Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หากจะกล่าวถึงชาวบ้านบางระจันในยุคสมัยปัจจุบันนี้ คงหนีไม่พ้นละครหลังข่าวช่อง3 ที่นำเอาละครเรื่อง “บางระจัน” มารีเมคใหม่ ให้คนไทยได้รับชมไปหมาดๆ ซึ่งเมื่อละครเรื่องนี้ออนแอร์ไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกสังคมออนไลน์อย่างล้นหลาม ทั้งการวิจารณ์CG บทและนักแสดงนำซะเป็นส่วนใหญ่[1]แต่ก็พอจะมีอยู่บ้างบางกลุ่มที่เริ่มสงสัยว่าชาวบ้านบางระจันนั้นมีอยู่จริงหรือ?  และการที่นำละครที่มีเรื่องราวที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของคน 2ชาติที่กำลังจะจับมือร่วมกลุ่มประเทศประชาคม ASEAN(AEC) ด้วยกันนั้นจะมีผลกระทบไปในทิศทางไหน?


ชาวบ้านบางระจันกับหลักฐานในประวัติศาสตร์

หากต้องการค้นหาเรื่องราวที่แท้จริงของชาวบ้านบางระจันนั้น ก็สุดปัญญาที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันจะทำการหาข้อสรุปได้ หากแต่การบันทึกถึงเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นใน พงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นความผิดของการทำให้บ้านเมืองตกเป็นเมืองขึ้นก็ต้องตกไปอยู่ในความรับผิดชอบของราชวงศ์บ้านพลูหลวงแน่นอน


ชาวบ้านบางระจันกับความรักชาติท่ามกลางความอ่อนไหวของการเมือง

เหตุการณ์บ้านเมืองในยุคปัจจุบันนี้ เราต้องยอมรับว่าเต็มไปด้วยความอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงมากมาย สภาพของการเมืองไทยภายใต้การนำของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น แรกเริ่มการก่อตั้งรัฐบาล ประชาชนผู้รักชาติเต็มไปด้วยความ “ชื่นมื่น” เพราะผลงานแรกของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การออกกฎหมายที่ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะสงบแบบถูกจริตชนชั้นกลางในเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชนในวิถีประชาธิปไตยก็ดีไม่ประชาธิปไตยก็ดี ผลงานนี้ก็ทำให้สถานะของรัฐบาลนั้นมั่นคงมาได้ในระยะหนึ่ง แต่ในเวลาต่อมาประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลทั้งในเมืองหลวงและที่อื่นๆ ก็เกิดอาการ “ตาสว่าง” เนื่องจากเวลาที่ผ่านมา ผลงานในแง่ของการบริหารไม่ค่อยเข้าตา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายใหม่ที่ใช้นโยบายเก่า ของรัฐบาลชุดเก่ามาเพิ่มส่วนต่างที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือรวมไปถึงราคายางพาราที่เข้าขั้นวิกฤต สิ่งเหล่านี้ทำให้ “สถานะ” ของรัฐบาลเกิดความอ่อนไหว ไม่มั่นคงขึ้น ผู้คนก็เริ่มจะกลับมาไม่สามัคคีกันเหมือนแต่เก่าก่อน ไม่ว่ารัฐบาลจะมีกลยุทธ์ วิธีการใหม่ๆ อย่างเช่น บทเพลง “วันพรุ่งนี้” ที่เนื้อเพลงบ่งบอกถึงการทวงคืนคำสั่งสอนของบรรดาผู้ใหญ่ที่มีเด็กๆเป็นผู้ขับร้อง ที่มีคิวออนแอร์ทุกวัน หรือการกำหนดค่านิยม 12 ประการโดยเพิ่มความทันสมัยโดยการลงทุนทำ “สติ๊กเกอร์ไลน์ค่านิยม12ประการ” ซึ่งผลตอบรับมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ

การที่มีการนำเรื่องราวของ “ชาวบ้านบางระจัน” ผู้รักชาตินั้นเปรียบเสมือนการเติมพลังการสนับสนุน(Support)ความมั่นคงของรัฐบาลชุดนี้เพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อยก็ว่าได้ เพราะลักษณะของละครเรื่องนี้ปลูกฝังให้คนรักชาติและเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดชาตินิยมและทหารนิยมของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีที่มาที่ไปไม่ต่างจากชาวบ้านบางระจันนัก

หากรัฐบาลคิดได้ ก็จะตระหนักถึง ประโยชน์ของการสร้างและสนับสนุนให้มีการเผยแพร่ประวัติศาสตร์บาดแผลที่เป็นเสมือนดาบสองคม ซึ่งเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันนั้น อาจจะดีในแง่ของการสร้างความสามัคคีภายในชาติ แต่ในเรื่องราวนั้นยังแฝงไปด้วยความรู้สึกเกลียดชังต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างรุนแรงหากประชาชนไม่แยกแยะ ผลกระทบก็จะตกไปที่ผลประโยชน์ของชาติ หากเราลองนึกภาพเล่นๆว่า คนไทยมากกว่าครึ่งที่ดูละครเรื่องนี้ แล้วไม่แยกแยะนำความโกรธแค้นไปทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานชาวพม่า ผลเสียที่ตามมาก็คือปัญหาในด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล(ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้ว)และส่งผลเสียถึงภาพลักษณ์ของชาติ 


ชาวบ้านบางระจันประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ

เรื่องราวของชาวบ้านบางระจัน(ในหนัง)นั้นคงไม่ต้องพูดถึงให้ยืดยาว พูดสั้นๆก็พอเข้าใจ กล่าวคือชาวบ้านบางระจันคือคนไทยที่รวมกันเป็นหมู่บ้านต่อสู้กับพม่าเพื่อ “ปกป้องบ้านเมือง”(อยุธยา) อย่างกล้าหาญ และได้ขอความช่วยเหลือไปยังกรุงศรีอยุธยาในเรื่องของปืนใหญ่ อยุธยาให้ไม่ได้แต่มาสอนหล่อปืนใหญ่แทน สุดท้ายปืนแตกพม่าชนะตายทั้งหมู่บ้าน และตอนจบของหนังแทบจะทุกเวอร์ชั่นก็คือ ภาพของกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาไฟวอดวาย

สิ่งเหล่านี้คงไม่ต้องพูดกันมากเพราะมันคงอยู่ในความรู้พื้นฐานของคนไทยอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเรื่องราวของชาวบ้านบางระจันนั้น ต่างถูกผู้มีอำนาจ(รัฐ) นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการ “กล่อมเกลา” บรรดาประชาชนของตน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบ เพลงปลุกใจ เพลงเพื่อชีวิต แบบเรียน(ของรัฐ) อนุสาวรีย์ รวมไปถึงการสร้างเป็นหนัง ซึ่งสื่อถือว่ามีอิทธิพลในการกระจายความรู้และเร้าอารมณ์ความรู้สึกร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

หากแต่ภาพของการรับรู้เรื่องราวเหล่านี้นั้นได้สร้างความเกลียดชังของคนไทยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าขึ้นมาทันที สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเป็นห่วงที่สุดว่าเมื่อมีการร่วมมือของกลุ่มประเทศ ASEAN แล้ว คนในสังคมส่วนใหญ่ยังติดภาพความทรงจำเหล่านี้อยู่ เราทั้งหลายคงนึกภาพของการร่วมมือกันอย่างจินตนาการไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้เขียนก็ชักจะไม่แน่ใจแล้วว่า เรื่องราวของชาวบ้านบางระจัน เป็นการ “สร้าง” หรือ “ทำลาย” อนาคตของชาติกันแน่ 

“ลดความเป็นไทยให้น้อยลง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น”


อ้างอิง
[1] http://pantip.com/tag/บางระจัน_(ละคร)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net