นักต่อต้านสงครามอิรักชวนมองอีกมุมหนึ่ง กรณี 'ชาร์ลี เอบโด'

ทาริค อาลี นักข่าว คนทำภาพยนตร์และนักเขียนเชื้อสายอังกฤษ-ปากีสถาน เตือนว่ายังมีคนที่เป็นเหยื่อความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลและความกลัวนี้ก็ถูกกลุ่มหัวรุนแรงระดับผู้นำเอาไปใช้ปั้นผู้ก่อการร้ายใหม่ๆ ด้วย

14 ม.ค. 2558 ทาริค อาลีเป็นคนที่เข้าร่วมกับฝ่ายซ้ายต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐฯ นับตั้งแต่สงครามเวียดนามมาจนถึงสงครามอิรัก เขาเขียนบทความลงในนิตยสาร London Review of Books ระบุว่ากลุ่มหัวรุนแรงที่บุกโจมตีสำนักงานชาร์ลี เอบโด เป็นกลุ่มคนที่รู้ดีว่าการกระทำของพวกเขาจะสร้างความหวาดผวาอย่างรุนแรงและไม่สนใจว่าจะถูกประณามจากคนทั่วโลกที่ไม่ได้มีความเชื่อแบบเดียวกับพวกเขา สาเหตุหนึ่งมาจากพวกเขาไม่มีอำนาจในการสั่งแบนหรือทารุณกรรมผู้นำเสนอในสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบจึงตัดสินใจใช้ความรุนแรงในที่สุด

อาลีระบุว่าคนติดอาวุธกลุ่มนี้เป็นผลพวงมาจากการกระทำของโลกตะวันตกเอง พวกเขาเป็นคนทั่วไปที่ได้เห็นภาพการกระทำที่โหดร้ายต่อชาวมุสลิม เช่น สงครามอิรัก การทารุณกรรมนักโทษเรือนจำอบู ฆอหริบ พวกเขาพยายามเยียวยาความรู้สึกตัวเองจากเรื่องพวกนี้แต่ก็ถูกคนบางกลุ่มทำให้กลายเป็นพวกหัวรุนแรง โดยคนกลุ่มนี้อาศัยนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของโลกตะวันตกเป็นโอกาสในการเกณฑ์นักรบและใช้อำนาจนำคนหนุ่มสาวทั้งในโลกมุสลิมและในย่านชุมชนแออัดในยุโรป

"คนพวกนี้ถูกส่งไปอิรักเพื่อสังหารชาวอเมริกัน และเมื่อไม่นานมานี้ก็ถูกส่งไปซีเรียเพื่อโค่นล้มอัสซาด (บาชาร์ อัลอัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย) คนหนุ่มเหล่านี้ถูกฝึกสอนให้ใช้อาวุธได้ดี แต่พอพวกเขากลับบ้าน พวกเขาก็เอาความรู้ด้านการรบไปใช้กับกลุ่มคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นพวกที่ทำให้พวกเขาทุกข์ทรมาน" อาลีระบุในบทความ

ตามความคิดของเหล่านักรบหัวรุนแรงพวกนี้แล้วหนึ่งในตัวแทนของกลุ่มคนที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวดคือนิตยสารชาร์ลี เอบโด

อาลีระบุว่าชาร์ลี เอบโด มองตัวเองว่าเป็นคนที่ต้องปกป้องค่านิยมของกลุ่มชาวสาธารณรัฐผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนา พวกเขามักจะล้อเลียนเสียดสีศาสนาทุกศาสนา มีชาวมุสลิมจำนวนมากไม่พอใจที่พวกเขาล้อเลียนศาสดาของอิสลามแต่ก็เพิกเฉยต่อพวกเขา และในช่วงที่ฝรั่งเศสมีความอดทนต่อศาสนาอิสลามน้อยกว่าศาสนาอื่นรวมถึงมีกระแสต่อต้านศาสนาอิสลาม และมีผู้เขียนนิยายชื่อ 'Soumission' (ยอมจำนน) ของ มิเชล แวลเลอเบค ชาร์ลี เอบโด ก็ล้อเลียนแวลเลอเบคด้วยเช่นกันในวันเดียวกับที่พวกเขาถูกบุกสังหาร

แต่อาลีก็เตือนว่ายังคงมีชาวมุสลิมส่วนหนึ่งตกเป็นเหยื่อของความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล (islamophobia) การปกป้องเสรีภาพสื่อเป็นเรื่องที่เข้าใจได้แต่ควรระวังไม่ให้กลายเป็นการทำให้สื่อล้อเลียนเสียดสีดูน่ายกย่องเกินจริงเพราะสื่อบางแห่งก็เป็นเหตุทำให้เกิดความหวาดกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ซึ่งอาลีมองว่าสื่อแนวที่ทำให้เกิดเหยื่อดังกล่าวนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการก่อการร้ายและผลิตซ้ำกันเองไปมาไม่รู้จบ

อาลียังได้ชี้ให้เห็นผ่านบทความว่ากฎหมายของฝรั่งเศสก็ยังคงมีการเลือกปฏิบัติ โดยอนุญาตให้ลิดรอนเสรีภาพสื่อหรือเสรีภาพในการชุมนุมได้ถ้าหากถูกมองว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยหรือเสี่ยงต่อความรุนแรง แต่ก่อนหน้านี้พวกเขาก็ใช้กฎหมายนี้กับตลกที่เล่นมุขต่อต้านชาวยิวและห้ามไม่ให้มีการชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ และดูเหมือนว่าชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่จะไม่มองว่าเป็นปัญหา นอกจากนี้เขายังไม่เห็นว่าจะมีการเดินขบวนเรียกร้องขนาดใหญ่ให้กับตอนที่นักโทษชาวมุสลิมถูกประเทศยุโรปส่งตัวให้สหรัฐฯ และถูกทารุณกรรมโดยซีไอเอ

นอกจากนี้อาลียังวิจารณ์ผู้นำยุโรปหลายคนที่วางแผนจัดการเดินขบวนเพื่อ "ความปรองดองในชาติ" ว่าเป็นเรื่องที่ดูย้อนแย้งประชดประชันอย่างมากสำหรับกลุ่มเสรีชนที่ต่อต้านความเชื่อเชิงสถาปนาทั้งหลาย

เรียบเรียงจาก

(บทความตัวอย่าง) Short Cuts, Tariq Ali, London Review of Books
http://www.lrb.co.uk/v37/n02/tariq-ali/short-cuts

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Tariq_Ali

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท