กรรมการสิทธิฯ: ลดเกรดได้แต่ยุบเลิกไม่ได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากที่ใช้เวลาในการรวบรวมรายงานเป็นเวลาถึง 3 ปี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 57ที่ผ่านมาThe International Coordinating Committee of National Human Rights Institutions หรือที่เรียกสั้นๆว่า The International Coordinating Committee (ICC) ซึ่งเป็นคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เสนอให้มีการลดเกรดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย(กสม.)จากระดับ A ไปเป็นระดับ B โดยให้เวลา 1 ปี เพื่อหาเอกสารยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามหลักการปารีส(The Paris Principles)หรือไม่

ซึ่งปฏิกิริยาตามมาจากข่าวดังกล่าวมีหลายรูปแบบ บ้างก็ว่า ลดเกรดมาเป็น “B” นั่นยังน้อยไป น่าจะเป็น “F”เสียด้วยซ้ำ(มีแค่ ABC เท่านั้น) บ้างก็เสือกไสไล่ส่งให้ยุบทิ้งไปเลยก็ดี อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด ฯลฯ

หลักการปารีส (The Paris Principles)คืออะไร

หลักการปารีสเป็นแนวความคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศต่างๆ ซี่งกําหนดขึ้นจากการสัมมนาว่าด้วยสถาบันแห่งชาติและท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันถึงมาตรฐานขั้นต่ำของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้มีการกำหนดแนวทางของอํานาจและหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นโดยได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ(General Assembly)ในมติที่48/134 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1993 ซึ่งหลักการปารีสนี้ได้กําหนดแนวทางการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของรัฐที่เป็นอิสระ เพื่อที่จะ

1) ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

2) แนะนํารัฐบาลในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน

3) ทบทวนกฎหมายสิทธิมนุษยชน

4) เตรียมรายงานสิทธิมนุษยชน

5) รับและสอบสวนเรื่องราวร้องทุกข์จากสาธารณชน

มาตรฐานสากลตามหลักการปารีสที่จะทําให้สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติมีประสิทธิภาพ จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 6 ประการคือ

1) มีความเป็นอิสระในการทํางาน มีอํานาจตัดสินใจโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาลและหน่วยงานอื่นใด ควรมีการเชื่อมโยงกับรัฐสภาหรือขึ้นต่อประมุขของรัฐ มีการบริหารจัดการที่เป็นเอกเทศ มีกฎระเบียบของตนเอง ตั้งงบประมาณได้อย่างเพียงพอ แต่งตั้งและถอดถอนกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ ต้องมีองค์ประกอบที่หลากหลายและเป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างแท้จริง

2) ต้องกําหนดภาระหน้าที่อย่างชัดเจนและมีอํานาจเพียงพอในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ       มนษยชนตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจัดตั้งสถาบัน และตามข้อตกลง กติกา อนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่สําคัญต้องได้รับอํานาจทางกฎหมายอย่างเพียงพอไม่ว่าในการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูล เป็นต้น

3) ต้องเป็นสถาบันที่บุคคลและคณะบุคคลทุกฝ่าย สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยมีกฎเกณฑ์และกระบวนการทํางานที่ประชาชนสามารถติดต่อยื่นคําร้องเรียนได้ อย่างสะดวกรวดเร็ว มีสํานักงานสาขาทุกภูมิภาคเพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้ทั่วประเทศ

4) ต้องยึดหลักการความร่วมมือกับทุกฝ่ายตั้งแต่สหประชาชาติ สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและระดับประเทศ องค์การเอกชนหรือองค์การที่มิใช่ของรัฐ (NGO) ตลอดจนองค์การระหว่างรัฐบาล (Intergovermental Organizations) ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกับหน่วยงานตุลาการ

5) ต้องยึดหลักประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติการ (Operational efficiency) โดยการจัดหาทรัพยากรที่เพียงพอ วิธีการทํางานที่ไม่เป็นแบบราชการ บุคลากรมีความรู้ และความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ฯลฯ

6) ต้องมีความรับผิดชอบทางด้านกฎหมายและด้านการเงินต่อรัฐบาลและรัฐสภา โดยต้องเผยแพร่รายงานและให้สาธารณชนตรวจสอบการทํางานของสถาบันได้อย่างแท้จริง

โดยมีการจัดลำดับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆด้วย ซึ่งระดับ A หมายถึงการทำงานเป็นไปตามหลักการฯ B หมายถึงการประเมินพบว่าการทำงานไม่ครบถ้วนตามหลักการฯ และ C หมายถึงไม่เป็นไปตามหลักการฯ

การเสนอลดระดับของไทยลงจาก A เป็น ในครั้งนี้คณะกรรมการฯให้เหตุผลว่าการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยเรา นั้น

- ไม่มีการประกาศประชาสัมพันธ์การรับสมัคร
- คณะกรรมการคัดเลือกมีจำนวนผู้เข้าร่วมที่มาจากองค์กรสาธารณะจำนวนน้อย ไม่ชัดเจนถึงความเป็นผู้แทนฯ หรือการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือภาคประชาสังคม
- ไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงถึงการปรึกษาหารือหรือการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการรับสมัครการคัดเลือกและกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- ไม่ชัดเจนและไม่มีรายละเอียดที่ดีพอถึงคุณสมบัติของผู้รับสมัครเข้าเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
และมีข้อสังเกตว่า
- ล้มเหลวในการในปฏิบัติการต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง( failed to address serious human rights violations )
- มีการแสดงความเห็นทางการเมืองในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ( expressed their political  views while on duty)

การลดระดับของไทยลงจาก A เป็น B จะทำให้ไทยเราไม่สามารถแสดงความเห็นหรือนำเสนอเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อที่ประชุมใหญ่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ( unable to express its opinions or present written documents to UNHRC)

เมื่อเราดูจากเนื้อหาของหลักการปารีสและเหตุผลที่เขาเสนอให้มีการลดระดับของไทยเราแล้วจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยนั้นก็สมควรที่จะถูกลดเกรดตามข้อเสนอนั้นจริงๆ เพราะที่มาตามรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้มีกรรมการสรรหา กสม. จำนวนเพียง  7 คน ประกอบด้วยฝ่ายการเมือง 2 คนคือประธานสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ และจากฝ่ายตุลาการถึง 5 คน แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 กรรมการสรรหา กสม. ประกอบด้วยตัวแทนจากส่วนต่างๆ ของภาคประชาสังคมถึง 25 คน และเมื่อพิจารณาถึงบทบาทการวางตัวของประธาน กสม.ที่ผ่านมายังเป็นที่ค้างคาใจเป็นอันมาก ในส่วนของกรรมการฯคนอื่นนอกจากคุณหมอนิรันดร์แล้วที่เหลือแทบจะเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่โลกลืมไปเลย

ควรยุบเลิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ด้วยข้อผูกพันตามหลักการปารีส และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR)คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นกลไกส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตย ในฐานะเป็นสถาบันที่ตรวจสอบรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราจึงไม่สามารถที่จะยุบเลิกได้ หากยุบเลิกไปไม่เพียงแต่เราจะขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศแล้วยังทำให้ประชาชนขาดที่พึ่งเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย ในเมื่อตัวบุคคลและโครงสร้างมีปัญหา เราก็ต้องปรับแก้ที่โครงสร้างการได้มาและอำนาจหน้าที่เสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเหมือนดั่งนานาอารยประเทศทั้งหลายนั่นเอง

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 มกราคม 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท