ผลสำรวจนิด้าโพล ประชาชนพึงพอใจ “บัตรทอง” ร้อยละ 96

 

7 ม.ค.2557 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สปสช. นอกจากมุ่งให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโดยการใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ยังเน้นการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการรับรู้สิทธิ ความพึงพอใจ และปัญหาอุปสรรคในการรับบริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพต่อไป

จาก “ผลสำรวจความคิดเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2557” จัดทำโดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” หรือ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ได้สำรวจตัวอย่างประชาชนและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2,609 ราย จากการสำรวจความพึงพอใจ พบว่า ร้อยละ 96.62 พึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ82.2 ในปี 2556), ร้อยละ 87.08 พึงพอใจการบริหารงาน สปสช., ร้อยละ84.61 พึงพอใจต่อการเข้าถึงบริการ, ร้อยละ 84.76 พึงพอใจต่อคุณภาพมาตรฐานบริการ และร้อยละ 85.36 พึงพอใจต่อการมีส่วนร่วม    

ผู้มีสิทธิส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในปี 2557 มีผู้ใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 89.7 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 96.41 ในปี 2557 โดยมีผู้ไม่ใช้สิทธิเพียงแค่ร้อยละ 3.59 ขณะที่ความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงถึงร้อยละ 94.54

ขณะที่ผลการสำรวจต่อปัญหาและความไม่สะดวกที่พบจากการรับบริการ ได้ลดลงจากร้อยละ 21 ในปี 2556 เหลือเพียงร้อยละ 17.08 ในปี2557 โดยอันดับแรกยังคงเป็นการใช้เวลารอนาน ทั้งการรอตรวจ รอรับยา เป็นต้น สูงถึงร้อยละ 50.40 รองลงมาเป็นปัญหาต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มร้อยละ27.42 นอกนั้นเป็นปัญหาการรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียมกับผู้ใช้สิทธิอื่น การไม่ส่งต่อ สถานพยาบาลปฏิเสธรับคนไข้ ส่วนข้อเสนอแนะที่ควรปรับปรุงนั้น ร้อยละ 44.08 ให้ปรับปรุงเรื่องความรวดเร็วในการให้บริการ, ร้อยละ 18.97ความสุภาพในการให้บริการ ร้อยละ 9.93 ต้องการให้มีแพทย์อยู่ประจำสถานพยาบาล และร้อยละ 27.02 อื่นๆ

นพ.วินัย กล่าวว่า ส่วนการรับรู้บทบาทหน้าที่ของ สปสช. ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้บทบาททั้งการบริหารจัดการลงทะเบียน การจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การพัฒนาบริการสาธารณสุข การสนับสนุนกองทุนสุขภาพตำบล การบริการข้อมูลและการตรวจสอบสิทธิผ่านสายด่วน 1330 การลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน รวมถึงการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 “จากผลสำรวจปี 2557 นี้ ประชาชนพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 96.62 นับเป็นขวัญกำลังใจการทำงาน ไม่แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ สปสช. แต่รวมถึงในส่วนผู้ให้บริการ บุคลากรในระบบสาธารณสุข เนื่องจากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน เช่นเดียวกับผลสำรวจที่มีการเลือกใช้สิทธิเพิ่ม สะท้อนว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบเพิ่มขึ้น ส่วนความพึงพอใจของผู้ให้บริการนั้น แม้จะไม่เท่าที่ประชาชนพึงพอใจ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งสปสช.จะนำข้อคิดเห็นและผลสำรวจที่ได้ไปปรับปรุงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพึงพอใจให้มากที่สุด”เลขาธิการ สปสช. กล่าว   

 

สปสช.แจงหมอสุทัศน์ ยันแบ่งงบรายหัว เพื่อผู้ป่วยได้รักษา-ลดความเสี่ยงรพ

สืบเนื่องจากประเด็นที่ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) ระบุว่า ในเมื่อ สปสช.ส่งงบเหมาจ่ายรายหัวลงไปในพื้นที่แล้ว ก็ต้องปล่อยให้ผู้บริการเป็นคนบริหารงบประมาณ ไม่ใช่เข้ามากำหนดราคาค่าบริการ ว่าต้องทำอะไรบ้างในกี่บาท ซึ่งต่างจากสิทธิประกันสังคมที่เมื่อส่งเงินลงมาแล้ว ก็จะปล่อยให้หน่วยบริการเป็นผู้บริหารงบประมาณเอง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ขอชี้แจงว่าประเด็นนี้เป็นการเข้าใจผิดกันมาก สาเหตุที่ สปสช.ต้องมีการกำหนดว่า ในงบเหมาจ่ายรายหัวจะถูกแบ่งเป็นค่าอะไรบ้างนั้น ก็เพื่อปกป้องประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น เมื่อเจ็บป่วยต้องได้รักษาโดยไม่มีอุปสรรคการเงิน ซึ่งตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า สปสช.ไม่เชื่อว่ารพ.จะไม่ให้บริการผู้ป่วย แต่ในการของบประมาณจากสำนักงบประมาณนั้น จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดทุกครั้งว่า งบประมาณที่เป็นเงินของแผ่นดินนั้นถูกใช้ทำอะไรบ้าง และจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร การที่ไม่โอนงบเหมาจ่ายรายหัวทั้งก้อนไป แล้วให้รพ.ไปบริหารเอง ก็เพื่อให้รพ.ไม่ต้องแบกรับภาระ กรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง แต่เอามาตั้งเป็นกองกลางแยกให้เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการก้าวก่ายหน่วยบริการ

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรก สปสช.เคยใช้วิธีการนี้คือโอนงบทั้งก้อนไปที่รพ. แต่ปรากฎว่าทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการที่จำเป็น โดยเฉพาะในโรคค่าใช้จ่ายสูง เพราะ รพ.แห่งเดียวแบกรับความเสี่ยงนี้ไม่ได้ ภายหลังต่อมาจึงได้แยกงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นรายหมวดในปัจจุบัน ซึ่งประกันสังคมก็ดำเนินการตามวิธีนี้อยู่ ปัจจุบันก็มีการแยกงบโรคค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผู้ประกันตนและรพ.มั่นใจว่า เมื่อรักษาผู้ป่วยโรคนี้แล้วจะมีเงินให้

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ สปสช.ต้องเป็นผู้กำหนดเองว่างบเหมาจ่ายรายหัวนั้นจะถูกใช้เพื่ออะไรบ้าง ก็เป็นหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งฝั่งผู้ซื้อบริการก็คือ บอร์ดสปสช.ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนกำหนดว่าเงินเท่านี้จะมีบริการอะไรรองรับประชาชนบ้าง แต่หากผู้ให้บริการกำหนดเองว่าเงินที่มีอยู่จะรักษาผู้ป่วยอย่างไร ก็จะทำลายหลักการนี้ และถอยหลังกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจริง

“เชื่อว่า สธ.เข้าใจประเด็นนี้ดี เพราะในกองทุนรักษาคนไร้สถานะนั้น สธ.ก็แบ่งงบเหมาจ่ายรายหัวเหมือนกัน ไม่ได้โอนเงินทั้งก้อนไปที่รพ. แต่กันงบส่วนหนึ่งไว้ที่กองกลางเพื่อใช้สำหรับโรคค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งก็เป็นตามหลักการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เพียงผู้เดียว” โฆษก สปสช. กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท