Skip to main content
sharethis

นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นระบุว่าควรมีญี่ปุ่นควรจะเปิดรับแรงงานจากต่างชาติมากขึ้นแม้ในสายแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะฝีมือเพื่อรองรับวิกฤติการขาดแคลนแรงงานและเศรษฐกิจหยุดเติบโตที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำลง


5 ม.ค. 2558 จุน ไซโตะ นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์เพื่อการวิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่นเขียนบทความลงในเว็บไซต์ 'อีสต์เอเชียฟอรั่ม' ตั้งคำถามว่าการอพยพเข้าไปเป็นแรงงานในญี่ปุ่นจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนประชากรในญี่ปุ่นได้หรือไม่

ไซโตะ แสดงความกังวลว่าปัญหาการขาดแคลนประชากรของญี่ปุ่นจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ ไซโตะเสนอว่าควรจะมีการจัดการปัญหาด้านอัตราการเกิดและมีการจัดศูนย์เลี้ยงดูเด็กมากขึ้นเพื่อรองรับการดูแลเด็กสำหรับพ่อแม่ที่ต้องทำงาน แต่ไซโตะก็ประเมินว่าถึงแม้จะมีการแก้ปัญหาเรื่องเพิ่มประชากรเด็กได้แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีก 20 ปีถึงจัส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงๆ

ในบทความของไซโตะยังระบุถึงการแก้ปัญหาอีกวิธีการหนึ่งคือการสนับสนุนให้มีการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้นหรือมีการเพิ่มการจ้างงานในหมู่คนสูงอายุ แต่ทั้งสองวิธีก็ถือเป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะปานกลาง ต่อให้มีการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้นแต่ญี่ปุ่นก็ต้องหาทางเลือกอื่นในการทดแทนประชากรที่ลดลง

ไซโตะเสนอว่าญี่ปุ่นมีทางออกที่เหลือคือการให้คนต่างชาติเข้าไปหางานในญี่ปุ่นซึ่งจะสามารถทดแทนการขาดแคลนประชากรแรงงานในประเทศได้ แต่ดูเหมือนว่าในญี่ปุ่นยังไม่มีการหารือเกี่ยวกับทางเลือกนี้มากพอ แม้ว่าญี่ปุ่นจะเห็นพ้องกันในเรื่องการสนับสนุนให้มีแรงงานข้ามชาติในกลุ่มงานที่ต้องใช้ทักษะวิชาชีพหรือสายงานด้านความคิดสร้างสรรค์ซึ่งการพบปะกับคนที่มีภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกันจะช่วยทำให้เกิดไอเดียความคิดใหม่ๆ ได้ อีกทั้งแนวคิดนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งวางแผนนโยบายรองรับคนงานข้ามชาติที่มีทักษะวิชาชีพชั้นสูง แต่ก็ยังคงมีการถกเถียงกันในเรื่องการรองรับแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในสายแรงงานไม่ใช้ทักษะฝีมืออยู่

ในแง่นี้ไซโตะเสนอว่าการรองรับคนงานต่างชาติในสายงานที่ไม่ใช้ทักษะฝีมือยังจะสามารถเพิ่มผลผลิตและช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตราบใดที่มีการเสียภาษีและค่าประกันสังคมซึ่งถือว่าแรงงานช่วยสร้างความยั่ยยืนให้กับระบบประกันสังคมไปในตัวด้วย

แต่ไซโตะก็กล่าวถึงอีกด้านหนึ่งของการสนับสนุนให้มีแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะฝีมือว่าจะเป็นการผลักดันให้ญี่ปุ่นมีกระบวนการผลิตที่เน้นเรื่องการใช้แรงงานอย่างหนักแทนการอาศัยทุน ความรู้ และการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นในการแข่งขันของญี่ปุ่นที่มีอยู่แต่เดิม และอาจจะมีปัญหาความขัดแย้งจากความกลัวว่าคนงานต่างชาติจะเข้าไปแย่งงานประชากรชาวญี่ปุ่นโดยปัญหาอย่างหลังนี้เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนแรงงานมีฝีมือหรือแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะฝีมือก็ตาม ไซโตะเสนอว่าควรมี 'การทดสอบตลาดแรงงาน' เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้มีการแย่งงานเกิดขึ้น

ทั้งนี้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากจำนวนประชากรที่ลดลง ไซโตะจึงเสนอว่าควรลดการแข่งขันในการรับคนเข้าทำงานอีกทั้งการรองรับแรงานข้ามชาติในสายงานที่ไม่ใช้ทักษะจะทำให้ชาวญี่ปุ่นเองมีโอกาสได้ใช้ทักษะจากระบบการศึกษาที่พัฒนาของพวกตนมากขึ้นจนส่งผลดีทางเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือความตึงเครียดทางสังคมระหว่างคนญี่ปุ่นกับคนต่างถิ่นซึ่งในบางกรณีอาจจะส่งผลต่อเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความกังวลอีกว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะต้องรับภาระงบประมาณด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยและการศึกษาแก่คนงานข้ามชาติและครอบครัวของพวกเขา แต่ไซโตะระบุในบทความว่าญี่ปุ่นไม่ควรกังวลต่อปัญหาเหล่านี้มากเกินไปจนละเลยด้านบวกของสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ไซโตะเสนอว่าเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบจากเศรษฐกิจและสังคมควรมีการแยกให้เป็นนโยบายต่างหาก นอกจากนี้การกำหนดภาษีและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสามารถชดเชยงบประมาณที่ถูกใข้เพิ่มในการจัดการด้านสังคมต่อคนงานต่างชาติได้

ในบทความไซโตะยังได้ยกตัวอย่างการปรับปรุงนโยบายผู้อพยพของเกาหลีใต้ที่เปิดรับคนงานต่างชาติมากขึ้นตั้งแต่การออกกฎหมายว่าด้วยการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในปี 2546 ทำให้มีการส่งเสริมแรงงานข้ามชาติและสนับสนุนเด็กที่เกิดจากคนต่างสัญชาติ ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่าญี่ปุ่นยังล้าหลังอยู่ และแม้จะมีการปรับปรุงแล้วก็อาจจะดึงดูดคนงานจากต่างชาติได้ไม่มากพอ

ไซโตะมีข้อสรุปว่าน่าจะให้โอกาสแก่คนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นที่มีผลได้ผลเสียกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นผู้ออกแบบนโยบายแรงงานข้ามชาติของญี่ปุ่นแทนคนรุ่นเก่ากว่าที่มีอำนาจตามประเพณีอยู่

 

เรียบเรียงจาก

Is immigration a solution for Japan’s plummeting population?,East Asia Forum, 31-12-2014
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net