศสมมติที่ชื่ออาร์สโตตซกา ด้วยขั้นตอนต่างๆ ทั้งการตรวจเอกสาร ตรวจสอบการพกอาวุธ รวมถึงมีการไต่สวนเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น และในบางครั้งอาจจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นการก่อการร้าย การพยายามติดสินบนทั้งจากพลเรือนและจากเจ้าพนักงานเอง เป็นต้น นอกจากนี้บทบาทคนตรวจเอกสารที่เราเล่นยังได้รับเงินค่าจ้างน้อยนิด จนต้องเผชิญความยากลำบากเวลาครอบครัวเจ็บป่วยหรือหิวโหย

"เกมนี้ให้ความรู้สึกสนุกแบบแปลกๆ" เฟฟเฟอร์ระบุในบทความ "ไม่นานนักผมก็เริ่มเข้าสู่วิธีคิดแบบของคนที่ 'แค่ทำตามคำสั่งไป' แล้วผมก็ตกใจตัวเองว่ามันง่ายมากที่ผมเริ่มรู้สึกเหมือนอยู่ในสภาพเดียวกับข้าราชการที่พยายามจะอยู่รอดในระบบที่ชั่วร้าย"

แม้ว่าวิดีโอเกมจะเป็นหนึ่งในสื่อบันเทิงที่ทำให้คนสามารถหลบหนีออกจากโลกความจริงได้ชั่วคราว แต่ดูเหมือนว่าหลายเกมในยุคปัจจุบันจะทำให้ผู้เล่นอยู่ในสภาพความเป็นจริงของโลกอีกแบบหนึ่ง เช่น เกม Pandemic ที่ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นไวรัสทำลายล้างโลก เกม Unmanned ที่สะท้อนชีวิตของคนที่ทำงานเป็นผู้ควบคุมเครื่องบินไร้คนขับหรือ 'โดรน' เกม 'World Without Oil' ที่ให้ผู้เล่นเผชิญกับวิกฤติน้ำมันโลกเป็นเวลา 32 สัปดาห์

ในปี 2553 นักออกแบบเกมที่ชื่อ เจน แมคกอนนิกัล เสนอในงานสัมมนา TED ว่าถ้าหากผู้คนใช้เวลาเล่นเกมหรือปฏิสัมพันธ์กันในโลกเสมือนมากขึ้นน่าจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของโลกได้ โดยแมคกอนนิกัลบอกว่าในโลกเสมือนจริงนั้นเกมเมอร์จำนวนมากร่วมมือกันเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่มีความท้าทายต่างๆ ถ้าหากเราเปลี่ยนพลังในการแก้ไขปัญหาตรงนี้เป็นการร่วมมือกันช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ ของโลกจะเป็นเรื่องดี

แต่ข้อเสนอของแมคกอนนิกัลยังต้องถูกพิจารณาในแง่ที่ว่าการแก้ปัญหาในเกมที่เป็นโลกเสมือนจำนวนมากเป็นการตอบสนองทางอารมณ์โดยความพึงพอใจเพื่อได้กำจัดตัวร้ายในเกม จนมีคนเสียดสีว่าการให้คนมาแก้ปัญหาในโลกเสมือนด้วยวิธีการแบบตั้งโต๊ะเจรจาอาจจะทำให้ผู้เล่นรู้สึกเบื่อจนหลับคาโต๊ะเอาได้ มีการล้อเลียนแนวคิดนี้โดยวิดีโอ 'The World of PeaceCraft' ในรายการของนักแสดงตลกเสียดสีชาวอังกฤษ จอห์น โอลิเวอร์ ที่นำเสนอภาพในเกม (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) จำลองการเจรจาหารือเพื่อสันติภาพ มีการทุ่มเถียงกันอย่างจริงจังบนโต๊ะที่เต็มไปด้วยเอกสาร และมีฉากที่ตัวละครในเกมเอาหัวโขกโต๊ะเวลาผิดหวัง

เกมในฐานะสื่อสร้างความเข้าใจ
อย่างไรก็ตาม บางสิ่งบางอย่างที่ดูน่าเบื่อในชีวิตจริง เช่น การตรวจเอกสารคนเข้าเมือง อาจจะถูกจับใส่ระบบออกแบบการเล่นที่ดีจนกลายเป็น 'ความท้าทาย' ทำให้ผู้เล่นบางคนสนุกไปกับเกมได้ หรือหลายเกมในยุคปัจจุบันก็พยายามสะท้อนมุมมองจากโลกที่ผู้เล่นอาจจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสจริง เช่น เกม This War of Mine ที่สะท้อนชีวิตที่โหดร้ายในช่วงสงครามโดยได้รับแรงบัลดาลใจจากเหตุการณ์ปิดล้อมเมืองซาราเยโว ช่วงปี 2535-2539

จอร์จ ไวด์แมน นักวิจารณ์เกมผู้ใช้นามแฝงในยูทูบว่า 'Super Bunnyhop' กล่าวถึงเกมนี้ไว้ในหัวข้อวิดีโอที่ชื่อ 'Anti-War War Games' หรือ 'เกมสงครามที่มีลักษณะต่อต้านสงคราม' ว่าเกมในลักษณะเดียวกับ This War of Mine และ Papers, Please เป็นเกมที่พยายามใช้ระบบการเล่นเพื่อเป็น 'สื่อ' ในการทำให้คนเข้าใจเรื่องโศกนาฏกรรมและพยายามทำให้ผู้เล่นเกิดความรู้สึกตามไปด้วย ทั้งความกังวล ความผิดหวัง ความโกรธ หรือความรู้สึกผิด ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เล่นเข้าถึงหัวอกของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับที่เกมจำลองมา

จากความคิดเห็นและประสบการณ์ของไวด์แมนเอง เขาบอกว่าเกมที่จำลองการรบแบบสมจริงมากอย่างซีรีส์ 'ArmA' ก็อาจจะทำให้ไวด์แมนเห็นถึงความยุ่งยากในการสงครามซึ่งไม่ได้ 'สนุก' เท่าเกมจำลองที่สมจริงน้อยกว่า อีกทั้งยังทำให้ไวด์แมนเห็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ในสงคราม

นอกจากนี้ยังมีเกมที่พยายามสะท้อนเรื่องความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและชนชั้นอย่างเกม 'Unrest' ที่นำผู้นำทีมสร้างเป็นชาวอินเดียและมีฉากในเกมเป็นประเทศอินเดียยุคเก่า Unrest เป็นเกมแนวแสดงบทบาท (Role-Playing Game) ที่ให้ผู้เล่นสวมบทเป็นตัวละครหลายตัวที่มีสถานภาพทางสังคมและตกอยู่ในสถานการณ์ต่างกัน เช่น หญิงสาวชาวนาผู้มีความรู้แต่กำลังจะถูกจับคลุมถุงชน หรือนักการทูตเผ่านากที่ต้องดำเนินภารกิจสร้างความเชื่อใจท่ามกลางการเหยียดเผ่าพันธุ์ เป็นต้น โดยตัวเกมเน้นให้ผู้เล่นเลือกบทสนทนาหรือเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ มีการต่อสู้ใช้กำลังน้อยมากและสามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการกระทำของตัวละครจะส่งผลต่อเนื้อเรื่องและตัวละครอื่นๆ
 

Crowdsource กับความร่วมมือของเกมเมอร์เพื่อช่วยโลก?
อย่างไรก็ตาม วิดีโอเกมก็ยังคงจัดว่าเป็นความบันเทิงชนิดหนึ่งที่ผู้เล่นต้องการความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่สิ่งที่น่าจะนำไปต่อยอดได้คือรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ทั้งกับระหว่างตัวผู้เล่นและระบบ รวมถึงระหว่างตัวผู้เล่นด้วยกันเองโดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีการรวบรวมการสร้างสรรค์จากฝูงชนหรือที่เรียกว่า 'crowdsource' ตัวอย่างเช่นโครงการให้คนทั่วไปร่วมสำรวจค้นหาสุสานของเจงกิสข่าน หรือการช่วยเหลือองค์กรเซติค้นหามนุษย์ต่างดาว ซึ่งเฟฟเฟอร์ระบุว่าระบบแบบนี้อาจจะนำมาใช้กับการช่วยแก้ไขปัญหาของโลกได้

เฟฟเฟอร์ระบุในบทความว่าหลังจากที่เขาได้เล่น Papers, Please เขามีแรงบันดาลใจเสนอไอเดียเกี่ยวกับการสร้างเกมเพื่อให้คนเล็งเห็นและช่วยกันแก้ปัญหาของโลก โดยมีวิธีดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ขั้นแรกคือการสร้างความรู้สึกตื่นตัว เช่นถ้าต้องการทำให้คนตื่นตัวในเรื่องปรากฏการณ์โลกร้อน ก็ลองทำเกมจำลองเมืองของผู้เล่นเองที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนภายในอีก 50 ปีข้างหน้า ทำให้ผู้คนตื่นตะลึงที่ได้เห็นภาพแผนที่สมจริงคล้ายกูเกิลแมปแต่เป็นภาพของโลกที่จมอยู่ใต้บาดาลหรือเต็มไปด้วยทะเลทราย นอกจากนี้ยังน่าจะปรับใช้กับเรื่องผลกระทบจากความไม่เท่าเทียม แนวคิดสุดโต่งทางศาสนา และการใช้เครื่องบินโดรน

เฟฟเฟอร์เสนออีกว่าในขั้นตอนต่อไปคือการให้ผู้เล่นร่วมมือกันแก้ไขปัญหาในแบบ crowdsource โดยเน้นเรื่องการโต้ตอบกับปัญหาด้วยวิธีการของภาคพลเมืองและอาศัยข้อมูลจากข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญแทนการใช้หน่วยพิเศษของกองทัพในการจัดการปัญหาต่างๆ เช่นปัญหาการแพร่ระบาดของโรค ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาพืชผลทางการเกษตร และวิกฤติการเงินโลก

ในขั้นตอนที่สาม เฟฟเฟอร์เสนอถึงเรื่องเชิงปฏิบัติการช่วยกันจินตนาการถึงโลกที่ทุกคนอยากจะให้เป็นและแสดงให้เห็นผลที่จะเกิดตามมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงนั้น เช่นการตัดงบประมาณกองทัพร้อยละ 20 อาจจะทำให้เกิดการจ้างงานลดลง การปิดฐานทัพ กลุ่มนักล็อบบี้พยายามดิ้นรน หรือการจำลองอื่นๆ ที่ให้ประชาชนร่วมหารือกันโดยมีเป้าหมายบางอย่างร่วมกันอย่างอัตราการกำจัดของเสียภายในเมืองหรือการลดความเข้มข้นของระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นต้น อีกทั้งยังมีการหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการหรือปฏิบัติการอย่างไร


หน้าตาของเกม Democracy 3 ที่แสดงระดับความพึงพอใจจากประชากรภาคส่วนต่างๆ
ท่ามกลางประเด็นที่รายล้อมเป็นรูปสัญลักษณ์ในวงกลม

'เกมแบบจริงจัง'
สิ่งที่เฟฟเฟอร์เสนอมาโดยเฉพาะในขั้นตอนที่สามเหมือนจะมีอยู่ในเกมแนวจำลองรูปแบบ (Simulation) บางเกม โดยเฉพาะเกมซีรีส์ 'Democracy' ซึ่งถูกใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ในเกมนี้ผู้เล่นจะได้เป็นผู้นำรัฐบาลในประเทศประชาธิปไตยที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้นำอยู่ ผู้เล่นจะต้องจัดการด้านงบประมาณและนโยบายต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีกลุ่มประชากรหลากหลาย เช่นกลุ่มประชากรที่มีแนวคิดชาตินิยม กลุ่มประชากรที่มีแนวคิดเสรีนิยม กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มเยาวชน กลุ่มประชากรที่เป็นผู้ฝักใฝ่ศาสนา เป็นต้น

เกมอย่าง 'Democracy' ถูกจัดให้เป็นเกมแนวที่เรียกว่า 'เกมแบบจริงจัง' หรือ 'ซีเรียสเกม' ซึ่งผู้เขียนบทความในนิตยสารคอมพิวเตอร์ชื่อไมค์ ซีดา เคยให้ความหมายของเกมแบบจริงจังไว้ว่าเป็น "การแข่งขันทางสติปัญญาที่มีการเล่นในคอมพิวเตอร์โดยมีกฎเกณฑ์วางเอาไว้ ถือเป็นการใช้ความบันเทิงในหน่วยงานรัฐหรือบรรษัทเพื่อฝึกอบรม เพื่อการศึกษา สุขภาวะ นโยบายสาธารณะ และการสื่อสารเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์"

เกมแบบจริงจังยังถูกแบ่งออกเป็นหลายจำพวกตามแต่วัตถุประสงค์ของแต่ละเกม เช่น เพื่อการศึกษา เพื่อการออกกำลังกาย เพื่อการโน้มน้าวใจ เป็นต้น องค์กรกองทัพของบางประเทศมีการใช้เกมจำลองทางการทหารเพื่อช่วยฝึกสอน ในขณะเดียวกันหน่วยงานสิทธิมนุษยชนอย่างองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ก็เคยนำเสนอเกมที่ให้ผู้เล่นเป็นผู้ช่วยโน้มน้าวให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนทั่วไปให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในเกมชื่อ 'Amnesty - the game'

นอกจากนี้เกมเมอร์บางคนอาจจะได้ช่วยเหลือโลกไปแล้วโดยไม่รู้ตัว จากเกมที่ชื่อ 'Phylo' สร้างโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้เล่นช่วยถอดรหัสยีนที่ทำให้เกิดโรคผ่านระบบการเล่นที่เหมือนเกมไขปริศนา (Puzzle) ซึ่ง เจอโรม วัลดิสปูห์ล ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสารสนเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมคกิลกล่าวว่ามีหน้าที่บางอย่างที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์นั่นคือการไขปริศนา เกมดังกล่าวให้ผู้เล่นเลื่อนเรียงแถบสีซึ่งเป็นตีวแทนนิวคลีโอไทด์ (หน่วยย่อยของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ) ของสัตว์ 2 ชนิด การจัดเรียงนี้จะช่วยให้นักชีววิทยาสามารถค้นหาปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคทางพันธุกรรมได้ ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากระบบ crowdsource ผ่านเกมอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าวิดีโอเกมเป็นหนึ่งในความบันเทิงที่ทำให้คนใช้พักผ่อนหย่อนใจจากการเรียนหรือการทำงาน คงไม่มีใครอยากพยายามแก้ปัญหาซับซ้อนเกินความสามารถหรือทำในสิ่งที่รู้สึกว่า 'เป็นงาน' ถ้าหากว่าพวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างให้ทำ ในเรื่องนี้เฟฟเฟอร์ก็ตั้งคำถามกับตัวเองผ่านบทความเช่นกัน

กระนั้น เฟฟเฟอร์ก็เชื่อว่าการใช้เกมจะสามารถดึงดูดบุคคลที่เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญและมือสมัครเล่นจากทั่วโลกมาหารือร่วมกันได้ และในแง่ของการเมืองแล้ว เฟฟเฟอร์คิดว่าพวกเราคงดูถูกสติปัญญาของฝูงชนไม่ได้ บางคนอาจจะมีข้อเสนอทางออกที่ดีกว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเสียอีก

 

เรียบเรียงจาก

The Games of Our Lives, John Feffer, Foreign Policy In Focus, 17-12-2014
http://fpif.org/games-lives/

Computer Game Makes You a Genetic Scientist, Wired, 30-11-2010
http://www.wired.com/2010/11/phylo-game

Unrest preview: an unexpected game from India about India, Techniasia, 08-07-2014
https://www.techinasia.com/unrest-preview-an-unexpected-game-from-india-about-india/

Youtube : Anti-War War Games, Super Bunnyhop, 04-12-2014
https://www.youtube.com/watch?v=-228auScq1g

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Papers,_Please
http://en.wikipedia.org/wiki/This_War_of_Mine
http://en.wikipedia.org/wiki/Amnesty_the_game
http://en.wikipedia.org/wiki/Democracy_(video_game)
http://en.wikipedia.org/wiki/Serious_game

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท