เริ่มแล้ว สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้ง7 เตรียมดัน 6 ประเด็นนโยบาย

24 ธ.ค.2557 นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2557 (คจ.สช.) เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 พ.ศ.2557 จัดระหว่างวันที่ 24-26 ธ.ค.2557 ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ” ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยง 2.การจัดการสเตอรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย 3.การพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ 4.การกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชน 5.การจัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย และ 6.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ

นพ.ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา ประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า จากการประชุมสมัชชาสุขภาพมาแล้วจำนวน 6 ครั้ง  มีมติฯ ทั้งหมดจำนวน 59 มติ ซึ่งมติเหล่านั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

สำหรับในปีนี้มีมติที่ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุม จำนวนทั้งหมด 10 มติ โดยมีมติที่น่าจับตามอง ได้แก่ (1) การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  (2) การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล  และ (3) การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

กรรณิการ์  บรรเทิงจิตร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่เน้นการเชื่อมโยงทั้ง 3 ภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม  ภาควิชาการและภาครัฐ กระบวนการนี้เปิดโอกาสให้กลุ่มเครือข่ายได้เสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ    ในขณะเดียวกันมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นนโยบาย  ก็สามารถนำไปขับเคลื่อนได้จริงในพื้นที่ 

สำหรับการพิจารณาระเบียบวาระ มีวาระที่น่าสนใจเช่น "การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง" โดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วม ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กว่า 200 คน

วณี  ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ 2 กล่าวว่า สถานการณ์เด็ก เยาวชนไทย กำลังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายรูปแบบ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว  ปัญหาเรื่องเพศ ยาเสพติด การเสพสื่อลามก ปัญหาเด็กติดเกม และค่านิยมในการบริโภคไม่เหมาะสม โดยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เกิดขึ้นทั้งในเขตเมืองและต่างจังหวัด ส่งผลให้ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นความสำคัญและร่วมกันพัฒนาระเบียบวาระนี้เมื่อได้รับฉันทมติแล้ว จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการต่อไป

ขณะที่ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในหลายจังหวัด ร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ พะเยา พัทลุง ยะลา อุบลราชธานี และกทม. รวมทั้ง มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเห็นกลไกภาครัฐ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงของเด็กและเยาวชนไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ที่ประชุมยังมีการนำเสนอข้อมูลจาก สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในปี 2557 ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีการทำร้ายกันของคู่สมรสอยู่อันดับที่ 30 ของโลก โดยผู้ชายทำร้ายผู้หญิงสูงอันดับ 7 ของโลก สาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว มาจากการหึงหวง/นอกใจ ยาเสพติด และความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ห่างเหิน ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นสตรี คิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาเป็นเด็กและเยาวชน คิดเป็นร้อยละ 33.5

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีเด็กผู้หญิงและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวนเกือบ 125,000 คน ให้กำเนิดบุตรก่อนวัยอันควร ปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาเหล่านี้คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสื่อทุกรูปแบบที่มีเนื้อหาผลิตซ้ำความรุนแรงทางเพศ  อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในปัจจุบัน ได้แก่ สารเสพติด การค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท