กลัวเสียหน้า หรือ กลัวเผชิญหน้า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                                             

เหลือเวลาอีกประมาณ 3 เดือน เท่านั้น ในเดือนมีนาคมของทุกปี รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตร ต่อต้านการค้ามนุษย์ จะต้องทำรายงานประจำปี เรียกว่า TIP Report (Trafficking In Person Report) หรือ รายงานผลความร่วมมือการปราบปรามการค้ามนุษย์ ส่งไปประเมินผลการทำงานต่อรัฐบาลประเทศอเมริกา ด้วยความหวังว่า รายงานในปีนี้จะทำให้ประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้น จากระดับ 3 ใช้ไม่ได้ เป็นระดับ 2 พอใช้ได้ หรือระดับ 1 คือ ยอดเยี่ยม

เมื่อประมาณปี 2008 ประเทศไทยได้เริ่มใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หมายความได้เริ่มเป็นพันธมิตรกับอีกหลายประเทศ ทำสัญญากันว่าจะมีความร่วมมือในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีครูใหญ่ให้การสนับสนุนและตรวจสอบคะแนนคือ รัฐบาลอเมริกา

ก่อนการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร รัฐบาลไทยได้แสดงความยินดีฉลองความร่วมมือเป็นพันธมิตรต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยบุกเข้าทะลายบ้านสาว รวบรวม “เหยื่อ” ที่เป็นหญิงสาวชาวพม่าได้ ประมาณ 20 คน เพื่อแสดงความจริงใจ จึงได้นัดให้รัฐบาลพม่าส่งตัวแทนมารับ “เหยื่อ” ที่ชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตามข้อตกลง “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” เพื่อผลักดันส่งกลับภูมิลำเนาเดิม

นับเวลาได้ร่วม 10 ปี ที่ใช้กฎหมาย “ค้ามนุษย์” ประเทศไทยเป็นนักเรียนอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ที่ได้คะแนนจากครูใหญ่อเมริกา ในระดับ 2 มาตลอด หมายถึง คาดว่าจะทำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งปีที่ผ่านมา 2557 ครูใหญ่ได้ปรับคะแนนลดต่ำลง เหลือ ระดับ 3 ด้วยเหตุผลว่า ประเทศไทยไม่สนใจที่จะปรับการทำงานให้ดีขึ้น

นอกจากนั้นยังมีรายงานการตรวจสอบ ปัญหาการค้ามนุษย์ ในเรือประมง ในโรงงานอาหารทะเล พื้นที่ชายแดน ที่มีการใช้แรงงานข้ามชาติ การเอาเปรียบค่าแรง และการหลบซ่อนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยพร้อมกับการขู่สำทับว่าจะลดโควต้า การสั่งสินค้านำเข้าอาหารทะเลที่ทำในโรงงานประเทศไทย ซึ่งเป็นรายได้เงินตราต่างประเทศ และเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆของประเทศไทย

ปัญหา “การค้ามนุษย์” เริ่มมีข่าวคราวในประเทศไทย เมื่อประมาณปี 2006  ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมพันมิตร ต่อต้านการค้ามนุษย์  มีรายงานว่า อเมริกาใช้เงินปีละ ประมาณ 950 ล้านเหรียญ (28,500 ล้านบาท) เพื่อจับผู้หญิงและเด็ก[S1] ที่ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย โดยอ้างเพื่อช่วยเหลือ "เหยื่อ" การค้ามนุษย์ จึงต้องจับ "เหยื่อ"

เหตุการณ์ “คอนเทนเนอร์” (Container) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ รถบรรทุกสมัยใหม่ รับจ้างขนแรงงานข้ามชาติจากต้นทาง จะไปส่งปลายทาง รับผู้โดยสารจำนวนมากจนอัดแน่นใน คอนเทนเนอร์  หรือ ตู้ห้องเย็น เมื่อเปิดตู้ออกมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ ครึ่งหนึ่ง เนื่องจากขาดอากาศหายใจ ผู้รอดชีวิตกล่าวว่า รถใช้เวลาวิ่งนานมากหลายชั่วโมงผิดปกติ ต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิมเพราะมีนโยบายตรวจเข้มเรื่อง “การค้ามนุษย์”

 

กฎหมาย “ค้ามนุษย์”

กฎหมาย “ค้ามนุษย์” ของประเทศไทยนั้น เริ่มใช้บังคับเมื่อปี 2551 หรือ 2008 เป็น กฎหมายที่ใช้แทน พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2540  

เมื่อดูตัวบทกฎหมาย จะพบว่า กฎหมาย “ค้ามนุษย์” 2551 ระบุความผิด 2 กรณีหลัก คือ การแสวงหาผลประโยชน์ จากการบังคับค้าแรงงานทาส และ การบังคับค้าประเวณี ซึ่งการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ แปดหมื่นบาท ถึง สองแสนบาท (80,000-200,000) หากเป็นนิติบุคคล มีโทษ จำคุกตั้งแต่ 6 ปี ถึง 12 ปี ปรับ หนึ่งแสนสองหมื่นบาท ถึง สองแสนสี่หมื่นบาท (120,000-240,000)

และ เพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงให้ครอบคลุมความผิดต่ออาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร อันสอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาและพิธีสารที่ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาสหประชาชาติ เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ฯอีกประการหนึ่งด้วย

อีกส่วนหนึ่งของกฎหมายระบุถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ความคุ้มครอง เยียวยา และ สวัสดิภาพของผู้เสียหาย ที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังไม่มีรายงานที่ได้บังคับใช้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าแก่ผู้เสียหาย

 

“ส่วย” กับ “ค้ามนุษย์

ในปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่เฉพาะฝ่ายในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะ สถานบันเทิง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรี จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตราตามนโยบายรักษาความสงบ จึงมักพบว่า มีผู้รักษาการในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ฝ่ายปราบปรามยาเสพติด ฝ่ายการฟอกเงิน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทางหลวง ฝ่ายสรรพากรตรวจเรื่องภาษี ฝ่ายตรวจลิขสิทธิ์ ฝ่ายดูแลสถานบริการ ฝ่ายปราบปรามการค้าประเวณี และฝ่ายปราบปรามการค้ามนุษย์ ฯลฯ บางแห่งที่อยู่ชายแดนด้านแม่น้ำโขง จะมี ตำรวจน้ำ หรือ น.ป.ข. อีกชุดหนึ่ง นอกเหนือจาก ตำรวจชุดประจำพื้นที่ เขตหรือภาค และ กองปราบปรามจาก กทม. ที่สามารถไปได้ทั่วประเทศ

ประมวลได้ประมาณอย่างน้อย 10 ชุด อย่างมาก 15 ชุด ดังนั้นเดือนหนึ่ง ๆ สถานบันเทิงจะได้พบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ เรียกว่า วันเว้นวัน หรือมากกว่านั้น

ความเผลอเลอของเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจและทหาร เกิดขึ้นที่ถนนพัฒน์พงศ์ ที่เป็นข่าวทั้งใน น.ส.พ และ ภาพข่าวในทีวี รวมถึงจากการให้ถ้อยคำของพ่อค้าแม่ค้าขายของบริเวณดังกล่าวได้บอกสื่อมวลชนผ่านไปถึงทหาร ว่า ...มีตำรวจมา “เก็บ” แล้ว... แสดงว่า “ส่วย” มีจริง

 

กระบวนการยุติธรรม

ความซับซ้อนของปัญหา “การค้ามนุษย์” จึงต้องใช้กระบวนการความยุติธรรมแก่คนทุกฝ่าย และต้องพิจารณาหลักการในการใช้เครื่องมือ หรือกลไก หลายแนวทาง ด้วยกัน

  1. ตัวบทกฎหมาย

1.1         การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ที่มีผลนำไปสู่การขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น ปฏิบัติการที่แสดงชัดเจนในการร่วมกระทำความผิดโดยใช้อำนาจหน้าที่ จำเป็นต้องทบทวน

1.2         กระบวนการยุติธรรมที่ใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งผู้เสียหายไม่สามารถรอคอยความยุติธรรมตามกฎหมายทั้งกระบวนการอย่างครบถ้วนได้ รวมถึงการชดใช้ค่าเสียหาย การกันไว้เป็นพยานฯลฯ

1.3         การฟื้นฟู เยียวยา ความช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย ว่าด้วยเรื่องกองทุน ฯ ซึ่งยังไม่เห็นรายงานในการบังคับใช้ เมื่อพิจารณาในรายละเอียด ตั้งแต่ มาตรา 42 ถึง 51 จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นการกำหนดระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่ายโครงการเป็นหลัก

  1. นโยบายและปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ วิธีการบุกเข้าปราบกวาดล้างแหล่ง “ค้ามนุษย์” ตามภาพที่ปรากฏในสื่อมวลชน เป็นปฏิบัติการเยี่ยงการปราบอาชญากรรมคดีอุกฉกรรจ์ กวาดต้อนผู้เสียหายไปรวมเข้ามุมไว้ ราวกับกวาดต้อน “สัตว์” หรือสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งภาพเช่นนี้แสดงให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงมากกว่า การให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมักจะไม่พบเห็นในประเทศที่มีอารยธรรม
  2. อำนาจ และ บทบาท ของสื่อมวลชนในการสืบสวน สอบสวน บันทึก และแพร่ภาพ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อความผิดตามมาตรา 56 วรรคที่ 1, 2 และ 3 ไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จึงต้องมีการทบทวนความเหมาะสมในบทบาทของสื่อมวลชนด้วย

 

ช่วยกัน “กู้หน้า” ให้รัฐบาล

ต้องหันหลังไปทบทวนผลงานที่ทำให้ “รัฐบาล” เสียหน้าอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนของนโยบาย ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ภาพที่ปรากฏต่อสังคม ออกไปสู่นานาชาติ อาจทำให้เกิดความเข้าใจว่า

1     เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงในทัศนะนานาชาติ “Violence against women” ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากภาพที่ปรากฏในสื่อ ฯ คือเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเต็มยศ อาวุธครบมือ บุกเข้าจับผู้หญิงที่ไม่มีทางหนี กวาดต้อนเหมือนสิ่งไม่มีชีวิต ทำให้เห็นภาพการละเมิดสิทธิมนุษยชน มากกว่าการแก้ปัญหา “การค้ามนุษย์”

2     ใช้หลักฐานที่อ่อนด้วยเหตุผล ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วนี้ เจ้าหน้าที่บุกเข้าปราบทะลาย ร้านคาราโอเกะ แห่งหนึ่ง ในฉะเชิงเทรา ค้นหาหลักฐานในกระเป๋าถือผู้หญิง เป็นภาพของถุงยางอนามัยที่แจกโดยกระทรวงสาธารณะสุข ตามโครงการกองทุนโลก

การบังคับใช้กฎหมายที่ซับซ้อนให้ถูกต้องครบถ้วนตามกระบวนการความยุติธรรม เป็นเรื่องยาก         จึงทำให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้ หลักฐานที่พบคือ “เหยื่อ”    แม้ว่า สังคมจะมีความ เมตตา สงสาร และ เห็นใจ “เหยื่อ” อย่างไรก็ตาม

แต่ที่สำคัญคือนโยบายการแก้ปัญหา “การค้ามนุษย์” ที่ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นภารกิจรีบด่วนที่รัฐบาลจะต้องเผชิญเพื่อ ”กู้หน้า” ให้รัฐบาลในวันนี้

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: จันทวิภา อภิสุข เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และ ลิซ ฮิลตั้น เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์เอ็มพาวเวอร์ เชียงใหม่ เอ็มพาวเวอร์ เป็นองค์กรช่วยเหลือพนักงานบริการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเพื่อเข้าถึงการบริการทางสังคม และสุขภาพอนามัย 


 [S1]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท