Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนา ในส่วนของ ‘ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ’ ที่กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “นิธิ 20 ปีให้หลัง” และงานเปิดตัวหนังสือพิมพ์ซ้ำ 4 ปก อันประกอบด้วย “กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย” , “โขน, คาราบาว, น้ำเน่าในหนังไทย” , “ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” และผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ โดยกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่อาคารมติชนอคาเดมี ซึ่งจัดขึ้นโดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน และมติชนอคาเดมี (คลิกอ่านส่วนของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ เกษียร เตชะพีระ)

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ภาพโดย Prince Juthamas

 

ประวัติศาสตร์ที่เป็นการเมือง

ทำไมประวัติศาสตร์ถึงมีน้ำหนักหรือคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะงานเขียนของ อ.นิธิ เรื่องประวัติศาสตร์ ถ้าใครติดตามอ่านมาตลอดก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ธรรมดา เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นการเมืองอาจจะมากกว่าเป็นประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ไทยนั้นมาจากข้อเท็จจริงที่มาจากงานเขียนแบบพงศาวดาร เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ไทยที่เรียนในแบบพงศาวดารนี้มันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาบนบริบทและความเข้าใจที่ข้ามเวลาและข้ามสถานที่ได้ ทุกอย่างมันอยู่และจบอยู่ในนั้น ดังนั้นการเข้าใจมันทำไม่ได้ ส่วนมากใช้วิธีการจำ เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์ไทยมันต้องเรียนด้วยการจำ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของครูอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ เพราะว่าให้เขาสอนพงศาวดารก็ไม่รู้จะสอนอย่างไร ก็ต้องสอนวัน เวลา ชื่อและเหตุที่เกิด จึงเรียนไม่สนุก ตั้งแต่ ป. 4 ถึงปี 4 ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ แค่ชื่อเรื่องยาวขึ้น

แต่ อ.นิธิ ทำประวัติศาสตร์ท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ไทยแบบชาตินิยมของชนชั้นนำ โดยใช้ทั้งเนื้อหาเรื่องราวรวมทั้งหลักฐานที่ประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่เป็นพงศาวดารใช้เหมือนกัน แต่ว่ารูปแบบ เนื้อหาในการนำเสนอ และประเด็นในการทำความเข้าใจต่างกัน จนกระทั่งอาจจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงก็ได้

หนังสือของ อ.นิธิ ที่พิมพ์หลายครั้งอีกเล่ม คือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งน่าตื่นเต้น เพราะความหน้าประมาณ 500 หน้า และเรื่องราวละเอียด เป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์แบบปัจจุบันจริงๆ ถ้าหากหนังสือที่หนักทั้งในเชิงปริมาณ เนื้อหาและการวิพากษ์ขนาดนั้น ยังสามารถขายได้ จึงคิดว่ามันต้องมีอะไรที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่น้อย

การทำประวัติศาสตร์ที่เป็นการสนทนาระหว่างปัจจุบันกับอดีต

หากมองในแง้ของนักวิชาการ ซึ่งมีงานวิชาการอยู่มาก ตำราประวัติศาสตร์มีจำนวนไม่กี่เล่มที่ยังใช้เป็นเวลา 5 ปี 10 ปี  หรือเกิด 20 ปียังใช้อยู่ นับรวมแล้วมีไม่กี่เล่มทั่วโลกที่ยังใช้อยู่ถึง 20 ปี ยิ่งประเทศไทยที่ถือเป็นประเทศเล็กคนทั่วโลกที่เรียนหนังสือไทยไม่มาก ดังนั้นการหวังว่าหนังสือที่พิมพ์เป็นภาษาไทยแล้วคนอ่านใช้ต่อเนื่องถึง 20 ปีได้ยิ่งน้อยไปใหญ่ เพราะฉะนั้นงานของ อ.นิธิ จึงถือเป็นข้อยกเว้นที่สามารถอยู่ผ่านความเปลี่ยนแปลง อะไรที่ทำให้ 20 ปี ยังอยู่มาได้

เพราะทุกเรื่องยังสนทนาหรือทำความเข้าใจกับเหตุการณ์หรือประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นได้ นี่เป็นการทำประวัติศาสตร์ที่เป็นการสนทนาระหว่างปัจจุบันกับอดีตอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นเรื่องยากในโลกที่ 3 เมื่อเที่ยบกับสังคมตะวันตกที่เข้าสู่ยุคความเป็นสมัยใหม่ เมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา บริบทระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ระบบการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ระบบวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นในตัวของมันเองเป็นการสนทนาแบบไม่สิ้นสุด เพราะว่าทุกอย่างมันโตไปเรื่อยๆ มีกรอบมีโครงสร้างต่างๆ จนถึงสุดท้ายถึงหลังสมัยใหม่หันมาวิพากษ์ความเป็นสมัยใหม่ แต่ของเราแค่การสนทนากับอดีตยังทำไม่ได้

การทำประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography)ของนิธิ

อันแรก งานเก่าที่ อ.นิธิ สร้างมา มีสิ่งที่เรียกว่าการสร้างประวัติศาสตร์ ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะถูกเขียนนั้น จะต้องมีแบบแผน วิธีการ แต่เนื่องจากว่าการทำประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเราที่รับมาสมัย ร.5 เป็นต้นมา เราไม่สามารถที่จะสร้างระบบแบบสมัยใหม่ขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ จะเอามาเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะฉะนั้นความยากลำบากของนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่นั้น ถ้าหากจะยืนให้ได้ก็ต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์ขึ้นมาให้ได้ ซึ่งเป็นภาระกิจเพิ่มมากกว่านักประวัติศาสตร์ปกติ ซึ่งของไทยนั้นยังไม่ลงตัว จึงคิดว่า อ.นิธิ พบอันนี้ตั้งแต่การอธิบายการเกิดขึ้นของสยามใหม่ต้นรัตนโกสินทร์ งานชิ้นแรกๆ อ.นิธิ ให้ความสำคัญกับการทำประวัติศาสร์นิพนธ์อยู่มาก เพราะถ้าไม่มีตัวนี้ จะมีปัญหาการอธิบาย โดยเฉพาะงานเขียน ‘ปากไก่และใบเรือ’ ที่เขียนถึงการเปลี่ยนแปลงต้นรัตนโกสินทร์

และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราไม่มีนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ ต่างสำนักที่มาวิวาทะสมติฐานทฤษฏีอันใหม่ของ อ.นิธิ นี้ว่า ต้นรัตนโกสินทร์ เป็นสังคมกระฎุมพีอย่างไร และมันสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบไหนที่นำไปสู่การเกิดสยามใหม่ที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชในสมัย ร.5 ที่มีทั้งภาพลักษณ์ ขอบเขตทางกายภาพ ทั้งหมดเป็นองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่มีน้ำหนักมีชีวิตชีวาทำให้ประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อด้วย

แต่เนื่องจากว่าอิทธิพลของประวัติศาสตร์ฉบับทางการหรืออิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไม่เอื้อ ในที่สุดแล้วการขียนประวัติศาสตร์มันไม่ได้ทำได้ลอยๆ หรือทำได้ตามปราถนาว่าเราแค่เห็นข้อเท็จจริง ตีความตามหลักฐานก็จบแล้ว แต่มันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะถ้าไม่มีบรรยากาศรองรับการพูดความจริง อันที่หนึ่งคือ มันพูดไม่ได้ หรือถ้าพูดได้ก็พูดแบบเซนเซอร์ตัวเอง คือพูดครึ่งหนึ่งและไปเข้าใจกันเองครึ่งหนึ่ง มันไม่มีทางที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนการสานต่อและสร้างความงอกเงิยขึ้นของความรู้ วิธีการ เนื้อหา ขึ้นมาได้

เหตุที่นิธิลดความสำคัญของการสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์

อ.นิธิ ให้ความสำคัญของการสร้างประวัติศาสตร์นิพนธ์ และ 20 ปีมานี้ความสำคัญลดระดับลงแล้ว เพราะ หนึ่ง ไม่มีคนมาโต้ ทฤษฏีที่บอกว่ารัตนโกสินทร์ตอนต้นพัฒนาแตกต่างไปจากอยุทธยาโดยสิ้นเชิง มีการเกิดขึ้นของความคิดแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้ว หลายอย่างก็ท้าทายมาก เช่น แนวความคิดพุทธศาสนาที่เรียกว่ามนุษยนิยม Buddhist Humanism ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกตอบโต้ได้เยอะมาก แม้มีคนพยายามจะโต้แต่ก็ไม่โต้แบบจริงๆ จังๆ หรือการเกิดสังคมกระฎุมพี ที่ อ.นิธิ ยกตัวอย่างสุนทรภู่ เป็นมหากวีกระฎุมพี ในแง่ของรสนิยมความคิดต่างๆ ก็พอรับได้ แต่ในแง่โครงสร้างทางชนชั้นของกระฎุมพีที่เกิดในต้นรัตนโกสินทร์ก็คิดว่ามีนักประวัติศาสตร์หลายคนที่พยายามที่จะตอบโต้ว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็ไม่มีงานที่จะมาสานต่อหรือสร้างแรงสะเทือนให้มากที่จะเบียดขับสมติฐานหรือทฤษฏีแรกของ อ.นิธิ ไปได้ จริงๆ แล้ว ถ้าหากจำไม่ผิด อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เคยวิพากษ์ทฤษฏีสังคมกระฎุมพีของ อ.นิธิ ไว้ ในวารสารธรรมศาสตร์ แต่ไม่มีการับเคลื่อนมาต่อจนบัดนี้

เพราะฉะนั้นมโนทัศน์เรื่องสังคมกระฎุมพีในการเกิดขึ้นของรัตนโกสินทร์ตอนต้น และการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำสยามที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ มันก็ยังเกิดขึ้น เหมือนว่าสิ่งที่ อ.นิธิ วิเคราะห์เอาไว้มันก็ก็ยังถูกเอาไปอธิบายได้ แต่ข้อที่มันถูกมันถูกจริงๆ เพราะอะไรนั้น คิดว่ายังมีช่องที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ เสริมหรือข้อมูลอันใหม่ได้

อันต่อมาเกี่ยวกับเรื่องวิธีการ วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ เป็นวิธีวิทยาที่นักประวัติศาสตร์ทั่วไปใช้ เป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอในงานเขียนช่วงแรกเยอะ แต่ช่วงหลังก็จะลดไป เพราะไม่มีการท้าทายที่มากไปกว่า อ.นิธิ ทำ

การอธิบายทั้งบริบทและเนื้อเรื่องของประวัติศาสตร์

อันที่ 3 ที่ อ.นิธิ เริ่ม และนำไปใช้ ก็คือการอธิบายบริบทของประวัติศาสตร์แบบใหม่ พยายามที่จะสร้าง เอาข้อมูลหลักฐานเข้าไปสู่ใกล้ความเป็นจริงของมันที่สุด คือ ประวัติศาสตร์มันไม่ใช่เรื่องจริง เรายังคิดว่าประวัติศาสตร์คือการบอกเรื่องจริงอยู่ เพราะมันมีหลักฐาน มีตัวเลข ก็ถูกที่วันที่หากไม่จดผิดก็เป็นเรื่องจริง แต่เมื่อรวมเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว การอธิบายว่าทำไม 24 มิถุนา ถึงต้องเกิดการรัฐประหาร เพราะว่าคนนั้นอยากจะได้โน้นนี่ ตรงนี้มันบอกไม่ได้หรอกว่ามันจริง เพราะมันเป็นการรวมข้อมูลหลายๆ อย่าง เข้ามา แล้วคนสุดท้ายที่มาอธิบายข้อมูลคือนักประวัติศาสตร์ ซึ่งเราเกิดหลังเหตุการณ์เป็น 100 ปี แล้ว เพราะฉะนั้นนักประวัติศาสตร์จึงอ้างไม่ได้ว่าสิ่งที่ตัวองเขียนหรืออธิบายอยู่คือความจริง แต่เราบอกได้ว่ามันใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด

การอธิบายทั้งบริบทและเนื้อเรื่อง ตั้งแต่ยุคที่ อ.นิธิ เขียนเรื่องสมัยพระเจ้ากรุงธน ก็ดี หรือ ต้นรัตนโกสินทร์ก็ดี ต้องใช้บริบทเยอะมาก เพราะว่ามันเป็นการอธิบายตอบโต้กับความเชื่อโดยทั่วไปของนักประวัติศาสตร์และสังคมโดยทั่วไป ดังนั้นการท้าทายความจริงชุดนั้นซึ่งรองรับโดยฐานโครงสร้างอำนาจรัฐต่างๆ จึงต้องสร้างบริบทอันใหม่ขึ้นมาคัดคานให้ได้ เพื่อให้ความน่าเชื่อถือมีความเข้าใจ เป็นไปได้ สิ่งนี้จนถึงปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญอยู่ และอาจจะมากขึ้นด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่สวนกับพัฒนาการของความรู้ทางประวัติศาสตร์ หรือพัฒนาการของโลก โลกภิวัฒน์ต่างๆ ที่ความรู้สามารถรับรู้กันได้กว้างแล้ว หลักฐานต่างๆ ก็สามารถเช็ค ตรวจสอบได้

แต่การอธิบายว่าอะไรใกล้ความจริง หรือควรที่จะตรวจสอบเรากลับทำน้อยลงไปเรื่อยๆ เช่น บางช่วงที่มีรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างก็จะทำได้มากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ต้องทำแบบระมัดระวังมาก

เพราะฉะนั้นเรื่องบริบทกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพราะว่าพัฒนาการการเคลื่อนย้ายของปัจจัยที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมไทยปัจจุบันมันมีความขัดแย้งที่แหลมคมมากขึ้น ทำให้การต้องอธิบายด้วยบริบทมีความจำเป็นมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

มีภาพจินตนาการของสังคมสยามตลอดเวลา

ขอถือโอกาสยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันและเป็นการสรุปเรื่องที่พยายามเล่าว่า 20 ปีที่ผ่านมานี้คิดว่า 2-3 อย่างที่งานของ อ.นิธิ ทำ ได้เปิดเวทีใหม่หน้าใหม่ แต่ว่าสิ่งที่ตอนนี้ที่เรียกร้องและ อ.นิธิ ก็ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านและสังคม ที่ต้องการจะรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการปรับและสร้างบริบทในการอธิบายของมัน พบว่ามีข้อคิดที่น่าสนใจว่า อ.นิธิ ได้ให้ความสนใจกับภาพลักษณ์หรือความเป็นไปของสังคมไทยเยอะมาก พูดได้ว่าทุกชิ้นที่ อ.นิธิ เขียน ในแต่ละชิ้นมีภาพของสังคมสยามอยู่ในจินตนาการตลอดเวลาว่ามันคืออะไร และถ้าสังเกตุดูในนั้นก็จะถ่ายทอดผ่านคำอธิบายหรือผ่านบทบาทของตัวละครต่างๆ ในนั้นออกมา จึงยกตัวอย่างอันหนึ่งก็คือเรื่องอำนาจกับความชอบธรรมของการปกครองในรัฐสยาม ในปากไก่และใบเรือ บทที่ 4 เรื่อง วัฒนธรรมกระฎุมพีตอนต้นรัตนโกสินทร์ อ.นิธิ เริ่มต้นย่อหน้าแรก ด้วยการอ้างข้อเขียนของ เวิทฮาม ว่า

“สังคมที่ถูกประดิษฐ์เข้าไว้ด้วยกันเพียงอาศัยพลกำลังอย่างเดียวนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่มีน้อยอย่างแท้จริง สูตรลับของการครอบครองใดใดก็ตามคือการสถาปณาเป็นบางส่วน ซึ่งระบบค่านิยมของตัวเองลงบนสมาชิกของกลุ่มคนที่ถูกครอบครอง”

อ.นิธิ บอกว่าสังคมที่ปกครองด้วยกำลังอย่างเดียวนั้นมันมีไม่กี่ที่หรอก ทำไม่ค่อยได้หรอก เพราะว่าการปกครองที่มีประสิทธิภาพนั้น คือผู้ปกครองต้องเอาค่านิยมตัวเองลงไปกับอยู่บนสังคมนั้นให้ได้ ไม่มากก็น้อย ใช้กำลังอย่างเดียวไม่ได้ อันนั้นเขียนหลายปีแล้ว ตั้งแต่ยุคแรกๆ

ในเล่มต่อมา การเมืองในสมัยพระเจ้ากรุงธนมีอยู่ตอนหนึ่งที่ อ.นิธิ พูดถึงเป็นตอนที่ตัวละครที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาท ก็คือเจ้าพระยาจักรกรีกับน้องชาย อ.นิธิ บอกว่า

“อันที่จริงไม่มีสังคมใดที่ยืนยงได้ด้วย จะสามารถให้ความสำคัญแก่ทหารและการรบเหนือสิ่งอื่นใดได้หมด จะมีก็แต่สังคมชนเผ่าเร่ร่อนโบราณ เช่นพวกมองโกลหรือพวกฮั่นเท่านั้น เพราะตำแหน่งหน้าที่หรือบุคลิคภาพของเจ้าพระยาจักรกรีเหนือความเป็นทหารต่างหากที่ทำให้เหล่าเชื้อสายขุนนางอยุทธยาซึ่งมีความรุ่งเรื่องของอารยธรรมของกรุงศรีอยุทธยาติดอุดมคติ พากันก็ฝากตัวด้วย และยกย่องเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาต่อมา ในทางตรงกันข้ามเพราะตำแหน่งหน้าที่และบุคลิคภาพของเจ้าพระยาสุรสีห์เป็นไปในทางทหารเอกอย่างเดียวนั้นแอง ที่ทำให้ไม่มีปัญหาแก่สมัครพรรคพวกแก่เชื้อสายขุนนางอยุทธยาเลยว่าเจ้าพระยาสุรสีห์ไม่ใช่ผู้ที่จะถูกยกขึ้นมาแย่งอำนาจจากพระเจ้ากรุงธนอย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้”

โควทสุดท้ายวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในมติชนรายวันเรื่อง “มองการเมืองไทยผ่านกรัมชี่” อ.นิธิ พูดว่า “อํานาจที่จะปกครองรัฐได้นั้นมีสองส่วน หนึ่งคืออำนาจครอบงำ (domination) ซึ่งหมายถึงการเข้าไปกุมกลไกของรัฐ เช่น กองกำลังติดอาวุธ, ระบบราชการ, เครื่องมือสื่อสาร ฯลฯ กลายเป็นอำนาจใหญ่ที่ไม่มีใครต้านทานได้ ผูกขาดความรุนแรง และด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นผู้ตัดสินกรณีพิพาททั้งหมดแต่ผู้เดียว แต่อำนาจครอบงำอย่างเดียวถึงสามารถปกครองได้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะอำนาจประเภทนี้มีวิธีใช้อยู่อย่างเดียว คือกดขี่ปราบปราม ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในโลกปัจจุบันไปแล้ว นอกจากนั้น แม้ไม่มีป่าเหลือให้หลบหนีอีกแล้ว แต่ก็มีพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดใหม่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถเล็ดลอดหลบหลีกไปจนได้ เช่นในระบบการสื่อสารของโลกปัจจุบัน อาจจะง่ายกว่าสมัยโบราณที่ยังมีป่าอยู่ด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องเตรียมเสบียงอาหารมากนักและไม่ต้องขนเอาครอบครัวอพยพหนีตามไปด้วย

ดังนั้น อำนาจส่วนที่สองจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการครอบงำ นั่นคือ "อำนาจนำ" (hegemony) ซึ่งก็คือฐานทางวัฒนธรรมที่ทำให้สังคมยอมรับอำนาจครอบงำซึ่งรัฐต่างๆ ยึดกุมอยู่ รัฐที่อ่อนแอมีแต่อำนาจครอบงำ ในขณะที่รัฐแข็งแกร่งแทบไม่ใช้อำนาจครอบงำเลย หากใช้แต่อำนาจนำเท่านั้นในการปกครอง เพราะอำนาจนำของรัฐเช่นนั้นมีพลังไพศาลจนเกิดการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งสังคม การจลาจลหรือการแข็งข้อของคนบางกลุ่มบางเหล่าในสังคม จึงแทบไม่กระทบต่ออำนาจปกครองของรัฐเลย ไม่พักต้องพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งย่อมเปิดกว้างแก่ทุกคน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net