ประมวลภาพ-ทัศนะ 'Je Suis Charlie' หอศิลปฯกทม. : แนะปกป้องเสรีภาพการพูดอย่างเท่าเทียมกันเหตุรุนแรง

กิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งมีอย่างน้อย 12 คนจากการที่คนร้ายบุกยิงสำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2558 โดยผู้เสียชีวิต ได้แก่ บก. "สเตฟาน ชาบอนนิเยร์" และนักวาดการ์ตูนอีก 4 ราย ตำรวจ 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 10 คน (อ่านรายละเอียด)

กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นช่วงเย็นของวันที่ 8 มกราคม 2558 ที่บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

"เราไม่คิดว่าสิ่งที่เขาเขียน จะทำให้ถูกกระทำรุนแรงอย่างนี้ เราไม่รู้ว่าความรุนแรงจะไปถึงไหน เราไม่รู้ว่าความเกลียดชังจะถูกผลักต่อหรือไม่ แต่เราหวังว่ามันจะหยุด...

"เราเชื่อว่ามีเพื่อนมุสลิมจำนวนไม่น้อยเศร้าโศกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่อยากให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นการสร้างความเกลียดชังและช่องว่างของความไม่เข้าใจต่อออกไปอีก เราอยากมาหยุดมันตรงนี้ด้วยกัน อย่างน้อยหยุดมันในใจของเรา" ผู้จัดกิจกรรมกล่าว

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงเหตุผลที่มาร่วมกิจกรรมว่า เนื่องจากเป็นประเด็นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อๆ ไปได้ ในเรื่องเสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการพูด อยากจะแสดงความสมานฉันท์ร่วมต่อสู้กับคนอื่นว่าเสรีภาพเหล่านั้นต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าเสรีภาพนั้นจะไปสร้างความกระทบกระเทือนรบกวนจิตใจ แต่วิธีการตอบโต้นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้น

สำหรับวิธีการตอบโต้โดยไม่ใช้ความรุนแรงนั้น พิมพ์สิริ กล่าวว่า “คือการอนุญาตในสังคมมีเสรีภาพในการพูดสำหรับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน”

นอกจากผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 40 คน จะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแล้ว หนึ่งในนั้นมีหญิงมุสลิมสวมฮิญาบ วัย 24 ปี ร่วมกิจกรรมด้วย เธอให้สัมภาษณ์โดยขอปิดชื่อ ถึงเหตุผลของการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ โดยส่วนตัวในฐานมุสลิมเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอของชาร์ลี แต่คิดว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ คิดว่ายังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถตอบโต้ได้ เห็นด้วยที่เขาอาจมีสิทธิพูดถึงความไม่ยอมรับในคำสอนของเรา แต่เราก็มีสิทธิที่จะบอกเหมือนกันว่าเราไม่ยอมรับกับสิ่งที่เขาพูด แต่ว่าเราควรจะทำในเชิงการแสดงความเห็นที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21

หญิงสาวมุสลิมสวมฮิญาบ วัย 24 ปี ร่วมกิจกรรม

วาด รวี นักเขียน กล่าวว่า เหตุผลที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เนื่องจากเป็นประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ซึงตนรณรงค์ในเรื่องนี้อยู่ด้วย เพราะประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะฉนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้มีความรู้สึกร่วมไปด้วย คิดว่าความสามารถในการแสดงออกของคนในประเทศอื่นๆ นั้น มีความหมายสำหรับเรา เพื่อยืนยันให้เห็นว่าอย่างน้อยคนต้องมีเสรีภาพ

“วิธีเดียวที่จะขจัดความคิดที่แย่ได้ คือ คุณต้องเสนอความคิดที่ดีกว่า วิธีเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นการ์ตูนของนักวาดคนนั้นมันแย่ มันจะต้องมีความคิดที่ดีกว่าหรือการ์ตูนทีดีกว่า ที่วิจารณ์ได้แหลมคมกว่าการ์ตูนนั้น มันถึงจะขจัดความคิดเขาได้ แต่คุณไปฆ่าเขามันก็ขจัดความคิดเขาไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ มันเป็นหนทางที่ไหลไปสู่ความเสื่อม” วาด รวี กล่าว

มีรายงานด้วยว่าหลังจากประชาชนและสื่อร่วมกันจุดเทียนและยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชม. เจ้าหน้าที่ รักษาความปลอดภัยของหอศิลป์กรุงเทพฯได้มาแจ้งเตือนว่า จะมีกำลังทหารเข้ามาตรวจสอบ ประชาชนจึงแยกย้ายกันกลับ

ภาพบรรยากาศกิจกรรม : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท