Skip to main content
sharethis

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกรมประมงทะเลและชาวประมงพื้นบ้าน ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ใช้โพงพางเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ในปี พ.ศ.2521 ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยึดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ห้ามมิให้มีการใช้เครื่องมือโพงพาง โดยให้เหตุผลว่าการใช้โพงพางเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรง รวมไปถึงการกีดขวางการสัญจรทางน้ำ จึงทำให้เครื่องมือโพงพางกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายซึ่งกรมประมงมีหน้าที่เข้าไปรื้อถอน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมประมงและชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง

รายงานชิ้นนี้จะพาไปฟังความเห็นของ วีระ รัตนจินดา ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการประมงทะเล สุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม นักวิจัย กรมประมงทะเล และชาวประมงผู้ประกอบอาชีพโพงพาง


ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และผลประโยชน์ นำมาซึ่งการต่อสู้ของความขัดแย้งทางกฎหมาย ถ้าหากพูดถึงวิถีชีวิตของชาวประมงบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ภาพของการดำรงชีวิต คือการจับสัตว์น้ำมาใช้เพื่อการบริโภค แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทำประมงนั้นไม่ได้ทำเพื่อการยังชีพเพียงอย่างเดียว แต่ได้พัฒนามาในรูปแบบเชิงธุรกิจมากขึ้น

โพงพาง คือ เครื่องมือประมงพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวประมงในอดีตและสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยการทำโพงพางนั้นจะใช้ปากอวนมีลักษณะเป็นรูปถุงปากกว้างกว้าง 4-6 เมตร ยาว 30 – 50 เมตร เมื่อมีการวางอวน ชาวประมงจะนำอวนไปผูกกับเสา 2 ต้นเพื่อให้กระแสน้ำพัดสัตว์น้ำเข้าอวน ดั้งนั้น การทำประมงชนิดนี้จึงเป็นการทำประมงประจำที่และได้สัตว์น้ำในปริมาณมาก เมื่อเทียบกับการทำประมงพื้นบ้านชนิดอื่น เช่น การหว่านอวน หว่านแห เป็นต้น เรียกได้ว่าการทำโพงพางนั้นเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดอย่างหนึ่งที่ผู้ใช้โพงพางไม่ต้องออกแรงในการจับสัตว์น้ำ เพียงแค่กางทิ้งไว้ ก็ทำให้ได้สัตว์น้ำในปริมาณที่มาก จากวิถีชีวิตดั้งเดิมเพื่อการยังชีพได้เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ใช้โพงพางเป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ

อนึ่ง โพงพางถือเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติกรมประมง พ.ศ.2490 และเมื่อปี 2521 ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาให้รื้อถอนเครื่องมือโพงพางทันที เพราะเครื่องมือโพงพางเป็นเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรงและกีดขวางจราจรทางน้ำ ดังนั้น กรมประมงจึงได้ทำการรื้อถอนโพงพางเรื่อยมา และมีมาตรฐานรื้อถอนอย่างจริงจังในปี พ.ศ.2550 จึงเกิดการต่อสู้ของชาวบ้านขึ้นมาโดยการอ้างสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ในมาตรา 66 ชาวประมงได้ให้เหตุผลเพื่อต้องการปกป้องอนุรักษ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ซึ่งการทำโพงพาง คือ การทำลายวิถีชีวิต แต่อีกนัยหนึ่ง คือ ผลประโยชน์ทางธุรกิจจะขาดหายไปด้วย

เมื่อมีการต่อสู้ในชั้นศาล ถึงแม้กรมประมงจะอ้างว่าศาลได้มีคำสั่งยกเลิกชั่วคราวกับผู้ฟ้องคดีโพงพางจำนวน 9 คดี ทำให้เจ้าหน้าที่กรมประมงสามารถเข้ามารื้อถอนโพงพางได้ ก็ทำให้เรื่องบานปลายมากยิ่งขึ้น เพราะในมุมมองของชาวประมง ถึงแม้ศาลจะไม่คุ้มครองเพราะมีคำสั่งยกเลิกชั่วคราว แต่ว่าคดียังไม่จบ ยังค้างอยู่ในศาล กรมประมงไม่ควรเข้ามาทำการใดๆ และทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ประมงทำนั้นไม่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม

สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่าโพงพางเป็นเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรงและกีดขวางการสัญจรทางน้ำ ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายถกเถียงกัน เพราะถ้าโพงพางไม่ได้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรงจริงเท่ากับว่าเป็นกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบอาชีพโพงพาง โดยกรมประมงได้ยกงานวิจัยต้นทุน ผลตอบแทนและการสูญเสียทางการเงินบริเวณคลองสรรพสรรมิตที่กรมประมงที่ได้ส่งทีมวิจัยเข้าไปทำการศึกษาถึงเรื่องนี้ และนำงานวิจัยชิ้นนี้มาสนับสนุนข้อกฎหมายและการรื้อถอนโพงพาง แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน เพราะมองว่าไม่เป็นกลาง เนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้มาจากกรมประมงเพียงฝ่ายเดียวจึงเรียกร้องให้ทำวิจัยขึ้นมาใหม่ จากการร่วมมือของหน่วยงาน 3 ฝ่าย คือ กรมประมง ชาวบ้าน และหน่วยงานวิจัยที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับ จะเป็นทางออกและบทสรุปของเรื่องนี้อย่างดีที่สุด

ถึงแม้ว่า เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองข้ามและไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ในมุมมองของผู้ที่ประกอบอาชีพโพงพางแล้วถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ และเป็นปัญหาเรื้อรังที่กรมประมงจะต้องแก้ไข แม้ทางออกของเรื่องนี้จะอยู่ที่งานวิจัยเป็นตัวชี้วัด หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะลดความขัดแย้ง บาดหมางระหว่างเจ้าหน้าที่ประมงและผู้ประกอบอาชีพโพงพางได้ คือการที่ทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจและร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

อรญา พัฒนชาคร, ทิพยรัตน์ มาสาซ้าย และวาริธร โพยมรัตน์ ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

รายงานข่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการทุนเพื่อทำข่าวสืบสวนสอบสวน กลุ่มเยาวชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (มิ.ย.2557)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net