ชาวบ้านยโสธร 'เดินเพื่อสายน้ำ' ปลุกสำนึก หลังน้ำเปลี่ยนทิศจากหลากโครงการรัฐ

24 ธ.ค.2557 เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม "เดินเพื่อสายน้ำ" โดยมีพระสงฆ์นำขบวนชาวบ้าน นักศึกษา และเยาวชน รวมกว่า 50 คน สวมเสื้อขาวสกรีนคำว่า "เดินเพื่อสายน้ำ น้ำไหล ใจสะอาด" พร้อมอ่านคำประกาศก่อนออกเดินเพื่อสายน้ำ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าที่ผ่านมาการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วม

นายนิมิต หาระพันธ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเดินเพื่อสายน้ำในครั้งนี้ ได้มีหลายภาคส่วนเข้าศึกษาเส้นทางน้ำเพื่อจะได้จัดเก็บข้อมูลโดยชาวบ้าน เนื่องจากที่ผ่านเส้นทางน้ำได้ถูกกระทำจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐจนทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนทิศทาง และไม่คำนึงถึงระบบนิเวศดั่งเดิมของธรรมชาติ โดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล ที่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี แล้วทำให้น้ำไหลเปลี่ยนทิศทางในช่วงฤดูน้ำหลากส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน มิหนำซ้ำยังเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐที่ไม่ได้ศึกษาผลกระทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรมเดินเพื่อสายน้ำทางคณะได้เล็งเห็นความสำคัญของแหล่งน้ำขนาดเล็กที่เป็นสายน้ำที่ไหลลงแม่น้ำชี และมีระบบนิเวศที่สัมพันธ์กันทำให้ชุมชนได้มีการพึ่งอาศัยแหล่งน้ำเหล่านี้ในการดำรงชีวิต ซึ่งการเดินเพื่อสายน้ำเป็นการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกของคนในท้องถิ่นให้มีความตระหนักต่อประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นการศึกษาเส้นทางน้ำจริง พวกเราได้กำหนดระยะเวลาในการเดินเพื่อสายน้ำ 2 วัน คือวันที่ 24-25 ธันวาคม 57

เขาระบุว่า จากการเดินเพื่อสายน้ำในวันแรกพบว่าในลำน้ำมีการสร้างสิ่งกีดขวางเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะการสร้างคันดินปิดเส้นทางน้ำเดิม การขุดลอกเส้นทางน้ำแล้วนำดินขึ้นมาไว้ริมฝั่งทำเป็นถนนแต่ไม่มีระบบการวางท่อระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลได้อย่างเป็นอิสสระ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการและเอกชนบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ  แต่ไม่เข้าใจถึงทิศทางการไหลของน้ำจริง และไม่รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านที่เห็นต่าง

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง กล่าวว่า ในเมื่อสถานการณ์ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำชีไม่เป็นไปตามเจตจำนงของชุมชนที่มีความต้องการแตกต่างกัน โดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ยึดหลักการและข้อมูลของชุมชนเป็นตัวตั้ง หรือบางครั้งนำข้อมูลของชุมชนไปบิดเบือนเพื่อเสาะแสวงหาโครงการที่จะนำลงมาดำเนินการในพื้นที่ การเดินเพื่อสายน้ำในครั้งนี้เป็นความประสงค์ของชาวบ้านที่อยากศึกษาเส้นทางน้ำในพื้นที่ของตนเองเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันของชาวบ้าน โดยผ่านการสร้างจิตสำนึกร่วมกันของชุมชนที่ได้อาศัยแหล่งน้ำในการดำรงวิถีชีวิต ที่ผ่านมาการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นการรวมศูนย์การจัดการโดยรัฐ ซึ่งไม่ให้ชุมชนหรือชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเริ่มโครงการจริง ดังนั้นผมมองว่าการร่วมกันเดินรณรงค์เพื่อสายน้ำในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ทุกคนที่ร่วมเดินทางด้วยกันได้เข้าในถึงระบบนิเวศทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงวิถีชุมชน

ด้านนายชนินทร์ ยศบุญ นักศึกษาชมรมวรรณศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ร่วมเดินรณรงค์เพื่อสายน้ำ กล่าวว่า ไม่มีใครที่จะเข้าใจเส้นทางเดินน้ำเท่ากับธรรมชาติ เนื่องจากเส้นทางเดินน้ำมันถูกกำหนดมาตั้งแต่ก่อนมีชุมชน ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์ไปสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นการฝืนธรรมชาติ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนและคันไดค์ ในการเดินครั้งนี้ผมมองว่าชาวบ้านเป้นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับแม่น้ำจะเข้าใจเส้นทางเดินของน้ำดีกว่า และชาวบ้านสามารถจัดการน้ำโดยตนเองได้เพราะความเข้าใจระบบการไหลของน้ำ

 

คำประกาศ

“มหกรรมเดินเพื่อสายน้ำ”

น้ำไหล น้ำใจ ครั้งที่ 1

“สายน้ำพึงเดินทางไกลเพื่อให้คน คนจำเป็นจะต้องเดินทางไกลเพื่อให้แม่น้ำ” จากสถานการณ์ปัญหาทางระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมด้านดิน น้ำ ป่า ซึ่งยังหาทางออกกันไม่ได้ในการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ชุนชนได้เกิดความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เป็นทั้งปัจจัยหลักและห่วงโซ่อาหารที่สำคัญ ในการกำหนดวิถีชีวิตชุมชนที่มีผลต่อการดำรงชีวิตก่อให้เกิดอาชีพที่หลากหลายและเหมาะสมกับพื้นที่ผ่านการกระทำซ้ำจนกลายเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ของชุมชน ทำให้คนในชุมชนไม่เคยคิดที่จะละทิ้งบ้านเรือนของตนเองเพื่อไปเสาะแสวงหาชีวิตใหม่ในเมือง เพราะว่าสายรกของพวกเราเกิดอยู่ที่นี้

ในเมื่อสถานการณ์ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของชุมชนที่มีความต้องการแตกต่างกัน โดยไม่ยึดหลักการและข้อมูลของชุมชนเป็นตัวตั้ง หรือบางครั้งนำข้อมูลของชุมชนไปบิดเบือน จนนำมาสู่คำกล่าวที่ว่า “มีเจตนาดี แต่ประสงค์ร้าย” ทำให้ชุมชนต้องกลับมาตั้งคำถามว่า “การจัดการทรัพยากรน้ำด้านใดดีที่สุดล่ะ?” คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พวกเราหรือชุมชนต้องร่วมกันหาคำตอบ เพราะว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่เกิดในพื้นที่ จะเป็นคนที่กำหนดแนวทางได้ดีที่สุด

วันนี้ 24 ธันวาคม 57 คงเป็นอีกห้วงระยะเวลาที่หลายภาคส่วนจะมาทำกิจกรรมและหาคำตอบร่วมกันผ่านการเดินศึกษาระบบนิเวศในชื่อ “มหกรรมเดินเพื่อสายน้ำ” น้ำไหล น้ำใจ น้ำกิน น้ำใช้ น้ำคำ ครั้งที่ 1 เป็นการเดินยาตราเพื่อสายน้ำ สร้างความรัก สามัคคี สร้างพลังของคนทุกวัย สร้างสำนึกของชุมชน และคน ให้ร่วมกันอนุรักษ์ หวงแหนไว้ให้ลูกหลาน ไม่ทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมเพื่อให้คงสภาพจากที่ปู่ ย่า ตา ยาย เราเคยอาศัยทรัพยากรเหล่านี้ในการชุบชีวิตเราเติบโตมา ตลอดจนร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  การเดินเพื่อสายน้ำในครั้งนี้ทางคณะจะใช้ระยะเวลา 2 วัน และเราจะก้าวเดินไปพร้อมกันจนถึงเป้าหมายที่เราวางไว้

“ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครอง ขอเจ้าแม่ธรณี และแม่คงคา จงปกป้องลูกหลาน คณะเดินเพื่อสายน้ำ ด้วยเทอญ”

ศรัทธาและเชื่อมั่น

24 ธันวาคม 57

ณ วัดบ้านทรายงาม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท