Skip to main content
sharethis
 
แรงงานฟาสต์ฟู้ดสหรัฐหยุดงานประท้วงเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ
 
5 ธ.ค. 2014 เมื่อวันพฤหัสบดี (4 ธ.ค.) คนทำอาหารและแคชเชียร์ตามร้านอาหาร Fast-food ในนครนิวยอร์คหลายร้อยคน หยุดงานประท้วงเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ $15
 
พนักงานลูกจ้างจาก McDonald’s, Burger King, Wendy’s, และร้านอาหารประเภทเดียวกัน ที่หยุดงาน พากันเดินขบวนไปที่ศาลากลางนครนิวยอร์ค คนเหล่านี้กล่าวว่า อัตราค่าจ้างที่เป็นอยู่เวลานี้ ไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัว หรือจ่ายค่าเช่าบ้าน
 
เมื่อไม่นานมานี้ นคร Seattle ในรัฐ Washington ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐ ได้ประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานที่นั่นเป็นชั่วโมงละ $15 โดยจะใช้เวลาสามปีสำหรับการดำเนินการ
 
ในขณะเดียวกัน รายงานการศึกษาตลาดแรงงานในสหรัฐระบุว่า มีการว่าจ้างงานแข็งขันขึ้น เวลานี้อัตราคนว่างงานในสหรัฐอยู่ที่ 5.8% ซึ่งนับว่าต่ำสุดในช่วงหกปีที่ผ่านมา
 
หนุ่มสาวสิงคโปร์ ว่างงานอัตราพุ่ง 5.8% สูงสุดในรอบ 5 ปี
 
5 ธ.ค. 2014 เดอะ สเตรต ไทมส์ รายงานว่า อัตราการว่างงานในประเทศสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยหรือวัยหนุ่มสาวแตะระดับสูงสุดถึง 5.8% ในปีนี้ หากนับตั้งแต่ปี 2552 
 
ด้านนายเออร์แมน ทัน ประธานสถาบันทรัพยากรมนุษย์แห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ตลาดแรงงานที่ตึงตัวมากจนเกินไปไม่ใช่ความกังวลที่คนหนุ่มสาวจะต้องตระหนัก แต่พวกเขาควรคำนึงถึงตัวเลือกที่มากขึ้น ซึ่งตำแหน่งงานในปัจจุบันมีความหลากหลาย โดยคนหนุ่มสาวที่ยังกังวลเรื่องตัวเลขการว่างงานต้องเปลี่ยนทรรศนะ เพราะยังไม่ได้ประสบกับสถานการณ์อันเลวร้ายทางการเงิน ดังนั้นควรมองหาความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ เพื่อความอยู่รอดของตนเองต่อไป
 
′ไอแอลโอ′ห่วงประเทศพัฒนาแล้วค่าแรงลด ห่วงฉุดรั้งอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ
 
5 ธ.ค. 2014 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมว่า เงินค่าจ้างในประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับคงที่หรือแม้กระทั่งลดลงด้วยซ้ำในบางแห่ง เป็นการฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตการเงินและเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้อด้วย
 
ไอแอลโอระบุว่า การเก็บภาษีและการเข้าแทรกแซงด้านสวัสดิการไม่เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน และเรียกร้องให้รัฐบาลของชาติต่างๆ ใช้มาตรการกำหนดหรือเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำและสร้างความเข้มแข็งในด้านความร่วมมือต่อรองผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับภาคแรงงาน 
 
ในรายงานแนวโน้มด้านการจ้างงานโลกรอบครึ่งปี ไอแอลโอระบุว่า ค่าแรงในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้วและเพิ่มขึ้น 0.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2555 ลดลงจากราว 1.0 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้าวิกฤตการเงินโลก 
 
ขณะเดียวกัน อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่เข้มแข็งในเอเชียช่วยผลักดันให้ค่าแรงเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.0 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 และ 2.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2555 ทว่ายังน้อยว่า 3.0 เปอร์เซ็นต์เมื่อช่วงก่อนหน้าวิกฤตการเงิน ขณะที่ในกรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น สเปน และอังกฤษ อัตราค่าจ้างในปี 2556 ลดลงจากระดับเมื่อปี 2550 ด้วยซ้ำ 
 
แซนดรา โพลันสกี้ รองผู้อำนวยการไอแอลโอบอกว่า สิ่งนี้ส่งผลต่อผลงานของเศรษฐกิจโดยรวม นำไปสู่ความซบเซาของอุปสงค์ในครัวเรือนในเขตเศรษฐกิจเหล่านี้และเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ 
 
อินเดีย - ความไม่เท่าเทียมทางเพศในตลาดแรงงาน
 
6 ธ.ค. 2014 สื่อต่างประเทศรายงานว่า ปัจจุบันอินเดีย มีผู้หญิงในวัยทำงานแบบนี้ ที่กำลังว่างงานจำนวนมาก แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา ประเทศจะมีอัตราการเติบโของเศรษฐกิจที่ดีก็ตาม
 
ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ Preeta Sachdeva ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี โดยเธอมีใบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของอินเดีย แต่พอแต่งงานมีลูก จนลูกทั้ง 2 คนโตแล้ว เธอบอกว่า อยากกลับไปทำงานอีก แต่ก็ถูกกีดกัน โดยคนที่สัมภาษณ์งานเธอพูดว่า การจ้างงานเธอนั้นมีความเสี่ยง เพราะเธอให้ความสำคัญกับครอบครัวมาตลอดช่วงหลายปี
 
ซึ่งผู้สื่อข่าว เดินไปดูที่ป้ายรถประจำทางในย่านธุรกิจ ก็พบว่า คนส่วนใหญ่ที่ออกไปทำงานเป็นผู้ชาย ด้าน OECD ระบุว่า อินเดียจ้างผู้หญิงวัยทำงานแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น ในขณะที่จีน กับบราซิล มีอัตราการจ้างงานผู้หญิงสูงกว่า 2-3 เท่าตัว
 
ปัญหาคือ อินเดียมีค่านิยมที่ยึดถือกันในอดีตว่า ผู้หญิงส่วนมากจะทำงานในภาคการเกษตร และส่วนใหญ่ก็เรียนจบช้ากว่าผู้ชาย
 
ซึ่ง CEO ตลาดหลักทรัพย์อินเดีย ที่เป็นผู้หญิงกล่าวว่า การไม่จ้างงานผู้หญิง ทำให้ประเทศเสียโอกาสเชิงเศรษฐกิจ และถ้าจ้างงานผู้หญิง ตัวเลขคาดการณ์ระบุว่า น่าจะสามารถช่วยเพิ่มตัวเลข GDP ได้ถึง 2 %
 
แต่อย่างน้อย ตอนนี้ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว และรัฐบาลอินเดีย ได้ออกกฎหมายว่า ถ้าบริษัทขนาดถึงเกณฑ์ ก็จะต้องแต่งตั้งผู้หญิงอยู่ในคณะผู้บริหารด้วยอย่างน้อย 1 คน
 
พนักงานร้านอาหารจานด่วนในเมืองลอสแองเจลิส ประท้วงขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
 
6 ธ.ค. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พนักงานร้านอาหารจานด่วนในเมืองลอสแองเจลิสของสหรัฐ เดินประท้วงเพื่อยกระดับค่าแรงขั้นต่ำภายในประเทศให้ขึ้นเป็น 15 ดอลล่าร์ หรือ ประมาณ 493 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่รายงานระบุว่า ยังมีการประท้วงตามเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐ อีก 190 เมือง รวมถึงเมืองหลักๆอย่างบอสตัน และชิคาโก ที่พบกลุ่มพนักงานและแกนนำสหภาพเดินประท้วงข้างนอกร้านอาหารจานด่วนอย่างแม็คโดนัลด์หลายสาขา
 
โดยการประท้วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ สืบเนื่องจากพนักงานทั้งในอุตสาหกรรมอาหารจานด่วน และอื่นๆ แสดงความคิดเห็นว่า อัตราจ้าง 7.25 ดอลล่าร์ หรือ 247 บาทต่อชั่วโมงนั้นไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งการประท้วงได้ทำให้บางเมือง อาทิ ซานฟรานซิสโก และซีแอตเทิ้ล ออกกฏเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำด้วย
 
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมาถือเป็นวันครบรอบสองปี ของการเคลื่อนไหวขึ้นแรงงานขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกา
 
ค่าแรงเอเชียเพิ่มสูงสวนกระแสโลก ทว่ายังเหลื่อมล้ำมาก ด้านไทยค่าแรงที่แท้จริงคงที่
 
6 ธ.ค. 2014 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เปิดเผยรายงาน "ค่าแรงโลก ประจำปี 2014/2015" ว่า ระดับค่าแรงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปรับเพิ่มสูงขึ้นแซงหน้าภูมิภาคอื่นๆ ของโลกแล้ว โดยระดับรายได้เฉลี่ยต่อปีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทะยานสูงขึ้นถึง 6% เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลกในปี 2013 ที่ระดับ 2% และจีนเป็นประเทศที่ค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดถึง 9%
 
แม้ระดับค่าแรงปัจจุบันในเอเชียจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2.5 เท่า นับตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษนี้ ทว่าอัตราค่าแรงของหลายประเทศในเอเชียก็ยังมีระดับที่ต่ำกว่าค่าแรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า 1 ใน 3 ของคนงานในเอเชีย ยังไม่สามารถยกระดับตนเองและครอบครัวให้ขึ้นมาอยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนนานาชาติที่ระดับ 2 เหรียญสหรัฐ/วันได้
 
การเพิ่มขึ้นของระดับค่าจ้างในเอเชียนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากค่าจ้างที่ปรับตัวมากขึ้นในประเทศจีน รวมถึงอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ไทย และมาเลเซีย ที่เพิ่มอัตราค่าแรง ขั้นต่ำให้สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างเฉลี่ยของเอเชียทะยานสูงขึ้น อาทิ เอเชียตะวันออกที่ระดับค่าแรงเพิ่มขึ้น 7.1% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่ม 5.3% และเอเชียใต้ที่ระดับ 2.4% ด้วย
 
อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำหรือ ช่องว่างของรายได้ขั้นต่ำในภูมิภาคเอเชียยังอยู่ในระดับที่กว้างขึ้น เนื่องจากรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนในหลายประเทศ อาทิ กัมพูชา อยู่ที่ 121 เหรียญสหรัฐ (ราว 3,980 บาท) ขณะที่ประเทศจีนอยู่ที่ 613 เหรียญสหรัฐ (ราว 20,165 บาท) ทว่าในสิงคโปร์กลับสูงถึง 3,694 เหรียญสหรัฐ (ราว 121,521 บาท)
 
สำหรับประเทศไทย แม้ผลิตภาพแรงงานจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทว่า อัตราค่าแรงที่แท้จริงยังอยู่ในระดับคงที่นับตั้งแต่ปี 2011 สาเหตุเนื่องมาจากสถาบันที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานอ่อนแอ มีสัดส่วนสหภาพแรงงานน้อยกว่า 2% ส่งผลให้การต่อรองไม่แข็งแกร่ง ทำให้นายจ้างสามารถกำหนดอัตราค่าจ้างได้เพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้การต่อรองค่าแรงของพนักงานยังอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะผู้จ้างหันไปใช้บริษัทเหมาช่วงงานและแรงงานต่างด้าวแทน
 
ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนั้น แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ค่อนข้างดีที่ระดับ 5.8% ช่วงปี 2010-2013 ทว่าการขยายตัวของอัตราค่าแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน เพราะค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นราว 2.3% เท่านั้น ในช่วงเดียวกัน
 
‘Angry Birds’ ปลดพนง. 110 คน หลังความนิยมร่วง
 
8 ธ.ค. 2014 บริษัท Rovio Entertainment ผู้สร้างเกม Angry Birds ประกาศจะเลิกจ้างพนักงาน 110 คน รวมถึงจะปิดสตูดิโอ 1 แห่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท
 
โดยหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า การเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้ เป็นผลจากกระแสความนิยมในเกม Angry Birds ที่ลดลง จนส่งผลให้รายได้ของ Rovio ถดถอยตามไปด้วย
 
อย่างไรก็ตาม Rovio เคยมีแผนลดพนักงานมากกว่า 130 คน ส่วนสตูดิโอนั้น Rovio ระบุว่าจะปิดทำการสตูดิโอในเมืองทัมเปเร่ เพื่อรวมศูนย์เข้ากับสำนักงานใหญ่ในเมืองเอสโป ประเทศฟินแลนด์
 
ทั้งนี้ Rovio มีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเกม ธุรกิจสื่อ และธุรกิจสินค้าสำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เร็วๆนี้ ซึ่งนโยบายใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
 
เนื่องจาก Rovio ให้ความสำคัญกับการสร้างเกม รายการทีวีและภาพยนตร์ รวมถึงการจำหน่ายของที่ระลึกอยู่แล้ว ทั้งนี้ Rovio เคยเกือบผันตัวเป็นบริษัทมหาชน ด้วยการขายหุ้น IPO แต่วันนี้ Rovio กลับเสื่อมความนิยม ซ้ำยังขยายธุรกิจผิดจังหวะเวลา
 
อีเบย์เล็งลดคน 3,000 ตำแหน่ง รับแผนแยกบริษัทกับเพย์พาล
 
11 ธ.ค. 2014 สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างรายงานข่าวจาก เดอะวอลสตรีทเจอร์นัลเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า "อีเบย์" เว็บไซต์ขายสินค้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อาจมีนโยบายตัดลดพนักงานลงหลายพันตำแหน่งในช่วงต้นปี 2558 เพื่อเตรียมพร้อมที่จะแยกบริษัทให้เป็นอิสระจากบริษัทเพย์พาล ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ชื่อดัง 
 
ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดกับอีเบย์ระบุว่าการตัดลดพนักงานดังกล่าวอาจกระทบกับพนักงานราว 3,000 ตำแหน่ง หรือราว 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงานทั้งหมด โดยการตัดลดดังกล่าวจะเกิดขึ้นในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายสินค้าอย่างอีเบย์และสตับฮับ 
 
ด้านโฆษกของอีเบย์ไม่ได้ออกมายืนยันหรือปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว แต่ระบุว่าบริษัทเน้นไปที่ความสำเร็จซึ่งเกิดขึ้นกับธุรกิจเมื่อการแยกบริษัทเสร็จสมบูรณ์ 
 
คนงานอินโดฯ ชุมนุมประท้วงขอขึ้นเงินเดือน ผลกระทบจากน้ำมันแพง
 
11 ธ.ค. 2014 คนงานหลายพันคนเดินขบวนในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียในวันพุธ (10 ธ.ค.) เรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน หลังจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันเมื่อเร็วๆ นี้ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นตามไปด้วย
       
ฝูงชนพากันโบกธงเดินขบวนไปยังวงเวียนหลักแห่งหนึ่งย่านกลางกรุงจาการ์ตาและทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อเปิดฉากการประท้วงทั่วประเทศเป็นเวลา 2 วัน ทว่าในเมืองอื่นๆนั้นมีจำนวนผู้เข้าร่วมน้อยกว่าในเมืองหลวง
       
เหล่าผู้ประท้วงในจาการ์ตา แสดงความไม่พอใจข้อตกลงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับปี 2015 โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันที่ผลักให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องด้วยต้นทุนในการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
       
“เราต่อต้านค่าแรงที่แสนถูกนี้ และเราต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมันเช่นกัน” สุเบียนโต เลขาธิการทั่วไปของสหภาพ KSPSI กล่าว ขณะที่ทาง KSPSI เป็นหนึ่งในหลายสหภาพที่เป็นแกนนำการประท้วงครั้งนี้ “ถ้ารัฐบาลไม่สมารถฉุดราคาน้ำมันให้ลดต่ำลง พวกเขาก็ต้องอุดหนุนอาหารหลักที่คนส่วนใหญ่บริโภค”
       
นอกจากนี้แล้ว เหล่าคนงานยังเรียกร้องให้ปรับปรุงเบี้ยบำนาญ เช่นเดียวกับล้มเลิกจ้างแรงงานภายนอกและความเคลื่อนไหวพยายามจำกัดอำนาจของสหภาพแรงงานต่างๆ
       
โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ตัดสินใจปรับลดอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาภาระของงบประมาณแผ่นดิน ส่งผลให้ราคาเบนซินและดีเซลดีดตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 30
       
ริวันโต โฆษกตำรวจจาการ์ตาเปิดเผยว่ามีแรงงานราว 4,500 คนเดินขบวนบนท้องถนนในเมืองหลวงและการประท้วงเป็นไปอย่างสันติ ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวถือว่าตำรวจและสหภาพคาดหมายไว้มาก โดยตอนแรกกะเก็งกันว่าน่าจะมีผู้เข้ารร่วมหลายหมื่นคน
 
สิงคโปร์เตรียมขยายอายุการจ้างงานถึง 67 ปี
 
15 ธ.ค. 2014 สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้าง นายตัน ชวนจิน รัฐมนตรีแรงงานของสิงคโปร์วานนี้ว่า สิงคโปร์จะประกาศใช้กฎหมายใหม่ขยายอายุการจ้างงานใหม่แรงงานสูงอายุเป็น 67 ปี ภายในปี 2560
 
นายตัน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนอายุการจ้างงานใหม่ จะทำให้ลูกจ้างสูงอายุที่มีอายุจนถึง 67 ปีมีทางเลือกในการทำงานต่อไป ขณะนี้ทางการกำลังหารือกับสหภาพแรงงานและบรรดานายจ้างเพื่อให้ทุกฝ่ายพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทางการจะให้สิ่งจูงใจแก่บริษัทที่ว่าจ้างพนักงานจนถึงอายุ 67 ปีแต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งจูงใจดังกล่าว
 
ทั้งนี้ อัตราการจ้างงานพนักงานสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 57 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 65 ในปี 2556 และเมื่อปีที่แล้ว ร้อยละ 99 ของพนักงานภาคเอกชนในท้องถิ่นที่อายุ 62 ปีได้รับการว่าจ้างใหม่
 
สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศกำลังเผชิญความท้าทายจากการที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น นายตันกล่าวว่า กำลังแรงงานท้องถิ่นที่มีอยู่ในขณะนี้จะสิ้นสุดสภาพในทศวรรษหลังปี 2563 เนื่องจากคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือคนที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มเกษียณอายุ
 
การเดินทางในเบลเยียม ทั้งรถไฟ-เครื่องบินป่วน หลังแรงงานประท้วงทั่วประเทศ
 
15 ธ.ค. 2014 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานอ้างโฆษกหญิงของสนามบินนานาชาติในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมที่ระบุว่า การชุมนุมประท้วงของแรงงานทั่วประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ เพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ส่งผลให้การเดินทางด้วยรถไฟ และเครื่องบินโดยสาร ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศชะงักงัน โดยเฉพาะเที่ยวบินต่างๆประมาณ 600 เที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกจากสนามบินบรัสเซลส์ ต้องยุติการให้บริการเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศผละงานประท้วง ส่วนรถไฟยูโรสตาร์ จากกรุงลอนดอนไปกรุงบรัสเซลส์ ก็ยุติการให้บริการตลอดทั้งวันจันทร์ ตามเวลาท้องถิ่น
 
BBC เปิดโปง สภาพชีวิตคนงานผลิต iPhone 6 ของ Pegatron ย่ำแย่มาก
 
20 ธ.ค. 2014 มสารคดี Panorama ของสถานีโทรทัศน์ BBC ส่งคนแฝงตัวเข้าไปสมัครงานโรงงานผลิต iPhone 6 ของบริษัท Pegatron แถบเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และพบว่าสภาพการทำงานของคนงานแย่มาก ผิดจากที่แอปเปิลเคยสัญญาไว้อย่างสิ้นเชิงในแทบทุกเรื่อง
 
คนงานทำงานกะละ 12 ชั่วโมง และมักต้องแอบหลับในช่วงทำงานเพราะพักผ่อนไม่พอ  สายสืบของ BBC ถูกบังคับให้ทำงานติดต่อกัน 18 วันโดยไม่มีวันหยุด แม้ยื่นขอหยุดพักแล้วก็ตาม ส่วนสายสืบอีกคนหนึ่งต้องทำงานนานถึง 16 ชั่วโมงติดต่อกัน และบอกว่านอนไม่หลับเพราะความเครียดจากการทำงาน
 
ตามกฎของโรงงาน การทำงานล่วงเวลาถือเป็นความสมัครใจ แต่เอาเข้าจริงแล้ว สายสืบของ BBC ไม่มีสิทธิเลือกไม่ทำงานล่วงเวลา และถูกบังคับให้เข้าร่วมประชุมก่อน-หลังการทำงาน ซึ่งไม่จ่ายค่าล่วงเวลา
หอพักหนึ่งห้องเล็กๆ ต้องแชร์กัน 12 คน
 
Pegatron บอกว่าจะสอบสวนปัญหาเหล่านี้ และยืนยันว่าบริษัทมีมาตรฐานด้านการดูแลคนงานเป็นอย่างดี ส่วนแอปเปิลก็ยืนยันว่ามีมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพชีวิตคนงานดีกว่าบริษัทอื่นๆ
 
นอกจากนี้ BBC ยังตามสืบประเด็นเรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ที่แอปเปิลระบุว่าใช้แร่ธาตุที่ไม่มีความขัดแย้งในการขุด (ethical sourcing of minerals) โดย BBC ส่งคนไปสำรวจถึงเกาะ Bangka ในประเทศอินโดนีเซีย แล้วพบว่ามีปัญหาหลายอย่างผิดจากที่แอปเปิลสัญญาไว้
 
พบการใช้แรงงานเด็กอายุ 12 ปีขุดแร่ด้วยมือเปล่า ในสภาพการทำงานที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น อยู่ริมหน้าผา
กลุ่มผู้ดูแลการขุดแร่ระบุว่าขายแร่ให้กับโรงหลอมแร่ (smelter) ที่อยู่ในรายชื่อผู้จัดหาวัตถุดิบให้แอปเปิล
แอปเปิลชี้แจงเรื่องนี้ว่าผู้ขุดแร่เหล่านี้ขายวัตถุดิบผ่านคนกลาง ทำให้ตรวจสอบได้ยาก และแอปเปิลพยายามจะเข้าไปแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แทนการเลิกซื้อแร่จากอินโดนีเซียแล้วไม่สนใจปัญหาในพื้นที่อีกต่อไป
 
ผู้เชี่ยวชาญชี้ฟิลิปปินส์จะยังคงเผชิญปัญหาการสร้างงานในช่วงหลายปีข้างหน้า
 
22 ธ.ค. 2014 ประธานสมาพันธ์นายจ้างแห่งฟิลิปปินส์ (ECOP) เปิดเผยว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายในการสร้างงานในช่วงหลายปีข้างหน้า แม้ว่าอัตราว่างงานได้ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) ระบุว่า อัตราว่างงานในเดือนต.ค. ลดลงแตะที่ 6% จากระดับ 6.4% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
 
นายเอ็ดการ์โด แลคสัน ประธาน ECOP กล่าวว่า สมาพันธ์ฯวิตกกังวลว่า ตำแหน่งงานใหม่จะมีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของฟิลิปปินส์ในไตรมาส 3 ของปี 2557 ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 6.4% ในไตรมาส 2 ปีเดียวกัน และระดับ 7% ในไตรมาส 3 ของปี 2556
 
นายแลคสันระบุเพิ่มเติมว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นและการปรับขึ้นภาษีรายได้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนสร้างงานใหม่ในประเทศ
 
"สิ่งที่เราต้องการคือการลงทุนในภาคการผลิตและธุรกิจการเกษตร ซึ่งเป็นสองภาคอุตสาหกรรมที่มีการสร้างงานมากที่สุด นอกเหนือไปจากภาคท่องเที่ยว" ประธาน ECOP กล่าว
 
PSA เผยว่า ในช่วง 12 เดือนซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนต.ค. ฟิลิปปินส์ได้สร้างงานใหม่ประมาณ 1.05 ล้านตำแหน่ง ขณะที่จำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น 1.072 ล้านราย สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
แพทย์ฝรั่งเศสหยุดงานประท้วงร่างกฏหมายสุขภาพฉบับใหม่
 
23 ธ.ค. 2014 บรรดาหมอในฝรั่งเศสพากันหยุดงานในวันนี้ (23 ธ.ค.) เพื่อประท้วงร่างกฏหมายสุขภาพฉบับใหม่ที่กำลังจะคลอดออกมา ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าโรงพยาบาลหลายแห่งอาจจะต้องเผชิญกับช่วงคริสต์มาสที่วุ่นวายและไม่อาจดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง สหภาพแรงงาน 3 กลุ่ม ได้เรียกร้องให้แพทย์ทั่วไปหยุดงานเพื่อประท้วงร่างกฏหมายที่จะทำให้เภสัชกรสามารถฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยได้โดยตรง ซึ่งเดิมทีแทบจะมีแต่หมอที่ทำได้
       
ร่างกฏหมายดังกล่าว ยังมุ่งสร้างระบบที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องชำระเงินคืนย้อนหลัง สำหรับการไปตรวจเยี่ยมคนไข้ของหมอ โดยจะให้ประกันสังคมจ่ายเงินส่วนนี้แทน ทำให้บรรดาหมอพากันกลัวว่า อาจจะมีการจ่ายเงินล่าช้าเกิดขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลของ โคลด ไลเชอร์ ประธานของ เอ็มจี ฟรองซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานที่เรียกร้องให้มีการสไตรค์ คาดว่ามีแพทย์ทั่วไปประมาณ 80 - 100 เปอร์เซ็นต์เข้าร่วมการหยุดงานประท้วงครั้งนี้
       
นอกจากนี้ในวันพุธ (24 ธ.ค.) ยังจะมีอีกหนึ่งสหภาพแรงงานของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและแพทย์ทั่วไป ที่เรียกร้องให้สมาชิกหยุดงานประท้วงไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก สำหรับในช่วงเทศกาลวันหยุดที่มักจะมีการกินเลี้ยงสังสรรค์กันจนท้องไส้ปั่นป่วนและเป็นหวัดกันอย่างแพร่หลาย
       
ปกติแล้วในช่วงเทศกาลแบบนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งมักจะต้องเจอกับผู้ป่วยที่แห่กันมาเข้าโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ต้องเข้ารักษาในห้องฉุกเฉินอีกเป็นจำนวนมาก โดยในช่วงที่มีคนไข้มากที่สุดนั้น เวลาเฉลี่ยสำหรับการรอเข้าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่กรุงปารีสนั้นนานเกือบ 4 ชั่วโมง
       
ในตอนแรก หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสถานการณ์ในปีนี้จะแย่กว่าที่เคย เพราะบรรดาแพทย์ห้องฉุกเฉินที่มักจะทำงานหนัก ก็ยังมีแผนจะหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าแรงโอทีและขอลดชั่วโมงการทำงาน แต่แผนการประท้วงก็ต้องหยุดไป หลังจากที่สามารถเจรจากับรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ
 
ข้อมูลชี้ ปี 2014 มีตำรวจอเมริกัน “ตายในหน้าที่” 114 ราย ทุบสถิติเดิมราบคาบ
 
25 ธ.ค. 2014 ข้อมูลล่าสุดซึ่งรวบรวมโดยรายงานชุด “2014 Honor Roll of Heroes” ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มเคลื่อนไหวออนไลน์ ที่เรียกตัวเองว่า “ออฟฟิเซอร์ ดาวน์ เมโมเรียล เพจ” ระบุว่า นับถึงเมื่อวันอังคารที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วสหรัฐฯเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว 114 ราย ทุบสถิติเดิมของเมื่อปี 2013 ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่ทั่วเมืองลุงแซมไปทั้งสิ้น 105 คน
       
รายงานล่าสุดระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันจำนวน 114 รายที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในปีนี้ เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยเจตนา และมีตำรวจถึง 46 รายที่เสียชีวิตเพราะถูก “ยิง” ขณะที่อีกอย่างน้อย 10 รายเสียชีวิตจากการถูกคนร้ายขับรถพุ่งเข้าชนระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หรือในระหว่างไล่ล่าคนร้าย
       
ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานล่าสุดระบุว่า มลรัฐแคลิฟอร์เนียถือเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่มากที่สุดในปีนี้ถึง 14 ราย ตามมาด้วยมลรัฐเทกซัสและนิวยอร์กที่มีตำรวจสังเวยชีวิตในหน้าที่ 11 รายและ 7 รายตามลำดับ
       
ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบข้อมูลแบบรายเดือนจะพบว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันเสียชีวิตในหน้าที่สูงที่สุดที่ 18 ราย รองลงมา คือ เดือนมีนาคมและเดือนตุลาคม ที่มีตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่เดือนละ 13 รายเท่ากัน
       
รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาในจังหวะเวลาเดียวกับที่ตำรวจในสหรัฐฯ กำลังถูกสังคมตั้งข้อสงสัยและถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจ หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวที่มีตำรวจผิวขาวยิงหรือทำร้ายร่างกายชาวผิวดำจนเสียชีวิตหลายราย ในหลายพื้นที่ทั่วสหรัฐฯ รวมถึงในเมืองเฟอร์กูสัน มลรัฐมิสซูรี และมหานครนิวยอร์ก จนเกิดการประท้วงรุนแรงทั่วประเทศ 
 
พยาบาลในเซียร์ราลีโอน ผละงานประท้วงเรียกค่าจ้างพิเศษ
 
26 ธ.ค. 2014 พยาบาลที่โรงพยาบาลทางตอนเหนือของเซียร์ราลีโอนผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างพิเศษในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้ออีโบลา
 
สื่อต่างประเทศเผย พยาบาลราว 30 คนที่โรงพยาบาลมาเบนเทห์ ในเมืองมาดเกนี ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเซียร์ราลีโอน รวมตัวกันผละงานประท้วง เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) เพื่อเรียกร้องขอค่าจ้างพิเศษในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยพยาบาลเหล่านั้น กล่าวว่า ได้เริ่มหยุดงานมาตั้งแต่วันพุธ เนื่องจากยังไม่ได้รับค่าจ้างพิเศษของเดือนพฤศจิกายน และจะไม่ยอมปฏิบัติงานจนกว่าจะได้รับค่าจ้างดังกล่าว
 
ด้านผู้จัดการโรงพยาบาลแห่งนี้ ให้สัญญาว่าจะเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ติดเชื้อ
 
Coke หลังชนฝา เตรียมแจกซองขาว 2,000 ตำแหน่ง
 
29 ธ.ค. 2014 สำนักข่าววอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า โคคาโคล่า เตรียมปลดพนักงานกว่า 2,000 ตำแหน่งก่อนสิ้นปี 2014 นี้ ตามแผนที่จะลดงบประมาณรายปีลงให้ได้ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2019 ซึ่งจะส่งผลต่อออฟฟิศของโคคาโคล่าทั่วโลก เนื่องจากพนักงานจะหายไปไม่น้อยกว่า 10%
 
นอกจากจะปลดพนักงานแล้ว โคคาโคล่ายังมีแผนที่จะตัดสวัสดิการของเหล่าผู้บริหารด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริการรถลีมูซีน หรืองานเลี้ยงปีใหม่สำหรับบรรดานักวิเคราะห์หุ้นจากวอลล์สตรีท แม้กระทั่งบริการโทรศัพท์ฝากข้อความของสำนักงานเองยังถูกยกเลิกไป แม้จะมีการคำนวณว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เพียง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้นก็ตาม
 
โดยแผนลดคนนี้ถูกวางมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการหลังบริษัทเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ระบุว่ากำไรลดลงถึง 14% ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสรักษ์สุขภาพที่ทำให้ผู้คนดื่มน้ำอัดลมน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ช่วงเวลา 9 เดือนของปี 2014 ยอดการบริโภคโซดาของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นเพียง 1% เท่านั้น ในขณะที่รายได้ 70% ของบริษัทมาจากการขายน้ำอัดลม
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, VOA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net