สำรวจตรวจตราการใช้แรงงานเด็กทั่วโลก

ยังมีงานที่ให้เด็กๆ ทั่วโลกทำมากมาย ทั้งงานที่ขัดต่อหลักสิทธิเด็ก ทำงานในรูปแบบที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมกว่า 85 ล้านคนทั่วโลก แต่พบว่าหลายแห่งก็มีมุมมองเรื่องการใช้แรงงานเด็กที่ต่างกันออกไป

 

ยังมีงานที่ให้เด็กๆ ทั่วโลกทำมากมาย ทั้งงานที่ขัดต่อหลักสิทธิเด็ก และหลายแห่งก็มีมุมมองเรื่องการใช้แรงงานเด็กที่ต่างกันออกไป การขจัดเรื่องนี้ให้หมดไปก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข (ที่มาภาพ: itcilo.org)

ในระดับโลกแม้จำนวนแรงงานเด็กจะลดลง และเป้าหมายที่นานาชาติตั้งไว้ว่าจะขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปในปี 2016 แต่ปัญหานี้ก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในหลายที่

จากผลสำรวจครั้งล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) พบว่าจำนวนแรงงานเด็กทั่วโลกลดลงหนึ่งในสาม โดยระหว่างปี 2000 ถึง 2012 จำนวนแรงงานเด็ก (อายุระหว่าง 5-17 ปี) ทั่วโลก ลดลงจาก 246 ล้านคน เหลือ 168 ล้านคน

การใช้แรงงานเด็กมีอัตราสูงสุดในประเทศด้อยพัฒนา แต่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารายได้และความยากจน ไม่ใช่สาเหตุในการใช้แรงงานเด็กเท่านั้น และแรงงานเด็กที่เป็นหญิงลดลงร้อยละ 40 นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เทียบกับแรงงานเด็กชายที่ลดลงร้อยละ 25

ในภาพรวมประมาณการว่ามีแรงงานเด็กรวมทุกภูมิภาคเป็นสัดส่วนเกือบถึงร้อยละ 11 ของประชากรวัยเด็กทั้งหมด ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคมีจำนวนแรงงานเด็กมากที่สุดในโลก 78 ล้านคน (ร้อยละ 9.3 ของประชากรวัยเด็กในภูมิภาค) ส่วนภูมิภาคแอฟริกันซับ-ซาฮารา ใช้แรงงานเด็กสัดส่วนสูงที่สุด มีแรงงานเด็ก 59 ล้านคน (มากกว่าร้อยละ 21 ของประชากรวัยเด็กในภูมิภาค) ในแถบลาตินอเมริกามี 13 ล้านคน (ร้อยละ 8.8 ของประชากรวัยเด็กในภูมิภาค) และในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมี 9.2 ล้านคน (ร้อยละ 8.4 ของประชากรวัยเด็กในภูมิภาค)

มีแรงงานเด็กที่ทำงานในรูปแบบที่เลวร้าย (งานที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม) พบมากที่สุดในเอเชียและแปซิฟิค ซึ่งมีจำนวน 33.9 ล้านคน จาก 85 ล้านคนทั่วโลก

ภาคการเกษตรยังคงใช้แรงงานเด็กมากที่สุดประมาณ 98 ล้านคน (ร้อยละ 59 ของจำนวนแรงงานเด็กทั้งหมด) ภาคบริการใช้แรงงานเด็กถึง 54 ล้านคน ส่วนในภาคอุตสาหกรรมใช้แรงงานเด็ก 12 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแรงงานเด็กเหล่านี้ถูกใช้งานในระบบเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal economy)

และนี่คือภาพบางส่วนในการใช้แรงงานเด็ก ของแต่ละที่ในโลก

 

เศรษฐกิจอินอินเดีย เบื้องหลังคือแรงงานเด็ก

;

เมื่อเดือนตุลาคม 2014 ที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์อินเดียเผยแพร่คลิปแฉการใช้แรงงานเด็กทำความสะอาดวิทยาลัยการแพทย์แห่งหนึ่งในอินเดียเพื่อเตรียมไว้รอต้อนรับนักการเมือง ประเด็นนี้ถือว่าเป็นตอกย้ำเรื่องปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอินเดีย (ที่มาคลิป: NDTV)

ข้อมูลจากรายงาน Global Slavery Index 2013 ขององค์กร Walk Free Foundation ระบุว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็กมากที่สุดในโลกเกือบ 14 ล้านคน

โดยเฉพาะการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ขึ้นชื่อในการทำงานหนักและเสี่ยงอันตรายมากที่สุดมากกว่างานประเภทอื่นๆ ในปี 2010 องค์กรพัฒนาเอกชนในอินเดียยืนยันว่ามีการใช้แรงงานเด็กฐานะยากจนในเหมืองแร่จริง และประมาณการตัวเลขว่ามีแรงงานเด็ก 70,000 คน ในเหมือง 5,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเด็กที่อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ

แรงงานเด็กถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจอินเดีย โดยเมื่อปี 2013 สหรัฐอเมริการะบุว่ามีสินค้า 134 ชนิดจาก 73 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อสินค้าที่มาจากการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ซึ่งอินเดียก็เป็นอันดับ 1 อีกเช่นกัน โดยมีสินค้าที่ผลิตด้วยแรงงานที่ละเมิดสิทธิ์ถึง 21 ประเภท เช่น อิฐ พรม สิ่งทอ บุหรี่ ดอกไม้ไฟ และลูกฟุตบอล เป็นต้น

ว่ากันว่าการใช้แรงงานเด็กในอินเดียนั้นแทบที่จะพบได้ในทุกอุตสาหกรรมและเกือบทุกสถานที่ ไกลาศ สัตยาร์ที (Kailash Satyarthi) ชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2014 เคยกล่าวไว้ว่า "ผมรู้สึกขัดแย้งรุนแรงมากตอนที่เห็นเด็กคนนั้นไม่ได้เรียน แต่นั่งขัดรองเท้าให้เด็กคนอื่นๆ ที่ได้เรียนและได้มีความหวังและความทะเยอทะยาน ... ผมรู้สึกอย่างจริงจังว่าการได้รับรางวัลนี้เป็นเกียรติยิ่งใหญ่ต่อเด็กหลายร้อยล้านคนที่สูญเสียชีวิตวัยเยาว์ เสรีภาพและการศึกษา มันคงจะช่วยให้พวกเราต่อสู้เพื่อขจัดแรงงานเด็กและทาสเด็กทั่วโลกให้หมดไปได้ โดยเฉพาะในประเทศบ้านเกิดผม"

 

จากไร่ฝ้ายสู่เสื้อผ้าแบรนด์ดัง แรงงานเด็กในอุซเบกิสถาน

ในอุซเบกินสถานมีเด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าเรียนในระดับชั้นสูงๆ ได้ เพราะต้องไปทำงานในไร่ฝ้าย หรือไม่ผู้ปกครองต้องยอมเสียค่าปรับเพื่อให้พวกเขาได้เรียนสูงๆ แทนการถูกใช้แรงงานบังคับนี้ (ที่มาภาพ: cottoncampaign.org)

"ฝ้าย" อาจจะเปรียบได้กับ "ทองคำ" ของประเทศอุซเบกิสถาน มีการคาดการณ์กันว่าการเก็บฝ้ายเพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบในอุซเบกิสถานมีมูลค่าทั้งสิ้นราว 1 พันล้านดอลลาร์ ในอดีตจนถึงปัจจุบันมักมีข่าวคราวการใช้แรงงานบังคับประชาชนหลากหลายอาชีพไม่ว่าจะเป็น ครู แพทย์ พยาบาล ลูกจ้างของรัฐ และพนักงานบริษัทเอกชนต่างถูกบังคับให้เข้าไปทำงานในไร่ฝ้าย หรือไม่ก็ต้องเสียค่าปรับแทน

รวมทั้งมีการใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมนี้ แรงงานเด็กในอุซเบกิสถานอาจจะมีอายุเพียงแค่ 8-9 ขวบหรืออายุน้อยกว่านั้น พวกเขาถูกบังคับให้มาเก็บฝ้ายในไร่ที่มีขนาดใหญ่หลายร้อยเอเคอร์ ทั้งนี้มีเด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าเรียนในระดับชั้นสูงๆ ได้ เพราะต้องไปทำงานในไร่ฝ้าย หรือไม่ผู้ปกครองต้องยอมเสียค่าปรับเพื่อให้พวกเขาได้เรียนสูงๆ แทนการถูกใช้แรงงานบังคับนี้

ในรอบหลายปีมานี้องค์กรสิทธิมนุษยชนพยายามเชื่อมโยงการใช้แรงงานเด็กแบรนด์แฟชั่นระดับโลก (โดยเฉพาะ H&M) เพื่อให้แสดงความรับผิดชอบต่อการใช้แรงงานเด็กในอุซเบกิสถาน แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะติดตามสายพานที่มาของฝ้ายที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก เพราะส่วนใหญ่แล้วปลายทางของฝ้ายจากอุซเบกิสถานเหล่านี้จะไปจบอยู่ที่บังกลาเทศ จีน และกัมพูชา ณ ที่เริ่มต้นกระบวนการขึ้นรูปเสื้อผ้าแต่ละชิ้น

แม้แบรนด์ใหญ่ๆ หลายแบรนด์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเลิกสนับสนุนและซื้อฝ้ายจากอุซเบกิสถานไปแล้วก็ตาม แต่ผู้รับจ้างผลิตรายใหญ่ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่อยู่ในบังกลาเทศ จีน และกัมพูชา ก็มักจะไม่ให้รายละเอียดกับแหล่งต้นน้ำของวัตถุดิบจากฝ้ายว่ามาจากแหล่งใด โดยเฉพาะบังกลาเทศมีการประมาณการกันว่าใช้ฝ้ายจากอุซเบกิสถานเป็นวัตถุดิบถึงร้อยละ 35

 

ยาสูบกับแรงงานเด็กในมาลาวี

ภาพเด็กและครอบครัวที่หลุดพ้นจากการเป็นแรงงานในไร่ยาสูบในประเทศมาลาวีจากโปรแกรมการช่วยเหลือของ ILO ทั้งนี้ มาลาวีใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมนี้สูงถึงกว่า 78,000 คน โดยทำงานเกิน 12 ชั่วโมง/วัน และส่วนใหญ่รายได้ไม่ถึง 1.7 เซนต์/ชั่วโมง ไม่มีชุดและอุปกรณ์ป้องกัน แรงงานเด็กเหล่านี้ต้องสูดสารนิโคตินวันละ 54 มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับสูบบุหรี่วันละ 50 มวนเลยทีเดียว (ที่มาภาพ: ILO)

เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมาวุฒิสมาชิกอเมริกัน 17 คน ได้ ส่งหนังสือไปถึงบรรษัทบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 10 บรรษัท ให้ห้ามมีการใช้แรงงานเด็กในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตบุหรี่ เนื่องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่า 3 ใน 4 ของแรงงานเด็กในไร่ยาสูบ ต้องเป็นโรคที่เกิดจากการได้สัมผัสกับใบยาซึ่งเป็นพิษจากสารนิโคติน เด็กเหล่านี้ยังเป็นโรคขาดสารอาหารและไม่ได้รับการศึกษาอีกด้วย โดยเฉพาะในประเทศมาลาวี

มาลาวีเป็นประเทศเล็กๆ ในแอฟริกามีประชากรอยู่ราว 16 ล้านคน โดยเศรษฐกิจของชาวมาลาวี ขึ้นอยู่กับการเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาสูบ จากข้อมูลในปี 2009 พบประเทศมาลาวีใช้แรงงานเด็กในโรงงานยาสูบกว่า 78,000 คน โดยทำงานเกิน 12 ชั่วโมง/วัน และส่วนใหญ่รายได้ไม่ถึง 1.7 เซนต์/ชั่วโมง ไม่มีชุดและอุปกรณ์ป้องกัน แรงงานเด็กเหล่านี้ต้องสูดสารนิโคตินวันละ 54 มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับสูบบุหรี่วันละ 50 มวนเลยทีเดียว

นอกจากนี้มาลาวีไม่มีการตรวจสุขภาพในแรงงานเด็ก ข้อมูลจากองค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่าแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมยาสูบนี้มีอาการป่วยจากการรับสารนิโคตินมากเกิน มีอาการอาทิ ปวดหัว เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนล้า ไอ หายใจขัด เพราะขาดออกซิเจน อาเจียนเป็นเลือด และบางรายถึงกับเสียชีวิต

 

เมื่อ “โบลิเวีย” ตีความการใช้ “แรงงานเด็ก” อีกแบบ

โบลิเวียเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้เด็กที่มีอายุเพียง 10 ปี สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ที่มาภาพ: coha.org)

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2014 รัฐสภาโบลิเวีย ได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ (ซึ่งรองประธานาธิบดีได้ลงนามเพื่อบังคับใช้ในเวลาต่อมา) ด้านแรงงานที่อนุญาตให้เด็กที่มีอายุเพียง 10 ปี สามารถหางานทำเพื่อช่วยเหลือครอบครัวได้ แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาเล่าเรียนที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป ซึ่งการผ่านความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าวของสมาชิกรัฐสภาโบลิเวีย ส่งผลให้โบลิเวียเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้เด็กที่มีอายุเพียง 10 ปี สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ของโบลิเวียกำหนดไว้ว่า เด็กวัย 10 ขวบสามารถทำงานได้ตราบใดที่ยังอยู่ในการควบคุมดูแลของพ่อแม่และผู้ปกครอง ซึ่งต้องให้เข้าโรงเรียนด้วย ส่วนเด็กวัย 12 ขวบที่ออกไปทำงานก็ต้องอยู่ภายใต้สัญญาคุ้มครองความปลอดภัยต่อเด็กและต้องให้เข้าเรียนเช่นกัน โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 30 ปีแบบไม่ต้องรอลงอาญา สำหรับนายจ้างที่ละเมิดและกระทำการรุนแรงต่อเด็ก

จากผลการศึกษาที่ทำร่วมกันระหว่าง ILO กับโบลิเวียเมื่อปี 2008 พบว่ามีเด็กอายุ 5-17 ปีที่ออกไปทำงานหาเลี้ยงช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ยากจนเกือบทั้งประเทศ มีเป็นจำนวน 850,000 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และต้องไปทำงานเสี่ยงอันตราย อาทิ เป็นแรงงานเหมืองในประเทศยากจนของอเมริกาใต้ เป็นแรงงานในไร่อ้อย เป็นคนงานก่ออิฐ พนักงานทำความสะอาดในโรงพยาบาล คนเก็บขยะ และทำงานในร้านขายเหล้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท